โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผัวเมียเป็นกันเมื่อใด รู้ได้ไงว่าเป็นผัวเมีย? ดูกฎหมายผัวๆ เมียๆ ในรัชกาลที่ 5-7

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 02 พ.ค. 2566 เวลา 03.49 น. • เผยแพร่ 28 เม.ย. 2566 เวลา 17.33 น.
ภาพปก - กฎหมายผัวเมีย

หญิงกับชายจะมีสถานภาพเป็น ผัวเมีย กันเมื่อใด กฎหมายลักษณะผัวเมีย (ผ.ม.) มิได้มีบทบัญญัติไว้โดยชัดเจนว่า หญิงชายจะต้องประพฤติกันอย่างใดจึงจะถือว่าเป็นผัวเมียกันตามกฎหมาย หากแต่เมื่อนำบทบัญญัติต่างๆ มาพิเคราะห์ดูตามที่นายเซี้ยงเนติบัณฑิต ได้เรียบเรียงกฎหมายผัวเมียไว้ กล่าวได้ว่า หญิงชายไม่ได้เป็นผัวเมียกันเพราะเหตุว่าได้ร่วมประเวณีกัน โดยในบางบทบัญญัติหญิงกับชายยังมิได้ได้เสียกัน กฎหมายก็ถือว่าหญิงกับชายก็ได้เป็นผัวเมียกัน ดังจะเห็นได้จาก (ผ.ม. 119) ว่า

“ชายใดพึงใจลูกสาวหลานสาวท่าน ให้ผู้เถ้าผู้แก่ไปสู่ขอเปนคำนับแก่บิดามานดาหญิง บิดามานดาหญิงยกลูกสาวหลานสาวนั้นให้แก่ชายผู้สู่ขอ ทำการมงคงแล้วชายนั้นมีกิจราชการไป ยังมิได้มาอยู่ด้วยหญิง ถ้าชายกลับมาไซ้ ท่านให้ส่งตัวหญิงนั้นให้แก่ชาย”

ขณะที่บางครั้งหญิงกับชายได้เสียกัน กฎหมายก็ไม่ถือว่าหญิงกับชายเป็นผัวเมียกัน โดยเฉพาะเมื่อผู้ปกครองของหญิงมิได้ยินยอม การกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการลักพา ซึ่งฝ่ายชายมีความผิดฐานละเมิดอำนาจอิศระของผู้ปกครอง ดังจะเห็นได้จาก (ผ.ม. 81, 82, 126, 135) ที่มีเนื้อความว่า“เมื่อหญิงใดยังอยู่ใต้อำนาจอิศระของพ่อแม่ (ผู้ปกครอง) การที่ชายมาลอบทำชู้ด้วย หรือลักพาเอาไปนั้นเปนการเลมิดอำนาจพ่อแม่ เขาอาจฟ้องร้องเรียกสินไหมได้”

จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวจึงพอสรุปได้ว่า“การที่ชายกับหญิงจะเป็นผัวเมียกันเกณฑ์สำคัญก็คือ เมื่อฝายชายกับฝ่ายหญิง (หรือผู้ปกครองหญิง) ตกลงยินยอมเป็นผัวเมียกัน และทั้งสองฝ่ายได้รับรอง หรือแสดงต่อธาระกำนันว่าเขาทั้งสองเป็นผัวเมียกัน”

การรับรองหรือแสดงต่อสาธารกำนัลว่าหญิงกับชายเป็นผัวเมียกันเกิดได้จาก การกล่าวด้วยวาจาและการแสดงกิริยาหลายประการ ประการหนึ่งคือ “การมีพิธีแต่งงาน” ตามที่กล่าวใน (ผ.ม. 119) ซึ่งการแต่งงานนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องมีพิธีอย่างไร หากแต่ให้เพียงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการแต่งงาน อีกประการที่สำคัญคือ“การเลี้ยงดูอยู่กินอย่างผัวเมีย” ซึ่งในกฎหมายมีบทบัญญัติกล่าวถึงหลายบท อาทิ (ผ.ม. 33)

หญิงข้าก็ดี ไทก็ดี มาขออาไศรยอยู่ด้วยชายก็ดี ชายรับประกันไว้ก็ดี…ถ้าชายไปมาหาสู่มัน เกิดลูกด้วยมัน มันนอกใจมีชู้ให้ไหมชายชู้ดูแลหญิงนั้นโดยฉันอณุภรรยา”

ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ควรสังเกตว่า การที่หญิงกับชายจะเป็น “ผัวเมีย” ข้อสำคัญคือ “เกิดลูกด้วยมัน” เพราะไม่ทำให้ผู้อื่นนึกว่าหญิงเป็นแต่ผู้อาศัย

และใน (ผ.ม. 85)“ฝูงไพร่ฟ้าข้าคนทั้งหลาย หาขันหมากมิใครกันอยู่ด้วยกันเปล่า ๆ พ่อแม่แห่งหญิงรู้มิได้ร้องฟ้องว่ากล่าวแลมันปลูกเรือนบ้างต่างเรือนแฝงอยู่กินด้วยกันโดยฉันผัวเมีย หาบุตรมิได้ก็ดี หญิงสิทธิเปนเมียชาย ถ้าแลผู้ใดมิได้ปลูกเรือนอยู่มิได้ทำเลี้ยงกันโดยฉันผัวฉันเมีย ท่านว่ามิได้เปนเมียสิทธิแก่ชายเลย”

ซึ่งสังเกตได้ว่า การที่พ่อแม่รู้แล้วไม่ฟ้องร้องกล่าวว่า กฎหมายถือว่าพ่อแม่ได้ยินยอม และการปลูกเรือนอยู่ด้วยกันก็ย่อมทำให้ผู้อื่นรับรู้ว่าชายกับหญิงเป็นผัวเมียกัน ขณะเดียวกันในกรณีที่ชายกับหญิงเลี้ยงดูอยู่กินกันเป็นเวลา 2-3 ปี ชายกับหญิงก็ถือเป็นผัวเมียกัน โดยคาดได้ว่าเวลาดังกล่าวน่าจะนานพอที่จะทำให้คนทั่วไปรับรู้ ดังใน (ผ.ม. 102) ที่ว่า

“ชายขอลูกท่านถึงหลบฝาก (หลบฝาก แปลว่าไม่ออกหน้า) ยังแต่จะทำงาน แลพ่อแม่หญิงให้ชายฝากบำเรอ แลทำกินอยู่ด้วยกันเปนเมียสิทธิแก่เจ้าผัวเสมือนเมียทำงาน…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เรื่องผัวๆ เมียๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 ผ่านกฎหมาย คดีความและฎีกา” เขียนโดย ภาวิณี บุนนาค ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2554

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0