โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

น้ำส้มควันไม้ใช้ทำอะไรได้บ้าง? 29 วิธีใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้เพื่อการเกษตร

รักบ้านเกิด

อัพเดต 14 ส.ค. 2563 เวลา 04.27 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 04.27 น. • รักบ้านเกิด.คอม

รู้จักน้ำส้มควันไม้กันมานานปี วันนี้รู้หรือยังว่าใช้ทำอะไรได้บ้างในภาคการเกษตร?
เคยสงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าน้ำส้มควันไม้ที่เคยโด่งดังเมื่อหลายปีก่อนนั้น นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง กับการเกษตร นี่คือคำถามที่ผู้เขียนนำไปใช้ถามกูรู หรือ ผู้ที่มีอาชีพเกษตรกรโดยตรง ซึ่งผู้เขียนคาดหวังมากมายว่า จะได้รับคำตอบเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้ ที่เจาะจงมากกว่าคำว่า "มากมาย" ที่ชวนมึนตึ๊บ แบบ "แล้วยังไงต่อ?" เอาเข้าจริงๆ ก็ต้องมานั่งค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการนำเสนอประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำว่า "มากมาย" ที่ได้รับเป็นคำตอบกลับมา
ด้วยความสงสัยใคร่รู้ที่อยากตีโจทย์ให้แตกฉาน และนำเสนอให้เกษตรกรไทยได้เห็นคุณค่าของน้ำส้มควันไม้ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงไปสืบค้นในคลังข้อมูลเก่าเก็บของ www.rakbankerd.com ที่มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลไว้เมื่อหลายปีก่อน ทำให้ทราบว่าน้ำส้มควันไม้นั้นมีประโยชน์ในเชิงลึกมากกว่าที่ตัวเองรู้ หรือ มากกว่าที่มีการนำเสนอข้อมูลกันอยู่ในปัจจุบัน วันนี้ผู้เขียนจึงทำการรวบรวมประโยชน์ ที่เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคนำไปใช้แล้วได้ผลดีมาบอกต่อแบบให้ผู้อ่านสามารถรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้ได้เบ็ดเสร็จ ภายใต้หน้าต่างการทำงานเดียว โดยไม่ต้องไปสืบค้นที่ไหนอีกให้มากมาย เกี่ยวกับเจ้าน้ำส้มควันไม้นี้

Hilight-Kaset/28_1_14407_5.jpg
Hilight-Kaset/28_1_14407_5.jpg

เตาเผาถ่าน/ ขบวนการผลิตน้ำส้มควันไม้

น้ำส้มควันไม้คืออะไร ?น้ำส้มควันไม้นั้นผลิตได้จากกระบวนการเผาไหม้ไม้เพื่อการทำถ่านหุงต้ม ในขณะที่ไม้นั้นกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นถ่าน หากมีการทำของเหลวที่เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ให้เย็นตัวลง ก็จะได้ของเหลวที่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ มีสีน้ำตาล-แดง จากนั้นจึงนำเจ้าน้ำสีน้ำตาลแดงที่ได้ ไปผ่านขั้นตอนการทำให้ตกตะกอนอีกประมาณ 3 เดือนเพื่อแยกชั้นน้ำมันเบา,ชั้นของน้ำส้มควันไม้ และ ชั้นของน้ำมันทาร์ ออกจากกัน จึงจะได้น้ำส้มควันไม้ที่บริสุทธิ์ ซึ่งมีค่าความเป็นกรดสูง นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะแก้เหา เห็บ ท่อตัน รักษาแผล ใช้ในอุตสาหกรรม ฯลฯ นั้นทำได้หมด แต่ ณ ที่นี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงแต่การนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ที่ต้องขอเน้นย้ำว่า ก่อนนำไปใช้งานต้องนำน้ำส้มควันไม้ไปเจือจางตามวัตถุประสงค์การใช้งานเสียก่อน เพื่อลดผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้กับพืชและสัตว์
 

