โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

ถอดบทเรียนซิงเกิลมัม “ตุ๊ก ชนกวนันท์” ทั้งน้ำตา อยากเป็นแม่ที่ดีจนต้องพึ่งนักบำบัด ชีวิตมีปมไม่เคยมีแม่!

Manager Online

เผยแพร่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 06.21 น. • MGR Online

เปิดใจ “ตุ๊ก ชนกวนันท์” แทบเป็นบ้าชีวิตพลิกผันจากแม่ฟูลไทม์สู่ซิงเกิลมัม เล่าทั้งน้ำตาเป็นแม่มา 12 ปี ต่อสู้กับความสับสนรับมือลูกเปลี่ยนไปในทุกวัน แนะแม่ๆ ใช้หัวใจเลี้ยงลูกและผูกสายใยไปในทุกๆ วัน เล่าประสบการณ์ชีวิตมีปมไม่เคยได้สัมผัสความรักจากแม่จนต้องพึ่งนักบำบัดเพื่อหวังจะเป็นแม่ที่ดีของลูกๆ เป็นแบบอย่างให้ลูกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

เป็นซิงเกิลมัมคนหนึ่งที่ขยันทำมาหากิน ทำทุกอย่างที่ตนเองพอจะทำได้ ซึ่งย้อนไปในอดีต “ตุ๊ก ชนกวนันท์ รักชีพ” เคยใฝ่ฝันที่จะเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ ทุ่มเททั้งกายและใจให้กับการเลี้ยงลูก แต่เมื่อฝันพังทลาย ชีวิตพลิกต้องมารับบทซิงเกิลมัม และกลับสู่เส้นทางของเวิร์กกิ้งวูแมนอีกครั้ง ที่มือก็ต้องไกวดาบก็ต้องแกว่ง

วันแม่ปีนี้ เราได้มีโอกาสรื้อหัวใจตุ๊กคุณแม่หัวใจแกร่ง ถึงประสบการณ์ 12 ปีที่ผ่านมาของการเป็นแม่ เธอผ่านอะไรมา และได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นแม่บ้าง

“วันแรกที่เปลี่ยนเชื่อไหมเหมือนคนเป็นบ้า นอยด์มาก เราเป็นแม่ฟูลไทม์ไม่ได้ทำงานมา 5 ปี แล้ว แล้วต้องกลับมาทำงาน ความรู้สึกมันก็สับสน จะยังไงดี จะทำหรือไม่ทำงาน แล้วลูกล่ะ ถ้าทำงานแล้วก็ต้องทิ้งลูกไป สุดท้ายเราก็ต้องเลือกงานแหละ แต่เราก็ไปด้วยความกังวล มันก็ใช้เวลาให้ตัวเองชิน บอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร ทำให้เต็ม อย่าไปคิดว่าฉันจะต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ คิดไปว่าไม่มีแบบนั้นแล้ว เป็นแบบนี้ก็คือเป็นแบบนี้ ถ้าเราคิดเปรียบเทียบตลอด เราจะกังวล ฉะนั้นคิดในสิ่งที่อยู่ ณ ปัจจุบันว่าตอนนี้มันเป็นแบบไหนอยู่ ก็เป็นแบบนั้น มันมีแค่แบบเดียว และทำมันให้เต็มที่ และปรับตัวกันไป

ก็จะอาศัยทำงานตอนลูกอยู่ที่โรงเรียน น้อยมากไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ที่จะไม่ไปรับ ไปส่ง ไม่อยู่กับเขาหลังเลิกเรียน คือน้อยมาก บางวันไปรับลูกกลับจากที่โรงเรียน พาลูกกลับบ้านเข้านอน แล้วไปทำงานต่อ หรือบางทีไปรับลูกจากโรงเรียนไปส่งบ้าน กลับไปทำงาน กลับบ้านไปเอาลูกเข้านอน แล้วกลับมาทำงานต่อก็มี ชีวิตต้องวางแผนตลอดเวลาใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ ให้ลงตัวในทุกๆ วัน”

เป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ แต่ประสบการณ์ทำให้เรียนรู้และเข้าใจในแบบที่มันเป็น

