โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทองราคากระฉูด ทุบสถิติรายวัน แห่ขาย-เก็งกำไร...หวั่นฟองสบู่ ธุรกิจอ่วมต้นทุนพุ่ง

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 09 ส.ค. 2563 เวลา 01.44 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2563 เวลา 01.44 น.
gold-3

ปี 2563 เป็นปีที่ราคาทองคำทำสถิติพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันราคาทองคำต่างประเทศ (Spot) เพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 450 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30% โดยมีจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,457 ดอลลาร์ และจุดสูงสุดอยู่ที่ 1,986 ดอลลาร์

ขณะที่ทองคำในประเทศร้อนแรงยิ่งกว่า เพราะมีปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า

โดยช่วง 7 เดือนแรก ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่าราคาทองคำแท่งในประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิถึง 7,500 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาต่ำสุดในเดือนมกราคมอยู่ที่ 21,450 บาท และราคาสูงสุดอยู่ที่ 29,300 บาท

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เฉพาะในเดือนกรกฎาคมเดือนเดียว ราคาทองคำแท่งในประเทศทำสถิติเพิ่มขึ้นสุทธิถึง 3,150 บาท

จากราคาทองคำในประเทศที่พุ่งกระฉูด ทำให้ประชาชนนำทองออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก จนปรากฏภาพการต่อแถวแห่นำทองไปขายให้ร้านทองในหลายพื้นที่

ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยเข้าซื้อทองไว้ตั้งแต่เมื่อ 8-9 ปีก่อน ที่เพิ่งพ้นสภาวะ “ติดดอย” นั่นเอง

 

นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่ราคาทองคำ Spot ปรับขึ้นร้อนแรงทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ (นิวไฮ) ทะลุจุดสูงสุดของทองคำในเดือนกันยายน เมื่อปี 2554 ที่เคยเกิดกระแส “ตื่นทอง” ในอดีตที่ 1,920 ดอลลาร์ไปแล้ว

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนราคาในปัจจุบันมีหลายประเด็น ทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่ยังควบคุมไม่ได้ในหลายประเทศ, มาตรการผ่อนคลายทางการคลังและการเงินทั่วโลก, ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนตึงเครียด และการเข้าซื้อทองคำของกองทุนอีทีเอฟทองคำ

นายธนรัชต์กล่าวว่า เมื่อดูราคาทองคำในปีนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 500 ดอลลาร์แล้ว ทำให้เริ่มเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะ “ฟองสบู่” หลังจากที่ราคาทองคำปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ต่อเนื่อง ทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นอย่างร้อนแรง โดยปรับขึ้นราว 180 ดอลลาร์ ภายในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ ทำจุดสูงสุดที่ 1,980 ดอลลาร์ จึงเริ่มมีความร้อนแรงใกล้เคียงกับปี 2554 แล้ว

ล่าสุด เข้าสู่เดือนสิงหาคมได้ไม่กี่วัน ราคาทองคำ Spot ทะลุ 2,000 ดอลลาร์ไปแล้ว ปัจจัยหลักมาจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกจากโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ การอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยช่วงเช้าวันที่ 5 สิงหาคม ราคาทองคำ Spot อยู่ที่ 2,014 ดอลลาร์ ดันราคาทองคำในประเทศพุ่งพรวดเดียว 400 บาททันที

ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งขายออกอยู่ที่ 29,450 บาท

 

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ราคาทองคำ Spot ที่ปรับขึ้นทะลุ 2,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ถือว่าเข้าสู่ภาวะฟองสบู่เล็กๆ เนื่องจากเป็นระดับราคาที่แพงเกินกว่าพื้นฐาน จึงไม่แนะนำลงทุนเพิ่ม โดยผู้ที่ลงทุนในทองคำอยู่แล้วควร “ถือคงสถานะ” แต่สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง สามารถซื้อ-ขาย “เก็งกำไร” ระยะสั้นได้

หากวิเคราะห์ราคาทองคำจากการเข้าถือทองคำของกองทุนทองคำโลก (SPDR) พบว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นทดสอบระดับ 2,050-2,200 ดอลลาร์ได้ รวมถึงมีโอกาสที่ราคาจะปรับขึ้นเกินกว่าแนวต้านที่คาดไว้ จากบรรยากาศการลงทุนที่ยังมีปัจจัยเข้ามาหนุน เช่น การระบาดของโควิด-19 และมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก

“ตอนนี้อาจจะพอซื้อ-ขายทำกำไรได้ แต่อยากให้ระวังเมื่อราคาขึ้นไปถึงแนวต้านที่ให้ไว้ หรือเมื่อมีความชัดเจนเรื่องวัคซีน หรือมีสัญญาณที่ธนาคารกลางบอกว่าจะลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเป็นการจบรอบทองคำแน่นอน และมีความเสี่ยงที่ราคาจะร่วงลงแรงเหมือนวิกฤตในอดีต”

นายณัฐวุฒิ กล่าว

ด้านนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ สะท้อนภาพที่เกิดขึ้นเวลานี้ว่า เมื่อราคาทองคำสูงทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อ และมีการเทขายทำกำไรออกมา โดยราคาทองคำผันผวนมาก ส่งผลกระทบผู้ประกอบการโรงงาน และร้านทองต้องปรับตัว ไม่สามารถเก็บสต๊อกวัตถุดิบไว้นานได้

“ราคาทองสูง เก็บไม่ไหว ขายได้เท่าไหร่ ก็สต๊อกเท่านั้น ขาย 100 บาท ก็นำเข้า 100 บาท” นายจิตติกล่าว

นายกสมาคมค้าทองคำกล่าวอีกว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาโรงงานหยุดการผลิตไปจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานช่างทำทอง ซึ่งประเมินว่าน่าจะมีโรงงานหยุดจ้างไปกว่า 50% จากจำนวนแรงงานช่างทำทองทั้งประเทศราว 2 แสนคน แต่การจะขอให้รัฐมาช่วยเหลืออะไรคงยาก เพราะทุกอุตสาหกรรมต่างก็เดือดร้อน

โดยแนวโน้มครึ่งปีหลัง ก็ยังคงคาดการณ์ว่าไม่ต่างจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

 

เช่นเดียวกับที่นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย ชี้ว่าสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อตลาดเครื่องประดับเงินอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออก 100% เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าเครื่องประดับเงินหลักยังมีปัญหาการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคระวังในการจับจ่ายเครื่องประดับ ผู้นำเข้าจึงชะลอคำสั่งซื้อใหม่

ประกอบกับปัจจุบันราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตามราคาทองคำ โดยขยับขึ้นไปที่ 19-20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากเดิมอยู่ที่ 15-16 ดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ยิ่งกระทบการทำธุรกิจทำให้ยากลำบากมากขึ้น

ในเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แถมภาวะเศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงขาลง ราคาทองคำก็ยังมีแนวโน้มไปได้ต่อ

ผู้ลงทุนจึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงระหว่างทาง หากจะเล่น “เก็งกำไร” เพราะมีโอกาสเจ็บตัวได้ตลอดเวลา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0