29 วิธีใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้เพื่อการเกษตร

1. กำจัดแมลงศัตรูมะนาวได้ตลอดปี : ใช้น้ำส้มควันไม้เข้มข้น50 ซีซีเทใส่ในขวดน้ำดื่มขนาดเล็ก ที่เจาะรูด้านข้างโดยรอบ 6-8 รู ผูกเชือกที่คอขวด แล้วนำไปติดตั้งไว้ตามกิ่งก้านของต้นมะนาว กลิ่นของน้ำส้มควันไม้จะช่วยขับไล่ให้แมลงศัตรูพืชถอยห่างออกไปได้ เมื่อน้ำส้มควันไม้แห้งให้เติมเข้าไปใหม่ เพียงเท่านี้ ก็สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชมะนาวได้ตลอดทั้งปี
ภูมิปัญญาจาก : คุณสิรภพ สิทธิปัญญา เจ้าของสวนมะนาวเมืองพาน หมู่ 12 บ้านใหม่เจริญ ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย
2. บังคับมะนาวให้มีผลผลิตนอกฤดู : การใช้น้ำส้มควันไม้เป็นตัวกระตุ้นแทนสารเคมี ซึ่งเกษตรกรควรจะลงมือบังคับมะนาวให้ออกผลนอกฤดูในช่วงประมาณวันที่ 10-15 เดือนกันยายนของทุกปี จึงจะได้ผลผลิตมะนาวที่ออกในช่วงปีใหม่ ซึ่งจะได้ราคาสูง โดยจะใช้น้ำส้มควันไม้ 60-75 ซีซี + น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นมะนาว ทุกๆ 3 วัน จนครบ 9 วัน(3ครั้ง) แล้วใบมะนาวจะเริ่มร่วงหล่น จากนั้นให้ใส่ปุ๋ยบำรุงมะนาว ด้วยสูตรปกติ หรือ สูตร 15-15-15 จนมะนาวแตกตาดอกและพัฒนาไปเป็นผล ให้ดูแลขั้นตอนต่อไปตามปกติ
ภูมิปัญญาจาก : ปิยะทัศน์ ทัศนิยม บ้านเลขที่ 30 ม. 1 ต. โนนกลาง อ. สำโรง จ. อุบลราชธานี
3. ใช้ป้องกันกำจัดหนอนและแมลงศัตรูข้าว-ข้าวไร่ : ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร + น้ำเปล่า 200 ลิตร ฉีดพ่นในแปลงข้าวไร่ที่พบแมลงและหนอนระบาด เพียง 1 ครั้งในฤดูฝน และควรฉีดพ่นในช่วงเช้า แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้ง ให้ฉีดพ่น2 ครั้ง เพียงเท่านี้ก็สามารถทำลายหนอนและแมลงศัตรูข้าวได้เป็นอย่างดี
ภูมิปัญญาจาก : คุณสุนีย์ ไทยสวี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่พันธุ์ดอกพะยอมแห่งบ้านน้ำลอด ต.เขาทะลุ อ.สวี จ.ชุมพร
4. ใช้ป้องกันแมลงสิง แมลงบั่ว เพลี้ยไฟ เพลี้ยกระโดด และ แมลงปากดูดอื่นๆ ในนาข้าว : ในระยะข้าวตั้งท้องไปจนถึงเริ่มออกรวงมักพบกว่ามีแมลงสิงและมวนเข้ามาทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว และเมล็ดข้าวในระยะน้ำนม ทำให้เมล็ดลีบ หรือเมล็ดไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ให้ใช้น้ำส้มควันไม้ 600 ซีซี + น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในนาข้าวเพื่อขับไล่แมลงปากดูด อาทิ แมลงสิง แมลงบั่ว เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว ฯลฯ ในช่วงที่พบการระบาด หรือฉีดพ่นในนาข้าวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อแมลงปากดูดดังกล่าวได้กลิ่นของน้ำส้มควันไม้แล้วจะไม่เข้ามาทำลายข้าว
ภูมิปัญญาจาก : คุณสมศักดิ์ สุวรรณคำ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์มาตรฐานการส่งออก ชาวนาบ้านหัวเมือง ม.9 ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
 

Hilight-Kaset/28_2_neckblst2.jpg
Hilight-Kaset/28_2_neckblst2.jpg

โรคไหม้คอรวงข้าว(Rice Blast) หากระบาดในระยะข้าวออกรวง เมล็ดจะลีบ ผลผลิตเสียหายได้ 100%
ภาพ : https://www.agric.wa.gov.au