“มนุษย์เรามีความทรานส์ฟอร์มอยู่แล้ว ด้วยอายุ ประสบการณ์ เลิกกับแฟนคนนี้ไปมีแฟนคนใหม่มันก็จะต้องมีอะไรเปลี่ยน สำหรับตุ๊กก็ยังเป็นตุ๊กคนเดิม ที่ทรานส์ฟอร์มจากความเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ กลายเป็นเข้าใจอะไรต่อมิอะไรในแบบที่มันเป็น เรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาก็ทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้นว่าบางทีเราไปละเอียดลออผิดจุด บางเรื่องมันไม่ต้องการละเอียดเราก็ดันไปละเอียด บางเรื่องที่มันต้องการความละเอียดเราก็ไม่ละเอียด

จากที่เราเคยทำอะไรเยอะแยะไปหมดเลย เราดี ไม่ใช่ บางทีมันก็ผิดที่ผิดเวลา เราควรจะทำในเวลาที่เราควรจะทำ บางทีเราก็ควรจะเป็นแค่ผู้เฝ้ามอง และบางทีเราก็จะเป็นแค่คนรับฟัง ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับลูกๆ เป็นอันดับ 1 ของชีวิต แต่การให้ความสำคัญก็ไม่ได้แปลว่าเราจะละเอียดนะ เราจะต้องปล่อยเรื่องบางเรื่อง เพราะเราไม่สามารถให้ความสำคัญกับทุกอย่างได้หมด เราให้ความสำคัญกับเขาโดยที่รู้ว่าเรื่องไหนควรจะโฟกัส เรื่องไหนที่ควรจะเฝ้ามอง เรื่องไหนควรจะเป็นแค่ผู้ฟัง แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้สนใจนะ เราสนใจแต่เรารู้ว่าเราควรจะทำแค่นี้”

เป็นแม่มา 12 ปีแล้วลูกก็ยังเปลี่ยนไปทุกวัน โอดแม่เป็นงานที่ยากและต่อสู้กับความสับสนในใจ

“เราก็เติบโตและเรียนรู้ไปกับลูก คนเป็นแม่จะรู้ดี ว่าลูกเราเปลี่ยนไปในทุกๆ ปี ทุกๆ วัน อย่างตุ๊ก เป็นแม่มา 12 ปีแล้ว ลูกๆ เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เขาเริ่มรู้สึก บางทีเราก็รู้ทั้งรู้ว่าเพื่อนพูดแบบนี้ไม่ได้คิดอะไร แต่เราก็รู้สึก แล้วยิ่งเด็กเล็กๆ เขายังไม่มีวุฒิภาวะ ยังไม่มีสติสัมปชัญญะเท่าเรา บวกกับฮอร์โมนของเขาด้วย เขาก็ยิ่งมีความรู้สึก ตุ๊กต้องมาเรียนรู้ลูกใหม่ และเรียนรู้เพิ่มหมดเลยว่าวันนี้จะต้องพูดกับเขายังไง จะต้องทำอะไรกับเขาดี ทำยังไง(ร้องไห้)

อย่างปีนี้แพรว 12 ขวบแล้ว หลังจากที่ผ่านวันเกิดเขาได้ไม่เท่าไหร่เขาเปลี่ยนเลย เขาไม่ใช่เด็กน้อยตาใสอีกต่อไปแล้ว เขาเป็นคนๆ นึง บางคำพูดของเรา เขาอาจจะชอบหรือไม่ชอบ มันยากและสับสนสำหรับเรา เพราะเขาคือคนๆ นึงในโลกนี้ที่เราแคร์ที่สุด แต่เขาก็คือคนๆ นึงที่โตแล้ว คิดเองแล้ว แล้วอีกอย่างคือเขามีโฮอร์โมนเข้ามาผสมด้วย เราก็ทำความเข้าใจกัน

เช่น ตอนเด็กๆ บอกเก็บอันนี้ให้เรียบร้อย เขาก็จะไปทำ แต่เดี๋ยวนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ตอนนี้บางทีเราได้ยินสิ่งที่เขาพูดเราต้องเงียบ บางทีเราได้ยินแล้วเราต้องสะท้อนความรู้สึก แม่เข้าใจหนูนะ มันแย่จริงๆ เลยเนอะ ทำแบบนี้เป็นใครก็รู้สึกแย่ หรือว่าบอกไปเก็บของให้เรียบร้อย ทำไมรกอย่างนี้ เขาจะโอ้ยไม่อยากฟัง แต่เขาก็ไม่ได้พูดมันออกมา แต่เรารู้สึกว่าตอนเราเป็นเขาเราก็จะรู้สึกอย่างนี้ในหัวใจ”

