โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตั้งเป้าที่ ‘วาว!’ เสมอ - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 28 มิ.ย. 2563 เวลา 17.22 น. • วินทร์ เลียววาริณ

ไม่กี่วันก่อน มีข่าวนักออกแบบกราฟิกชาวอเมริกันคนหนึ่งเสียชีวิต เขาชื่อ มิลตัน เกลเซอร์ (Milton Glaser) คนส่วนมากคงไม่เคยได้ยินชื่อเขา แต่ต้องเคยเห็นผลงานของเขาแน่

ชาวโลกคุ้นเคยกับงานออกแบบ ‘I heart New York’(I Love New York) เป็นตัวหนังสือธรรมดา ‘heart’ เป็นกราฟิกรูปหัวใจสีแดง มันเป็นงานออกแบบที่ถูกดัดแปลงมากที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ เรามี ‘I heart Bangkok’ ‘I heart London’ และสารพัด ‘I heart’ นับไม่ถ้วน

ผลงานชิ้นนี้เป็นของปรมาจารย์นักออกแบบกราฟิกนาม มิลตัน เกลเซอร์ (Milton Glaser) ผู้เพิ่งล่วงลับ

เกลเซอร์เกิดที่ย่านเดอะ บรองซ์ นิวยอร์กซิตี ในปี 1929 หลงรักงานออกแบบตั้งแต่เด็ก เขาเรียนศิลปะที่ Cooper Union ในแมนฮัตตัน ต่อมาก็ไปเรียนต่อด้านจิตรกรรมที่อิตาลี เมื่อกลับมาจากอิตาลี ก็ก่อตั้งสำนักออกแบบพร้อมกับเพื่อนเรียนหลายคน ในปี 1954 ชื่อ Push Pin Studios

พวกเขาตั้งใจทำงานสร้างสรรค์งานด้านพาณิชย์ศิลป์ โดยใช้ภาษาภาพที่ไร้ข้อจำกัด พวกเขาปฏิเสธงานออกแบบตามขนบ ปรัชญาการทำงานของสตูดิโอนี้เปลี่ยนทัศนคติเดิมของการออกแบบกราฟิก และขยายขอบเขตออกไปเลยเส้นขอบฟ้า

ผลงานของเกลเซอร์ในสำนักนี้ซึ่งเป็นที่จดจำได้มากที่สุดน่าจะคืองานโปสเตอร์ให้ บ็อบ ดิแลน ในงานอัลบั้ม Greatest Hits ในปี 1966 เป็นงานออกแบบโปสเตอร์ชิ้นแรก ๆ ในชีวิตของเขา

ภาพนั้นเป็นงานกราฟิกใบหน้าด้านข้างที่เป็นเงาดำ (silhouette) ของดิแลน เส้นผมเป็นกราฟิกลอนคลื่นสีสันสดใส งานชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลจากงาน Self-Portrait ของ Marcel Duchamp’s (1957) แต่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ผสมกับงานอาร์ต นูโว

มันกลายเป็นงานฮิต พิสูจน์ให้เห็นว่างานกราฟิกก็ทรงพลังและสร้างแรงสะเทือนในงานพาณิชย์สายดนตรีได้

ในปี 1968 เกลเซอร์ร่วมก่อตั้งนิตยสาร New York magazine รับหน้าที่ด้านออกแบบ พวกเขาเป็นทีมคนหนุ่มสาว จับกลุ่มทำงานสร้างสรรค์ ทำเรื่องธรรมดาให้ไม่ธรรมดา

หกปีต่อมา เขาก็ก่อตั้งสำนักออกแบบของตนเองขึ้น ที่นี่เองเป็นที่กำเนิดไอเดีย ‘I heart New York’

ในปี 1977 รัฐนิวยอร์กจ้างเอเจนซีโฆษณาสองแห่งให้ทำงานโครงการกู้ภาพลักษณ์ของนิวยอร์ก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเนื่องจากเมืองนิวยอร์กเต็มไปด้วยอาชญากรรม

หน้าที่ของเกลเซอร์คือออกแบบโลโก้

ไอเดียหนึ่งผุดขึ้นขณะที่เขาโดยสารแท็กซี่คันหนึ่ง เขาควักซองจดหมายมาขีดเขียน 

ไอเดียคือคำง่าย ๆ ส่งสารตรง ๆ แต่ในความตรงซ่อนดีไซน์ที่จับใจได้ทันที

I love New York

ดีไซน์นี้ใช้ฟอนต์ American Typewriter เป็นสัญลักษณ์แทนนิวยอร์ก

ดีไซน์ชิ้นนี้เป็นจุดเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิต และอาจบางทีของโลกด้วย โลโก้นี้กลายเป็นไฟป่า เป็นงานที่ถูกลอกเลียนและดัดแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์

มันสร้างรอยเท้าลึกให้วงการพาณิชย์ศิลป์

เกลเซอร์กล่าวภายหลังว่า “ใครจะเคยคิดว่า งานเล็ก ๆ ‘ไม่มีอะไร’ ชิ้นนี้จะกลายเป็นภาพที่แพร่หลายที่สุดภาพหนึ่งในศตวรรษที่ 20”

