โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุณหมอผู้บุกเบิก ‘เกลือไอโอดีน’ ถึง ‘อสม.’ สู่รากฐานสาธารณสุขไทย: นพ.อมร นนทสุต - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 29 ส.ค. 2563 เวลา 17.05 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

“ถ้ามีรางวัลโนเบลของไทย ผมจะมอบให้คุณหมอท่านนี้ก่อน”

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังค์ถัด และ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO เคยกล่าวยกย่องนายแพทย์ท่านหนึ่งไว้ในรายการ the standard economic forum เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากผลงานการวางรากฐาน อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้กับประเทศ เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว 

ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่ควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานหนักของ อสม. 

พวกเขาเปรียบเหมือนกับ ‘ด่านหน้า’ ในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ด้วยความเป็นคนบ้านเดียวกันที่ได้รับการอบรมความรู้ด้านสาธารณสุข ออกปฏิบัติงานดูแล ให้คำแนะนำประชาชนในการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ทำให้ช่วยลดปริมาณผู้ป่วยลงไปได้มหาศาล ลดภาระการทำงานของแพทย์ พยาบาล รวมถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ในระบบสาธารณสุขไปได้มากมาย

ปัจจุบันมี อสม. เกือบ 7 แสนคน อยู่ทั่วประเทศทั้งในเขตเมือง ชนบท เป็นงานที่ต้องเสียสละ เพื่อสังคมโดยส่วนรวม มีค่าตอบแทนแค่ 500-600 บาทต่อเดือน แต่ได้รับสวัดิการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสารณสุข

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับชีวิตของคุณหมอท่านนี้ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้มีชีวิตหันเหเพราะป่วยเป็นวัณโรค ก่อนจะสร้างผลงานปราบโรคคอพอก และวางรากฐานอาสาสมัครสาธารณสุขไทยที่เป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคน 

‘ศ.นพ.อมร นนทสุต’

01

หมอผู้ต่อสู้กับโรคคอพอก

อาจเรียกว่าโชคชะตาฟ้าลิขิต ทำให้อาจารย์อมรมาทำงานด้านอนามัยตามชุมชนต่างๆ แทนที่เป็นหมอเฉพาะทางอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ

เหตุเพราะตอนเป็นนักเรียนแพทย์ปีสุดท้ายที่ศิริราช เขาป่วยเป็นวัณโรค สันนิษฐานว่าติดมาจากคนไข้ในวอร์ด จึงต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานเป็นปี ขณะที่เพื่อนๆ ใช้เวลาช่วงนี้ไปเป็นหมอฝึกหัด

เมื่อเรียนจบ อาจารย์หมอรู้ตัวเองดีว่ามีทักษะและประสบการณ์รักษาคนไข้ด้อยกว่าเพื่อน จึงตัดสินใจเข้าทำงานในกรมอนามัย ในปี 2496 ซึ่งนับเป็นปีแรกๆ ที่ก่อตั้งกรมขึ้นอย่างเป็นทางการ 

ทางกรมส่งเขาไปประจำการที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ซึ่งเวลานั้นเป็นถิ่นทุรกันดารไกลโพ้น ตำแหน่งติดตัวคือหัวหน้าอนามัยชั้นหนึ่งประจำจังหวัด มีหน้าที่ออกไปตรวจโรคตามหมู่บ้าน จ่ายยา ผ่าตัดเล็ก ฉีดวัคซีน แนะนำชาวบ้านด้านสุขาภิบาล ทำทั้งงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต งานป้องกันและรักษาโรคไปในคราวเดียวกัน 

วันหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต เมื่ออาจารย์ไปออกตรวจที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง และได้เห็นภาพตรงหน้าที่ชวนตกใจ เพราะชาวบ้านเป็นโรคคอพอกกันเกือบทั้งหมู่บ้าน! ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงพ่อแก่แม่เฒ่า