แนะวิธีใช้หัวใจเลี้ยงลูกคือการค่อยๆ เพิ่มสายใยความสัมพันธ์ในทุกๆ วัน

“เราเลี้ยงเขามาแบบเอาหัวใจของเขามาใส่ในหัวใจเรา มันก็ยากนะ แล้วเราจะทำยังไงให้เขาเก็บของล่ะ โคตรยากเลย เดือนแรกๆ ก็กลุ้มใจ เดือนที่สองก็ทำใจได้ แต่ก็ยังไม่วางใจเพราะรู้ว่าความรู้สึกแบบนี้เดี๋ยวมันก็มาอีก ตอนนี้ก็เริ่มจับทางได้แล้ว ว่าควรจะพูดประมาณไหน เมื่อไหร่ที่ควรจะสื่อสาร มันไม่ใช่แค่บทสนทนาแต่มันต้องเป็นบทสนทนาที่เพิ่มความสัมพันธ์ เช่น ถามแพรวกินข้าวหรือยัง มันไม่ใช่แค่นั้น แต่เราต้องเพิ่มความสัมพันธ์ ให้เขารู้สึกว่าเราเป็นของกันและกัน มันไม่ใช่บทสนทนาที่จบครั้งเดียว แต่เราพยายามเพิ่มสายใยระหว่างเราและลูกเข้าไปด้วยในทุกๆ วัน”

เล่าและแชร์ประสบการณ์ความรู้สึกปมชีวิตตัวเองที่โตมาแบบไม่มีแม่ให้ลูกฟัง

“ครั้งนึงเคยมีคนๆ นึงพูดกับตุ๊กว่าแกไม่เข้าใจความรักหรอก แกมันรักใครไม่เป็น เราก็ถามทำไม เขาก็บอกว่าก็แกไม่มีแม่ไง คือพ่อแม่ตุ๊กหย่ากันตอนที่ตุ๊กอายุ 6 ขวบ ก็จะโตมากับคนที่เลี้ยงเรามา ต่อให้เขาจะดีแค่ไหน เลี้ยงเราอย่างดีที่สุดยังไง แต่เขาไม่ใช่แม่แท้ๆ

เฮ้ย แล้วความรักระหว่างแม่แท้ๆ เป็นยังไง มีเงินก็ซื้อไม่ได้ด้วย เช่น เราอยากรู้ความรู้สึกของการเป็นนักศึกษาเป็นยังไง เราไปโรงเรียน แต่อันนี้ไม่ได้ เราต้องมีแม่จริงๆ ของเราเอง เราไม่มีประสบการณ์

ครูของเราก็แนะนำเราว่าลองแชร์กับแพรวดูสิ มันเป็นเรื่องของความผูกพัน ก็เลยลองแชร์เรื่องนี้กับแพรวดูว่าจะว่าไปแม่ก็ไม่เคยรู้ว่าความรู้สึกแม่กับลูก การเป็นลูกที่มีแม่ อย่างที่แพรวมีแม่มันเป็นยังไง เพราะแม่ไม่เคยมี เขาก็ยิ้ม มันเป็นเรื่องของความรู้สึก(ร้องไห้)”

ค้นหาคำตอบแก้ปมชีวิตตัวเองด้วยการปรึกษานักบำบัดเพื่อจะเป็นแม่ที่ดีให้ลูกๆ

“ชีวิตเราที่ผ่านมาซับซ้อน มีหลายปม ไม่มีใครรู้ตุ๊กเป็นคนที่กินจุมาก พอเราคิดอะไรเยอะๆ เราก็จะกินเหมือนคนหนัก 300 กิโล กินๆ อยู่นั่น เลยลองไปหานักบำบัดดูว่าเราเป็นอะไร ที่พบเพราะเราอยากจะดีให้ที่สุดในสายตาของลูก ก็เลยพบตลอดเวลาโดยไม่ได้เป็นอะไร ที่พบเพราะรู้สึกว่าคนเราสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ตลอดเวลา แล้วยิ่งเราเป็นแม่ เราก็อยากจะน่ารักขึ้นทุกวัน เราไม่อยากจะเครียดๆ

