โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปูปูตัน 1906-เหตุนองเลือดที่บาหลี บทเรียนราคาแพงของชาวดัตช์

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 10 ก.พ. 2565 เวลา 03.32 น. • เผยแพร่ 05 ก.พ. 2565 เวลา 14.56 น.
อนุสาวรีย์ปูปูตัน 1906 ที่เดนปาซาร์ บาหลี (ภาพจาก World Imaging)
อนุสาวรีย์ปูปูตัน 1906 ที่เดนปาซาร์ บาหลี (ภาพจาก World Imaging)

เมื่อฮอลันดาเข้ามาบทบาทในการค้าเครื่องเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับจัดตั้งสถานีการค้าที่ปัตตาเวีย ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาทำหน้าที่ควบคุมแหล่งเครื่องเทศมูลค่ามหาศาล จากหมู่เกาะต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งบาหลี

บาหลี หรือเกาะบาหลี ในปัจจุบันคือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผู้คนดำเนินชีวิตไปตามวิถีของธรรมชาติ และคำสอนของศาสนาฮินดู นักท่องเที่ยวจึงมักเห็นภาพสบาย ๆ ของคนบาหลีที่ไม่รีบไม่ร้อนจัดทำกระทงเครื่องเซ่นสรวงเทพเจ้า แต่บาหลีในยุคอาณานิคมกลับเด็ดเดี่ยวและเผ็ดร้อนยิ่ง

ศาสตราจารย์  ดี.จี.อี. ฮอลล์ กล่าวว่า “บาหลีเป็นดินแดนที่ให้บทเรียนราคาแพงแก่ฮอลันดา ในการที่ฮอลันดาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเอกราชของบาหลี โดยบาหลีมักจะก่อความยุ่งยากอย่างมากให้แก่ฮอลันดาเป็นครั้งคราว” (ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม 2)

เหตุการณ์ต่อสู้ครั้งสำคัญระหว่างฮอลันดา-บาหลีก็คือ กรณีนองเลือด ปี 2449 หรือ ปูปูตัน 1906**

ธีรภาพ โลหิตกุล รวบรวมข้อมูลจากที่ต่าง ๆ มาต่อเป็นภาพให้เห็นว่าเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้นเป็นอย่างไร ขณะนั้นเกาะบาหลีมีการปกครองแบบนครรัฐ แต่ละเมืองมี รายา (Raja) ของตนเอง โดยมีเมืองเดนปาซาร์เป็นเมืองหลัก ภายใต้การปกครองของรายาบาดุง

บาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เขียนโดย อิเด อานัค อากุง กะเด อากุง (Ide Anak Agung Gde Agung) เอกสารหนึ่งที่ธีรภาพอ้างอิงบันทึกถึงเหตุการณ์ปูปูตัน ซึ่งพอสรุปได้ว่า

วันที่ 19 กันยายน ปี 2449 ทหารฮอลันดา 3 กองพัน ยกพลขึ้นเกาะบาหลีที่ชายหาดซานูร์ มีคำสั่งให้ยิงทำลายตัวเมืองเดนปาซาร์ ขณะที่เรือรบที่ทอดสมออยู่ก็ยิงสนับสนุนด้วยปืนวิถีไกล มีเป้าหมายที่พระราชวังเดนปาซาร์ของรายาบาดุง ทหารฮอลันดารุกคืบเข้ายึดตัวเมืองได้ในที่สุด

เช้าวันที่ 20 กันยายน ปี 2449 รายาบาดุงตระหนักว่า กองกำลังของพระองค์ไม่อาจต้านทานทหารฮอลันดาได้ แต่ด้วยพระราชศรัทธาในราชประเพณีโบราณที่ว่า ราชนิกุลบางหลีไม่เคยยอมจำนนต่อศัตรู และเพื่อรักษาพระเกียรติยศ พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพาร, เจ้านายฝ่ายใน, พระบรมวงศานุวงศ์ที่รวมถึงผู้ชายและเด็ก ทั้งหมดตัดสินใจเลือกหนทางสู่ความตายอย่างมีเกียรติที่เรียกว่า ปูปูตัน

