โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ที่สุดแห่งความภาคภูมิใจ แผนที่สมัยพระนารายณ์ แผ่นสุดท้ายในโลก!

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 พ.ย. 2566 เวลา 02.02 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2566 เวลา 05.35 น.
ภาพปก-แผนที่
แผนที่สมัยพระนารายณ์ แผนที่สยาม แผนที่โบราณ

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช : ที่สุดแห่งความภาคภูมิใจ “แผนที่สมัยพระนารายณ์” แผนที่โบราณ แผ่นสุดท้ายในโลก!

ผมเป็นคนที่ทำงานอย่างเป็นระบบ คิดอย่างเป็นระเบียบ และละเอียดถี่ถ้วน ในการสะสมแผนที่ ผมวางแนวทางชัดเจน เก็บตั้งแต่แผ่นแรกจนแผ่นสุดท้าย เก็บทุกแผ่น ทุก edition, state และ variant ทั้งแผ่นระบายสีและไม่ระบายสี เพื่อให้ได้คอลเลคชั่นที่ดีที่สุด เพื่อให้หนังสือที่ตั้งใจเขียนมีรายละเอียดที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด

ผมจำได้ว่าเมื่อปี 2554 มีการประมูลแผนที่เอเชียที่สหรัฐอเมริกา แผนที่นี้แปลกไม่เคยเห็นมาก่อน แทนที่จะเป็นแผนที่เดี่ยวแสดงเอเชียทั้งทวีป กลับแบ่งเป็นแผนที่ย่อยจำนวน 18 แผ่น แสดงดินแดนต่างๆ อาทิ ตุรกี, เปอร์เซีย, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์ และสยาม แน่นอนผมสนใจแผนที่แผ่นนี้เพราะมีสยามรวมอยู่ด้วย

เมื่อผมตัดสินใจว่าแผนที่จะควรเข้ามาอยู่ในคอลเลคชั่น ผมก็มุ่งมั่นประมูลมาจนได้ แต่ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ผมเดินหน้าค้นคว้าต่อไปจนได้มาพบแผนที่แผ่นนี้อีกครั้งในหนังสือ Japoniae Insulae (Jason C. Hubbard, 2012) พอเห็นภาพแผนที่ผมอุทานเบาๆ “ของเรานี่หว่า” และเมื่ออ่านรายละเอียดใต้ภาพ “Sale 137: Lot 721” ยิ่งแน่ใจว่า “ของเราจริงๆ ด้วย” ผู้เขียนระบุว่าเป็นแผนที่เอเชีย (L’Asie) เขียนโดยดูวัล (Pierre Duval) ช่างแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ราว ค.ศ. 1656/พ.ศ. 2199 ปลายสมัยพระเจ้าปราสาททองหรือต้นสมัยพระนารายณ์ โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า [จากประสบการณ์สะสมแผนที่นานกว่า 40 ปี] เขาเพิ่งพบแผนที่แผ่นนี้เพียงแผ่นเดียว คือแผ่นที่บันทึกในหนังสือ [1]

ผู้เขียนอธิบายว่า ดูวัลตั้งใจเขียนแผนที่ทวีปต่างๆ จำนวน 4 แผ่น ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา อเมริกา และยุโรป โดยแผนที่เอเชียฉบับพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1656 พบหลักฐานเพียงแผ่นเดียว ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งถัดมา ค.ศ. 1661/พ.ศ. 2204 พบหลักฐานทั้งหมด 5 แผ่น เก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส และในไพรเวทคอลเลคชั่นที่กรุงลอนดอนและเกียวโต [2]

ผมตรวจสอบหนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับแผนที่ญี่ปุ่นอีกสองเล่ม (Japan: A Cartographic Vision และ Isles of Gold) หนังสือแผนที่ฟิลิปปินส์ (Philippine Cartography) หนังสือแผนที่อินเดีย (India Within the Ganges) และหนังสือแผนที่เอเชีย (Mapping the Continent of Asia) มีเพียงเล่มเดียวที่อ้างถึงแผนที่เอเชียฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ไม่พบเล่มใดกล่าวถึงแผนที่ฉบับพิมพ์ครั้งแรก [3]

ในส่วนแผนที่อเมริกา (L’Amérique) โดยดูวัล ผมตรวจสอบหนังสือ The Mapping of North America พบว่ามีแผนที่ดูวัลฉบับพิมพ์ครั้งแรกเก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติกรุงลอนดอน ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง เก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส และไพรเวทคอลเลคชั่นทั้งในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา [4]

ผมตรวจสอบหนังสือ Maps in the Atlases of the British Library ไม่พบแผนที่เอเชียโดยดูวัลในหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ค้นหนังสือ Les Atlas Français XVIe – XVIIe siècles ซึ่งให้รายละเอียดแผนที่ฝรั่งเศสที่เก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ระบุเพียงว่าดูวัลได้เขียนแผนที่ขนาดใหญ่จำนวน 8 แผ่น ได้แก่ แผนที่โลก เอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี แต่ไม่ให้รายละเอียด ส่วนเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสให้ข้อมูลแผนที่ดูวัลจำนวน 662 รายการ มีแผนที่เอเชียจำนวน 8 รายการ รวมถึงแผนที่ดูวัลฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง แต่ไม่พบรายการแผนที่ฉบับพิมพ์ครั้งแรก [5]

ระหว่างเดินชมนิทรรศการ แผนที่โบราณ ที่กรุงลอนดอนเมื่อกลางปี ผมพบคุณเจสัน ผู้แต่งหนังสือ Japoniae Insulae เราแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอีเมลนับแต่นั้น และล่าสุดเขาได้อีเมลมายืนยันว่า “ไม่พบแผนที่เอเชียโดยดูวัลที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษหรือที่ไหนๆ และเท่าที่ทราบ แผนที่ดูวัลฉบับพิมพ์ครั้งแรกพบหลักฐานเพียงฉบับเดียว คือฉบับในความครอบครองของคุณ” (“You have the only recorded example.”) [6]