สิ่งที่ปรึกษา เช่น ไม่ชอบตัวเองเลยเวลาที่ตัวเองรู้สึกแบบนั้น แบบนี้ ซึ่งถ้าไม่ได้คิดอะไรมันก็ไม่รู้สึกอะไรหรอก แต่เราคิด เราไปหาว่าทำไมเราถึงไม่ชอบ เราก็ปรึกษาหมอ เราอยากหาคำตอบ แล้วมันก็ช่วยแก้ปมในใจเราได้ด้วย เช่น หนูเป็นอะไรไม่รู้ ไม่ชอบให้คนมาทักว่าผมหยิก ไม่ชอบเลย แต่ตุ๊กจะไปหาคำตอบว่าทำไมตุ๊กถึงไม่ชอบ ก็ค้นพบว่าตอนเด็กๆ แม่จะบ่นตลอดเวลาเลยว่าให้มาไดร์ผมก่อน ฉันไม่ชอบให้แกผมหยิก หนูก็เลยเกลียดคำนี้มาตั้งแต่เด็ก เป็นต้น

เรารู้สึกว่าเรายังค้างอยู่ในใจ ถ้าเราทลายมันได้เราจะรู้สึกเป็นอิสระขึ้น บางทีก็ใช้ศิลปะบำบัด ซึ่งมันก็ทดแทนได้ ตุ๊กจะไม่ชอบเลยที่ตัวเองเป็นคนไม่ทันคน ไม่ชอบเลย แล้วเราก็จะพยายามเคี้ยวตัวเองให้ทันคนให้ได้ ให้มองคนให้ออก แต่สุดท้ายพอได้คุยกับหมอเราก็มาค้นพบว่า ไม่เป็นไร เราเป็นคนแบบนี้ก็ได้ คนเราไม่ต้องฉลาดหมดทุกคนก็ได้ เราก็จะฉลาดบางเรื่องที่คนบอกทำไมเก่งเรื่องนี้จัง แต่เรื่องคนเราจะผิดทุกทีเลย”

เชื่อการที่ครอบครัวแตกแยก ถึงแม้ว่าจะมีแม่และพ่อเติมเต็มให้ไม่ขาด แต่มันยังมีผลต่อความรู้สึกลูกอยู่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนกังวลอยู่เหมือนกัน

“ผลมันคงวัดไม่ได้ แต่เราก็เชื่อตามทฤษฎีว่ามันมีผลแน่นอน มันเป็นอีกความกังวลนึงของตุ๊กเลย เราจึงพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดในแบบที่เราจะทำได้ เราทำอะไรได้เราทำให้เขาเลยเต็มที่ ดูแลเขาเต็มที่ ให้ความรัก ความเข้าใจเต็มที่ พยายามทำความเข้าใจเขาให้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เราทำได้ สิ่งที่เราทำไม่ได้คือการเป็นพ่อแม่ที่อยู่กันพร้อมหน้าแบบครอบครัวสมบูรณ์ เมื่อทำไม่ได้ก็หยุดคิด มันเป็นแบบนี้ไปแล้ว ทำสิ่งที่มันเป็นความจริงที่เราจะทำได้ เข้าใจเขา ไม่กดดันเขา ไม่คาดหวังเขา ไม่พูดจาให้เขารู้สึกแย่ นี่คือสิ่งที่เราทำได้ พ่อและแม่ต่างก็ให้ความรักกับเขาตลอด สม่ำเสมอ เขาไม่เคยร้องขอว่าเขาขาด เด็กเขาอยู่กับปัจจุบันกว่าเราเยอะ มีแต่เรานี่แหละที่คิดมากแทนเขา”

พร้อมอธิบายเมื่อลูกตั้งคำถามทำไมพ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน

“ไม่รู้ว่าตอนนี้เขารู้ไหม หรือว่ารู้แต่ไม่ถามเพราะกลัวคำตอบ ด้วยความที่เขาเป็นเด็กที่ไม่ได้รับสื่ออะไรเลย แต่เขาจะไม่รู้อะไรเลยไหม ไม่ใช่ เด็กเขารู้แหละ เขาเห็นเป็นปกติว่าพ่อแม่อยู่กันคนละบ้าน พ่อแม่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา เขารู้แต่เขายังไม่ถาม ที่ไม่ถามก็อาจจะยังไม่ถึงวัย ถึงเวลา แต่ตุ๊กก็คิดว่าเขาอายุ 12 ปี มันก็มากพอที่จะถามแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งตุ๊กก็เตรียมคำตอบไว้ให้เขาแล้ว ตุ๊กพร้อมตอบ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วยังคุยกับเขาเลยว่าถ้าพี่แพรวสงสัยเรื่องราวระหว่างคุณแม่กับแดดดี้ถามได้เสมอนะคะ คือให้เขารู้ว่าเรายินดีที่จะตอบ เขาก็ตอบมาว่าไม่เป็นไรหรอกค่ะ หนูรู้ว่าทั้งสองคนรักหนูก็พอแล้ว มันเป็นเรื่องของพ่อกับแม่ เราก็ไม่รู้ว่า วัยรุ่นเขาก็จะมีความบ่ายเบี่ยงหรือเขาไม่อยากรู้จริงๆ หรือเขาไม่อยากฟังความจริงตอนนี้ อย่าเล่านะ รู้ความจริงแล้วแหละแต่อย่าพูดอย่าเล่านะ ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้เขารู้สึกแบบไหน แล้วเขาก็เข้าสู่วัยรุ่นแล้วด้วย”

ทุกวันนี้ยังไม่ให้ลูกจับมือถือ รู้จักโลกโซเชียล จึงตัวติดกับลูกเกือบ 24 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้ได้รับรู้ข่าวครอบครัวที่อาจจะกระทบใจลูกได้ ซึ่งแน่นอนตนขอเป็นคนบอกด้วยตัวเองก่อนที่ลูกจะไปรับรู้จากสื่อหรือคนอื่น

“เขาไม่เคยรับรู้เรื่องราวของเขาและครอบครัวในโลกโซเชียลเลย เขารู้แต่เรื่องราวในชีวิตจริงของเขา จากเนื้อจากตัว จากลมหายใจของเขา จากกลิ่นหรือจากใครก็ตามที่เดินเข้ามาหาเขา ไม่นานมานี้เราจ้างแม่บ้านจากบริษัทนึงมาทำความสะอาดที่บ้าน เขาถามลูกเราว่าพ่อมาหาบ้างเปล่า คือเราได้ยินแล้ว…โอ้ย… คือถ้าไม่ถามมันก็ไม่ไปเน้น เราจะเดินไปพูดกับแม่บ้านคนนั้นว่าพี่อย่าพูดแบบนี้มันก็ไม่ได้ บางทีเขาอาจจะถามคำใหม่ซึ่งให้ความหมายเดียวกัน หรือถามยิ่งกว่าเดิม ก็เลยไม่รู้ว่าถ้าเดินไปพูดแล้วเขาจะเข้าใจไหม ส่วนนึงลูกก็จะรับรู้ด้วยอะไรแบบนี้ ทั้งเนื้อทั้งตัว เราเลยพยายามอยู่กับเขาให้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเท่าที่จะทำได้ แต่วันใดวันนึงที่เขาได้รับรู้เรื่องราวจากสื่อตุ๊กก็คงต้องปรับตัวอีกรอบ ตอนนี้ให้เขาได้ยินอะไรจากเราเป็นหลักก่อนที่จะไปเสิร์ชหาข้อมูลได้ด้วยตัวเขาเอง”