ดร. เอช.เอ็ม. แวน วีด (Dr. H.M. van Weede) ชาวฮอลันดาผู้อยู่ในเห็นเหตุการณ์วันนั้นบันทึกไว้ใน Indies Travel Memories (อ้างอิงจาก กบฏกริชบาหลี) ว่า

“…มันเป็นภาพที่น่าสะเทือนใจในเช้าวันที่ 20 กันยายน 2449 สุลต่าน*และราชโอรสพร้อมด้วยเหล่าผู้ตามเสด็จต่างแต่งพระองค์ด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด ส่วนใหญ่เป็นสีแดงหรือดำ ผ้าโพกศีรษะสีขาวของพวกประพรมน้ำหอมหอมกรุ่น ทุกคนมีกริชซึ่งประดับประดาอัญมณีที่ด้าม และบางคนก็มีหอกเป็นศัสตราวุธ นางสนมบางคนอุ้มเด็กทารกไว้ในอ้อมแขน เดินมุ่งตรงไปอย่างไม่เกรงกลัวภยันตรายใด ๆ…

…นายทหารชาวดัตช์และล่ามพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า ที่จะบอกให้ขบวนแถวของสุลต่าน*และผู้ตามเสด็จเหล่านั้นหยุดเดินมุ่งตรงเข้ามายังกองทหารของเรา แต่เปล่าประโยชน์ บัดนี้เขาได้ตระหนักแล้วว่า เขากำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มชนผู้ปรารถนาความตายโดยแท้

…กระสุนชุดแรกจากปืนไรเฟิลระเบิดออกไป เมื่อคนในขบวนแถววิ่งชูกริชหมายเข้าจ้วงแทงเหล่าทหาร ภาพที่ปรากฏขึ้นเบื้องหน้าขณะนั้นชวนให้ขนพองสยองเกล้า องค์สุลต่าน*และข้าราชบริพารแถวหน้าสุดทรุดตัวล้มลงกองกับพื้นถนน เหล่าสนมกำนัลในแอ่นอกถลาเข้ามารับกระสุน ราวกับปรารถนาความตายเป็นที่สุด

นางสนมบางคนโยนเหรียญทองและอัญมณีล้ำค่าให้ทหารดัตช์เป็นค่าจ้างที่ส่งดวงวิญญาณของเธอสู่สรวงสวรรค์ ใครยังไม่ถูกยิงตายก็เอากริชประดับเพชรนิลจินดาที่เคียนเอวมาจ้วงแทงตนเองตายอย่างน่าสยดสยอง และบ้างก็วิ่งไปนอนตายกองทับถมพระศพขององค์สุลต่าน*เอาไว้ไม่ให้ใครมาแย่งชิงเอาพระศพไปได้”

เมื่อเหล่าผู้นำบาหลีสิ้นชีพแล้ว ฮอลันดาได้รับชัยชนะและยึดครองบาหลี แต่ใช่ว่าจะสยบชาวบาหลีได้อย่างราบคาบ เมื่อผู้นำบาหลียอมตายเพื่อเกียรติยศ หรือ ปูปูตัน ที่มีตามมาในอีกหลายเมืองบนเกาะบาหลี ประวัติศาสตร์ยังต้องบันทึกชัยชนะอัปยศของเจ้าอาณานิคมอีกครั้ง กับเหตุการณ์ ปูปูตันครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2451 ที่มีผู้ตามเสด็จรายาคลุงคลุงด้วยการชักกริชสู้กับปืนไฟของฮอลันดาจนตัวตาย

* ต้นฉบับในหนังสือ กบฎกริช บาหลี ใช้คำว่า “สุลต่าน”

ข้อมูลจาก

ดี.จี.อี. ฮอลล์ เขียน, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อานันต์ กาญจนพันธ์ บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม 2, มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศษสตร์และสังคมศาสตร์ , 2522

ธีรภาพ โลหิตกุล. กบฎกริช บาหลี, สำนักพิมพ์มติชน, กรกฎาคม 2540

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 6 สิงหาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0