โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตะลุย “เบตง” เดินชมสตรีทอาร์ท สูดอากาศสดชื่นที่เมืองใต้สุดแดนสยาม

Manager Online

เผยแพร่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 12.35 น. • MGR Online

“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” คำขวัญ “อำเภอเบตง” จังหวัดยะลา หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวเลื่องชื่ออันดับต้น ๆ ของดินแดนปลายด้ามขวาน

เมืองเล็กๆ แห่งนี้มีภูเขาล้อมรอบ ทิวทัศน์เขียวขจี ไม่ว่ามาในช่วงไหนก็มีอากาศบริสุทธิ์สดชื่น และยังเป็นเมืองแห่งทะเลหมอก สามารถมาชมได้ตลอดทั้งปี

สำหรับในตัวเมืองเบตงแล้ว จุดที่ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คกลางเมืองก็ต้องยกให้ “หอนาฬิกาเบตง” ที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณ 4 แยกจุดตัดของถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ เป็นหอนาฬิกาที่สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวนวล รูปทรงสมส่วนดูสง่างาม รอบๆ หอนาฬิกามีสายไฟพาดระโยงระยาง ในช่วงหัวค่ำตามสายไฟเหล่านี้จะมี “นกนางแอ่น” บินมาเกาะนิ่งอยู่เต็มพรึ่ดไปหมด

ที่อยู่ติดกับหอนาฬิกา และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปก็คือ "ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในโลก" สร้างขึ้นเมื่อปี 2467 โดยอดีตนายไปรษณีย์โทรเลข อ.เบตง เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของเบตงในเรื่องการติดต่อสื่อสาร ลักษณะของตู้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นรูปกลมทรงกระบอกแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนฐานะและส่วนตัวตู้ ส่วนสูงของตัวตู้คือ 290 เซนติเมตร นับจากฐานขึ้นไปรวมความสูงของตู้ด้วย วัดได้ 320 เซนติเมตร ปัจจุบันนี้ตู้ไปรษณีย์ใบนี้ยังใช้งานอยู่

และอีกหนึ่งจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวในตัวเมืองเบตงตอนนี้ ต้องยกให้ “สตรีทอาร์ทเบตง” ที่ปัจจุบันนี้มีมากกว่า 30 ผลงาน ให้เดินถ่ายรูปกันไปทั่วตัวเมืองเบตง

สตรีทอาร์ตเมืองเบตงนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2560 มีการวาดภาพเพื่อสร้างแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองเบตง และช่วยโปรโมตงาน 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง และล่าสุด เมื่อต้นปี 2563 ก็มีโครงการ “ATM Spray X Betong Street Art” โดยศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตระดับแนวหน้าของประเทศไทยกว่า 30 ชีวิต มาร่วมสร้างสีสันบนผนังอาคารใจกลางเมืองเบตง

สำหรับภาพสตรีทอาร์ทแต่ละภาพนั้นจะสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวเบตงที่ผสมผสานและอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข สถานที่ท่องเที่ยว และจุดสำคัญของเมืองเบตง รวมไปถึงอาหารและสัตว์ประจำถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ภาพแต่ละภาพยังกลมกลืนไปกับชุมชนอยู่แวดล้อม อย่างในโซนที่เป็นตลาดเช้า ก็จะเป็นภาพผักผลไม้ต่างๆ พร้อมกับแม่ค้า

ภาพเด่นๆ ต้องยกให้ภาพพี่ตูนกับโครงการก้าวคนละก้าว ในโครงการวิ่งจากเบตงถึงแม่สายเพื่อ 11 โรงพยาบาล โดยภาพอยู่บริเวณอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ซึ่งบริเวณนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นการวิ่งของโครงการนี้

ส่วนภาพที่รวบรวมของอร่อยของเบตงไว้มากที่สุด อยู่บริเวณบ้านที่มีกิจการขายเฉาก๊วย บนกำแพงนี้มีขบวนแมวที่แบกอาหารขึ้นชื่อของเมืองเบตง มีทั้งผัดหมี่เบตง ผัดผักน้ำ ก๋วยเตี๋ยวแคะ เคาหยก ปลานิลนึ่ง ข้าวหลามบาซูก้า ไก่สับเบตง ติ่มซำ ฯลฯ เห็นรายชื่อเมนูอาหารบนกำแพงนี้แล้วไปกินตามรอยกันไปเลย

อีกภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตคนเบตง คือภาพรถสวน เป็นรถโดยสารสมัยก่อนที่พาคนเบตงออกไปค้าขายภายนอก บนรถเต็มไปด้วยพืชผัก ทุกเรียน แผ่นยางพารา ซีอิ๊ว และยังมีทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิม และไทยจีน ที่อาศัยอยู่ในเมืองเบตง และอัพเดตสุดๆ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ยังมีภาพสวยๆ ให้ไปเดินเล่นถ่ายรูป เซลฟี่กันรอบๆ เมือง ซึ่งถ้าหากว่าอยากจะเก็บให้ครบทุกภาพ อาจจะต้องใช้เวลาทั้งวัน เพราะแต่ละภาพก็มีความสวย ความน่ารัก และสะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวเบตงได้อย่างดียิ่งจนไม่อยากจะพลาดไปเลยสักภาพ

