โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมว่าที่คุณแม่ในอดีตทุกคน เมื่อคลอดปกติทุกรายต้องใช้ยาสลบ ?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 25 ก.ย 2566 เวลา 04.13 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2566 เวลา 17.18 น.
ภาพปก - คลอดปกติ
ภาพแสดงการคลอดของคุณแม่ชาวอเมริกันในยุคบุกเบิก

ทำไมว่าที่ คุณแม่ ในอดีตทุกคน เมื่อ “คลอดปกติ” ทุกรายต้องใช้ ยาสลบ ?

ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านที่เคยเป็นคุณแม่มาก่อนอาจเกิดความสงสัยเมื่อเห็นชื่อบทความที่ผมเขียนว่าทำไมต้องใช้ “ยาสลบ” สำหรับการ “คลอดปกติ” ด้วยหรือเป็นเรื่องจริงหรืออิงนิยายกันแน่

ในฐานะที่ผมเป็นสูตินรีแพทย์ ขอตอบว่าจริงครับ

ในอดีตเมื่อประมาณสัก 70 กว่าปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศการคลอดปกติทางช่องคลอด คุณหมอนิยมใช้ ยาสลบ กัน ซึ่งผมค้นพบความจริงอันนี้เมื่อผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง Impact of birthing practices on breastfeeding ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ผลกระทบของการดูแลการคลอดที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเขียนโดยคุณพยาบาลชื่อ Mary Kroeger [1] ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2004 หรือ พ.ศ. 2547 โดยเขียนไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งผมถอดความดังนี้

“…เมื่อการคลอดได้ถูกเคลื่อนย้ายจากบ้านไปยังโรงพยาบาลและมีการแนะนำให้ใช้ยาสลบระหว่างการคลอด เช่น อีเธอร์มากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940ทำให้แบบแผนการดูแลการคลอดในสหรัฐอเมริกาออกมาว่าต้องงดน้ำและอาหารระหว่างการคลอด เพื่อป้องกันโอกาสที่จะเกิดอาเจียนและสำลักทำให้ปอดอักเสบ (Aspiration pneumonia) แต่ต่อมาการใช้ยาสลบสำหรับการคลอดปกติได้รับความนิยมลดน้อยลง แต่การงดน้ำและอาหารก็ไม่ได้ลดน้อยลง แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าการกระทำเช่นนี้มีประโยชน์อยู่จริง…”

ซึ่งในทางปฏิบัติ สูตินรีแพทย์ส่วนหนึ่งยังนิยมให้คุณแม่งดน้ำและอาหารขณะเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น แต่เหตุผลที่อ้างคือ กลัวว่าถ้าจำเป็นต้องผ่าท้องทำคลอด การดม ยาสลบ อาจทำให้คุณแม่สำลักได้ เช่นเดียวกับในอดีตที่กลัวว่า คุณแม่ จะสำลักในการคลอดปกติ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งความจริงแล้วมีผลเสียที่ตามมาจากการงดน้ำและอาหารนี้ กล่าวคือ กระเพาะอาหารจะมีการหลั่งน้ำย่อยออกมาตลอดทั้งวันอยู่แล้ว แต่จะออกมามากช่วงที่เรารับประทานอาหาร ดังนั้นการงดน้ำและอาหารไมได้ทำให้กระเพาะอาหารแห้งสนิทแต่อย่างใด

ในทางตรงข้าม การงดน้ำและอาหารจะทำให้น้ำย่อยที่ไม่มีอาหารมาคลุกเคล้ามีความเป็นกรดสูงกว่าน้ำย่อยที่ได้ย่อยอาหารไปบ้างแล้ว หากเกิดการสำลักเข้าไปในปอดโอกาสที่ปอดจะอักเสบจะรุนแรงมากกว่า ซึ่งผมได้เคยเขียนไว้ในหนังสือ “คลอดเองได้ ง่ายนิดเดียว” [2] ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการคลอดวิถีธรรมชาติ ซึ่งในทางปฏิบัติทั่วไปในต่างประเทศก็ไม่ได้ให้คุณแม่ที่เจ็บครรภ์คลอดปกติทั่วไปที่ไม่มีปัญหาแทรกซ้อนที่มีโอกาสผ่าท้องทำคลอดสูงต้องงดน้ำและอาหาร

