โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ปลูกพริกหยวก สร้างงาน สร้างเงิน

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 01 มี.ค. 2564 เวลา 02.52 น. • เผยแพร่ 01 มี.ค. 2564 เวลา 02.52 น.
พริกหยวก

“พริกหยวก”, “พริกหวาน” หรือ “พริกยักษ์” (bell pepper, sweet pepper หรือ capsicum) เป็นกลุ่มพันธุ์ของสปีชีส์ Capsicum annuum พริกหยวกให้ผลสีต่างๆ กัน รวมถึงแดง เหลือง ส้ม และเขียว บางครั้งพริกหยวกถูกจัดกลุ่มรวมกับพริกที่เผ็ดน้อย เรียกว่า “พริกหวาน” พริกเป็นพืชประจำถิ่นในเม็กซิโก อเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้ตอนเหนือ ภายหลังเมล็ดพริกถูกนำไปยังสเปน ใน ค.ศ. 1493 และได้เผยแพร่ไปยังประเทศยุโรป แอฟริกา และเอเชีย

ในทางการแพทย์ระบุสรรพคุณว่า พริกหยวกทุกสีมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ซึ่งช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารดี ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ ขับลม ขับเสมหะ แก้อาเจียน แก้หิด กลาก เกลื้อน และสามารถลดความดันโลหิตได้ เพราะทำให้หลอดเลือดอ่อนตัว และช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ดี นอกจากนี้ น้ำฉ่ำจากพริกหยวกยังช่วยทำให้สุขภาพเล็บของเราแข็งแรงด้วย
นอกจากมีสารสำคัญอย่างแอนตี้ออกซิแดนท์ที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้แล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา มีคุณค่าจากวิตามิน A B1 B2 และ C มีสารแคปไซซินเป็นแหล่งเบต้าแคโรทีน และมีสารไบโอฟลาโวนอยด์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น ทั้งยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรคือ ผลมีสารแคปไซซิน ใช้เป็นยา ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย นำไปผสมทำเป็นขี้ผึ้ง ทาถูนวดรักษาอาการปวดเมื่อยเกี่ยวกับไขข้ออักเสบได้

รู้จักพริกหยวก

“พริกหยวก” เป็นพืชล้มลุก อายุสั้น ลักษณะต้นเป็นพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร ใบยาวเรียว ขอบใบเรียบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว สีขาวนวลห้อยลง ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลือง เมื่อแก่จัดจะมีสีแดง มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมถึงหกเหลี่ยม เนื้อหนา โคนผลใหญ่ ปลายผลเล็กมน เมล็ดแบนเล็กสีขาว มีขนาดใหญ่กว่าพริกเหลืองและพริกชี้ฟ้ามาก แต่ความเผ็ดจะตรงข้ามกับขนาด แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีความเผ็ดเลย

พริกชนิดนี้ขึ้นได้กับดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี ไม่ชื้นจนเกินไป สามารถปลูกได้ตลอดปี เป็นพืชที่มีรากหากินได้ลึกมากเกินกว่า 1.20 เมตร ต้นพริกที่โตเต็มที่รากฝอยจะแผ่ออกไปหากินด้านข้างในรัศมีเกินกว่า 1 เมตร ต้นพริกที่สมบูรณ์จะมีกิ่งแตกขึ้นมาจากต้นที่ระดับดินหลายกิ่ง จนดูคล้ายกับว่ามีหลายต้นรวมอยู่ที่เดียวกัน

ประเทศไทยนั้นมักนิยมปลูกพริกอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • พริกหวาน พริกหยวก พริกชี้ฟ้า ซึ่งอยู่ในกลุ่ม C. annuum
  • พริกเผ็ด ได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูใหญ่ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม C. furtescens

การเตรียมแปลงปลูกพริกหยวก

หลังจากไถตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดินแล้ว ให้เริ่มต้นด้วย