ไม่เคยใส่อะไรให้ลูก เลี้ยงให้เป็นธรรมชาติตามสิ่งที่เป็น

“ลูกสองคน เราไม่เคยแยกว่าคนนี้ผู้หญิง คนนี้ผู้ชาย เราเลี้ยงเขาเหมือนกัน มันยังไม่มีอะไรที่แบ่งเพศ แต่เราเห็นนะว่าเขาไม่เหมือนกัน แต่เราปฎิบัติทำกับเขาเหมือนกัน แม้กระทั้งเรื่องสีตุ๊กยังไม่พูดเลย สีชมพูก็เป็นสีที่งดงามสำหรับเด็กผู้ชาย ตุ๊กจะไม่เคยใส่อะไรเข้าไปจนวันนึงเขาไม่ชอบสีชมพูเอง ที่เขาไม่ชอบสีชมพูแล้วอาจจะเพราะไปโรงเรียนแล้วเพื่อนล้อ ถ้าโดนล้อแล้วเขาจะเปลี่ยนเราก็เฉย ไม่บังคับ ถ้าเขาเริ่มจะรังเกียจสีชมพูแล้ว ฉันอยากจะโตเป็นผู้ใหญ่ ก็เรื่องของเขาเลย พยายามทำทุกอย่างให้เป็นปกติธรรมดา”

เตรียมพร้อมที่จะอธิบายเรื่องครอบครัวอย่างแรกเลยก่อนที่ลูกจะเข้าสู่โลกโซเชียล

“คิดว่าจะพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกเลยก่อนที่เขาจะมีมือถือเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเตรียมตัวอะไร เพราะถ้าจะเตรียมตัวก็คงเตรียมไม่ทัน คิดว่าทุกอย่างมันอยู่ในเนื้อในตัวเขาบ้างแล้ว 12 ปี ตุ๊กมองว่ามันแน่นพอ มันมั่นคงพอที่เขาจะรู้ว่าเขามีใครอยู่กับเขาบ้าง อย่างเรื่องมือถือ ตุ๊กว่าไม่ต้องสอน เราทำทุกอย่างให้เป็นปกติ แต่เราทำให้เห็น มือถือแม่เอาไว้ทำงาน มือถือสำหรับผู้ใหญ่ วันนึงถ้าเขามีเงินมากพอจะซื้อมันเขาก็จะมี เขารู้ด้วยตัวเขาเองโดยที่เราไม่ต้องพูดอะไร

“เพราะเราสร้างมายเซ็ตแบบนี้ไว้ให้เขามาแล้วตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ใช่ว่ายื่นมือถือให้เขาแล้วเขาจะใช้มันไม่เป็นนะ ก็งงๆ กัน มีเพื่อนบอกว่าลูกแกไม่เคยใช้มือถือจริงๆ เหรอทำไมเล่นเป็นทุกอย่างเลยอย่างเต้น tiktok เอย ลิซ่าเอย เขาแค่รู้จักมันผ่านในอากาศ ดูสิเขาสามารถเต้นได้ แม่เห็นแม่ยังตกใจเลยนะ ตอนนั้นเรารู้เลยว่าสิ่งนี้มันอยู่ในเนื้อในตัวเขาด้วยเหมือนกัน”

บอกการไม่ให้มือถือไม่ใช่เป็นเรื่องของเงินแต่เป็นเรื่องของความจำเป็นตามวัย การได้ประสบการณ์บางอย่างที่เงินก็ซื้อไม่ได้

“แต่มันก็จะมีเรื่องของเด็กแอบขโมยเงินไปซื้อมือถืออีก นั่นหมายความว่าเราต้องทำให้เขาเข้าใจ เหมือนตอนเด็กๆ เราก็ไม่มีนะ จน 15 เราก็ไม่มี เรารู้สึกว่ามันแพงมาก แล้วมันก็เป็นของผู้ใหญ่ เราต้องทำให้เขาเข้าใจ ไม่อยู่ในจุดที่อยากจะขโมยเงินไปซื้อ หรือวันที่เขาควรมีเขาก็ควรจะได้มี มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินที่ว่า งั้นถ้าเขาเก็บเงินได้ เขาก็สามารถจะมีมือถือได้นะ มันเป็นเรื่องของความจำเป็นด้วย ตอนนี้มันยังไม่มีความจำเป็น ตอนนี้เขาได้เล่นกับหมา ได้เรียนหนังสือ ได้เจอเพื่อน ได้กินอิ่ม ได้กินของอร่อย แค่นั้นเอง มันยังไม่ใช่วัยที่เขาจะเล่นมือถือ อยู่ในโลกโซเชียล เสิร์ชหาความรู้ก็ไม่มี อาจจะด้วยโรงเรียนที่เขาเรียนอยู่เป็นโรงเรียนทางเลือก หาศัพท์ก็เปิดดิกชันนารีเอา

