โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมการแสวงหาตัวตนจึงเจ็บปวด? 'Identity Crisis' วิกฤตที่มาพร้อมกับช่วงเปลี่ยนผ่าน

The MATTER

อัพเดต 15 ส.ค. 2563 เวลา 09.28 น. • เผยแพร่ 15 ส.ค. 2563 เวลา 09.16 น. • Lifestyle

การมีอัตลักษณ์ที่เด่นชัด นอกจากจะทำให้คนอื่นจดจำเราได้ง่าย ยังทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าบางอย่าง มีจุดยืนที่มั่นคง มีสไตล์ที่ชัดเจน และก็รู้สึกดีไม่น้อยเลย เวลาที่ได้ยินใครบอกว่าเห็นสิ่งสิ่งหนึ่งแล้วนึกถึงเรา หรือแม้แต่เราเอง ที่สามารถบอกกับตัวเองได้ว่า แบบนี้แหละ! คือฉันชัดๆ!

แต่กว่าจะหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตัวเองเจอ ก็นับว่าเป็นช่วง ‘วิกฤต’ ที่ผ่านไปได้ยาก และชวนให้เศร้าใจอยู่เหมือนกันนะ

‘identity crisis’ การแสวงหาตัวตนที่ทำให้ผู้คนเจ็บปวด

วัยรุ่นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต (coming of age) ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สรีระร่างกาย ฮอร์โมน สภาวะทางอารมณ์ และความสามารถในการรับรู้ ทำให้คนที่อยู่ในช่วงวัยนี้เริ่มตระหนักถึง ‘บทบาทในสังคม’ ของตัวเองมากขึ้น นี่เราคือใคร? เป็นอะไรในสังคมนี้? ซึ่ง เอริก เอริกสัน (Erik Erikson) นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘วิกฤตแสวงหาตัวตน’ (identity crisis)

identity crisis เป็นปรากฏการณ์ที่มักจะขึ้นในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่มือใหม่ เพราะการหลุดออกจากกรอบที่เคยพึ่งพิงอาศัยพ่อแม่ ทำให้พวกเขาเริ่มค้นหาจุดยืนในชีวิตด้วยตัวเอง ทั้งเอกลักษณ์ ทัศนคติ และค่านิยม เริ่มมีการสำรวจตัวเอง รวมถึงมองตัวเองในมุมที่ผู้อื่นมอง จนเกิดกระบวนการเรียนรู้และยอมรับตัวเอง ให้ได้มาซึ่งบทสรุปของอัตลักษณ์ตัวเอง (identity achievement) ว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใคร ชอบอะไร เกิดมาเพื่ออะไร โดยเริ่มตั้งคำถามต่างๆ เกี่ยวกับอาชีพ เพศ ศาสนา ทัศนคติทางการเมือง รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการแต่งหน้า แต่งตัว หรือการเลือกเข้าสังคม

Bored man with make-up using laptop
Bored man with make-up using laptop

แต่การแสวงหาตัวตนในช่วงวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะนอกจากจะต้องต่อสู้กับความคิดตัวเองที่ว่า ตอนนี้เราเป็นเราจริงๆ (realistic) หรือเป็นเราในแบบที่เราอยากจะเป็นในอุดมคติ (ideal self) ยังมีความคาดหวังของสังคมเข้ามาเกี่ยว ส่งผลให้บ่อยครั้งเกิดความสับสนในอัตลักษณ์ (identity diffusion) เลือกจะสวมหน้ากากเลียนแบบผู้อื่น เช่น ศิลปิน ดารา หรือไอดอลที่ชื่นชอบ กระทำตามความเชื่อ บรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ

หรือบางคนก็มีอัตลักษณ์แบบด่วนตัดสิน (identity foreclosure) การยึดมั่นในตัวตนที่ไม่ทันได้พิจารณาให้รอบคอบ เช่น เราอาจมีความสามารถในการวาดรูป หรือพ่อแม่อยากให้เก่งศิลปะ จึงด่วนสรุปไปว่าโตขึ้นจะต้องเรียนด้านศิลปะ และประกอบอาชีพเป็นศิลปิน เกิดจากการที่เราไม่ได้ทำการสำรวจมุมอื่นๆ ของตัวเองอย่างถี่ถ้วน ซึ่งที่จริงแล้ว เราอาจมีอัตลักษณ์ที่มากกว่านั้น