  • ไถพรวนพื้นที่แปลงปลูกพริกอีก 2 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนซุย ไม่เกาะกันเป็นก้อน
  • หว่านปูนขาว ในอัตราส่วน 150 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 50 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยหมัก 1,000 กิโลกรัม/ไร่ รองพื้นเพื่อปรับสภาพดินและป้องกันกำจัดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคพืชที่มีอยู่ในดิน
  • เมื่อไถพรวนดินจนร่วนซุยแล้ว ให้วัดแปลงปลูกพริก แล้วจึงยกร่อง กว้าง 1 เมตร สูง 30 เซนติเมตร
  • ปรับแต่งหัวแปลงและท้ายแปลง ขอบแปลงและหน้าแปลงให้สม่ำเสมอกัน ให้ระดับความสูงของแปลง ประมาณ 30 เซนติเมตร หน้าแปลงกว้าง 90-100 เซนติเมตร ปรับร่องแปลงให้มีระดับสม่ำเสมอกัน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังในร่องแปลง
  • คลุมแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลง มีความกว้าง 1.20 เมตร การคลุมแปลงจะต้องดึงพลาสติกให้ตึง แล้วใช้ตอกปักที่หัวแปลง ท้ายแปลง และขอบแปลงยึดไว้
  • เเล้วเจาะหลุมปลูกเเบบสลับฟันปลา ให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร ห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อ ป้องกันกำจัดวัชพืชในแปลงพริก

การเพาะกล้าพริกหยวก

พริกหยวก มีขั้นตอนการเพาะกล้า ดังนี้

  • ร่อนทรายให้ได้เม็ดทรายขนาดปานกลาง แล้วล้างน้ำให้สะอาด ประมาณ 2-3 ครั้ง แล้วทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นก็นำทรายที่ล้างเสร็จแล้วไปผสมวัสดุเพาะ (มีเดีย) ในอัตราส่วน 2 : 1 (ทราย : วัสดุเพาะมีเดีย) ใส่ลงไปในกระบะเพาะหรือวัสดุอื่นที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เช่น ตะกร้าทรงสี่เหลี่ยม โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ปูรองก้นก่อน กระดาษที่ใช้ฉีดพ่นสารกันเชื้อราก่อน จากนั้นก็นำวัสดุเพาะที่ผสมแล้วลงในกระบะเพาะ สูงประมาณ 2-3 นิ้ว เขี่ยให้เรียบสม่ำเสมอกัน
  • ทำร่องเพาะเมล็ด โดยให้ลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 4 เซนติเมตร
  • ก่อนนำเมล็ดไปหยอด นำเมล็ดคลุกด้วยสารป้องกันกำจัดแมลง Matalaxyl ใช้ในอัตราส่วนที่พอเหมาะกับจานเมล็ดพันธุ์ที่เพาะโรยเมล็ดตามร่องให้กระจายสม่ำเสมอกัน อย่าโรยเมล็ดทับกันหนาเกินไป จากนั้นกลบกดให้แน่นเล็กน้อย ปักป้าย Tag ระบุชื่อพันธุ์และวันที่เพาะ ประมาณ 10-12 วัน ย้ายลงถาดเพาะ
  • หลังจากเพาะในกระบะทรายได้ 10-12 วัน ย้ายลงในถาดเพาะ ซึ่งขั้นตอนการย้ายกล้าลงถาดเพาะ มีดังต่อไปนี้

4.1 นำมีเดียใส่ลงไปในถาดเพาะ ระวังอย่าให้มีเดียเป็นก้อน บีบให้ละเอียดก่อนใส่ลงถาดเพาะ เขี่ยให้สม่ำเสมอกัน เรียงกันให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

4.2 ถอนต้นกล้าในกระบะเพาะ จากนั้นก็นำไปล้างรากเอาเม็ดทรายที่ติดรากออกให้หมด ถ้ารากยาวเกินไปให้ตัดรากออกเหลือประมาณ 2-3 เซนติเมตร ขั้นตอนนี้จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ต้นกล้าได้รับการกระทบกระเทือน เพราะเป็นระยะของต้นกล้าที่อ่อนแอที่สุด

4.3 ปัก Tag ให้เรียบร้อย เขียนชื่อสายพันธุ์ วันที่เพาะ วันที่ย้ายลงถาดเพาะ จากนั้นก็นำต้นกล้าปักลงในหลุมถาดเพาะ โดยใช้คีมหนีบคีบตรงรากเบาๆ กดลงไปให้รากจมมิด แล้วตั้งต้นกล้าให้ตรง พ่นสารเคมีป้องกันโรคโคนเน่า

4.4 นำไปไว้ในโรงเรือนเพาะกล้า แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกวัน

การปลูกพริกหยวก

  •  เมื่อเตรียมแปลง คลุมพลาสติกเสร็จแล้ว เจาะหลุมปลูกพริกโดยให้ระยะห่างระหว่างต้น ต้นละ 50 เซนติเมตรเจาะหลุมปลูกให้ทแยงกันเป็นฟันปลา ปล่อยน้ำลงในร่องแปลง แล้วทิ้งไว้ให้ชุ่ม
  •  เตรียมต้นกล้าที่จะย้ายปลูก รดน้ำให้ชุ่มพอควร แต่ไม่ให้แฉะเกินไป แล้วนำออกมาตากแดด
  •  การเตรียมหลุมปลูก รดน้ำแปลงให้ชุ่ม แล้วเจาะหลุมปลูกโดยใช้ไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4-5 เซนติเมตร
  •  จากนั้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผง (หมอดิน) 1 ช้อนโต๊ะ ต่อหลุม แล้วพรวนดินให้เข้ากัน
  •  การปลูกพริก การนำต้นกล้าออกจากถาดเพาะ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ต้นกล้าพริกได้รับการกระทบกระเทือน ปลูกตรงกลางหลุม เจาะหลุมพอให้นำต้นกล้าลงปลูกได้ ลึกประมาณ 4-5 เซนติเมตร ใช้ดินกลบที่โคนต้นแล้วกดให้แน่นพอสมควร แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ปักตอกเพื่อพยุงต้นไม่ให้ล้มเมื่อลมพัด

การดูแลรักษา

การให้น้ำ จะให้น้ำตามร่อง พริก เป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอในช่วงแรกของการเจริญเติบโต ดินควรมีความชุ่มชื้นพอดี อย่าให้เปียกแฉะเกินไป จะทำให้ต้นพริกเหี่ยว เกิดโรคเน่าคอดินเเละโรครากเน่าได้ ในระยะแรกหลังจากย้ายปลูกจะให้น้ำก่อนหรือหลังรดปุ๋ย ประมาณ 2 วัน ในช่วงเก็บผลผลิตควรลดการให้น้ำ เพื่อจะทำให้คุณภาพผลผลิตดี สีของผลสวย

การตัดแต่งกิ่ง หลังจากย้ายปลูกประมาณ 15-20 วัน เริ่มแต่งกิ่ง โดยการเด็ดแขนงข้างของต้นพริกออกให้หมด ให้แต่งกิ่งไปจนถึงง่ามที่ติดดอกเเรก ซึ่งเป็นง่ามเเรกของต้นพริก ในระยะที่ผสมจะตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่ม คือ ตัดแต่งกิ่งที่ซ้อนทับกันออก เพื่อช่วยให้ติดดอกมากขึ้น

วิธีการปักค้าง เมื่อย้ายกล้าปลูกลงแปลงประมาณ 15-20 วัน จะปักค้างโดยไม้ค้างทำจากไม้ไผ่หรือไม้รวก ยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ใช้ไม้ค้าง 1 อัน ต่อพริก 1 ต้น ปักค้างในเเนวเฉียง ประมาณ 60-70 องศา เพื่อให้ไม้ค้างอยู่ตรงง่ามแรกของต้นพริก แล้วใช้เชือกฟางมัดต้นพริกกับไม้ค้างอีกครั้ง เพื่อช่วยพยุงต้นพริกไม่ให้ล้มเมื่อลมพัด

การกำจัดวัชพืช ในระยะที่ต้นพริกยังเล็กควรมีการกำจัดวัชพืชให้บ่อยครั้ง หากวัชพืชคลุมต้นพริกช่วงระยะการเจริญเติบโต จะทำให้แคระแกร็น คุณภาพผลผลิตไม่ดี การกำจัดวัชพืชน้อยครั้งยังมีผลทำให้ดินที่มีผิวหน้าแข็งหรือเหนียวจับกันเป็นแผ่น น้ำซึมผ่านได้ยาก ให้มีการถ่ายเทอากาศและระบายน้ำดี วิธีกำจัดวัชพืชจะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืช โดยใช้ กรัมมอกโซน 1,000 ซีซี ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 500 กรัม สารจับใบ 200 ซีซี ในอัตราต่อน้ำ 200 ลิตร

การใส่ปุ๋ยและธาตุอาหารเสริม

ครั้งที่ 1 หลังจากย้ายปลูกได้ไม่เกิน 5-7 วัน รดปุ๋ยเกล็ด สูตร 15-30-15 ร่วมกับ เทอราโซน ในอัตราน้ำ 200 ลิตร ใช้ปุ๋ย 15-30-15 1 กิโลกรัม พร้อมรดเทอราโซน 200 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร

ครั้งที่ 2 หลังจากย้ายปลูกได้ประมาณ 10-15 วัน ใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 ร่วมกับเทอราโซน และหมอดิน ในอัตรา น้ำ 200 ลิตร ใช้ปุ๋ย 20-20-20 1 กิโลกรัม ส่วนหมอดินใช้ อัตรา 25 กิโลกรัม พร้อมรดเทอราโซน 200 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร

ครั้งที่ 3 หลังจากย้ายปลูกได้ประมาณ 15-20 วัน ใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 15-30-15 ร่วมกับ พอสอีสทิล ในอัตรา น้ำ 200 ลิตร ใช้ปุ๋ย 15-30-15 1 กิโลกรัม พอสอีสทิล 300 กรัม

ครั้งที่ 4 หลังจากย้ายปลูกได้ประมาณ 25-30 วัน โดยฝังปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 และ 46-0-0 อัตรา 2 : 1 ฝังโดยเจาะหลุมห่างจากต้นพริก ประมาณ 20-25 เซนติเมตร

ครั้งที่ 5 หลังจากพริกเริ่มติดดอกและผล ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ผสมกับ ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 ในอัตราส่วน 2 : 1 ฝังโดยเจาะหลุมห่างจากต้นพริก ประมาณ 20-25 เซนติเมตร

ครั้งที่ 6 หลังจากพริกเริ่มมีผล ฉีดพ่นแคลเซียม ในอัตราส่วน น้ำ 200 ลิตร ต่อ แคลเซียม 500 กรัม พ่น 2 สัปดาห์ 1 ครั้ง

ปัญหาเรื่องโรคและแมลง พริกหยวก มีการทำลายของโรคและแมลงน้อยมาก ถ้ามีการใช้ปุ๋ยชีวภาพอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง

ส่วนมากปัญหาที่พบคือ ยอดหงิก ซึ่งมีสาเหตุมาจากเพลี้ยไฟ ก็อาจมีการป้องกันด้วยการถอนทำลายต้นทิ้ง หรืออาจมีการใช้สารเคมีบ้างในยามที่จำเป็น ปัญหาต้นกล้าที่เพาะเป็นโรคเน่าคอดิน แนวทางการแก้ปัญหาคือ หลังย้ายลงถาดเพาะ ป้องกันโรคเน่าคอดินด้วยสารเคมีอีไตรไดอาโซล (etridiazole) ในอัตราส่วนผสม 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

ปัญหาพริกเป็นโรคโคนเน่า แก้ปัญหาได้ดังนี้

  • ในขั้นตอนการเตรียมแปลง จะต้องปรับร่องแปลงให้สม่ำเสมอกัน เพื่อไม่ให้มีน้ำขังในร่อง
  • ป้องกันด้วยสารเคมี อีไตรไดอาโซล (etridiazole) ในอัตราส่วน 200 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร
  • ระบายน้ำในแปลงออกให้หมด

ปัญหาการระบาดของเพลี้ยไฟ ไรขาว ซึ่งทำให้ใบและยอดพริกหงิกงอ แก้ปัญหาได้ดังนี้

ป้องกันและกำจัดด้วยสารเคมีจำพวกอะเซทามิพริด (acetamiprid) เฟนไพโรซิเมต (fenpyroximate) อิมิดาคลอพริด (imidacloprid) คาร์โบซัลแฟน (carbosulfan) ฟอร์มีทาเนท (formetanate) คาร์บาริล (carbaryl)

ปัญหาการระบาดของโรคไวรัส แก้ปัญหาได้ดังนี้

  • ถอนต้นที่เป็นไวรัสในแปลงออกให้หมด แล้วนำไปเผาทำลาย
  • ถ้าเกิดสัมผัสกับต้นพริกที่เป็นไวรัส จะต้องล้างมือให้สะอาดก่อนไปสัมผัสกับต้นพริกต้นอื่น

หากท่านใดสนใจ ไม่ว่าจะปลูกแบบใดก็ตาม เห็นว่าล้วนแต่เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะอย่างน้อยท่านก็ยังใช้เวลาให้มีค่า แล้วยังได้พริกที่ปลอดภัยจากผลงานการปลูกของเราเอง โดยที่ไม่ต้องไปกังวลกับสารเคมีที่ตกค้างแต่ประการใด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0