ซึ่งตุ๊กแอบชอบความรู้สึกของการเปิดดิกฯ นะ มันทำให้เราได้รอคอย เราชอบความรู้สึกของการค้นหาคำ กว่าจะเปิดหาคำว่า and ได้ มันต้องผ่าน a มา aa ab ac…am แล้ว ใกล้แล้วมันมีความลุ้นเล็กๆ กว่าจะเจอ and ความรู้สึกตรงนี้เงินซื้อไม่ได้นะ เราชอบความรู้สึกแบบนี้มากๆ ที่แบบ (ปรบมือ) เราทำสำเร็จ แต่ถ้าเราเปิดกูเกิล ความรู้สึกนี้มันไม่เกิดเลยนะ ความรู้สึกนี้มันซื้อไม่ได้ จะซื้อมาเป็นชิฟใส่ในตัวลูกก็ไม่ได้อีก มันเกิดจากการที่เขาลงมือทำด้วยตัวเขาเอง นี่แหละคือการสะสมการทำอะไรสำเร็จทีละเล็กทีละน้อย เพื่อที่เขาจะได้มีแรงทำอะไรสำเร็จชิ้นใหญ่ๆ ในวันข้างหน้า เพราะตัวเขาอาจจะกำลังอยู่ในเจนที่ทำไม่สำเร็จก็เลิก ทำไม่ได้เลิก ไม่ชอบ เลิก ลาออกดีกว่าเปลี่ยนงาน เราเลยอยากปลูกฝังความสำเร็จด้วยตัวเขาเองทีละเล็กละน้อยให้เขาอยู่”

ทำใจและยอมรับผลแม้ตนจะพยายามแก้ไขนิสัยบางอย่างให้ดีขึ้นก็จริงแต่ก็เฟกได้ไม่นาน ลูกก็ซึมซับนิสัยไม่ดีของตนไปบ้างอยู่ดี

“เราเป็นเรา ลูกมันก็เหมือนเรานี่แหละ เราใช้ชีวิตยังไง ลูกเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราติดเดินห้าง ติดอาหารสำเร็จรูป เขาก็ต้องเหมือนเรา นิสัยเสียของเรายังติดไปถึงเขาเลย เราจะไปกระแดะเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นไม่ได้หรอก แต่เราก็พยายามดีขึ้น อย่างตุ๊กของเสียตุ๊กจะซื้อใหม่เลย ตอนนี้ก็พยายามซ่อม แต่มันก็เฟกมากไม่ได้หรอก อย่างที่บอกเขาก็เป็นเราแหละ เราเตรียมวันนี้ให้ดี อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เราต้องมั่นใจในตัวเขาสิ ถ้ามัวแต่ไปห่วง มันคือชีวิตของเขาแล้ว เราต้องมั่นใจเขาว่าเขาจะดีพอ ผ่านทุกอย่างในโลกนี้ไปได้ เราได้แต่เข้าใจเขาและทำใจยอมรับ”

ปลูกฝังและทำให้เห็นเป็นแบบอย่างในการรู้จักทำมาหากิน

“เรื่องนี้มันอาจจะอยู่ในเนื้อในตัวเขา เพราะเขาเห็นเราทำขนมขาย แล้วเขาก็มาช่วยตลอด จนวันนึงเขาก็อยากจะทำ อยากจะออกแบบสติ๊กเกอร์ร้านของเขา มันเป็นวิถีของเขาที่เราปลูกฝังด้วย ให้เขาทำทุกอย่างด้วยตัวเอง อยากจะกินบราวนี่ก็ทำกินเอง หรือไปกินอันนี้มันอร่อย อยากทำได้บ้าง แม่ก็ไปหาสูตรมาให้แล้วเขาก็ทำ คือมันไม่ได้จบที่ว่าเดี๋ยวไปซื้อเอา แต่เขาเลือกที่จะทำ