“ก่อนหน้านั้นผมได้ฟังคำบรรยายเรื่องโรคคอพอกของหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ในการประชุมแพทย์ที่เชียงราย วันนั้นก็ได้เจอของจริงที่หมู่บ้านในหุบเขาห่างไกล แต่ผมไม่ได้รู้สึกกลัว กลับรู้สึกใกล้ชิด เพราะสมัยเด็กๆ พี่เลี้ยงของผมชื่อยายเป้า แกเป็นคอพอก ผมรักแกมาก ชอบเอามือจับก้อนนิ่มๆ ที่คอของแก ก่อนออกจากหมู่บ้านผมเลยอธิษฐานกับหลวงพ่อพระประธานว่า ขอให้พบช่องทางรักษาพวกเขาจากความทุกข์นี้ด้วยเถิด”

สมัยนั้นชาวบ้านเรียกโรคคอพอกว่า ‘โรคเอ๋อ’ เกิดจากการขาดสารไอโอดีน ที่จะสร้างฮอร์โมน ธัยร็อกซิน สำหรับควบคุมความเจริญของสมอง เมื่อขาดจะทำให้สมองพัฒนาช้า มีสติปัญญาต่ำ โดยเฉพาะเด็กๆ รวมถึงขาดสมรรถนะในการพูด ออกเสียงได้แค่ เอ๋อ-อ๋า จนเป็นที่มาของชื่อโรคเอ๋อ

โรคนี้พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยขึ้นไปจนถึงพม่าและลาว เรียกกันว่า ‘เส้นทางผ่านของโรคคอพอก’ เนื่องจากมีปริมาณไอโอดีนในอาหารและน้ำที่บริโภคค่อนข้างต่ำ ปกติแล้วสารไอโอดีนจะอยู่ในเกลือสมุทร อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งถือเป็นของหายากของคนพื้นที่ดังกล่าว 

ระหว่างนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งทีมงานเข้ามาสำรวจและหาทางควบคุมโรคนี้ในประเทศไทย อาจารย์อมรในฐานะตัวแทนของกรมอนามัย ซึ่งสนใจเรื่องโรคคอพอกอยู่พอดี จึงได้ทุนจาก WHO ไปดูการผลิตเกลือผสมไอโอดีที่อินเดีย พอกลับมาก็ตั้งโครงการศึกษาโรคคอพอกร่วมกับ นพ.ร่มไทร สุวรรณิก ผู้เชี่ยวชาญรังสีวิทยาจากศิริราช 

ฝั่งอาจารย์ร่มไทรจะเน้นวิจัยเพื่อหาระดับสารไอโอดีนที่เหมาะสม ขณะที่อาจารย์อมรและกรมอนามัย จะเน้นวิธีการควบคุมโรค

ตอนแรกทำเป็นเม็ดโปแตสเซียมไอโอไดด์แจก แต่ไม่สำเร็จ เพราะชาวบ้านมักลืมกิน จึงใช้วิธีนำเกลือมาผสมไอโอดีนแล้วนำไปแจกจ่ายหรือจำหน่ายแทน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เกลืออนามัย’

ปัญหาสำคัญที่สุดคือจะอย่างไรให้ เกลืออนามัย เดินทางไปถึงมือชาวบ้านได้อย่างเพียงพอทั่วถึง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปแจกครั้งแล้วครั้งเล่า อาจารย์จึงคิดถึง ‘ระบบกระจายเกลือ’ ดั้งเดิมที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว 

“หัวใจที่ชี้ว่าโครงการเกลืออนามัยจะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ระบบกระจายเกลือ เราใช้พ่อค้าเกลือหรือ ‘ซุนบั๊ก’ เป็นผู้กระจาย เราพ่นเกลือไอโอดีนให้แล้วให้พ่อค้าเอาไปขาย การใช้กลไกตลาดเป็นระบบกระจายเกลือได้ดีที่สุด การกระจายเกลือสำคัญกว่าการผลิตเสียอีก

