โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ปิดประเทศ ลงทุนอสังหาฯ แพ้ราบคาบ

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 07 ส.ค. 2563 เวลา 04.44 น. • เผยแพร่ 07 ส.ค. 2563 เวลา 04.45 น. • Thansettakij

 

ผ่ามุมคิด

 

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดทั่วโลก บีบไทยปิดประเทศ ชะลอการบินลากยาวอย่างไม่มีกำหนดนั้น ไม่ได้ส่งผลแค่ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่อยู่ในขั้น “เหนื่อยหอบ” ของไทย แต่สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมระดับบน เจาะลูกค้านักลงทุนต่างชาตินั้น ก็กำลังหายใจรวยรินไม่ต่างกัน ตอกย้ำโดยผู้บริหารใหญ่ บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) นายไลโอเนล ลี ซึ่งระบุ บริษัทและตลาดคอนโดฯลักชัวรี กำลังเผชิญกับความท้าทายสูง หลังไวรัสตัวร้าย สกัดการบินเข้า-ออกประเทศที่ผ่านมา ฉุดนักลงทุนอสังหาฯ ทั้งซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ ลดจำนวนร่วงต่ำสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลจ่อทบทวนแผนระยะยาว 5 ปี สู่การปรับกลยุทธ์สู้รายเดือน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นการลงทุนอสังหาฯไทยระยะยาว ยังเป็นที่ต้องการสูงของคนต่างชาติ รอรัฐปลดล็อกการบิน ส่งมาตรการหนุน กู้กลับสถานการณ์ และฟื้นกำลังซื้อปั๊มรายได้ตามเป้าหมาย 8.3 พันล้านบาท 

ไลโอเนล ลี
ไลโอเนล ลี

 

วิกฤติครั้งเลวร้าย 

ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนหน่วยคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ตลอดช่วงครึ่งปีแรก ของกรุงเทพฯ ลดลงถึง 73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดทั้งปีจะหายไปราว 70-80% ขณะการซื้อ-ขาย คอนโดฯในกลุ่มนักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นดีมานด์จากต่างชาตินั้น หดตัวอย่างรุนแรง อยู่ในภาวะต่ำสุดในรอบ 20 ปี เนื่องจาก แม้มีดีมานด์ความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากชาวจีน ซึ่งขณะนี้ ประเมินว่าไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงและมีสาธารณสุขดีเยี่ยม ต้องการครอบครองอสังหาฯ ไว้สำหรับทั้งลงทุน และรองรับการเป็นบ้านหลังที่ 2 แต่เมื่อความไม่แน่นอนของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก จนส่งผลให้ประเทศไทย ยังคงไว้ซึ่งมาตรการปิดประเทศ งดการท่องเที่ยว เดินทางเข้า-ออก ของกลุ่มคนต่างชาตินั้น การซื้อ-ขาย ของกลุ่มคนดังกล่าว ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

“ไม่เคยเจอวิกฤติครั้งไหน ที่ส่งผลกระทบรุนแรง จนต้องมีมาตรการปิดกั้น ไม่ให้คนเข้ามาในประเทศเหมือนวิกฤติครั้งนี้มาก่อน”

 

เลื่อนเปิดโครงการปรับแผนใหม่

ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ที่คาดอาจเป็นไปอย่างชะลอตัว ได้กระทบต่อแผนการทำธุรกิจของทุกบริษัท รวมถึงไรมอนแลนด์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละโครงการพึ่งพาลูกค้านักลงทุนต่างชาติราว 30-40% ส่งผลให้บริษัทตัดสินใจเลื่อนเปิดโครงการใหม่ ซึ่งเดิมวางแผนไว้ 1 โครงการ มูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท บนถนนสุขุมวิท 38 ออกไปก่อน เพราะต้องการปรับลดการลงทุน และมุ่งไปสู่กลยุทธ์เพิ่มรายได้ เพื่อรอดูจังหวะและสภาพความพร้อมของทั้งตลาดและตัวบริษัทเอง โดยไม่มีแผนงานชัดเจนตายตัวเหมือนที่ผ่านมา แต่กลยุทธ์จะถูกปรับเปลี่ยนรายเดือน ตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ส่วนแผนดำเนินธุรกิจระยะยาว 5 ปี เป้าหมายรายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาทนั้น  จะถูกปรับเปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 2564 

