โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ดร.ไฮเอต หมอฝรั่งที่ ร. 5 ทรงจ้างด้วยเงินเดือนแพงลิ่วถึง 27 ปี แต่ทำงานคุ้มค่า

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 28 ม.ค. 2565 เวลา 09.55 น. • เผยแพร่ 16 เม.ย. 2564 เวลา 05.54 น.
ภาพปก - ดร. ฮิวจ์ แคมป์เบล ไฮเอต
ดร. ฮิวจ์ แคมป์เบล ไฮเอต

หมอฝรั่งที่ ร. 5 ทรงจ้างด้วยเงินเดือนแพงลิ่วถึง 27 ปี ดร.ไฮเอต “แบบอย่างคนทำงาน” ที่มีวินัยและเมตตา

ดร. ฮิวจ์ แคมป์เบล ไฮเอต (Huge Campbell Highet. C.M.,M.D.,D.PH. London) เป็นแพทย์ชาวอังกฤษที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงจ้างให้มาดำเนินการด้านสุขภาพอนามัยในห้วงปี 2441-2468 นานประมาณ 27 ปี ด้วยอัตราการจ้างที่ค่อนข้างแพง แต่ ดร.ไฮเอตก็ทำงานตอบสนองเมืองไทยด้านสุขภาพอนามัยคุ้มค่า จำเดิมนั้นเข้ามาเป็นแพทย์กรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ ต่อมาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาลและรับผิดชอบดูแลโรงพยาบาลคนเสียจริตในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลด้วย

เมื่อแรก ดร. ไฮเอต เดินทางเข้ามาเมืองไทยในฐานะแพทย์ประจำสถานทูตอังกฤษ ก่อนจะเปลี่ยนมารับจ้างทำงานให้รัฐบาลไทย สำหรับการดูแลอำนวยการโรงพยาบาลคนเสียจริตนั้น ดร.ไฮเอตไม่ค่อยได้มีเวลาดูแลใกล้ชิดนัก แต่มีผู้ช่วยทำหน้าที่แทนเต็มเวลา เป็นแพทย์ชาวอังกฤษเหมือนกัน กับเป็นนักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง คือ ดร.เอ็ม.คาธิวส์ (Dr.Modern Cathews) ดร.ไฮเอตเองเน้นงานด้านโรงพยาบาลทั่วไปและสุขภาพอนามัยเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว เล่าไว้ว่า (ในหนังสือ 80 ปีของจิตเวชในประเทศไทย) ดร.ไฮเอตให้ความสนใจสุขภาพอนามัยผู้ป่วยโรคจิตและการปรับปรุงโรงพยาบาลคนเสียจริตอย่างพิเศษโดยเป็นผู้เสนอรัฐบาลให้ย้ายโรงพยาบาลคนเสียจริตเดิมไปยังโรงพยาบาลคนเสียจริตใหม่ (คือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน) ด้วยโรงพยาบาลเดิมดัดแปลงจากเก๋งจีนและอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ทั้งคนไข้ก็อยู่อย่างแออัดยัดเยียด “…โรงพยาบาลนี้ชำรุดและน่าอับอายอย่างยิ่ง ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปให้ดีขึ้น ข้าพเจ้าเองไม่สามารถสรรหาคำพูดใดที่แรงพอหรือแสดงว่าอับอายและขยะแขยงเพียงใด” ข้อความนี้เป็นรายงานส่วนหนึ่งที่เสนอให้รัฐบาลจัดการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ซึ่งรัฐบาลก็เห็นด้วยและสนองตอบโดยทันที โดยมอบหมายให้ ดร.ไฮเอตไปดูงานที่สิงคโปร์และนำผังการสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริตชนิดสมัยใหม่มาจากที่นั่นด้วย

โรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งใหม่สร้างเสร็จในปี 2455 และเปิดดำเนินการในปีนั้นเลย โดยเปลี่ยนแปลงการพยาบาลดูแลเป็นแบบโรงพยาบาล (Hospital care) ชนิดมอราล ทรีตเมนต์เช่นเดียวกับตะวันตก ผู้ป่วยได้รับการดูแลดี สภาพแวดล้อมสวยงามด้วยดอกไม้และสวนป่า ตามคติกวีอังกฤษผู้หนึ่งที่ว่า ชีวิตจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเต็มไปด้วยความว้าวุ่น ไม่มีที่ที่ให้จะยืนและเบิ่ง (What is the use of life that full of care, if there is no place to stand and stare.)