5. ป้องกันโรคไหม้คอรวงข้าว : โรคไหม้คอรวง จะส่งผลทำให้เมล็ดข้าวลีบแห้ง ผลผลิตเสียหายหากไม่เร่งหาทางแก้ให้ทันท่วงที จะสามารถทำลายผลผลิตได้ 100% วิธีการป้องกันความเสียหายจากโรคดังกล่าว ตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ให้ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร + น้ำ 50 ลิตร ฉีดพ่นใบและรวงข้าวในช่วงเย็น ทุกๆ 3- 5 วัน ในช่วงที่พบว่ามีอาการของโรค(ยังไม่ระบาดมาก) **ควรใช้สูตรนี้ฉีดคุมป้องกันโรคไว้ก่อนจะดีมาก เพราะโรคนี้แก้ไขยาก
ภูมิปัญญาจาก : คุณช่วง สิงโหพล ปราชญ์เกษตร อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช
6. กำจัดเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืชที่ตกค้างในดินปลูก : ใช้น้ำส้มควันไม้ 500 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นลงบนดินก่อนจะทำการเพาะปลูกพืช 10 วัน โดยเฉพาะแปลงปลูกที่พบว่าเคยมีการระบาดของโรค-แมลงศัตรูพืชมาก่อน
ภูมิปัญญาจาก : คุณอลงกรณ์ สรเสนา ปราชญ์เกษตรประจำ ต.สวนดอกไม้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
7. กำจัดหอยทาก : ในสภาพอากาศร้อนชื้นจะพบว่ามีหอยทากสีน้ำตาลแพร่กระจายพันธุ์ได้ดี ใน หนึ่งปี หอยชนิดนี้จะวางไข่ได้ 6 ครั้ง (ครั้งละ 80 ฟอง) ซึ่งหอยทากนั้นจะเข้ากัดกินพืชปลูก เช่น พืชผัก ไม้ดอก และ ไม้ประดับจนเกลี้ยงเตียน การป้องกันกำจัดให้ใช้ น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร + ปูนแดง/ปูนขาว 200 กรัม + น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบริเวณที่มีหอยทาก ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง แล้วหอยทากจะค่อยๆ ตายหายไปภายใน 2 วัน **ซึ่งสูตรนี้สามารถนำไปใช้กำจัดหอยเชอรี่ได้ผลดีเช่นกัน
ภูมิปัญญาจาก : คุณนพดล น้อยใหม่ หมอดินอาสาประจำ ต.หัวถนน อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร
8. ป้องกันมดคันไฟเข้าทำลายรากมะนาว : มักพบว่ามดคันไฟเข้าทำลายระบบรากมะนาวได้ตลอดการเพาะปลูก ทำให้รากเสียหาย ชะงักการเจริญเติบโต การป้องกัน ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร เจือจางน้ำ 50 ลิตร แล้วนำไปรดโคนต้นมะนาว ต้นละ 3 ลิตร ทุก ๆ 1 เดือน จะช่วยป้องกันไม่ให้มดคันไฟมาทำลายกัดกินรากของต้นมะนาวได้
ภูมิปัญญาจาก : คุณคมศักดิ์ เดชสุรินทร์ เกษตรกรผู้ปลูกมะนาว ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
 