“ผมตั้งโรงงานผลิตเกลืออนามัยเมื่อปี 2508 ที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เพราะจะเป็นจุดชุมทางที่เกลือจะเข้าไปในเมืองแพร่ได้ทั่วถึง พอเอาเกลือลงจากรถไฟ เราก็พ่นไอโอดีน จากนั้นก็ค่อยแจกจ่ายไปในเมืองแพร่ เมืองน่าน เราก็ติตตามมาเรื่อยๆ ตอนนั้นเรียกว่าจำนวนผู้ป่วย ลดลงมากชัดเลย”

จากแพร่ ในปีต่อมาอาจาารย์อมรตั้งโรงงานผลิตเกลืออนามัยที่เชียงใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ทำงาน ก่อนมาตั้งโรงงานผลิตใหญ่ที่สุดที่กรุงเทพฯ มีกำลังผลิตถึง 14,000 ตันต่อปี แล้วส่งไปทางรถไฟยังจังหวัดภาคเหนือ นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธุ์ตั้งราคาขายให้เท่ากับเกลือที่ไม่ได้เสริมไอโอดีน ทำให้เกลืออนามัยแพร่กระจายไปยังครัวเรือน ร้านขายของชำชุมชนได้ง่ายขึ้น   

5 ปี ผ่านไปเกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาล ตัวอย่างที่ชัดเจนคือหมู่บ้านวังปิ้ง อำเภอร้องกวาง ที่อาจารย์อมรเดินทางไปพบคนไข้โรคคอพอกครั้งแรกนั้น จากเคยมีอัตราคอพอกสูงถึงร้อยละ 85 ก็ไม่มีผู้เป็นโรคคอพอกอีกเลย เขาได้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จลุล่วง 

หากแต่อัตราการผลิตเกลืออนามัย 20,000 ตันต่อปี ครอบคลุมพื้นที่เส้นทางโรคคอพอกได้เพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในช่วงที่อาจารย์อมรได้เลื่อนดำรงตำแหน่งมาเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงผลักดันให้โรคขาดสารไอโอดีน รวมถึงโรคขาดสารอาหารอื่นๆ บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 พร้อมกับทำงานเชิงรุกมากขึ้น กระทั่งตัวเลขผู้เป็นโรคคอพอกเหลือน้อยลงมาก

แม้จะเป็นการร่วมมือกันของหลายฝ่าย แต่ก็ต้องยกเครดิตให้กับอาจารย์อมร ในฐานะฟันเฟืองสำคัญตัวแรกๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ

02

กำเนิด อสม. กำลังหลักสาธารณสุขไทย

จากผลงานโครงการนำร่องผลิตเกลือไอโอดีน ทำให้ ศ.นพ.กำธร สุวรรณกิจ อธิบดีกรมอนามัยในขณะนั้น ส่งอาจารย์อมรไปทำปริญญาโทด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ด้วยความคาดหวังให้ลูกศิษย์คนนี้เรียนด้านโภชนาการเพื่อกลับมาช่วยงาน 

แต่อาจารย์กลับเลือกศึกษาด้านการบริหารสาธารณสุข ตามที่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำ โดยเชื่อว่าการแก้ปัญหาโภชนาการจะใช้ความรู้โภชนาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้ความรู้หลายสาขา รวมทั้งการบริหาร

เมื่อกลับมาจึงถูกส่งตัวไปเป็นอนามัยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวะอันดีที่ อาจารย์กำธร และ นพ.สมบูรณ์ วัชโรทัยกำลังทำโครงการนำชาวบ้านหนุ่มสาวมาฝึกรักษาคนไข้เบื้องต้นโดยมีค่าตอบแทนให้ ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก อาจารย์จึงได้มาช่วยโครงการนี้ พร้อมกับนำความรู้ที่ร่ำเรียนจากอเมริกา ทดลองมาต่อยอดโครงการที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

