โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นายกฯบอก ‘ผมไม่โอเค’คดี ‘บอส กระทิงแดง’ ขณะมองผลกระทบโควิด-19 ใช้เวลา 2 ปีฟื้น

Businesstoday

เผยแพร่ 06 ส.ค. 2563 เวลา 06.03 น. • Businesstoday
นายกฯบอก ‘ผมไม่โอเค’คดี ‘บอส กระทิงแดง’ ขณะมองผลกระทบโควิด-19 ใช้เวลา 2 ปีฟื้น

นายกฯกล่าวปาฐกถาพิเศษ พลิกฟื้นประเทศ เร่งเพิ่มความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ รับโควิดกระทบหนักต้องใช้เวลากว่า 1-2 ปีกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นดังเดิม วอนทุกภาคส่วนร่วมมือรัฐบาลช่วยฟื้นฟูประเทศ ส่วนกรณคดี "บอส กระทิงแดง" บอก "ผมไม่โอเค"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “พลิกฟื้นประเทศไทย: ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง” เนื่องในงานครบรอบ 74 ปี จัดโดยหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ว่าจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องเดินหน้าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการพลิกฟื้นประเทศไปสู่ความมั่นคงให้ได้เร็วที่สุด

วิกฤตในครั้งนี้ไม่เหมือนกับวิกฤตที่ไทยเคยประสบมาในอดีต ที่ส่วนใหญ่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากภาคการเงินเป็นสำคัญ หรือส่งผลกระทบเฉพาะบางประเทศหรือบางภูมิภาคเท่านั้น เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ดังนั้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจในครั้งนี้ จึงหวังพึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างที่ผ่านมาไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งไทยจึงจำเป็นต้องหันกลับมาเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศให้แข็งแกร่ง เพื่อชดเชยความต้องการสินค้าและบริการจากภายนอกในช่วงที่ทั่วโลกยังประสบวิกฤตอยู่

ทั้งนี้ตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งได้เห็นเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 อยู่ที่เพียงร้อยละ 1.0 และเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 3.4 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ และเติบโตต่อเนื่องหลังจากนั้น จนกระทั่งปี 2563 ที่ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งได้ทวีความรุนแรงและขยายขอบเขตไปในหลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทาง หรือมาตรการ Lockdown ส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2563 หดตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และหลายประเทศขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2552องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวไปอีก 1-2 ปี

สำหรับรัฐบาลได้แก้ปัญหาเร่งด่วนมาเป็นลำดับ โดยได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ตัวอย่างเช่น มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชาชน อาทิ การลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า การสนับสนุนเงินให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ลูกจ้างรายวัน มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดการหนี้เดิมที่มีอยู่ อาทิ มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในช่วงของการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ เพื่อให้ทรัพยากรของภาครัฐเพียงพอต่อการพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพในระยะเร่งด่วน รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1,000,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเป็นไปตาม 3 แผนงาน ได้แก่ (1) แผนงานหรือโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท(2) แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 555,000 ล้านบาทและ (3) แผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท

ส่วนการจัดสรรเงินภายใต้เงินกู้ของพระราชกำหนดฯ นี้ ในเบื้องต้น คาดว่าจะช่วยพยุงให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง โดยปัจจุบันได้มีการดำเนินงานภายใต้แผนงานหรือโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นอกจากนี้ ยังมีส่วนของแผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว 4 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กลุ่มอาชีพอิสระ โดยใช้จ่ายจากพระราชกำหนดฯ วงเงิน 170,000 ล้านบาท (2) กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 150,000 ล้านบาท (3) กลุ่มเปราะบาง วงเงิน 20,345 ล้านบาท และ (4) กลุ่มประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 3,492 ล้านบาท ซึ่งจะเอื้อให้การใช้จ่ายและมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเริ่มกลับมาได้

สำหรับการดำเนินงานภายใต้แผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนและพัฒนากิจกรรมที่จะเป็นแรงส่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย รวมถึงรองรับการดำเนินวิถีชีวิตเข้าสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal) ได้อย่างราบรื่น ผ่านการจ้างงานและการสร้างรายได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมุ่งเน้นโครงการที่จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างยั่งยืนเป็นลำดับแรก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปพลิกฟื้นขึ้นมาได้

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะยังเฝ้าระวังและมีมาตรการต่อเนื่องในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รอบสองควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินตามพระราชกำหนดฯ จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ควบคู่ไปกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ได้มีการพิจารณาจัดสรรกรอบงบประมาณในเบื้องต้นและจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

นอกเหนือไปจากการเยียวยาฟื้นฟู รัฐบาลยังเล็งเห็นความสำคัญในการปรับบริบทการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ให้สอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีความโปร่งใส และเป็นธรรมแก่ประชาชนและนักลงทุนทุกท่าน ท้ายที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและภัยทางธรรมชาติ เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเสมอมา เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ นับเป็นการเดินหน้าที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลได้วางแผนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ที่สำคัญ รัฐบาลจะเร่งปรับปรุงวิธีการทำงานของภาครัฐและให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและติดตามประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมรวมถึงการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนให้ดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งการทำงานเชิงรุกของรัฐบาลในการแก้ไขและพัฒนาที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจสอดรับกับวิถีปกติใหม่ (New Normal)

ทั้งนี้ เห็นว่าควรต้องใช้วิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศให้กลับมา ไม่เพียงแต่ดีเท่าเดิม แต่ต้องดีกว่าเดิม ซึ่งต้องการความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนจากทุกภาคส่วนในการ “รวมไทยสร้างชาติ”ภายใต้วิกฤตนี้ เราจะฟันฝ่าไปด้วยกัน “วันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็งกว่าเดิม” และเดินต่อไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ข้างหน้า เรามีเวลาเหลือไม่มากแล้ว เราจึงต้องเร่งฟื้นฟู เรียนรู้ และร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

สุดท้ายนี้ ความสำเร็จของประเทศไทย ล้วนมาจากความร่วมมือ ร่วมใจของทุกท่าน ที่ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ดังนั้น ผมขอให้ทุกท่านช่วยตระหนักถึงความร่วมมือและการสร้างความมั่นคงภายใน ที่จะสร้างบรรยากาศและความเชื่อมั่นให้กับการค้าการลงทุนในโครงการที่รัฐบาลได้ริเริ่มขึ้น เช่น การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ที่จะช่วยสร้างรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว และจะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และผมขอยืนยันว่ารัฐบาลมีความแน่วแน่และจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวเสริมว่าอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ คือเรื่อง บอส กระทิงแดง กรณีนี้แสดงให้เราเห็นได้ชัดเจนถึงความสาคัญของสื่อที่มีต่อสังคมไทย และนั่นคือเหตุผลที่ผมเชื่อในประเทศไทย สื่อต้องมีความเป็นอิสระ และมีความแข็งแรง เรื่องนี้ ท้าทายระบบยุติธรรมและระบบกฏหมาย และกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนที่มีระบบรัฐทั้งหมด

"ผมจึงขอแสดงจุดยืนของผม ในเรื่องบอสกระทิงแดง ว่า “ผมไม่โอเค” กับหลายเรื่องที่ไม่ชัดเจน ผมต้องการให้มีความโปร่งใส ผมจะผลักดัน และผมจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ผมพร้อมที่จะดำเนินการ หลังจากเห็นข้อสรุปของคณะกรรมการที่ผมตั้งขึ้น ซึ่งมีความเป็นอิสระ และประกอบไปด้วยผู้ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งในเรื่องความรู้และความเป็นกลาง"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0