ซึ่งบ่อยครั้งก็ไปจบที่การพบว่า นั่นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง และกว่าจะรู้ก็สาย เพราะเราค่อยๆ ถูกดูดกลืนไปกับสังคมช้าๆ จนหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงแทบไม่เจอแล้ว

แม้แก่ลง แต่ยังคงแสวงหาคำตอบ

เอริกสันกล่าวไว้ว่า อัตลักษณ์หรือตัวตน คือการเป็นตัวเองและการแบ่งปันอัตลักษณ์บางอย่างกับผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง หรือเรียกว่าเป็นพฤติกรรมการปรับตัวเข้ากับสังคม โดยเกิดความรู้สึกที่ว่า ‘เราเป็นใครในสังคม’ และ ‘สังคมยอมรับเรายังไง’ ทำให้ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงวัยไหน เมื่อบริบทบางอย่างทางสังคมรอบตัวเปลี่ยนไป ความรู้สึกข้างใน หรือตัวตนของเราก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการค้นหาตัวตนครั้งใหม่ไปเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ วิกฤตค้นหาตัวตนไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในวัยรุ่นเท่านั้น เพราะการย่างเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย ก็ถือเป็นการก้าวเข้าสู่อีกหนึ่งเฟสของชีวิตที่ท้าทาย เช่นเดียวกับเวลาเลิกกับแฟน ลาออกจากงาน หรือสูญเสียคนรัก

นิตยสารและสื่อออนไลน์ Forbes เผยว่า เบบี้บูมเมอร์กว่า 10,000 คน ที่กำลังเข้าสู่วัย 65 ปี เผชิญหน้ากับคลื่นลูกที่สองของวิกฤตค้นหาตัวตน (second identity crisis) หรือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงชีวิตก่อนหน้านี้อย่าง ‘เส้นทางหลังวัยเกษียณ’ ซึ่งเมื่อถอนตัวออกจากโลกของการทำงานแล้ว พวกเขาจะครุ่นคิดถึงสิ่งที่จะทำต่อไป เพื่อให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีคุณค่ามากที่สุด เช่น ใช้เวลาที่เหลือทำอะไรกิจกรรมอาสาสมัคร สานต่องานอดิเรกให้เป็นอาชีพ พักผ่อนอยู่เฉยๆ หรือใช้เวลากับครอบครัวให้มากที่สุด

ซึ่งก็นับว่าไม่แปลกที่พวกเขาจะเกิดวิกฤตค้นหาตัวตน เพราะทุกวันนี้ คนวัย 65 ปี มีอายุไขเพิ่มขึ้นอีก 20 ปี จากข้อมูลในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขามีแนวโน้มที่จะสุขภาพดีมากขึ้น ทำให้ยังเหลือเวลาคิดถึงชีวิตหลังจากนั้นอีกมากมาย เกิดเป็นวิกฤตค้นหาตัวตนเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นตอนสมัยวัยรุ่น ซึ่งอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากว่า ครั้งนี้เป็นการคิดทบทวนถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด เพื่อหาข้อสรุปบางอย่างให้กับบั้นปลายของชีวิตในอีกไม่กี่ปีที่เหลืออยู่ ไม่ใช่การวางแผนระยะยาวหลายสิบปี เหมือนในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นตอนเป็นวัยรุ่น

และด้วยความที่ว่าบางทักษะ บางความชอบของพวกเขาได้ตกหล่นหรือสูญหายไปตามกาลเวลา พวกเขาจึงรู้สึกกลัว สับสน และกังวลไม่แพ้วัยรุ่นเลย

Adventures on the Dolomites: teenagers hiking
Adventures on the Dolomites: teenagers hiking

ค่อยๆ ค้น ค่อยๆ หา ยังมีเวลาให้ตัดสินใจ

สิ่งที่ทำให้ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘วิกฤต’ แทนที่จะเรียกด้วยคำทั่วๆ ไปอย่าง ‘การสร้างตัวตน’ ‘การเปรียบเทียบตัวตน’ หรือ ‘การมองหาตัวตน’ นั่นก็เพราะปรากฏการณ์นี้ เป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งไม่ได้ส่งผลแค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่ส่งผลไปทั้งระบบ ตั้งแต่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ประเมินศักยภาพของตัวเอง ออกไปลองผิดลองถูก กลับมาประเมินตัวเองซ้ำอีกครั้ง แล้วก็ออกไปลองผิดลองถูกอีกครั้ง เป็นกระบวนการที่วนซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอในสิ่งที่คิดว่า ‘ใช่’ สำหรับตัวเอง ซึ่งในขณะนั้น เราจะพบว่าตัวเองรู้สึกว่างเปล่ากับบางสิ่ง และรู้สึกมีชีวิตชีวากับบางอย่าง นับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ ‘กดดัน’ ไปพร้อมๆ กัน เมื่อสุดท้ายเราไม่พบกับคำตอบที่เรามองหา

