โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผู้หญิงไทยคนแรก(ๆ)ที่แต่งงานกับชาวสวีเดนในบันทึกของทางการ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 04 ส.ค. 2564 เวลา 05.50 น. • เผยแพร่ 04 ส.ค. 2564 เวลา 05.42 น.
ภาพปก-บัวตองสวีเดน
ป้าบัวตองกับชุดออกงานแบบตะวันตก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2528)

การแต่งงานข้ามเชื้อชาติระหว่างไทยกับชาวยุโรปไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น สำหรับกรณีของประเทศแถบสแกนดิเนเวียอาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนัก โดยเฉพาะสวีเดน แต่จากหลักฐานอย่างเป็นทางการแล้วยังมีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหญิงชาวไทยคนแรกที่แต่งงานกับชาวสวีเดนเอาไว้ด้วย

บันทึกของกงสุลสวีเดนประจำกรุงเทพฯ ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ. 2411 (ปีที่ไทยและสวีเดนทำสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (The Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2411) พบจารึกชื่อผู้หญิงไทยคนแรกที่แต่งงานกับชาวสวีเดนไว้ในสมุดบันทึก ปี พ.ศ. 2476 อันมีชื่อของ “บัวตอง”

ข้อมูลจากค้นพบครั้งนี้ถูกบอกเล่าในบทความชื่อ “ผู้หญิงไทยคนแรก(ๆ)ที่แต่งงานกับชาวสวีเดน” โดยสมชาย พนมขวัญ ซึ่งนอกจากบอกเล่าข้อมูลจากเอกสารหลักฐานทางการแล้ว ยังบอกเล่าข้อมูลที่มาจากการพูดคุยกับ “บัวตอง” โดยตรงด้วย

ก่อนจะพูดถึงคุณป้า “บัวตอง” คงต้องย้อนกลับไปพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสวีเดนกันก่อน แม้สวีเดน อาจไม่ได้เป็นมหาอำนาจในยุโรปเหมือนอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย แต่เรียกได้ว่า สวีเดน สามารถหาผลประโยชน์ทางการค้าได้อย่างมีศักยภาพ เศรษฐกิจในสวีเดนก็ค่อนข้างเข้มแข็งมั่นคง

บันทึกจากทางการของทั้งไทยและสวีเดนต่างบ่งชี้ว่า ไทยกับสวีเดนเริ่มติดต่อค้าขายอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2411 เป็นปีที่รัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ การค้าขายช่วงเริ่มต้นยังไม่ได้กว้างขวางหรือถึงระดับเป็นจริงจังมากนัก จนกระทั่งในพ.ศ. 2449 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5

ช่วงเวลานั้น สภาพประชากรในสวีเดนเองก็มีจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเป็นเช่นนั้นสวีเดนจึงต้อนรับแรงงานและชาวต่างชาติเข้ามา โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่เข้ามาในสวีเดนเป็นชาวยุโรปในละแวกภูมิภาคแถบนั้น สำหรับคนไทยนั้น พบว่า ในช่วง พ.ศ. 2528 สถิติจำนวนชาวไทยในสวีเดนมีประมาณ 3,000 คน ชาวไทยร้อยละ 80 ในสวีเดนเป็นผู้หญิง สันนิษฐานได้ว่า ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปในฐานะแรงงาน (อาจมีบ้างแต่คงไม่มาก) เหตุผลที่มีน้ำหนักมากกว่าน่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานกับคนสวีเดนมากกว่า

คราวนี้มาถึงคำถามสำคัญว่า ใครคือผู้หญิงไทยคนแรกที่แต่งงานกับชาวสวีเดน

สมชาย พนมขวัญ ผู้เขียนบทความอ้างว่า เมื่อดูบันทึกกงสุลสวีเดนประจำกรุงเทพฯ ที่เริ่มบันทึกเมื่อ พ.ศ. 2411 จากจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ติดต่อทางการค้าอย่างเป็นทางการนั้น พบชื่อผู้หญิงไทยคนแรกชื่อ “บัวตอง” เกิดที่ป่าแดง เมืองแพร่ ข้อมูลในพ.ศ. 2528 ช่วงนั้นบัวตอง ก็มีอายุในวัยเลข 8 แล้ว

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจอีกประการคือ ข้อมูลนี้มาจากบันทึกหลักฐานอย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายความว่า ข้อมูลก่อนหน้า พ.ศ. 2411 ที่มีการบันทึกนั้น อาจมีผู้หญิงไทยแต่งงานกับชาวสวีเดนแล้ว แต่ไม่ได้ถูกบันทึกเป็นหลักฐานที่กงสุลฯ ก็เป็นได้ ในที่นี้จึงยึดสถิติ “คนแรก” จากหลักฐานที่มาจากการบันทึกอย่างเป็นทางการ