ดูวัลเป็นช่างแผนที่ประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Géographe ordinaire du Roy) แผนที่สยามที่รวมอยู่ในแผนที่เอเชีย ค.ศ. 1656 เป็นแผนที่ต้นแบบที่เขาใช้ในการเขียนแผนที่สยาม เริ่มจากแผนที่ Presqu’isle de L INDE de là le Gange ค.ศ. 1661/พ.ศ. 2204 จนถึง ค.ศ. 1712/2255 นอกจากนี้ เขาคือผู้เขียนแผนที่สยามแผ่นสำคัญ Carte du Royaume de Siam (ค.ศ. 1686/พ.ศ. 2229) แผนที่สยามที่สวยงาม หายาก และเป็นที่ต้องการมากที่สุด [7]

“แน่ใจหรือ แผนที่นี้คือแผ่นเดียวและแผ่นสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่”

ขอตอบว่าจนบัดนี้ยังไม่มีใครพบแผนที่แอฟริกาและยุโรปเขียนโดยดูวัล ค.ศ. 1656 หรือเขาอาจไม่ได้เขียนก็เป็นได้ ส่วนแผนที่อเมริกาที่พิมพ์ปีเดียวกัน จนบัดนี้พบหลักฐานเพียงแผ่นเดียว

ไม่มีใครรู้แน่ชัดดูวัลพิมพ์แผนที่เอเชียกี่แผ่น น่าจะจำนวนจำกัด (print on demand?) อนึ่ง แผนที่ชุดนี้เป็นฉบับแยกพิมพ์ ไม่รวมอยู่ใน Atlas หรือสมุดแผนที่ ทำให้ชำรุด เปื่อยยุ่ย และสูญหายง่าย ขอให้อีกตัวอย่าง แผนที่โลก (Universalis Cosmographia) โดยวัลซีมูลเลอร์ (Martin Waldseemüller) พิมพ์ ค.ศ. 1507/พ.ศ. 2050 แม้จะมีจำนวนพิมพ์สูงถึง 1,000 แผ่น แต่พอเวลาล่วงไปกว่า 500 ปี เหลือหลักฐานเพียงชิ้นเดียว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดรัฐสภาคองเกรส (Library of Congress) [8]

สรุป แผนที่โลกโดยวัลซีมูลเลอร์ (ค.ศ. 1507) เหลือแผ่นเดียว เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดรัฐสภาคองเกรส กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แผนที่อเมริกาโดยดูวัล (ค.ศ. 1656) เหลือแผ่นเดียว เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ กรุงลอนดอน แผนที่เอเชียโดยดูวัล (ค.ศ. 1656) เหลือแผ่นเดียว เก็บรักษาไว้ที่นี่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

มันเป็นทั้งความภาคภูมิใจและภาระที่จะต้องจัดเก็บรักษาให้ดีที่สุด เพราะมันอาจเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่แสดงให้เห็นถึงการรับรู้เกี่ยวกับเอเชียโดยชาวฝรั่งเศสในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทั้งเป็นหลักฐานแผนที่สยามแผ่นแรกพิมพ์ในสมัยพระนารายณ์ และแผ่นสุดท้ายที่หลงเหลือในปัจจุบัน

“กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช หนังสือที่เกิดจากแรงปรารถนาที่จะมาช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาด ช่วยทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในแผนที่ ทดลองอ่านได้ที่: https://bit.ly/3My9LUp สามารถสั่งซื้อ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ช่องทางออนไลน์ได้แล้วตามลิงค์ https://bit.ly/473MfXy

อ่านบทความอื่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] Jason C. Hubbard, Japoniae Insulae: The Mapping of Japan (Houten: Hes & De Graaf, 2012), 199.

[2] Jason C. Hubbard, Japoniae Insulae, 200.

[3] ดูแผนที่เอเชียโดยดูวัล ค.ศ. 1661 ใน Lutz Walter (ed.), Japan: A Cartographic Vision (Munich: Prestel, 1994), pl. 47. Hugh Cortazzi, Isles of Gold: Antique Maps of Japan (New York: Weatherhill, 1992); Carlos Quirino, Philippine Cartography (1320-1899) (Amsterdam: N. Israel, 1963); Susan Gole, India Within the Ganges (New Delhi: Jayaprints, 1983); Julie Yeo et. al., Mapping the Continent of Asia (Singapore: Antiques of the Orient, 1994).

[4] Philip D. Burden, The Mapping of North America (Rickmansworth, Herts: Raleigh Publications, 1996), 417-418.

[5] Rodney Shirley, Maps in the Atlases of the British Library: A Descriptive Catalogue c AD850-1800, vols. 1 & 2 (London: British Library, 2004); Mireille Pastoureau, Les Atlas Français XVIe – XVIIe siècles (Paris: Bibliothèque Nationale, 1984), 136; data.bnf.fr; gallica.bnf.fr.

[6] อีเมลจาก Jason C. Hubbard, 27กันยายน พ.ศ. 2562.

[7] Josephine French, Tooley’s Dictionary of Mapmakers, Revised Edition A-D (Tring, Herts: Map Collector Publications, 1999), 406.

[8] Rodney W. Shirley, The Mapping of the World: Early Printed World Maps 1472-1700 (Riverside, CT: Early World Press, 2001), 28-19; John W. Hessler, The Naming of America: Martin Waldseemüller’s 1507 World Map and the Cosmographiae Introduction (London: Library of Congress, 2008), 39.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0