 

เดอะลอฟท์สีลมรอหายใจ

นายไลโอเนล ลี ยังกล่าวต่อว่า แผนการทำธุรกิจนั้น ยังจะขึ้นอยู่กับการตอบรับในแง่การขายและการโอนกรรมสิทธิ์ จากโครงการต่างๆที่มีอยู่ เช่น โครงการ The Loft Asoke, The Diplomat 39 รวมถึงโครงการแล้วเสร็จล่าสุด The Loft Silom มูลค่า 3.5 พันล้านบาทด้วย ที่มีกลุ่มลูกค้านักลงทุนต่างชาติราว 30-40% เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมาก ยังรอการเข้ามาในประเทศเพื่อโอนกรรมสิทธิ์หลังรัฐบาลปลดล็อก โดยปีนี้บริษัท มียอดขายรอรับรู้รายได้ถึง 8.3 พันล้านบาท เพราะแม้บริษัทมีแผนตั้งรับ เปิดช่องให้บางรายใช้ช่องทางอื่นๆ  เช่น การทำ Rotary Proxy ในแง่การมอบอำนาจการโอนกรรมสิทธิ์ให้กับเครือข่ายในประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการแทน ผ่านกระบวนการของสถานกงศุลไทย แต่พบยังมีข้อจำกัด สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเครือข่ายคนรู้จัก ทำให้ยอดรายได้ยังเข้ามาไม่เต็มที่และต้องคอยลุ้นต่อ แต่ขณะนี้บริษัท ยังไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องอย่างใด เนื่องจากยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินในระดับดี  ทั้งนี้ มั่นใจยอดขายรวมของบริษัท ตลอดทั้งปี 2563 จะเป็นไปตามเป้า 2.5-3 พันล้านบาท หลัง 6 เดือนแรก สามารถทำได้แล้ว 1,329 ล้านบาท

 

เสนอแบงก์ปล่อยกู้ต่างชาติ

 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กังวลกับตลาดอสังหาฯ ไทยมากนัก โดยเฉพาะในตลาดที่บริษัทโฟกัสอยู่ อย่างคอนโดฯระดับลักชัวรี เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มระดับราคา 8 หมื่น-1.1 แสนบาทต่อตารางเมตร เป็นตลาดที่มีซัพพลายน้อย สัดส่วนเพียง 30% ขณะกลุ่มอัลตราลักชัวรี มากกว่า 2.6 แสนบาทต่อตารางเมตร ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด ราคาตกลงมาต่ำเพียง 2-3% เท่านั้นเมื่อเทียบกับเซ็กเมนต์อื่นๆ จึงยังเป็นตลาดนักลงทุนต่างชาติต้องการ เพียงแต่หากได้รับมาตรการกระตุ้นของรัฐที่ครอบคลุมมากขึ้น เปิดช่องกฎหมายบางประการ เช่น ให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ให้กับผู้ซื้อต่างชาติได้ เดินควบคู่กับสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายลง รัฐบาลกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ก็มองว่าตลาดมีโอกาสกลับมาคึกคักได้

 

“ปัจจุบันโควต้าผู้ซื้อต่างชาติเราเต็มทุกโครงการ อยากเสนอ 1. ให้รัฐเปิดช่องซื้อได้มากกว่า 51% เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด 2.ลดค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนฯ เพราะที่ผ่านมา ตลาดลักชัวรีไม่เคยได้รับ และ 3. เปิดช่องให้สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ซื้อต่างชาติ เนื่องจากทุกวันนี้ต้องซื้อสดเท่านั้น กลายเป็นข้อจำกัดของการซื้อ-การขาย เป็นต้น” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0