โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ปลดพันธะ-ภาระ 'ปลัดคมนาคม' ปิดมหากาพย์ค่าโง่สายสีแดง-ดีลสายสีส้ม

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 02 ก.พ. 2565 เวลา 06.27 น. • เผยแพร่ 08 ส.ค. 2563 เวลา 14.07 น.
02-1ปลัดคมนาคม

1 ปี 10 เดือนที่ “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงคมนาคม กุมเม็ดเงินลงทุนปีละหลายแสนล้าน ท่ามกลางจุดเปลี่ยน “รัฐบาล” จากยุคเทคโนแครตสู่พรรคการเมืองมี “ภูมิใจไทย” กุมบังเหียน แต่ขาเก้าอี้ “ชัยวัฒน์” ยังแกร่งจนถึงวันเกษียณ 30 ก.ย.นี้

ขณะที่ผลงานก็เข้าตา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” หลังสามารถแปลงนโยบายโหดหิน จนปิดฉากได้อย่างไม่มีด่างพร้อย อย่างการต่ออายุสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน แลกยุติข้อพิพาท 17 คดี 58,873 ล้านบาท ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ยืดเยื้อมาหลายปี

ล่าสุดกำลังเร่งสปีดอีกหลายงานให้ปิดจ็อบเดือน ก.ย.นี้ ทั้งงานนโยบายสั่งตรงจากเจ้ากระทรวง และงานรูทีนรอส่งไม้ต่อปลัดคนใหม่ คาดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะชื่อในเดือน ส.ค.นี้ มี 3 คนเป็นแคนดิเดต “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ “ชยธรรม์ พรหมศร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

 เหนื่อย…แต่สุขใจ

“ชัยวัฒน์” เปิดใจว่า ตลอดปีเศษทำหน้าที่ปลัดคมนาคม เหนื่อย แต่ก็ดีใจที่ได้ทำงานให้กระทรวงแบบเต็มที่ นับเป็นความโชคดีที่เป็นผู้อำนวยการ สนข. ยาวนานถึง 5 ปี ทำให้รู้ภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางบก ราง น้ำ อากาศ จัดทำเป็นยุทธศาสตร์ลงทุน 8 ปี (2558-2565) มีเม็ดเงินลงทุนร่วม 2 ล้านล้าน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะระบบรางที่จะมีความสำคัญ ลดต้นทุนการขนส่งและพลิกโฉมการพัฒนาประเทศจากการลงทุนรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง

แต่สิ่งที่อยากให้เข้าใจคมนาคมเป็นกระทรวงที่ทำงานสำหรับอนาคต การลงทุนโครงการต่าง ๆ ไม่ได้ลงทุนแล้วมีผลกับประเทศอย่างเดียว ต้องเชื่อมโยงโลก อย่างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่รัฐบาลลงทุนเอง 1.79 แสนล้าน ถือว่ามีความสำคัญ นอกจากเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน ยังเชื่อมประเทศมหาอำนาจใหม่อย่างจีนด้วย

ปิดดีลสีส้ม-พลิกฟื้น ขสมก.

“หลังเคลียร์สัมปทานทางด่วนจบ และนำการบินไทยเข้าฟื้นฟูศาลล้มละลายกลางเพื่อไปมีชีวิตใหม่ ใน 2 เดือนนี้จะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 กว่า 2 แสนล้าน ให้ได้ 90% แกะโครงการมีปัญหา เร่งประมูล PPP รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ฟื้นฟูหนี้ 1.29 แสนล้าน ขสมก. และเดินหน้า
รถไฟชานเมืองสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต”

สำหรับแผนฟื้นฟู ขสมก. ความยากอยู่ที่การแปลงความคิดจากนโยบายมาสู่การปฏิบัติ ต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์ เช่น ค่าโดยสาร 30 บาท นั่งได้ทุกคัน ทุกสาย ทั้งวัน ขสมก.อยู่ได้ด้วยตัวเองและรัฐไม่ต้องสนับสนุนงบประมาณ และได้คิดใหม่ไปถึงการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน กำลังทำความเข้าใจกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ถึงการรับภาระหนี้ คาดเสนอ ครม.เดือน ก.ย.นี้

แกะรอยค่าโง่หมื่นล้านสายสีแดง

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดงยังติดปัญหาหลายอย่าง ได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการให้แก้ปัญหาค่าก่อสร้างที่เพิ่ม 10,345 ล้านบาท จะต้องขออนุมัติจาก ครม. ต้องแจกแจงได้ว่าเพิ่มจากอะไร มีกี่รายการ การเบิกจ่ายทำตามระเบียบถูกต้องหรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นข้อพิพาท หรือค่าโง่ภายหลัง