ปัญหาสำคัญในช่วงต้นทศวรรษ 2500 คือ บริการสาธารณสุขไม่ทั่วถึง ครอบคลุมเพียง 15-30 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั่วประเทศ คนที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่คือคนในเมือง บ้านใกล้โรงพยาบาลหรืออนามัย และมีฐานะค่อนข้างดี ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล มักไม่ค่อยเดินทางมารับบริการ ถ้าไม่เจ็บป่วยกันหนักจริงๆ เพราะทั้งเสียเงิน เสียเวลา บางครั้งมาถึงก็ต้องรอนาน ค่ารักษาก็แพง บางครั้งถึงกับต้องขายวัว ขายควาย รักษาจนหมดตัวไปเลยก็มี 

หากจะให้สร้างสถานบริการสาธารณสุขเพิ่มจนครอบคลุม ก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการทดลองดึงชาวบ้านมามีส่วนร่วม อย่างโครงการที่อำเภอวัดโบสถ์ พิษณุโลก

แต่วิธีของอาจารย์อมรต่างจากที่อาจารย์ผู้ใหญ่ทำ คือ แทนที่จะใช้คนหนุ่มสาว กลับใช้ผู้ใหญ่หรือหรือคนที่เป็นที่นับถือ และพอฝึกเสร็จก็ไม่ต้องมาประจำที่สถานีอนามัย แต่ให้ทำงานอยู่ในหมู่บ้านนั่นเอง ด้วยความเชื่อว่า วิธีนี้น่าจะเห็นผลกว่า

“จำได้ว่า สมัยผมอยู่ที่จังหวัดแพร่.. เวลาที่เราออกท้องที่ไปรักษาพยาบาลตามหมู่บ้านต่างๆ สิ่งที่พบเห็นคือน้ำใจของชาวบ้าน เขาจะเข้ามาช่วยเราอยู่ตลอดเวลา ช่วยยกโต๊ะ ยกเก้าอี้ จัดระเบียบ จดชื่อ เรียกชื่อผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เงินทองก็ไม่เอา ถ้าไม่ได้เขาเราก็แย่ มันจึงเป็นโอกาสที่เราจะเอาคนพวกนี้มาทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที   

“อีกปัจจัยหนึ่งคือผมก็นึกย้อนไปถึงสมัยเด็กๆ เวลาเราเจ็บป่วย เราได้รับการดูแลจากญาติผู้ใหญ่  ท่านก็เอาเราไปนอนตัก ป้อนยาแล้วลูบหัว เรารู้สึกถึงความอบอุ่น เรื่องพวกนี้ผมรู้สึกประทับใจมากๆ ก็เลยคิดว่าหากเอาเรื่องพวกนี้มาใช้ในหมู่บ้านบ้างก็คงจะดีนะ”

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ผสส.- ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข’ ตัวกลางในการสื่อสารเรื่องสาธารณสุขกับชาวบ้าน และ อสม.- อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่จะดูแลเรื่องอนามัย และการรักษาโรคเบื้องต้น เป็นสองกำลังที่ขับเคลื่อนภาคบริการสาธารณสุขของประชาชน 

การเลือกคนมาทำหน้าที่นี้ อาจารย์ใช้วิธีคุย ถามชาวบ้านว่าเวลาเจ็บป่วยเขาไปหาใคร เวลามีปัญหาเรื่องสุขภาพปรึกษาใคร ใครเป็นที่พึ่ง แล้วนำคำตอบมานับดูว่าชาวบ้านระบุชื่อใครมากที่สุด เฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 15 หลังคาเรือน จะมีอย่างนี้คนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้อาวุโสนั่นเอง อาจารย์ก็จะดึงคนเหล่านี้ไปเป็น ผสส. พร้อมอบรมความรู้เรื่องสาธารณสุข แล้วให้เขานำความรู้ที่ได้มากระจายสู่ชุมชนต่อไป  

หลังจากทำไปสักระยะ อาจารย์พบว่าจริงๆ แล้ว ชาวบ้านเองก็มีความสามารถรักษาพยาบาลกันเองได้ เพียงที่ผ่านมารักษาโดยไม่มีหลักการ หากได้รับการฝึกที่ดีก็น่าจะมีประสิทธิภาพ จึงเกิดความคิดจะสร้าง ‘อสม.-อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน’ขึ้นมา โดยฝึก ผสส. ให้มีความรู้ในการรักษา จะได้ดูแลคนที่เจ็บป่วยในหมู่บ้านได้