ก่อนอื่นผมขอเล่าย่อๆ ให้ท่านผู้อ่านทราบเกี่ยวกับการดูแลการคลอดในปัจจุบันนี้เสียก่อน ซึ่งทางการแพทย์จะไม่มีการใช้ยาสลบแก่ คุณแม่ ที่คลอดปกติทางช่องคลอดอย่างเป็นกิจวัตร (Routine) เนื่องจากยาสลบอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่คุณแม่ได้ เช่น สำลักอาหารหรือน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดปอดอักเสบ (Aspiration pneumonia) ได้ ดังนั้นการวางยาสลบในคุณแม่ที่คลอดทางช่องคลอดจะมีข้อบ่งชี้ให้ใช้เฉพาะในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องทำหัตถการบางอย่าง เช่น การหมุนกลับทารกภายในมดลูก (Internal podalic version) การช่วยคลอดทารกที่มีส่วนนำเป็นก้นทั้งหมด (Total breech extraction) เป็นต้น

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมสูติแพทย์จึงนิยมใช้ยาสลบ เช่น อีเธอร์ในช่วง ค.ศ. 1940 แต่ผมคิดว่าจุดประสงค์อันหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ ลดความเจ็บปวดขณะคลอด ซึ่งเป็นที่หวั่นเกรงโดยเฉพาะกับคุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก จริงอยู่ที่ความเจ็บปวดขณะคลอดเป็นความเจ็บปวดที่ถือว่ามาก แต่ธรรมชาติก็ได้หาทางช่วยเหลือโดยมีการจัดให้มีฮอร์โมนที่ช่วยลดความเจ็บปวดดังกล่าว คือ ฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีคุณลักษณะคล้ายมอร์ฟีน โดยปกติร่างกายคนเราจะหลั่งออกมาเองโดยอัตโนมัติเมื่อมีภาวะเครียดหรือเจ็บปวดเพื่อทำให้ความเจ็บปวดดังกล่าวลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ว่า “ครั้งหนึ่งเมื่อการคลอดปกติทุกรายต้องใช้ยาสลบ” ก็ยังไม่มีตัวอย่างกรณีผู้ป่วยจริงๆ ให้เราเห็น จนกระทั่งเมื่อผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง “ชีวิตเหมือนฝัน” ซึ่งแต่งโดย คุณหญิงมณี สิริวรสาร [3] ที่ผมเคยใช้ข้อมูลของท่านในการเขียนบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งลงในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 [4]

ซึ่งคุณหญิงมณีมีประสบการณ์คลอดปกติที่ต้องใช้ยาสลบ 2 ครั้ง และคลอดปกติที่ไม่ต้องใช้ยาสลบ 1 ครั้ง โดยท่านคลอดทั้ง 3 ครั้งที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในครรภ์แรกท่านฝากครรภ์กับสูติแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ Mr. Arthur Grey ชาวอังกฤษไม่นิยมเรียกแพทย์แขนงนี้ว่าดอกเตอร์ (Dr.) แต่จะเรียกว่ามิสเตอร์ (Mr.) นำ คุณหญิงมณีได้บรรยายเหตุการณ์ในขณะเจ็บครรภ์คลอดบุตรชายคนแรกของท่าน (ม.ร.ว. เดชนศักดิ์ ศักดิเดช ภาณุพันธ์) ไว้ว่า [3]