Hilight-Kaset/28_3_9044_1.jpg
Hilight-Kaset/28_3_9044_1.jpg

ใช้ป้องกันกำจัดศัตรูมะนาว

9. ป้องกันมด-แมลงเข้าทำลายต้นกล้าเพาะชำ : นำถุงเพาะชำที่ปลูกต้นไม้เสร็จแล้วไปชุปน้ำส้มควัน(เตรียมจาก น้ำส้มควันไม้ 500 ซีซี ต่อน้ำ 50 ลิตร)นาน 30 วินาที แล้วยกขึ้นไปไว้ในแปลงเพาะชำตามปกติ จะไม่มีมดหรือแมลงใดๆ มารบกวนต้นกล้านั้นอีกเลย
ภูมิปัญญาจาก : คุณสละ นิรากรณ์ เจ้าของไร่นิรากรณ์ ต.พระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
10. ผลิตมังคุดผิวมัน : ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร+ น้ำเปล่า 200 ลิตร ฉีดพ่นบริเวณพุ่มต้นมังคุดให้ทั่วเพื่อป้องกันเพลี้ยหอยดูดผิวมังคุด ควรฉีดช่วงก่อนดอกมังคุดบานเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรฉีดพ่น 2-3 ครั้ง เว้นระยะห่างการฉีดพ่น 15 วัน ต่อ 1 ครั้ง ก่อนที่ดอกมังคุดจะบาน หลังจากนั้นก็ปล่อยไว้ตามธรรมชาติ เพียงเท่านี้ชาวสวนมังคุดก็จะได้มังคุดผิวมัน ผิวสวย ขายได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาดมาตรฐานคุณภาพส่งออก
ภูมิปัญญาจาก : คุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี พ.ศ. 2551 จังหวัดชุมพร
11. ป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ-ไรแดง-เพลี้ยอ่อน สาเหตุที่ทำให้พริกใบหงิกในสวนพริก : ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทุก 3 วัน นับจากวันปลูกไปจนกระทั่งพริกออกดอกจึงหยุดการฉีดพ่น หลังจากนั้นให้นำปุ๋ยคอกใส่บริเวณโคนต้น หาทะลายปาล์มหรือฟางมาคลุมดินให้ทั่วแปลง เพียงเท่านี้ผลผลิตที่ได้ก็จะมีคุณภาพจำหน่ายได้ราคา และไม่มีปัญหาเรื่องเพลี้ยมาทำลายพริกให้เสียหาย
ภูมิปัญญาจาก : คุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี พ.ศ. 2551 จังหวัดชุมพร
12. กำจัดวัชพืชใบกว้าง-ใบแคบ : ในขั้นตอนการผลิตน้ำส้มควันไม้จะได้น้ำมันทาร์(น้ำมันดิน)ที่เป็นพิษต่อพืชและมีความเป็นกรดสูงมาด้วย ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดหญ้าวัชพืช ระหว่างแถวช่องว่างของยางพารา ไม้ผล หรือ ไม้ยืนต้นอื่นๆ ทดแทนการใช้สารเคมีได้ วิธีการคือ นำน้ำส้มควันไม้ที่ผลิตได้เอง ไปกรองเอาเฉพาะน้ำ โดยไม่ต้องทำให้ตกตะกอน แล้วนำน้ำส้มควันไม้ที่กรองได้ ไปฉีดพ่นที่หญ้าวัชพืชให้เปียกชุ่ม โดยไม่ต้องนำไปผสมน้ำ แต่ควรระมัดระวังไม่ให้ฉีดพ่นถูกต้นพืชที่ปลูก เนื่องจากน้ำส้มควันไม้ที่ผลิตได้นี้มีความเป็นกรดสูง เมื่อรวมเข้ากับน้ำมันทาร์(น้ำมันดิน) ที่ยังไม่ได้แยกออกในขั้นตอนการตกตะกอนนั้น จะไปช่วยปิดกั้นระบบการดูดซึมธาตุอาหารและการสังเคราะห์แสงของหญ้าวัชพืช ทำให้หญ้าวัชพืชในสวนยางแห้งตายได้ภายใน 15-20 วัน โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งใช้ได้ผลดีทั้งวัชพืชใบแคบและใบกว้าง
ภูมิปัญญาจาก : คุณแพง พวงราช เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2551 ผู้ปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน ต.ผักไหม อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์
 

