โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กกร.ผนึกเอกชน แก้วิกฤติ ศก.

สยามรัฐ

อัพเดต 16 ส.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 16 ส.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
กกร.ผนึกเอกชน แก้วิกฤติ ศก.

"กกร."ระดมสมองเอกชน"สรท.-FETCO-สทท."ถกนัดพิเศษทำแผนสางพิษศก.สู้โควิด 21 ส.ค.นี้ ก่อนชง"ศบค.ศก."พิจารณา ด้าน"เอกชน"วอนม็อบ 2 ฝ่าย อย่าใช้ความรุนแรง หวั่นแตกแยกฉุดศก.ถดถอย จี้เร่งแก้ปัญหาปากท้องด่วน

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.63 น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้เชิญ สรท.ประชุมนัดพิเศษร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เพื่อตกผลึกแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน ก่อนที่จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เศรษฐกิจ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

สำหรับ สรท.พร้อมที่จะร่วมทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเวลานี้ทำได้รวดเร็วมากขึ้น ในขณะที่คณะกรรมการใน ศบค.ศก.ไม่ได้มีตัวแทนจากทาง สรท.รวมอยู่ด้วย แต่พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่หากมีการร้องขอมา

น.ส.กัณญภัค ยังกล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนเวลานี้ ว่า อยากให้เข้าใจและไม่ใช้ความรุนแรงระหว่างกันโดยข้อเรียกร้องต่างๆ ทางการเมืองต้องยอมรับว่าอาจไม่สามารถแก้ไขได้ในทันทีโดยต้องใช้เวลา แต่ในเวลานี้ภาคเอกชนอยากให้มองถึงความสำคัญของเศรษฐกิจด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของประชาชนโดยส่วนรวม เมื่อปากท้องของประชาชนไม่ได้รับการดูแลการเดินหน้าทางการเมืองจะยิ่งยากขึ้น และหากมีปัญหาความรุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบบานปลายออกไป เกิดความแตกแยกของคนในประเทศได้

ขณะที่ เศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะทรุดตัวลงติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักนั้น มองว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจจะยังคงติดลบต่อเนื่อง แม้จะติดลบน้อยกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ถือว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น หากยังคงมีปัญหาทางการเมืองจะยิ่งส่งผลกระทบในเชิงลบมากยิ่งขึ้น

วันเดียวกัน แหล่งข่าวจากการบินไทย เปิดเผยว่า จากที่ศาลล้มละลายกลางได้มีการนัดไต่สวนคำร้องที่ บมจ.การบินไทย ยื่นขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 ส.ค.63 และตามกำหนดเจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องฟื้นฟูต่อศาลละลายได้ภายในวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีเจ้าหนี้รายย่อยยื่นคำร้องคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการ 15 ราย พร้อมกับคัดค้านรายชื่อผู้ทำแผน

โดยกรณีเจ้าหนี้คัดค้านผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ และต้องการเสนอผู้ทำแผนแข่งกับลูกหนี้ต้องได้เสียงสนับสนุนจากเจ้าหนี้มากกว่า 2 ใน 3 ในการให้ความเห็นชอบผู้ทำแผน แต่ขณะนี้ บมจ.การบินไทย ได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งเจ้าหนี้ได้เซ็นหนังสือรับรองเห็นชอบผู้ทำแผนที่ บมจ.การบินไทย เสนอแล้วมากกว่า 34% หรือมากกว่า 1ใน 3 ดังนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีคะแนนเสียงมากพอที่จะสามารถเปลี่ยนผู้ทำแผนได้แน่นอน

ส่วนกรณีที่มีเจ้าหนี้รายย่อยยื่นคัดค้านการฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย 15 ราย คาดว่าไม่น่าจะมีผลอะไร โดยอาจทำให้ขั้นตอนของศาลล่าช้าออกไป1-2สัปดาห์ในการพิจารณา/ไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้าน ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ คาดว่าศาลจะมีคำสั่งในช่วงปลายเดือนส.ค.-ต้นก.ย.63 เชื่อว่าศาลจะมีคำสั่งให้การบินฟื้นฟูกิจการตามคำร้อง

ทั้งนี้ บมจ.การบินไทย ในฐานะลูกหนี้ได้เสนอรายชื่อคณะผู้ทำแผนให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณา 7 รายได้แก่ 1.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด 2.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 3.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 5.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 6.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 7.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย

สำหรับศาลล้มละลายกลางได้นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทยในวันที่ 17 ส.ค.63 เวลา 09.30 น. โดยในส่วนของการบินไทย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และคณะกรรมการ พร้อมทีมที่ปรึกษากฎหมาย จะเดินทางไปเข้าร่วมการไต่ที่ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0