“…ในที่สุด วันหนึ่งกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นฤดูร้อนในประเทศอังกฤษ ท้องฟ้าแจ่มใส ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาประมาณ 8 โมงเช้า ก็รู้สึกอึดอัดเป็นกำลังและเริ่มมีอาการเจ็บท้องเล็กน้อยและต่อมาไม่ช้าข้าพเจ้าก็ตกใจมากเพราะมีน้ำใสๆ ไหลออกมาเปียกที่นอน นางพยาบาลรีบพาข้าพเจ้าไปนอนบนเตียงสำหรับคลอด เปลี่ยนเสื้อผ้าและทำคลอดสะอาดให้ข้าพเจ้า

ส่วนมารดาของข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์ไปบอกมิสเตอร์เกรย์ให้ทราบ แต่หมอก็บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงอะไรหรอก นี่เป็นการคลอดครั้งแรกของข้าพเจ้า ดังนั้นก็คงเจ็บท้องไปอีกนาน แต่ปรากฏว่าอีกชั่วโมงให้หลังการเจ็บท้องของข้าพเจ้าถี่ขึ้นมากจนพยาบาลตกใจรีบโทรศัพท์บอกหมอให้มาทันที

เพราะข้าพเจ้ามีอาการเหมือนกับว่าข้าพเจ้าจะคลอดลูกก่อนที่หมอจะเดินทางมาถึงเสียอีก นางพยาบาลได้บอกข้าพเจ้าให้หายใจเข้าและอย่าเบ่งลมเป็นอันขาด แล้วข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงของมารดาแว่วๆ ที่หูให้ข้าพเจ้ากลั้นหายใจและอย่าเบ่งลมเป็นอันขาด

ข้าพเจ้าพยายามทำตามและนึกเป็นห่วงว่าหมอคงมาไม่ทันแน่ๆ เพราะข้าพเจ้าเจ็บท้องถี่ขึ้นทุกๆ ที ต่อมาในนาทีที่รู้สึกว่าข้าพเจ้าคงทนต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงของมารดาอุทานออกมาอย่างโล่งใจว่า ‘หมอมาแล้ว’ ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็รู้สึกว่ามีอะไรมากระทบที่จมูกของข้าพเจ้า ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าไม่รู้สึกตัวอีกเลย

มารดาได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังภายหลังว่าในตอนนั้นโกลาหลกันมาก เพราะหัวเด็กได้เริ่มโผล่ออกมาแล้ว ทั้งมารดาและนางพยาบาลก็นึกว่าคงต้องทำการคลอดกันเองโดยลำพัง แต่ในที่สุดมิสเตอร์เกรย์ก็มาถึงทันพร้อมกับให้ยาสลบให้ข้าพเจ้าทันทีและทุกๆ อย่างก็ดำเนินไปด้วยดี

การคาดคะเนของมิสเตอร์เกรย์ผิดไปมาก เพราะท่านคิดว่าข้าพเจ้าคงคลอดลูกยากมากและได้เตรียมเครื่องมือสำหรับผ่าเด็กออกทางหน้าท้องเสียด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่าข้าพเจ้าคลอดง่ายดายมากและเจ็บท้องไม่ถึง 3ชั่วโมง ก็คลอดบุตรออกมาอย่างรวดเร็วเกินคาด ข้าพเจ้าฟื้นจากยาสลบใกล้ๆ เที่ยงวัน…”

ผมไม่ทราบว่า การคลอดปกติที่ต้องให้ยาสลบด้วยนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด ผมได้พบตำราแพทย์ตำบล ของ พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ซึ่งเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ผมได้เคยเขียนถึงท่านในบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งลงในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 [5]

โดยตำราแพทย์ตำบลเป็นตำราแพทย์โบราณ ซึ่งไม่ทราบว่านานเพียงใด แต่คิดว่าน่าจะตั้งแต่อย่างน้อยสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา โดยตำราแพทย์ตำบลนี้ได้ถูกรวบรวมไว้โดย คุณวิชัย อภัยสุวรรณ ในหนังสือเรื่องหกในหนึ่ง [6]

พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดีได้เขียนตอนที่ 1 ตำราคลอดบุตร์อย่างฝรั่งไว้ค่อนข้างละเอียด แต่ไม่มีการกล่าวถึงการใช้ยาสลบในผู้คลอดขณะคลอดบุตรเลย โดยปกติการใช้ยาสลบต้องให้ในโรงพยาบาล ดังนั้นการใช้ยาสลบเพิ่มมากขึ้นหลังจากการคลอดได้เคลื่อนย้ายจากบ้านไปโรงพยาบาล แต่ในกรณีการคลอดบุตรคนแรกของคุณหญิงมณีนั้นเกิดขึ้นที่บ้าน ซึ่งก็แสดงว่าในต่างประเทศก็มีการใช้ยาสลบแก่คุณแม่ที่คลอดที่บ้านด้วย

ครั้นเมื่อคุณหญิงมณีเจ็บครรภ์คลอดบุตรคนที่ 2 ของท่าน (ม.ร.ว. ทินศักดิ์ ศักดิเดช ภาณุพันธ์) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2485 ท่านได้บรรยายไว้ว่า [3] “…ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอุ้มครรภ์ที่สอง ข้าพเจ้ามีร่างกายสมบูรณ์เป็นปกติทุกอย่าง ข้าพเจ้ามีพรสวรรค์ที่คลอดลูกง่ายมาก คราวนี้เพื่อป้องกันมิให้เป็นอย่างครั้งแรกที่หมอไปเกือบไม่ทัน มิสเตอร์เกรย์ได้ให้ข้าพเจ้าไปนอนรอคอยการคลอดก่อนกำหนดถึง 3 วัน ที่คลินิกที่กรุงลอนดอน เพราะเจรี่ไปทำงานทุกวัน หากข้าพเจ้าเจ็บท้องขึ้นมาอาจไม่มีใครพาข้าพเจ้าไปส่งที่โรงพยาบาลได้ทันก็ได้ เพราะบ้านของเราอยู่ที่เวอร์จิเนียวอเตอร์ ซึ่งห่างไกลจากรุงลอนดอนประมาณหนึ่งชั่วโมง

ข้าพเจ้าไปนอนที่คลินิกในกรุงลอนดอนกลางเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิมีแดดอ่อนๆ อากาศสดชื่น ตอนเช้าทุกๆ วันข้าพเจ้าออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้น มองดูดอกไม้ต่างๆ ดอกแดฟโฟดิล (daffodil) ดอกทิวลิป (tulip) ดอกไฮเซนธ์ (hyacinth) ทำให้ข้าพเจ้าชื่นบาน จิตใจผ่องใส

เมื่อข้าพเจ้าไปนอนค้างครบ 3 วันที่คลินิก นางพยาบาลก็บอกกับข้าพเจ้าว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่คลอดวันนี้หมอจะให้รับประทานยาเร่ง แต่พอตกเย็นวันที่สาม นางพยาบาลตรวจข้าพเจ้าแล้วบอกว่าหัวของเด็กต่ำมากแล้ว คงไม่เกินคืนนี้เป็นแน่และก็เป็นความจริง ประมาณตีสามหรือตีสี่ของวันที่ 19 เมษายน ข้าพเจ้าก็คลอดลูกชายคนที่สอง เมื่อข้าพเจ้าลืมตาขึ้นในตอนรุ่งเช้าหลังจากถูกวางยาสลบ เมื่อเจ็บท้องในตอนคลอดก็พบกับมารดาของข้าพเจ้า ซึ่งยืนยิ้มอย่างภาคภูมิใจอยู่ข้างเคียง บอกข้าพเจ้าว่าเป็นผู้ชายอีกคนหนึ่ง…” ในการคลอดครั้งที่ 2 ของคุณหญิงมณีเกิดขึ้นที่คลีนิค ดังนั้นการใช้ยาสลบจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอีกตามสมัยนิยม

หลังจากที่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2485 คุณหญิงมณีก็ได้สมรสใหม่กับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐาแท้ๆ ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต และได้ย้ายไปทำฟาร์มที่ชนบทห่างไกลจากบ้านเดิมที่เวอร์จิเนียวอเตอร์ถึง 350 ไมล์ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อควีนส์แคเมล (Queen’s Camel)

