โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ภูมิปัญญาจากหุบเขาออร์แกนิก ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 10.24 น. • BLT Bangkok
ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ภูมิปัญญาจากหุบเขาออร์แกนิก ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ของดีที่ชาวชุมชนทำด้วยใจในทุกกระบวนการ

ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง แห่ง จ.ชัยภูมิ เป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 11 หมู่บ้านใน 2 อำเภอ คือ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ เพื่อสร้างสรรค์ผ้าฝ้าย และผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ และเป็นออร์แกนิกในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การปลูกแบบไร้สารเคมีโดยคนในชุมชน ผ่านกระบวนการเข็นฝ้ายด้วยมือ และย้อมสีธรรมชาติจาก ประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ

โดยภูมิปัญญาของชาวชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง เริ่มมาจากที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ประทับแรม ณ พระตำหนักทุ่งกะมัง ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อทรงปล่อยสัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี 2535 และได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้รับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 4 กลุ่ม ที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่ป่าภูเขียวซึ่งได้แก่ อ.เกษตรสมบูรณ์ และ อ.หนองบัวแดง ให้อยู่ในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าของ มูลนิธิสวนจิตรลดา

ต่อมาในปี 2539 ครูอนัญญา เค้าโนนกอก ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนเล็งเห็นว่าภายในชุมชนมีวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพและเป็นออร์แกนิก จึงเริ่มสู่การชักชวนคนในชุมชนร่วมกันทำผ้าย้อมสีธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อทั้งคนผลิต และผู้ใช้งาน ก่อนครูอนัญญา จะได้รับเลือกให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้กับรุ่นต่อไป

จากภูมิปัญญาออร์แกนิก สู่หน้ากากผ้าหัวใจชุมชน สู้วิกฤตโควิด-19

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านที่ผลิตงานหัตถกรรมหลายชีวิตต้องประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สูญเสียงานและรายได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเหมือนเคราะห์ซ้ำจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้

ซึ่งชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง มีทั้งแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังได้รับผลกระทบ COVID-19 กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้พิการ ส่งผลให้ SACICT จึงเข้าไปส่งเสริมให้ครูช่างศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ เป็นผู้นำชุมชน ในการให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ในงานด้านศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน มาเป็นแสงสว่างนำทางให้ชีวิตกลับมาสดใสได้อีกครั้ง ผ่านโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” โดยลงพื้นที่ส่งเสริมการผลิตหน้ากากผ้าแก่ชาวบ้าน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้ใช้ผ้าฝ้ายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มาเป็นวัตถุดิบออกแบบตัดเย็บร่วมกับผ้าพื้นถิ่นของชุมชน โดยใช้แรงงานฝีมือชาวบ้านในชุมชนหัตถกรรมและประชาชนโดยรอบ

โดยความพิเศษของหน้ากากผ้าของชุมชนนี้ คือ การนำผ้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งสวยงามโดดเด่นด้วยสีสันอันเป็นเอกลักษณ์มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักของหน้ากาก ร่วมด้วยการออกแบบตัดเย็บกับผ้าฝ้ายออร์แกนิกจากฝ้ายที่ปลูกแบบไร้สารเคมีของชุมชนเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะจากหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ที่สำคัญยังสวมใส่สบาย เหมาะกับทุกวัย เนื่องจากเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมี

SACICT ส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง SACICT เตรียมส่งเสริมให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปาชีพ และหัตถกรรมไทย ได้นำแนวคิดในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านการออกแบบ กระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ เช่น การย้อมสีธรรมชาติ การใช้เส้นใยธรรมชาติ การใช้วัตถุดิบจากพืช การละเว้นการใช้สารฟอกขาว สารเคมีอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำ ดิน และอากาศ ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดของเสีย ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุน และปล่อบก๊าซเรือนกระจก และการเผาผลาญพลังงาน รวมถึงลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

โดยเชื่อมั่นว่า งานศิลปาชีพ และหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ จะสร้างจุดขายให้แก่ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ของงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความใส่ใจ และพร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับเทรนด์ และค่านิยมของสังคมและประชาคมโลกที่ให้คุณค่าในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและการคืนประโยชน์กลับสู่สังคมอย่างยั่งยืน

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0