ดร.ไฮเอตรับราชการอยู่จนถึงปี 2468 อันเป็นปีที่เลิกจ้างผู้เชี่ยวชาญจากตะวันตกเกือบทั้งหมด และนายแพทย์หลวงวิเวียรแพทยาคมดำเนินการแทน

นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคมเล่าต่อว่า ดร.ไฮเอตได้ปรับปรุงโครงสร้างในกรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล บางประการ กล่าวคือ โอนโรงพยาบาล 4 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครในขณะนั้นให้ขึ้นกับกระทรวงนครบาล ซึ่งเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ คงโรงพยาบาลศิริราชเพียงโรงพยาบาลเดียวไว้ให้ขึ้นกับกรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) เพราะเป็นโรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์ ทำหน้าที่ผลิตแพทย์ไปประจำโรงพยาบาลต่างๆด้วย

โรงพยาบาล 4 แห่งดังกล่าวนั้น คือ โรงพยาบาลบูรพา (โรงพยาบาลกลาง), โรงพยาบาลสามเสน (วชิรพยาบาล), โรงพยาบาลบางรัก (โรงพยาบาลเลิดสิน) และโรงพยาบาลคนวิกลจริต(โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา)

อย่างไรก็ดีขณะนั้นโรงพยาบาลแพทย์ศิริราช ผลิตแพทย์ได้ไม่พอเพียงที่จะมาประจำตามโรงพยาบาล 4 แห่งดังกล่าวซึ่งสมัยนั้นก็มีเพียง 4 แห่งเท่านั้น ดร.ไฮเอต เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาลได้อาศัยแพทย์แผนไทย (หมอแผนโบราณ) ที่จบจากสำนักแผนไทย เช่น จากสำนักพระยาพิศณุประศาตรเวช และที่เป็นศิษย์สำนักหมอฝรั่ง เช่น สำนักหมอเฮย์ (Howard T. Hays) กับสำนักหมอมิชชันนารี เป็นต้น

ดร.ไฮเอตได้อาศัยแพทย์แผนไทยเหล่านี้ช่วยงานแพทย์ของกรมแพทย์สุขาภิบาลค่อนข้างยาวนานไม่น้อยกว่า 10 ปี จนกระทั่งมีแพทย์จบจากโรงเรียนแพทย์ศิริราชมาทดแทนเรื่อยๆ จนแพทย์แผนไทยยุติบทบาทไปโดยอัตโนมัติ

แพทย์รุ่นแรกที่มาสังกัดกรมแพทย์สุขาภิบาล มีบรรดาศักดิ์คล้องจองกัน 6 คน คือ พระไวทยวิธีการ, พระชาญวิธีเวช, พระเชษฐ์ไวยาการ, พระบรรจงพยาบาล, พระจรัลโรควิจารณ์ และหลวงนนทแพทย์พิสนธ์

สำหรับรุ่นถัดมามีหลวงวิเชียรแพทยาคมรวมอยู่ด้วยก็คือ หลวงศิริแพทย์พิสุทธ์ หลวงไมตรีแพทยารักษ์ หลวงกสิวัฒนเวช เป็นต้น

หลวงวิเชียรแพทยาคม (ต่อมาเป็นศาสตราจารย์และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม) ได้เล่าถึงบุคลิกภาพอุปนิสัยของ ดร.ไฮเอตไว้ในหนังสือ 80 ปีของจิตเวชในประเทศไทย ที่บ่งชี้ความมีวินัยและเมตตาธรรมของ ดร.ไฮเอต ขอถ่ายทอดเชิงสรุป 3 เรื่องดังนี้

เรื่องที่ 1 สิบตำรวจโทผู้หนึ่งชื่อ พริ้ง เป็นเจ้าหน้าที่ยามประจำด่าน ตรวจโรคเกาะพระ อำเภอสัตหีบ (สมัยนั้นยังไม่มีกองทัพเรือที่นั่น) เรือพาณิชย์ต่างชาติทุกลำจะเข้าจอดท่าเรือกรุงเทพฯ ต้องผ่านด่านตรวจโรคเกาะพระเสียก่อน การเดินทางของแพทย์ (ดร.ไฮเอตและแพทย์อื่นๆ กับเจ้าหน้าที่ไปยังเกาะพระ) ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน โดยทางเรือเมล์ของบริษัทอีสต์เอเชียติก

วันหนึ่งสิบตำรวจโทพริ้งพาภรรยาเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ เพราะเป็นไข้จับสั่นโดยมิได้ลาราชการ ครั้นฝากบรรดาญาติดูแลแทนได้แล้วก็รีบจัดแจงกลับเกาะพระ หากจะรีบกลับไปโดยไม่บอกใครก็ย่อมทำได้ และไม่มีใครรู้ความผิดว่าละทิ้งราชการมา แต่ด้วยความซื้อ สิบตำรวจโทพริ้งจึงเข้าพบเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ดร. ไฮเอตซึ่งซักไซ้ไล่เลียงและดุสิบตำรวจโทพริ้งเป็นการใหญ่ นัยว่าละทิ้งหน้าที่ราชการมาทำไมไม่โทรเลขขอลามาก่อน ไม่ใช่ทิ้งหน้าที่มาตามสบายไร้วินัยแบบนี้ เสร็จแล้วพาสิบตำรวจโทพริ้งขึ้นไปห้องเจ้ากรมพลตระเวน (กรมตำรวจ) ซึ่งมร.อีทรอตเตอร์ เป็นเจ้ากรมอยู่ นัยว่าพาขึ้นมาขอโทษแทนสิบตำรวจโทพริ้งที่ละทิ้งหน้าที่ราชการ มิฉะนั้นจะถูกทำโทษ โดยถูกเฆี่ยน (เวลานั้นการเฆี่ยนยังใช้ทำโทษกันอยู่ในหมู่ตำรวจ) เสร็จแล้วก็ให้เงินสิบตำรวจโทพริ้ง 30 บาท บอกให้ไปซื้อยาและอาหารดูแลภรรยาให้ดีไม่ใช่ให้เป็นค่าตั๋วเรือขากลับ เพราะมาด้วยส่วนตัวมิใช่ราชการ (ค่าเรือโดยสารกรุงเทพฯ เกาะพระ สมัยนั้นราคา 4 บาท)