โดยคราวนี้ท่านได้ฝากครรภ์กับคุณหมอแบเรต (Dr. Barrett) ซึ่งเป็นแพทย์หญิงที่พักอยู่เชิงเขาของบ้านใหม่ของท่าน ซึ่งสามารถขึ้นมาทำคลอดให้ที่บ้านได้ภายใน 10 นาที คุณหญิงมณีได้บรรยายเหตุการณ์เกี่ยวกับการคลอดบุตรคนที่ 3 และคนสุดท้ายของท่าน (ม.ร.ว. อรมณี ภาณุพันธ์)

“…การคลอดลูกครั้งที่สามนี้ หมอมิได้วางยาสลบให้ข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็เจ็บท้องอยู่ไม่นานและคลอดตามธรรมชาติทุกประการอย่างง่ายดาย หมอแบเรตได้ทำคลอดให้ข้าพเจ้าอย่างเรียบร้อยตอนสามทุ่มกว่าของคืนวันอาทิตย์ (วันที่ 10 ตุลาคม 2486 – ผู้เขียน)”

ผมคิดว่า การที่คุณหมอแบเรตไม่ได้วางยาสลบในการคลอดบุตรคนที่ 3 ของคุณหญิงมณี อาจเนื่องมาจากที่หมู่บ้านควีนแคเมลเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบท การวางยาสลบในสถานที่เช่นนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าการคลอดในคลีนิคกลางกรุงลอนดอน หรืออาจจะเป็นเพราะความคิดทางการแพทย์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นไม่นิยมใช้การวางยาสลบสำหรับการคลอดปกติทางช่องคลอดต่อไป

ในการคลอดก็เช่นเดียวกันหากทุกอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติ คุณแม่ ก็จะสามารถทนต่อความเจ็บปวดจากการคลอดได้เป็นอย่างดี [2] นอกจากนี้ยังมีวิธีบรรเทาความเจ็บปวดจากการคลอดทั้งที่ใช้ยา เช่น การฉีดยาชาเข้าโพรงไขสันหลัง หรือที่นิยมเรียกว่าบล็อคหลัง และการฉีดยากลุ่มมอร์ฟีนเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนวิธีบรรเทาปวดที่ไม่ใช้ยา เช่น การนวด การประคบน้ำร้อน การแช่น้ำอุ่น และการปรับท่าทางในการคลอด เป็นต้น

โดยสรุป ในอดีตเมื่อประมาณ 70กว่าปีก่อน ในต่างประเทศนิยมวางยาสลบแก่คุณแม่ที่ “คลอดปกติ” ทางช่องคลอดอย่างเป็นกิจวัตร (Routine) และต่อมาก็วางยาสลบ เมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยได้ยกตัวอย่างการคลอดทั้ง 3ครั้ง ของ คุณหญิงมณี สิริวรสาร เป็นหลักฐานการมีอยู่จริงของ “ครั้งหนึ่งในอดีตเมื่อการคลอดปกติทุกรายต้องใช้ยาสลบ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

บรรณานุกรม :

[1] Kroeger, Mary. Impact of birthing practices on breastfeeding : Protecting the mother and baby continuum. Boston : Jones and Bartlett Publishers, 2004.

[2] เอกชัย โควาวิสารัช. คลอดเองได้ ง่ายนิดเดียว. กรุงเทพฯ : รักลูกบุ๊กส์, 2551.

[3] มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. ชีวิตเหมือนฝัน. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์ 50, 2552.

[4] เอกชัย โควาวิสารัช. “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2555).

[5] . “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2555).

[6] แพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี, พระยา. ตำราแพทย์ตำบล ใน : ปิยดา ปุริทัศน์, มนตรี บุญนาค, ดบัสวินี อภัยสุวรรณ, บรรณาธิการ. หกในหนึ่ง. กรุงเทพฯ : ธาราฉัตรการพิมพ์, 2547. น. 151-223.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0