ปัจจุบันเศษซองที่เขียนบนแท็กซี่นี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ และโลโก้ชิ้นนี้ยังทำเงินให้รัฐนิวยอร์กถึงปีละ 30 ล้านเหรียญ มันปรากฏบนเสื้อยืด หมวก และอื่น ๆ สารพัด


มิลตัน เกลเซอร์ ออกแบบงานมากมาย เป็นโปสเตอร์มากกว่า 400 ชิ้น ได้รับรางวัลต่าง ๆ

เขาลุ่มหลงการออกแบบ ชีวิตเขาไม่มีงานอดิเรก เขามีแต่งานออกแบบ

เขาได้รับอิทธิพลจากศิลปินสองคน หนึ่งคือ พาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) อีกคนหนึ่งคือ จิออร์จิโอ โมแรนดี (Giorgio Morandi จิตรกรและนักภาพพิมพ์ชาวอิตาเลียน) เขาบอกว่า “ปิกัสโซเป็นคนที่ต้องการทุกอย่าง ผู้หญิงทุกคน ชื่อเสียงทั้งหมด เงินทั้งหมด ความสำเร็จทั้งหมด ทุก ๆ อย่าง ส่วนโมแรนดีไม่ต้องการอะไรเลย”

งานของปิกัสโซโฉบเฉี่ยว สีสันจัดจ้าน ส่วนงานของโมแรนดีเรียบง่าย สีสันทึบทึม และเห็นชัดว่าเกลเซอร์สามารถผสมผสานส่วนดีที่สุดของทั้งสองเข้าด้วยกัน

ตลอดหลายสิบปีในวงการออกแบบ ไอเดียต่าง ๆ พรั่งพรูออกมาเหมือนสายน้ำเชี่ยว 

ทำได้อย่างไร ?

เพราะเขาเชื่อว่า ไอเดียไม่มีวันหมด มันหลั่งไหลมาได้เรื่อย ๆ เพราะเขามีทัศนคติว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นตาน้ำที่ไม่มีวันหยุด

เขากล่าวว่า “ถ้าคุณมองว่าจักรวาลเป็นจักรวาลแห่งความมากล้น มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นจักรวาลแห่งความน้อยนิด มันก็เป็นอย่างนั้น ผมมักคิดเสมอว่ามีสิ่งต่าง ๆ มากมายพอที่จะให้ใช้”

มีไอเดียมากพอในจักรวาล

เขาเห็นว่าจะออกแบบงานที่ดี ผู้ออกแบบจำเป็นต้องมีทัศนคติที่ดีด้วย

เกลเซอร์เคยบอกว่า เขารู้สึกว่าตนเองรู้สึกประหลาดใจและมองสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ นี่เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเขาเห็นว่ามันดีต่อการทำงานสายศิลปะ ซึ่งเป็นสายที่การเรียนรู้ไม่มีวันจบ

เขาเพียงแต่รู้สึกเสียดายที่หลายคนหยุดฟังเสียงภายในของตนเอง และ “สูญสิ้นการเข้าถึงความสามารถพิเศษที่จะสร้างสรรค์บทกวี”

งานออกแบบกราฟิกก็เหมือนการสร้างสรรค์บทกวี

น่าเสียดายที่บ้านเรามองไม่ค่อยเห็นคุณค่าของงานกราฟิก มันเป็นงานที่ดูจะทำง่าย แต่ยาก มันซ่อนตัวอยู่ในที่ที่เราไม่ค่อยสังเกต ป้ายในอาคาร สลากบนสินค้า ฯลฯ

เป็นเรื่องปกติที่คนไม่เข้าใจงานที่สร้างสรรค์ เขาบอกว่า ความคิดที่จะต้องพยายามอธิบายว่า ทำไมคุณออกแบบอย่างนี้เป็นเรื่องไร้เหตุผล


เราวัดงานดีเลิศอย่างไร ? ในมุมมองของเกลเซอร์ เขาบอกว่า “งานออกแบบชิ้นหนึ่งจะมีปฏิกิริยาสามแบบ ‘ใช่’ ‘ไม่ใช่’ และ ‘วาว !’ 

เขาตั้งเป้าที่ ‘วาว !’ เสมอ

สำหรับปรัชญา ‘น้อยคือมาก’ ของนักออกแบบ เขากล่าวว่า “Less isn’t more; just enough is more.”

เขามองงานออกแบบที่ดีคืองานเรียบง่าย ไม่มีเทคนิคมาก เขาบอกว่า “ถ้าคุณเห็นงานพิมพ์ 16 สี ทำพื้นนูน พิมพ์ทองเค ได-คัต พับแบบพิสดาร พิมพ์บนกระดาษทำมือ ดูให้ดีว่ามันเป็นงานไอเดียพื้น ๆ ที่พยายามจะสอบผ่านเป็นงานดีหรือเปล่า”

หลังเกิดเหตุนิวยอร์กถูกถล่มในวันที่ 11 กันยายน งาน I Love New York ถูกนำมาใช้เพื่อสมานสามัคคีของชาวนิวยอร์ก มันถูกปรับเป็น “I Love New York More than Ever” หัวใจสีแดงปรากฏจุดดำเล็ก ๆ เป็นสัญลักษณ์ของการถูกทำร้าย

งานกราฟิกดีไซน์แบบ ‘วาว !’ ทรงพลังเสมอ

มันจับหัวใจคนได้ 


วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0