Hilight-Kaset/28_4_P1030624.JPG
Hilight-Kaset/28_4_P1030624.JPG

ใช้กำจัดวัชพืช ได้ทั้งใบแคบ-ใบกว้าง-หญ้าคา-ถอนรากถอนโคน

13. กำจัดวัชพืชใบแคบ-ใบกว้าง-หญ้าคา ได้ถึงรากถึงโคน : ต้มน้ำส้มควันไม้ 5 กก. แล้วผสมเกลือแกง 2 กก. ลงไปคนจนกว่าเกลือจะละลาย จากนั้นผสมโซดาไฟ 1 กก. ลงไปคนให้ละลายตามลำดับ ยกลงจากเตารอให้เย็น จะได้หัวเชื้อกำจัดวัชพืชอย่างดี ใช้หัวเชื้อดังกล่าว 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 1 ส่วน คนให้เข้ากันจากนั้นนำไปพ่นบนคันนาข้าวที่มีปัญหาวัชพืช ซึ่งพ่นเพียงครั้งเดียว สามารถกำจัดวัชพืชให้ตายได้ถึงรากถึงโคน
ภูมิปัญญาจาก : คุณรุ่งกิจ สมัญสาริกิจ บ้านเลขที่ 285 หมู่ 5 ต.ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท
14. กระตุ้นเมล็ดพันธุ์ข้าวให้งอกดีขึ้น : ผสมน้ำส้มควันไม้ 350 ซีซี + น้ำ 100 ลิตร แล้วแช่เมล็ดพันธุ์ข้าว ไว้ 1 คืน (อัตราดังกล่าวใช้กับเมล็ดพันธุ์ข้าว 30 กก. ) ก่อนจะนำไปปลูก แค่นี้ก็สามารถช่วยกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์งอกได้ดีขึ้น มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงถึง 90% และยังช่วยป้องกันแมลงศัตรูข้าวในช่วงระยะต้นกล้าได้อีกด้วย
ภูมิปัญญาจาก : คุณเรือน ทองจำรัส กลุ่มข้าวอินทรีย์ครบวงจร บ้านยางยวน ต.ดอนตรอ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช
15. บำรุงข้าวให้มีเมล็ดสวย เต่งตึง ไม่ลีบ ได้น้ำหนักดี : เพื่อให้ได้ข้าวมีน้ำหนักรวงดีไม่ลีบใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น ในอัตรา 100 ซีซี + น้ำ 20ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลงนา ทุก 7-10 วัน ก็จะทำฝให้ได้ข้าวที่เมล็ดสวย เมล็ดไม่ดำ ไม่มีเมล็ดลีบ หากมีการใส่ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ในปริมาณ 15 กิโลกรัมต่อไร่ (ใส่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น) ร่วมด้วยก็จะทำให้ข้าวมีน้ำหนักรวงดียิ่งขึ้น
ภูมิปัญญาจาก : คุณแพง พวงราช เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2551 ผู้ปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน ต.ผักไหม อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์
16. เพิ่มความหวานกรอบและต้านทานโรคแมลงในพืชผัก -ผลไม้: ใช้น้ำส้มควันไม้ 10 ซีซี + น้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นไปกับระบบการให้น้ำพืชผัก/ไม้ผลช่วงเช้า-เย็น จะช่วยให้พืชมีความต้านทานโรคและรสชาติหวานกรอบ อร่อยขึ้น
ภูมิปัญญาจาก : คุณอลงกรณ์ สรเสนา ปราชญ์เกษตรประจำ ต.สวนดอกไม้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
 

Hilight-Kaset/28_5_22457_2.jpg
Hilight-Kaset/28_5_22457_2.jpg

ทุเรียนพลูสวย - ผิวสวย-หนามไม่ติดกัน