เดินเที่ยวในตัวเมืองเบตงกันจนเต็มอิ่มแล้ว ถ้ามีเวลาออกไปรอบๆ เมือง ก็มีที่เที่ยวให้แวะชมอีกหลายที่

เริ่มต้นจากการไปแช่น้ำผ่อนคลายความเมื่อยล้าที่ “บ่อน้ำร้อนบ้านนากอ” ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2563 นี้ มีการจัดทำเป็นบ่อแช่เท้า แช่ตัว ด้วยอุณหภูมิความร้อนที่พอเหมาะ แต่ถ้าหากว่าอากาศร้อนแล้วอยากได้ความเย็นฉ่ำ ข้างๆ กันก็มีธารน้ำตกเล็กๆ ให้ไปนั่งแช่เท้ากันได้ เรียกว่ามาที่เดียวได้ทั้งร้อนและเย็น

แวะถ่ายรูปสวยๆ ที่ “สะพานแตปูซู” สะพานแขวนแบบพื้นไม้ ใช้สัญจรข้ามแม่น้ำปัตตานี โดยนายมูเซ็ง แตปูซู อดีตกำนันตำบลอัยเยอร์เวง สมัยก่อนนั้นชาวบ้านจะข้ามแม่น้ำมาฝั่งนี้ลำบากมาก ต้องใช้แพไม้ไผ่ข้ามไปมา จนกระทั่งมีสะพานแตปูซูขึ้นมา ก็ทำให้สามารถขนผลผลิตทางการเกษตรข้ามฝั่งมาได้สะดวกมากขึ้น โดยสะพานนั้นข้ามได้เฉพาะคนเดินข้ามหรือรถมอเตอร์ไซค์เท่านั้น รถใหญ่ไม่สามารถข้ามได้

อีกที่ที่น่าแวะไปคือ “หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10" ในอดีตที่นี่เคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา และชาวชุมชนเองก็เคยเป็นอดีต “สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา” (พ.ศ. 2473-2534) ผู้ร่วมต่อสู้กอบกู้เอกราชของประเทศมาลายา (ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย) จากการรุกรานของจักรวรรดิอังกฤษ

ไฮไลท์สำคัญของที่นี่คือการไปชมความน่าทึ่งของ “ต้นไม้ยักษ์” กลางผืนป่าใหญ่ เป็นเส้นทางเดินป่าสบายๆ ผ่านค่ายจำลองวิถีชีวิตสภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีต

สำหรับต้นไม้ยักษ์ก็คือ “ต้นสมพง” ขนาด 38 คนโอบ ยืนต้นสูงใหญ่ พูพอนค้ำยันเด่นตระหง่าน สมพงยักษ์ต้นนี้มีอายุหลายร้อยปี เป็นหนึ่งในต้นไม้ “รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” และเคยได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ (ก่อนที่เร็วๆ นี้จะมีการค้นพบต้นสมพงขนาด 40 คน โอบที่จังหวัดตรัง)

ในชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ยังมีจุด่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา), อนุสรณ์วีรชน และยังมีที่พักเป็นรีสอร์ทในชุมชนราคาย่อมเยา

ใครที่ชื่นชอบทะเลหมอกสวยๆ ที่เบตงก็มีอยู่หลายแห่ง แต่ที่มาแรงสุดๆ ในตอนนี้ต้องยกให้ “จุดชมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” และ “ยอดเขาฆูนุงซีลีปัต” ที่สามารถมาชมทะเลหมอกได้ตลอดปีทั้งสองแห่ง

“จุดชมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” สามารถเห็นทะเลหมอกในมุมมอง 360 องศา นอกจากนี้ก็ยังมีวิวทิวทัศน์ของผืนป่าฮาลา-บาลา ทะเลสาบเขื่อนบางลาง รวมถึงสามารถมองไปไกลได้ถึงประเทศมาเลเซียเลยทีเดียว และล่าสุดนี้ก็กำลังก่อสร้าง “สกายวอล์คทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” ที่ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเบตง โดยจะเปิดให้ท่องเที่ยวได้ในช่วงปลายปี 2563 นี้

ส่วน “ยอดเขาฆูนุงซีลีปัต” สามารถชมวิวทะเลหมอกได้ 360 องศาเช่นเดียวกัน โดยสามารถมาชมทะเลหมอกได้ทั้งปี แต่ช่วงที่จะสวยที่สุดก็อยู่ราวๆ เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เนื่องจากท้องฟ้าจะเปิดเต็มที่ มองเห็นท้องฟ้าสีฟ้า ตัดกับทะเลหมอกสีขาวหนานุ่มเป็นปุยนุ่น

หลากหลายที่เที่ยวในเมืองเบตง เมืองใต้สุดชายแดนที่สงบงาม มีทั้งที่เที่ยวสวยๆ แบบธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์สดชื่น เที่ยวในเมืองก็เดินได้เพลิดเพลิน อาหารการกินหลากหลายอร่อยลิ้น บอกเลยว่ามาเที่ยว “เบตง” นั้นโอเคมากๆ

* * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการท่องเที่ยวในเบตง และ จ.ยะลา ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส (ดูแลพื้นที่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) โทร. 0-7354-2343 Facebook : TAT Narathiwat ททท.สำนักงานนราธิวาส

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่Youtube :Travel MGR

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0