ล่าสุดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำข้อมูลสรุป 1.รายละเอียดงานก่อสร้างเพิ่มเติม หรือ variation order (VO) ที่มีมูลค่าเกิน 15% มีกี่รายการ จะเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจอนุมัติ 2.ตรวจสอบมติคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มีคำสั่ง มอบหมาย วิศวกรควบคุมโครงการ 3.ตรวจสอบการออกคำสั่งมีอำนาจหรือหน้าที่อย่างไร 4.ให้ฝ่ายกฎหมาย ร.ฟ.ท.ตีความข้อกฎหมายกรณีที่ค่างาน VO ไม่เกิน 15% ต้องเสนอบอร์ดหรือไม่

แปลกแต่จริง สร้างก่อนจ่ายทีหลัง

“เงินยังไม่ได้แต่ให้รับเหมาสร้างไปก่อน ต้องแจงรายละเอียดให้ครบ เพราะงบฯเพิ่มหลายครั้ง จะเร่งสรุปเสนอรัฐมนตรีใน 2 สัปดาห์ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ งานและค่าก่อสร้างที่เพิ่ม 10,345 ล้านบาท ทำตามขั้นตอนมาอย่างถูกต้อง และผู้อนุมัติมีอำนาจหรือไม่ เคลียร์ตรงนี้จบถึงจะกำหนดเปิดเดินรถสายสีแดงได้  ยังไม่รู้จะเป็นในปี 2564 ได้หรือไม่ หากยังไม่มีข้อยุติ แล้วรัฐเปิดเดินรถ อาจจะมีปัญหาผู้รับเหมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหมด ต้องแกะทีละเรื่อง”

เร่งโอน 4 สนามบิน-ด่วนหน้า ม.เกษตรฯ

อีกทั้งจะเร่งสรุปการโอน 4 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ สนามบินกระบี่ อุดรธานี แม่สอด และบุรีรัมย์ ให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เช่าบริหาร จะสรุปเสนอ ครม.ปีนี้ รวมถึงเคลียร์รูปแบบการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N1-N2 และ E-W Corridor ช่วงผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตั้งไข่โครงการสำคัญลงทุนปี’64

นอกจากนี้จะทำแผนลงทุนเร่งด่วน (Action Plan) ปี 2564 จะไล่ดูโครงการปี 2563 ยังผลักดันไม่สำเร็จใส่เข้าไปด้วย เช่น รถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทาง มีสายใหม่ 2 สาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 85,345 ล้านบาท และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 66,848 ล้านบาท ในเดือน ส.ค.จะเสนอ ครม.อนุมัติออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและประมูล  อีก 7 เส้นทางระยะทางรวม 1,483 กม. ลงทุน 272,219 ล้านบาท ได้แก่ ขอนแก่น-หนองคาย, จิระ-อุบลราชธานี, ปากน้ำโพ-เด่นชัย, เด่นชัย-เชียงใหม่, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ สภาพัฒน์กำลังลำดับความสำคัญ

ลุยมอเตอร์เวย์-ไฮสปีดสายเหนือ-ใต้

ยังมีมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 79,006 ล้านบาท และบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 32,642 ล้านบาท ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง 14,177 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแคราย-ลำสาลี รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟความเร็วสูงในแผนแม่บท 4 เส้นทาง ดำเนินการไปแล้ว คือ กรุงเทพฯ-โคราช (รถไฟไทย-จีน) อยู่ระหว่างก่อสร้างจะต่อขยายไปถึงหนองคาย เชื่อมกับรถไฟจีน-ลาว และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เคลียร์แผนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนแล้ว ยังเหลือสายกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พิษณุโลกจะผลักดันต่อ

ขณะที่การพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ต้องปรับแผนไปอยู่ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของยุทธศาสตร์ 8 ปีของกระทรวง หลังจากนั้นต้องวิเคราะห์ทบทวนงานแต่ละด้านใหม่

“ที่ผ่านมาถือว่าคมนาคมผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ได้ครบทุกมิติ นับ 100 โครงการ ครอบคลุมทั้งประเทศรวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม พลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศให้เชื่อมโยงโลกได้ในอนาคต”

ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไปจะเป็นวันที่มีความสุข เพราะได้มองย้อนหลังเห็นโครงการที่ผลักดัน แกะปัญหาสำเร็จ จะสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติไปถึง 50 ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0