17. ดูแลทุเรียนให้มีผลสวย หนามไม่ติดกัน : หลังดอกทุเรียนบานแล้ว 1 อาทิตย์ ให้ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร + น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นใต้ทรงพุ่ม/โคนต้นทุเรียน ในช่วงเวลาเย็น(ไม่ควรฉีดในช่วงอากาศร้อนเพราะจะทำให้ใบไม้และผิวทุเรียนแห้งกร้านได้) ทุกๆ 14 วัน ไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต เพียงเท่านี้ก็จะได้ทุเรียนผลสวย หนามไม่ติด และขายได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด
หมายเหตุ : ห้ามฉีดก่อนดอกทุเรียนบานเพราะจะทำให้แมลงต่างๆ ไม่เข้ามาผสมเกสรให้
ภูมิปัญญาจาก : คุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี พ.ศ.2551 จังหวัดชุมพร
18. กระตุ้นก้อนเชื้อเห็ดเก่าให้ออกดอก : ก้อนเพาะเห็ดที่เก็บดอกจนหมดแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่จะทิ้งไปเลยหรือนำไปทำปุ๋ยหมัก แต่มีเทคนิควิธีทำให้ก้อนเห็ดเหล่านี้สามารถออกดอกได้อีกครั้ง ด้วยการนำก้อนเพาะเห็ดเก่ามาตัดพลาสติกบริเวณส่วนปากถุงออก แล้วใช้น้ำสะอาดล้างราดำบริเวณปากก้อนเชื้อเห็ดให้สะอาด จากนั้นน้ำก้อนเชื้อเห็ดวางบนชั้นในโรงเรือนเปิดดอกเหมือนเดิม นำน้ำส้มควันไม้ 15 ซีซี + กากน้ำตาล 250 มิลลิลิตร + น้ำเปล่า 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วก้อนเพาะเห็ด (เป็นการฆ่าเชื้อรา และ กระตุ้นให้เห็ดออกดอกได้อีกครั้ง) จากนั้นทิ้งไว้ 3-5 วัน ก้อนเพาะเห็ดจะเริ่มออกดอกได้อีกครั้ง นานประมาณ 1 เดือน
หมายเหตุ : สำหรับก้อนเพาะเห็ดปกติทั่วไปให้ใช้อัตรานี้ฉีดพ่นให้ทั่วทุกๆ 15 วัน จะเป็นการช่วยกระตุ้นการออกดอกของเห็ด
ภูมิปัญญาจาก : คุณบุญเพ็ง คำเลิศ เกษตรกรดีเด่นจังหวัดศรีสะเกษ บ้านนาทุ่งพัฒนา ต. สำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธุ์ จ. ศรีสะเกษ
19. ป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าจากเชื้อรา : ใช้น้ำส้มควันไม้ผสมน้ำฉีดพ่นลงดินก่อนปลูกพืช 15 วัน ในอัตรา น้ำส้มควันไม้ 1,500 ซีซี(1.5 ลิตร) ต่อน้ำ 100 ลิตร หรือ 15 ซีซี ต่อ น้ำ 1 ลิตร
ภูมิปัญญาจาก : คุณผ่องศรี ดินขุนทด บ้านคลองพัฒนา ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว
20. ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาลของพืช (ช่วยให้พืชผักและผลไม้มีรสหวาน) : ใช้น้ำส้มควันไม้ 20 ซีซี + น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นพืชหลังติดผลแล้ว 2 สัปดาห์ และ ฉีดพ่นอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 20 วัน จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสังเคราะห์น้ำตาลในพืช ทำให้ผลผลิตที่ได้มีรสชาติหวานอร่อย
ภูมิปัญญาจาก : คุณคำนึง ชนะสิทธิ์ หมู่ 12 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
 