สิบตำรวจโทพริ้งตระหนักในวินัยหน้าที่และอิ่มเมตตาจาก ดร.ไฮเอตครั้งนั้นเป็นพิเศษซึ่งมีความหมายว่าจะไม่ละทิ้งหน้าที่ราชการอีก

เรื่องที่ 2 ในวันเงินเดือนออกครั้งหนึ่ง เลขานุการนําเช็คเงินเดือนมาให้เซ็นรับตามปกติ ดร.ไฮเอตตรวจ เช็คก่อนเซ็นรับ ก็พบว่าเงินเดือนขาดไป 200 บาท จึงถามเลขาฯ ว่าทําไมขาดไป เลขาฯ ตอบว่าทางราชการหักไป เป็นค่าเรี่ยไรซื้อเรือรบ ดร.ไฮเอตให้เลขาฯ กลับลงไปเรียนเจ้าคุณสมุห์บัญชีว่า หักไว้ก่อนไม่ได้ เจ้าของยังไม่อนุญาต เมื่อเลขาฯ นําเงินที่เจ้าคุณสมุห์บัญชีแก้ตัวเลขเป็นจํานวนเต็มแล้ว ดร.ไฮเอตได้สั่งทําบันทึกส่งเงินสด 500 บาท ช่วยชาติซื้อเรือรบหลวงอีกครั้ง หนึ่ง-เรื่องระเบียบมรรยาท การไม่ละเมิด สิทธิส่วนบุคคล กับการให้ส่วนรวมเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และ

เรื่องที่ 3 เมื่อ ดร.ไฮเอตขึ้นตรวจวอร์ดหรือหอผู้ป่วยในวันหนึ่ง ผู้ช่วยพยาบาลชายผู้รับใช้แพทย์ได้ทําผิด พลาดเผลอเตะกระโถนน้ำหมากผู้ป่วยสาดกระเด็นเปื้อนกางเกงเจ้ากรมอย่างช่วยไม่ได้ เจ้ากรมโกรธผู้ช่วยพยาบาลผู้นั้นอย่างมาก เสร็จแล้วก็ขับรถกลับบ้านไป

ผู้ช่วยพยาบาลชายผู้นี้เป็นพลตํารวจที่เกณฑ์มา เป็นคนขยันขันแข็งดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยดี ทั้งชอบขวนขวายหาความรู้สามารถพูดและฟังภาษาอังกฤษจากหมอฝรั่งได้พอควร อาสามารับใช้ ดร.ไฮเอตเมื่อมาตรวจหอผู้ป่วย แต่ครั้งนี้เกิดพลาดพลั้งอย่างสุดวิสัย (โรงพยาบาลแห่งนี้คือโรงพยาบาลพลตระเวณ คือโรงพยาบาลตํารวจ-ในปัจจุบันคือโรงพยาบาลกลาง กรุงเทพมหานคร)

ช่วงบ่าย ดร.ไฮเอตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง สั่งให้เรียกตัวผู้ช่วยพยาบาลผู้นั้นมา หมอและพยาบาลต่างตกใจกันใหญ่ สําคัญว่าจะมาสั่งทําโทษผู้ช่วยพยาบาลชายผู้เคราะห์ร้ายเตะกระโถนอย่างซุ่มซ่ามเมื่อเช้านี้ เมื่อมาถึงเขาผู้ นั้นก็โค้งคํานับ ดร.ไฮเอตอย่างเคย ดร. ไฮเอตบอกว่ากรมพลตระเวณ (ตํารวจ) ต้องการแพทย์ 1 คน และจะให้เป็นนายตํารวจ แล้วถามว่าผู้ช่วยพยาบาลผู้นั้นสนใจหรือไม่ จากพลตํารวจเกณฑ์ เงินเดือนกับเบี้ยเลี้ยง 11.50 บาท ปรับเป็นร้อยตรี เงินเดือนถึง 80 บาท ผู้ช่วยพยาบาลผู้คล้ายจะโชคร้ายแต่กลายเป็นโชคดีนั้นไม่อาจปฏิเสธได้

ดร.ไฮเอตรับค่าจ้างในฐานะเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล เดือนละ 2,000 บาท แถมได้กลับไปเยี่ยมบ้านใน อังกฤษเป็นลองฮอลิเดย์นานปีละ 1-2 เดือนด้วย เป็นเช่นนี้อยู่นานประมาณ 27 ปี

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติม เรื่องของ ดร.ฮิวจ์ แคมป์เบล ไฮเอต อดีตเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0