ขึ้นชื่อว่าการเผชิญหน้ากับวิกฤต ฟังดูแล้วเป็นคำที่ชวนให้นึกถึงผลกระทบในแง่ลบ การกดดันตัวเองในสถานการณ์เช่นนี้ จึงมีแต่จะพาลให้อะไรๆ แย่ลง การปักหมุดหมาย หรือสร้างภาพสำเร็จรูปในหัวไว้เลยว่าฉันจะต้องเป็นคนแบบไหนนั้น ดูจะเป็นความคิดที่ผลส่งเสียต่อสภาพจิตใจมากเกินไป และจะยิ่งสาหัสกว่าเดิม หากบทสรุปที่ว่านั้นไม่ใช่ตัวตนของเราจริงๆ

ซึ่งการเริ่มต้นที่ดีอาจเกิดจากคำถามง่ายๆ ที่ทำให้เราได้สำรวจตัวเองไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่น เวลาว่างเราชอบทำอะไร? อะไรที่ทำแล้วเรารู้สึกมีพลังมากขึ้น? อะไรที่ทำแล้วเหมือนถูกดูดพลัง? ผู้คนแบบไหนที่เราสบายใจที่จะอยู่ด้วย? เรามั่นใจกับการแต่งตัวแบบไหน? เราชอบไปที่ไหน ระหว่างร้านหนังสือบรรยากาศเงียบๆ หรือคอนเสิร์ตที่เต็มไปด้วยผู้คน? โดยคำตอบของคำถามเหล่านี้จะค่อยๆ ประกอบสร้างตัวตนของเราขึ้นมาเองแบบอัตโนมัติ และปูเส้นทางให้ว่าทางไหนที่เหมาะสมกับเราที่สุด โดยที่เรารู้สึกเต็มใจที่จะเดินบนทางนั้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม หรือปัจจัยภายนอกด้วยว่าจะสนับสนุนการแสวงหาตัวตนของใครบางคนได้ดีแค่ไหน จะทำให้ตัวตนที่ค้นเจอนั้นเป็นแบบไหน? จะมีความมั่นใจที่สูงหรือต่ำ กำลังใจจากคนรอบข้างก็มีส่วนเช่นกัน ฉะนั้น ไม่ว่าจะครอบครัว เพื่อน คุณครู หรือคนรัก ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการก้าวข้ามวิกฤตนี้

แต่หากว่าในตอนนี้มีบางคำถามที่เราไม่สามารถหาคำตอบให้กับมันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก หรือคิดว่าตัวเองไร้คุณค่า ไร้อัตลักษณ์ เพราะจริงๆ นั่นอาจเป็นอัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์แบบยังไม่ตัดสินใจ (identity moratorium) ซึ่งถือเป็นโอกาสให้เราได้ลอง ‘เปิดใจ’ ทำสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอน เราไม่มีทางรู้คำตอบล่วงหน้าหรอกว่าเส้นทางนั้นเราจะชอบหรือไม่ชอบ แต่อย่างน้อย ให้ลองสังเกตท่าที หรือการตอบสนองที่เรามีต่อทางเลือกนั้น โดยเฉพาะอะไรที่ทำให้เราสบายใจและอะไรที่ทำให้เราอึดอัด เพราะจะทำให้ในที่สุด เราตกผลึกความคิดแก่ตัวเองว่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ นั้นคืออะไร

ครั้งแรกมักผ่านไปยากเสมอ แต่เชื่อว่าในครั้งต่อๆ ไปที่เราจะได้พบกับคลื่นลูกที่สอง ที่สาม ที่สี่ของวิกฤตค้นหาตัวตน เราจะรับมือกับมันได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น จากประสบการณ์และบทเรียนที่สะสมมา รวมถึงความช่วยเหลือของมิตรภาพและคนรอบข้าง ขอแค่พร้อมจะเปิดใจและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เท่านั้นเอง

อ้างอิงข้อมูลจาก

forbes.com

verywellmind.com

wikipedia.org

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0