บัวตอง เป็นคนเมืองแพร่ ซึ่งถือเป็นแหล่งไม้สักมีชื่อ ในอดีตมีบริษัท “อีสต์เอเชียติค” ได้รับสัมปทานทำไม้ในสยาม ในเนื้อที่กว้างขวางหลายพันกิโลเมตร แม้ว่าบริษัทนี้เป็นของชาวเดนมาร์ก และใช้คนเดนมาร์กบริหารงาน แต่ลูกจ้างจะเป็นคนพื้นถิ่น ซึ่งถูกขนานนามในสมัยนั้นว่า “คนลาว” นั่นเอง

สมชาย บรรยายว่า กฎการทำงานสมัยก่อนค่อนข้างเคร่งครัด มีข้อห้ามฝรั่งที่เป็นลูกจ้างของบริษัทแต่งงานกับคนไทย หากฝ่าฝืนจะถูกไล่ออก

อย่างไรก็ตาม ยังมีฝรั่งที่ทำงานในแพร่สามารถแต่งงานได้และไม่ถูกไล่ออก เขาคนนี้เรียกกันว่า ทอเก้ (Tage Wergeni Anderson) เป็นชาวสวีเดน เกิด พ.ศ. 2433 ในมณฑล “มาลเม่อ” ทางตอนใต้ของสวีเดนติดกับเดนมาร์ก

ทอเก้ คนนี้ทำงานในไทยหลายปีจนพูดภาษาไทยได้ พบรักกับป้าบัวตอง แต่งงานกับประมาณ พ.ศ. 2466 และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน นอกจากนี้ยังมีลูกสาว 3 คน กับลูกชาย 1 คนกับชาวไทยอีกรายหนึ่ง ทอเก้ เสียชีวิตในสวีเดนเมื่อ พ.ศ. 2499 หลังกลับไปได้ไม่กี่ปี

บัวตอง เล่าว่า ชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่กับเรื่องป่าดงเสียมาก เพราะสามีทำงานเข้าป่าเข้าดง ทำให้เธอมีโอกาสเข้าป่ารอบพื้นที่สัมปทานของอีสต์เอเชียติค ข้อมูลเหล่านี้มีบันทึกในหนังสือ Elefantens rike och drakens หรือ “เมืองแห่งคชสารและเมืองแห่งมังกร” ซึ่งคชสาร หมายถึงสยาม ส่วนมังกรหมายถึงประเทศจีน พิมพ์จำหน่ายครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2474

ไม่เพียงแต่เรื่องป่าดง แต่วิถีชีวิตของฝรั่งที่มีการเข้าสังคมทำให้ป้าบัวตองต้องเข้าสังคมทั้งไทยและฝรั่งด้วย โดยเธอถูกเรียกว่าคุณนายเวอร์กินี แต่คนไทยเรียกสั้น ๆ ว่า “นายกินี” การเข้าสังคมของป้าบัวตองก็ต้องพิถีพิถันอย่างมาก ต้องเลือกชุดและเดินกลับไปมาให้สามีตรวจสอบว่าไม่มีส่วนไหนบกพร่อง

ด้านการสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การแต่งตัว ป้าบัวตองเล่าว่า ชาวยุโรปใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันในสยาม ทำให้ต้องขวนขวายศึกษาภาษาอังกฤษ สามียังลงทุนถึงขนาดส่งไปเรียนต่างแดน คือ “ปีนัง” ซึ่งมักมีชาวไทยถูกส่งไปเรียน หรือการเดินทางในรูปแบบอื่นอย่างส่งลูกสาวไปเรียนที่เดนมาร์กตามที่สามีประสงค์ก็ผ่านมาแล้วเช่นกัน

“ตอนแรกป้าบัวตองตั้งใจว่าจะเรียนภาษาต่อและอยู่เป็นเพื่อนลูกที่เดนมาร์กนานๆ แต่ข่าวคร่าวเรื่องการมีภรรยาใหม่ของสามี ทำให้ต้องเดินทางกลับเมืองไทย แล้วในที่สุดอีกไม่นานทั้งสองก็แยกกัน” สมชาย เล่า

ป้าบัวตองกลับมาอยู่ที่แพร่ถิ่นกำเนิด แต่ยังมีเดินทางไปสวีเดนเพื่อเยี่ยมลูกสาวและเคารพหลุมศพของสามี

ข้อมูลเหล่านี้มาจากหลักฐานเท่าที่มีบันทึกจึงอาจไม่ครอบคลุมช่วงเวลาอีกช่วงหนึ่ง หากผู้อ่านมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแลกเปลี่ยนกันได้

อ้างอิง: 

สมชาย พนมขวัญ. “ผู้หญิงไทยคนแรก(ๆ)ที่แต่งงานกับชาวสวีเดน”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2528

ราชอาณาจักรสวีเดน. Royal Thai Embassy Stockholm. Online.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0