โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หน้าสิ่วหน้าขวาน

สยามรัฐ

อัพเดต 16 ส.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 16 ส.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
หน้าสิ่วหน้าขวาน

การยกระดับข้อเรียกร้องของม็อบเยาวชนปลดแอก กำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับสังคมไทยว่าจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในไม่ช้า

แม้ว่ารัฐบาล จะเปิดเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือธงโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงการซื้อเวลา

อย่างไรก็ตาม การยกระดับข้อเรียกร้องอาจดำเนินต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งนับวันยิ่งไต่เส้นอันตราย

กระนั้น ในขณะที่สถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความแตกแยก ประเด็นเรื่องการปรองดอง นิรโทษกรรม ที่ถูกพูดถึงก่อนหน้านี้ มีการหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ล่าสุด คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ”เสร็แล้ว

โดยเนื้อหาในรายงานมีการเสนอแนวทางสร้างความปรองดองและสมานฉันท์คนในชาติ เพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคม ด้วยแนวทางการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความปรองดอง มีเงื่อนไขคือ การนิรโทษกรรมเหตุ การณ์ความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน โดยเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้นคือ การกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ทำไปเพื่อแสดงออกถึงความคิดทางการเมือง หรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการทำผิดคดีอาญา ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยเสนอให้ตราเป็นกฎหมายพิเศษ เช่น การออก พ.ร.ก. หรือการออก พ.ร.บ.

ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการยังเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกออกแบบวางกติกาไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ โดยเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้นายกรัฐมนตรีระบุรายละเอียดเรื่องกรอบเวลาของกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจน เมื่อแก้ไขเสร็จ ควรยุบสภาทันทีแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ หากปล่อยเวลาให้นานไปเท่าใด การแก้ปัญหาความขัดแย้งจะเป็นไปได้ยาก

ขณะที่เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อ เสนอให้สื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่นำเสนอข้อมูลหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อคู่ขัดแย้ง ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น รัฐบาลต้องเยียวยาอย่างจริงจัง เป็นระบบ ทั่วถึงและต่อเนื่อง ครอบคลุมความเสียหายทางร่างกายและจิตใจ และชดเชยให้กลับคืนสู่สภาเดิมมากที่สุด โดยไม่จำกัดการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความขัดแย้งทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ผู้นำชุมนุม ฝ่ายความมั่นคง สื่อมวลชน ขอโทษต่อสาธารณชน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศในช่วงสถานการณ์รุนแรง หรือนายกฯที่บริหารประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรแสดงความรับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะผู้นำรัฐบาล เนื่องจากรัฐมีความบกพร่อง ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบริหารความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินไปตามครรลองสันติวิธี

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังเสนอถึงการทำหน้าที่ของกองทัพควรทำภารกิจของกองทัพ งดเว้นการทำรัฐประหาร หรือแทรกแซงทางการเมือง เช่น การใช้อิทธิพลกดดันนโยบายรัฐบาล การข่มขู่ใช้กำลังหรือยึดอำนาจ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องปลูกฝังจิตสำนึกทหารให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ในการถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพควรกำหนดว่า จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร รวมถึงยังมีข้อเสนอไปยังผู้นำการชุมนุม ว่า แม้เสรีภาพการชุมชุมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้สิทธิเสรีภาพใช่ว่าจะทำได้ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด การชุมนุมจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือ โดยสงบ ปราศจากอาวุธ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ น่าจับตาว่ารายงานของคณะกรรมาธิการฯจะเป็นทางออกของสถานการณ์ได้หรือไม่ และจะถูกนำไปผลักดันให้เกิดผลปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างไร หรือเก็บไว้บนหิ้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0