อสม. จะได้รับการฝึกให้รักษาโรคง่ายๆ ที่พบบ่อย เช่น ปวดหัวตัวร้อน ท้องร่วง ฝึกทำแผล ฉีดยา เจาะเลือด ความรู้เรื่องยาต่างๆ รวมถึงการป้องกันโรค เช่น มาลาเรีย พยาธิ ไปจนถึงวางแผนครอบครัว 

ช่วงเริ่มต้น การทำงาน อสม. ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เพราะถือเป็นงานที่ทำด้วยใจอย่างแท้จริง

“ถ้าเอาเงินไปให้เขาก็น่าเกลียด เพราะคนที่เราเลือกมาอาสาสมัคร ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ชาวบ้านที่นับถืออยู่แล้ว เขารู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ทำ มันถึงได้ยั่งยืนไง ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาใช้เงินจ้าง จึงไม่มีที่ไหนเหลือรอดสักแห่ง เพราะไปตั้งต้นผิด คนไม่ได้ทำด้วยความเต็มใจ พอทำโครงการมาได้ระยะหนึ่ง คนพวกนี้ก็จะมาเรียกร้องอะไรเยอะมาก เช่นเมื่อไหร่ขอขึ้นเงินเดือน เขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง พอเจออย่างนี้เยอะๆ ก็อยู่ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไปให้”

หากแต่การเริ่มต้นอะไรสักอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อาจารย์อมรและทีมงานโดนคำครหามากมายว่าเขากำลังผลิต ‘หมอเถื่อน’

“เขาบอกว่าผมจะทำหมอเถื่อนเหรอ เพื่อนกันนี่แหละที่พูด คือเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ คนมองเรื่องพวกนี้เป็นหน้าที่ของราชการที่ต้องบริการประชาชน แต่เราเคยประสบมา ยิ่งแพทย์ที่อยู่ต่างจังหวัดอย่างผม ทั้งจังหวัดมีคนเดียว รู้ว่าปัญหาคืออะไร แล้วจะให้ไปดูแลหมด คงเป็นไปไม่ได้”

แต่พวกเขาก็ไม่ท้อ ทุ่มเทกำลังใจ กำลังกายกันอย่างจริงจัง และผลลัพธ์ที่กลับมาคือชาวบ้านได้ช่วยเหลือกันเองอย่างดี อัตราการเจ็บป่วยน้อยลง คนหายจากโรคมากขึ้น จังหวัดอื่นๆ จึงนำโมเดลของอำเภอสารภี ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดการวางรากฐานของ อสม. ไปทั่วประเทศ

03

สุขภาพดีตั้งแต่พื้นฐาน

ในช่วงปี 2520 อาจารย์อมร รับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงผลักดันเรื่อง ผสส. และ อสม. เข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 กำหนดเป็นนโยบายให้ชุมชนต่างๆ มีอาสาสมัครสาธารณสุขช่วยทำงาน เพื่อจะได้ดูแลเรื่องสุขภาพเบื้องต้นของคนในพื้นที่ได้ หรือที่ภาษาทางการเรียกว่า‘ระบบสาธารณสุขมูลฐาน’

“ตอนนั้น WHO มีนโยบายอันหนึ่งเรียกว่า Health for all โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนในการดูแลสุขภาพของตัวเอง เราเองรับนโยบายตรงนี้มา เพราะมองว่าชาวบ้านนี่แหละต้องเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสุขภาพที่ดี จะไปหวังเพิ่งหมออย่างเดียวคงไม่ได้