Hilight-Kaset/28_6_หน้ายาง.jpg
Hilight-Kaset/28_6_หน้ายาง.jpg

ป้องกันหน้ายางตายนึ่ง/แก้ปัญหาเชื้อราขึ้นหน้ายาง

21. ป้องกันโรคหน้ายางตายนึ่งหรือเชื้อราขึ้นหน้ายางกรีด : ใช้น้ำส้มควันไม้ 70 ซีซี + น้ำ 1 ลิตร ทาหน้ายางหลังกรีดเป็นประจำ จะทำให้หน้ายางแข็งแรง ไม่เกิดอาการตายนึ่งหรือเชื้อราขึ้นหน้ายางได้
ด้านปศุสัตว์ (หมายเหตุ : หากใช้ในอัตราส่วนที่เข้มข้นกว่า 1:20 ควรสวมถุงมือหรือระมัดระวังในการใช้)
ภูมิปัญญาจาก : คุณอุทัย สอนหลักทรัพย์ บ้านป่าสักหลวง หมู่ 1 ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
22.สุนัขขนสวยสุขภาพดี ไร้เรื้อน เห็บ หมัด : หลังจากที่อาบน้ำสุนัขด้วยสบู่หรือแชมพูตามปกติแล้ว จากนั้นในน้ำสุดท้ายสำหรับล้างตัวสุนัขให้ผสมน้ำส้มควันไม้ 1 ช้อนโต๊ะในน้ำ 5 ลิตร ใช้อาบน้ำให้สุนัขในน้ำสุดท้าย ขยี้หรือชโลมให้ทั่วตัวโดยไม่ต้องล้างออกอีก จากนั้นเช็ดให้แห้ง สามารถใช้อาบน้ำได้ประจำหรือบ่อยครั้งตามที่ต้องการ ไม่มีผลเสียต่อสุนัข ประโยชน์ที่ได้ คือ น้ำส้มควันไม้จะช่วยปรับความสมดุลในร่างกายของสุนัข บำรุงผิวหนังช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคเรื้อน ไล่หมัด เห็บ ในตัวสุนัข ผลที่ได้ภายใน 1 เดือนจะพบว่าขนสุนัข แลดูสวย เงางามสุขภาพดี อย่างเห็นได้ชัด
ภูมิปัญญาจาก : คุณอำนวย จ่างสกุล เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2551 เจ้าของศูนย์เรียนรู้อัศจรรย์ควันไม้ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
23. บำรุงสุขภาพโค-กระบือให้แข็งแรง : การเลี้ยงโค-กระบือในสภาพปัจจุบันพบว่ามีโรคระบาดหลายชนิดที่เกษตรกรควรเฝ้าระวัง การดูแลโค-กระบือให้มีสุขภาพดี ใช้น้ำส้มควันไม้ 2 ช้อนโต๊ะ + กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ + น้ำ 10 ลิตร + เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ คนให้ละลายในบัวรดน้ำ แล้วนำไปใช้รดฟางแห้ง หรือ หญ้าสดให้พอชุ่มแต่อย่าให้เปียกจนเกินไป ก่อนนำไปให้โค-กระบือกิน หลังจากใช้สูตรนี้เป็นประจำประมาณ 1 เดือน จะพบว่าสามารถช่วยปรับสภาพร่างกายให้โค-กระบือมีสุขภาพแข็งแรง ต้านทานโรคได้ดีทุกสายพันธุ์และทุกช่วงอายุ
ภูมิปัญญาจาก : คุณอำนวย จ่างสกุล เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2551 เจ้าของศูนย์เรียนรู้อัศจรรย์ควันไม้ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
24. ปรับสภาพน้ำและเร่งโตปลาดุก : เมื่อน้ำในบ่อเลี้ยงปลาดุกเริ่มจะเปลี่ยนสีหรือเน่าเสีย ให้ใช้น้ำส้มควันไม้จำนวน 10 ลิตร สาดลงไปในบ่อดินขนาด 1 ไร่ ทุกๆ 15 วัน จะช่วยปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมแก่การเลี้ยงปลาได้อีกครั้ง และถ้า ใช้น้ำส้มควันไม้ผสมในอาหารปลา ในอัตราน้ำส้มควันไม้ 0.5 ลิตร ฉีดพ่นลงบนอาหารปลา 1 กระสอบให้ทั่วแค่พอเปียก(เทออกจากกระสอบแล้วเกลี่ยลงบนพื้น ก่อนฉีกน้ำส้มควันไม้) แล้วตากแดดไว้ให้พอแห้ง จากนั้นนำบรรจุลงในกระสอบตามเดิมแล้วนำไปเลี้ยงปลาตามปกติ จะเป็นตัวช่วยเร่งโตปลาดุก ทำให้ปลาดุกที่ทานอาหารสูตรนี้เข้าไป โตเร็ว มีไขมันน้อย และ ต้านทานโรค
ภูมิปัญญาจาก : คุณอำนวย จ่างสกุล เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2551 เจ้าของศูนย์เรียนรู้อัศจรรย์ควันไม้ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
 

Hilight-Kaset/28_7_14808700_1269824999736999_625574801_o.jpg
Hilight-Kaset/28_7_14808700_1269824999736999_625574801_o.jpg