วันนึงเขาเห็นแม่ทำขนมขายเขาก็อยากมีผลิตภัณฑ์ของเขาเองบ้าง แล้วเขาก็ขอออกแบบสติ๊กเกอร์เองด้วย เขาก็เห็นจากสิ่งที่แม่ทำ แล้วเขาก็รู้สึกว่าอันนี้เขาน่าจะทำได้ เขาก็เลยอยากจะทำ อันไหนที่เขาทำไม่ได้เขาก็ไม่ทำ เขาทำแล้วเราก็ขายให้ แล้วเราก็มีการประเมินกันด้วยว่าเขาควรจะได้กำไรเท่าไหร่ อย่าง บราวนี่ชิ้นละ 39 บาทเขาต้องได้เท่าไหร่ ต้องหักทุนให้แม่ ค่าโปรโมตที่พี่ๆ ลงโปรโมตให้ แล้วหนูคิดว่าหนูควรจะได้กี่บาท ก็ปรับๆ ตบๆ กันไป ให้เขาได้คิด ได้ประเมินตัวเองจากสิ่งที่เขาทำ มันอยู่ที่การใช้ชีวิต ยิ่ง 9 ขวบขึ้นไป เขาจะเห็นเราเป็นไอดอลแล้ว”

เลือกทำให้เห็นว่าแม่ปฎิบัติเช่นไร ลูกก็จะซึมซับความรักความผูกพันในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไปเอง แต่หากลูกจะคิดเห็นต่างตนก็ไม่ปิดกั้น

“เราไม่เชื่อเรื่องของการพูด แต่เราเชื่อของการเป็นแบบอย่าง ถ้าแม่จะไปลงพื้นที่ประท้วง ทำเพื่อประเทศชาติ มันก็เป็นแบบเรานี่แหละ เดี๋ยวอีกหน่อยมันอายุ 15 มันได้อ่านหนังสือเดี๋ยวมันก็เลือกทางของมันเอง อย่างแพรวนี่นะอยู่ๆ ก็อยากจะนับถือศาสนาคริสต์ขึ้นมา ทั้งๆ ที่แม่ก็ไม่เคยสอน เด็กมันมีแหล่งข้อมูลของมัน มันมีอะไรที่ติดตัวมันมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว หรือมันไปเจออะไรเจ๋งๆ หรือใครที่รู้สึกว่ามันยกให้เป็นไอดอลมัน มันก็จะไปก็อปปี้มา มันก็มี

เราไม่ได้ปิดกั้นเขาว่าต้องเหมือนเรา 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างต้องผสมกัน เขาเหมือนเราเป็นส่วนใหญ่แหละ ยกตัวอย่างเลยนะ เวลาตุ๊กไปเข้ามินิมาร์ท ก็จะพูดทุกครั้งว่าไม่รับหลอดค่ะ วันนึงแพรวเขาก็พูดเหมือนกันว่าไม่รับหลอดค่ะ ฉะนั้นเหมือนกันเลยถ้าพ่อแม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ลูกก็รักเหมือนกัน จนกว่าเขาจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง เขาเลือกสังคม วันนี้เขาเป็นแบบนี้ คือเป็นแบบเรา

วันนึงเขาไปเข้าศิลปากรก็อาจจะเปลี่ยนเป็นอีกแบบนึง หรือเข้าธรรมศาสตร์เขาก็อาจจะเปลี่ยน แต่โดยรวมการเลี้ยงดูมันมีผลอยู่แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับตุ๊กไม่ได้ปลูกฝังเรื่องนี้ ตุ๊กเชื่อว่าเราเป็นยังไงลูกเขาก็เป็นอย่างนั้นแหละ เราได้ยินเพลงชาติ แล้วเรารู้สึกว่าทุกอย่างต้องหยุดนิ่ง เขาก็หยุดโดยที่เราไม่ต้องสั่ง เขาจะรู้ว่าเพลงนี้ต้องได้รับการเคารพ

หรือเวลาผ่านรูปในหลวงแล้วแม่ก็ไหว้ เขาก็ไหว้เอง บางทีเขาก็ถามว่าทำไมเรื่องนี้แม่ต้องพูดจาแบบนี้ ก็บอกว่าคุณแม่รู้สึกเคารพคุณแม่ก็พูดให้ความเคารพ แต่ไม่ใช่ว่าหนูจะต้องพูดจาเคารพด้วย เราแค่เป็น ลูกเราก็จะเป็นแบบเรา ทั้งดีและไม่ดีเขาก็เป็นแบบเรานี่แหละ”

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0