“ผมอยากเห็นชาวบ้านลุกขึ้นมาทำอะไรเองได้หมด คิดเองได้หมด ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก สามารถดูครอบครัวของตัวเองได้ อย่างเวลาเด็กแรกเกิด ต้องมีการฉีดวัคซีน มีการชั่งน้ำหนัก แม่เด็กต้องรู้ ไม่ใช่ตัวเองอยู่เฉยๆ นั่งรอแต่หมอ พยาบาลมาเรียกอย่างเดียว ทำอย่างนี้ไม่ได้

“ที่ผ่านมาตรงนี้ถือเป็นข้อเสียของราชการเลย เพราะเราไปทำให้เขาหมด เขาก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวก็มีคนมาทำให้เอง”

อาจารย์พยายามทำงานเพื่อให้คนไทยเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

อย่างแรกคือ ต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคมากขึ้น เพราะหากรอให้ป่วยแล้วมารักษา จะช้าเกินไป และทำให้ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว

ต่อมาคือ ต้องทำให้ชาวบ้านเห็นว่า เรื่องสุขภาพมีความสำคัญกับชีวิต ไม่แพ้เรื่องการเงิน อาชีพ การศึกษา ความมั่นคง ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้ โครงการสาธารณสุขต่างๆ จะสำเร็จได้ง่าย

“ที่ผ่านมาเราพยายามจะสร้างคำขวัญขึ้นมาว่า ‘สุขภาพดีเป็นของทุกคน ซื้อหาไม่ได้ ต้องทำเอาเอง’ แต่ก็ไม่ได้ผลอยู่ดี เพราะเขาไม่สนใจ ถึงจะเอาหมอพยาบาลเข้าไปชี้แนะก็ยังไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นเราก็เลยเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่ ดูว่าชาวบ้านเขาเห็นอะไรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตบ้าง 

“หากพูดเรื่องคุณภาพชีวิต อย่างอาชีพ การศึกษา หรืออะไรที่เป็นรูปธรรมมากๆ เขาจะฟัง เราก็เปลี่ยนใหม่ไม่เอาแล้ว Health for all หันมาทำเรื่อง Quality of life for all แทน แล้วแทรกเรื่องสุขภาพลงไป มีตัวพาหะที่เขาสนใจเป็นตำนำทาง โครงการมันถึงจะสำเร็จ แล้วมันก็สำเร็จจริงๆ”

ดังที่อาจารย์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ผ่านโครงการเกลืออนามัย และ อสม.

04

ครูใหญ่แห่งสาธารณสุขชุมชน

ตลอดชีวิตการทำงานของอาจารย์อมร ได้ฝากผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะงานกับชาวบ้านและผู้ยากไร้ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นครูใหญ่แห่งระบบสาธารณสุขเพื่อชุมชน ปลุกชาวบ้านให้ลุกตื่นจากความ ‘โง่-จน-เจ็บ’ รวมถึงเป็นบุคคลแรกที่คิดค้นและทำโครงการบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งต่อมา นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ พัฒนาต่อมาเป็นโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค

หลังจากเกษียณอายุราชการ อาจารย์ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ยังขึ้นลงกรุงเทพฯ เพื่อเป็นที่ปรึกษา และมีส่วนสำคัญในการวางยุทธศาสตร์งานสาธารณสุขของประเทศไทย 

อาจารย์อมรจากไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ด้วยวัย 92 ปี เป็นชีวิตที่ทุ่มเทตั้งใจจะทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง ดังที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ผมคิดว่าชีวิตตัวเองมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนอยู่แล้ว คือเรารู้ว่าเราต้องการอะไร ผมเนี่ยอยากเห็นสังคมมีความสุข อยากเห็นชาวบ้านเขาดีกัน เราก็เห็นปัญหามาเยอะ แต่เราก็เชื่อนะว่าอย่างน้อยเราคงจะช่วยได้..”

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบจาก

  • หนังสือ 80 ปี นายแพทย์อมร นนทสุต เพชรจรัสแสงแห่งวงการสาธารณสุขไทย โดย สันติสุข   โสภณศิริ
  • หนังสือ หลังประติมาสาธารณสุข 20 เบื้องหลังการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย
  • ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 2 มิถุนายน 2563
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0