ขจัดกลิ่นเหม็นจากการเลี้ยงหมู

25. กำจัดกลิ่นเหม็นจากการเลี้ยงหมู - หมูแข็งแรง - ไม่มีแมลงวันรบกวน : ใช้พด.7 1 ซอง + น้ำ 2 ลิตร + น้ำส้มควันไม้ 10 ลิตร หมักทิ้งไว้ 20 ชม.
- ใช้ล้างเล้าหมูแทนยาฆ่าเชื้อ หลังจากทำการจับหมูออกจากเล้าหมดแล้วให้ใช้น้ำหมัก 5 ลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งเล้าประมาณ 3 ครั้งโดยเว้นระยะห่าง 3 วัน/ครั้ง
- ใช้ไล่แมลงวันและดับกลิ่นเล้าหมู ใช้น้ำหมัก2 ลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งเล้าประมาณ 3 วัน/ครั้ง
- ใช้ดับกลิ่นในบ่อเก็บขี้หมู ใช้น้ำหมัก 1 ลิตร สาดให้ทั่วทั้งบ่อ ( บ่อขนาด 5x5 เมตร ) เมื่อมีกลิ่นเหม็น หรือ 4 วัน/ครั้ง
ภูมิปัญญาจาก : คุณประนอม ขาวมรดก ม.1 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
26. ป้องกันการท้องเสีย ในลูกหมูหย่านม : ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ผสมกับ ถ่านหุงต้มที่บด หรือ ตำให้ละเอียด4 ส่วน ส่วน จากนั้นนำไปผสมกับอาหารหมูสำเร็จรูป ในอัตรา 1 ต่อ 99 ส่วน (น้ำส้มควันไม้ร่วมกับผงถ่าน 1 กก.+ อาหารหมู 99 กก.) จะช่วยลดอาการท้องเสียในลูกหมูหย่านมได้
ภูมิปัญญาจาก : คุณดำรงศักดิ์ สุวรรณศรี อาจารย์ฝ่ายวิชาการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก
27. ป้องกันกำจัดไรเห็บเหาในไก่พื้นเมือง : ใช้น้ำส้มควันไม้ 3 ช้อนโต๊ะ + น้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วโรงเรือนที่พบการระบาด สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป
ภูมิปัญญาจาก : คุณอดิศร เหล่าสะพาน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนมัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
28. ป้องกันยุง ลิ้น ไร ให้ โค-กระบือ : ผสมน้ำส้มควันไม้ 100 ซีซี + น้ำ 20 ลิตรแล้วนำผ้าชุบน้ำที่ผสมได้ ไปเช็ดตามตัวโค-กระบือให้ทั่วในตอนเย็น กลิ่นเหม็นฉุนของน้ำส้มควันไม้จะช่วยขับไล่แมลงต่างๆไม่ให้เข้ามารบกวนโค-กระบือได้ตลอดทั้งคืน อีกทั้งยังช่วยให้โค-กระบือมีผิวและขนมันวาวสวยงามด้วย
ภูมิปัญญาจาก : คุณแพง พวงราช เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2551 ผู้ปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน ต.ผักไหม อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์
29. ป้องกันโรคในเป็ด - ไก่ : ใช้น้ำส้มควันไม้ 10 ซีซี ผสมกับน้ำเปล่า 100 ลิตรให้เป็ด ไก่ กิน ได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องผสมกับอาหาร จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคสูง และป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ในเป็ด ไก่ ได้อีกด้วย
ภูมิปัญญาจาก : คุณอลงกรณ์ สรเสนา ปราชญ์เกษตรประจำ ต.สวนดอกไม้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
 

Hilight-Kaset/28_8_11061687_10203383259612485_2267082377828702997_n.jpg
Hilight-Kaset/28_8_11061687_10203383259612485_2267082377828702997_n.jpg

ควรใช้ก่อนดอกบานเพื่อกระตุ้นการติดผล และใช้หลังจากติดผลไปแล้วเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช

การผลิตน้ำส้มควันไม้
ข้อควรระวัง :
1. น้ำส้มควันไม้ที่นำมาใช้ตามสูตรต้องเป็นน้ำส้มควันไม้บริสุทธิ์(ผ่านการตกตะกอน แยกชั้นมาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน)**ยกเว้นในสูตรการนำไปใช้กำจัดหญ้าวัชพืช
เทคนิคเร่งการตกตะกอนของน้ำส้มควันไม้
2. ขณะใช้งานควรระวังอย่าให้น้ำส้มควันไม้ที่ยังไม่ผ่านการเจือจางสัมผัสถูกผิวหนังหรือดวงตา เพราะอาจทำให้หนังไหม้ หรือ ตาบอดได้
3. น้ำส้มควันไม้มีคุณสมบัติในการเร่งปฏิกริยาต่างๆ ให้ดีขึ้น จึงไม่สามารถใช้แทนปุ๋ยและไม่ใช่ปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพืช
4. การนำมาใช้กับดินปลูก เพื่อการฆ่าเชื้อโรคหรือไข่แมลงที่ตกค้างในดิน จะต้องทำก่อนลงมือปลูกพืช 10-15 วัน เพื่อให้เกิดการเจือจางและลดผลกระทบที่เกิดจากความเข้มข้นของน้ำส้มควันไม้ ซึ่งอาจทำให้พืชไม่งอกหรือตายได้
5. ทุกครั้งที่นำน้ำส้มควันไม้ไปใช้งาน จะต้องทำการเจือจางก่อนทุกครั้ง
6. การใช้น้ำส้มควันไม้เพื่อกระตุ้นให้ดอกติดผลดีขึ้นหรือเพื่อป้องกันศัตรูพืช ควรทำก่อนดอกบาน หรือ หลังจากดอกติดผลไปแล้ว เพราะกลิ่นของน้ำส้มควันไม้จะไปขับไล่แมลงที่จะมาช่วยผสมเกสร จึงอาจส่งผลต่อการติดลูกได้
เขียน/เรียบเรียงโดย : มินยดา อนุกานนท์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0