โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ญี่ปุ่นกับหน้ากากอนามัย : เมื่อหน้ากากอนามัยกลายเป็นของสำคัญในชีวิตประจำวัน

The MATTER

อัพเดต 14 ส.ค. 2563 เวลา 16.15 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 16.15 น. • Thinkers

ในขณะที่เมืองไทยเริ่มที่จะไม่ค่อยยึดติดกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็น 0 แล้ว (จากเหตุ VIP ที่เกิดขึ้นในไทยกลายเป็นการจุดประกายไป) แต่ที่ไทยก็ยังดูประชาชนพยายามกันเต็มที่ ใส่หน้ากากอนามัยกันเป็นประจำ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมยังสงสัยอยู่เพราะไม่ได้อยู่เมืองไทยคือ ตกลงประชาชนหาหน้ากากอนามัยชิ้นละ 2.5 บาทได้ทั่วไปรึยังครับ?

ส่วนทางญี่ปุ่น ที่สถานการณ์ COVID-19 จากที่มาดีๆ กราฟกำลังตก ก็เหมือนป่าแตก ยอดผู้ติดเชื้อต่อวันพุ่ง ส่วนทางรัฐกลับผ่อนคลายนโยบายต่างๆ ลง เท่าที่ดูแล้วผมก็คงต้องมองว่า เขาคิดว่า ต่อให้มีการระบาด แต่เศรษฐกิจก็ต้องเดินต่อ เลยเลิกแนวทางผ่อนปรนนโยบายต่างๆ ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจก็ทรุด รัฐก็ไปไม่ไหว เพราะการสู้กับโรคระบาดครั้งนี้มันคือมาราธอน ต้องเล่นกันยาวๆ จะใช้ยาแรงตลอดอย่างเดียวไม่ได้ ตราบใดที่สถานพยาบาลรองรับไหว ก็ต้องยอมเสี่ยงกันแบบนี้ล่ะครับ

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องน่าสนใจในการจัดการกับ COVID-19 ของญี่ปุ่นก็คงต้องยกให้ ‘หน้ากากอนามัย’ นี่ล่ะครับ เพราะญี่ปุ่นเองแต่เดิมก็ใช้หน้ากากอนามัยกันอยู่ประจำอยู่แล้ว พอมาจำเป็นต้องใช้กันก็คงไม่ได้รู้สึกแปลกอะไรมาก ผมเองก็ติดนิสัยใช้หน้ากากอนามัยจากญี่ปุ่นนี่ล่ะ แต่ก่อนคือชอบใช้ตอนขึ้นเครื่องบินเพราะอากาศในเครื่องมีความเสี่ยงเชื้อหวัดอะไรสูงกว่า กับอีกอย่างคือช่วยรักษาความชื้นในคอของตัวเอง ป้องกันการเป็นหวัด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ใช่ว่าทุกคนจะพร้อมใจใส่หน้ากากอนามัยกันหมด เลยเป็นที่มาของการรวมเรื่องหน้ากากอนามัยในสังคมญี่ปุ่นรอบนี้ครับ

ที่เมืองไทยอาจจะมีแอพฯ ต้องสแกนเข้มงวดกว่าที่ญี่ปุ่น ที่นี่เท่าที่สังเกตคือ มีป้ายขอความร่วมมือให้ใส่หน้ากาก หรือปฏิเสธไม่ให้เข้าใช้บริการ ถ้าเป็นห้างใหญ่ก็มีการวัดอุณหภูมิและมีที่กดเจลแอลกอฮอลให้ใช้บริการ เวลาขึ้นรถไฟหรืออะไรก็มักจะเห็นเกือบทุกคนใส่หน้ากากกันเป็นอย่างดีครับ

แต่นั่นก็ใช่ว่าทุกคนจะใส่หน้ากากได้ นอกจากกรณีเด็กอายุน้อยกว่าสองขวบที่แพทย์ไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากเพราะกังวลความเสี่ยงเรื่องการหายใจไม่พอแล้ว ในสังคมก็มีคนอีกกลุ่มที่ไม่สามารถใส่หน้ากากได้เช่นกัน

หนึ่งในกลุ่มที่ว่าคือ ‘ผู้มีโรคประจำตัว’ เช่นบางคนมีปัญหาเรื่องผิวหนังกับการระบายความร้อนทางเหงื่อ ทำให้ไม่สามารถใส่หน้ากากได้ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หรือกลุ่มผู้มีอาการออติสติก ที่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งกระตุ้นหรือการเปลี่ยนแปลงรุนแรงกว่าคนอื่น ทำให้ไม่สามารถใช้หน้ากากอนามัยได้เพราะผิดไปจากปกติของตนเอง ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มผู้ดูแลและอาจารย์ที่สอนเด็กกลุ่มที่มีอาการออติสติก ที่ไม่สามารถใส่หน้ากากได้ เพราะสำหรับเด็กพิเศษแล้ว นั่นคือสิ่งที่ต่างไปจากปกติ ทำให้พวกเขาไม่สบายใจ และรวมไปถึงความจำเป็นที่สำหรับเด็กกลุ่มนี้แล้ว การสื่อสารด้วยสีหน้าและการอ่านปากก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ดังนั้นทั้งตัวเด็กและอาจารย์จึงต้องพยายามป้องกันการติดต่อให้มากกว่าปกติ

อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘ผู้ทำหน้าที่เลี้ยงเด็กเล็กหรือครูอนุบาล’ ที่มีรายงานว่า เวลาพาเด็กกินอาหาร ก็ต้องถอดหน้ากาก เพื่อให้เด็กได้เห็นหน้าของตัวเอง เพราะตอนป้อนอาหารให้เด็กโดยใส่หน้ากากไว้ด้วย กลายเป็นว่าเด็กไม่สามารถเข้าใจกระบวนการกินอาหารที่ถูกต้องได้เพราะไม่เห็นหน้าและการขยับปากของครู ทำให้เด็กกลืนอาหารโดยไม่เคี้ยว จำเป็นที่อาจารย์ต้องถอดหน้ากากแล้วใส่เฟชชิลด์เสริมแทน

แบบหลังนี่ยังดีหน่อยที่อยู่ในที่ปิดและเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่กลุ่มแรกนี่ลำบากเพราะต้องไปไหนมาไหนในสภาพที่ไม่ได้ใส่หน้ากาก นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นเป้าสายตาของคนรอบๆ ทำให้มีคนเริ่มทำเข็มกลัด และป้าย บอกว่า ‘ใส่หน้ากากไม่ได้’ พร้อมคาแรคเตอร์สุนัข แจกจ่ายให้คนกลุ่มนี้เอาไปติดเพื่อที่คนรอบๆ จะได้เข้าใจได้

ถือเป็นการช่วยกันเล็กๆ น้อยๆ ในสังคม

เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ส่วนหน้ากากอนามัยทั่วไปนั้น หลังจากที่ขาดตลาดอย่างรุนแรง ตอนนี้สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นมาได้ประมาณสองเดือนแล้ว แม้ราคาจะแพงขึ้นกว่าสมัยก่อนหน้าการระบาด แต่ว่าก็หาซื้อได้ทั่วไป มีแบบกล่องใหญ่ขาย ไม่ต้องไปต่อคิวอะไร บ่ายๆ ก็ยังมีวางขาย บางร้านก็เห็นมีขายตลอด อาจจะแค่จำกัดจำนวนซื้อต่อคนบ้าง แต่ก็ดีที่มีการห้ามนำไปขายต่อ และการแบนในเว็บขายของมือสองเพื่อหากำไร ประกอบกับการมีหน้ากากผ้าขายแบบล้นหลามจนเลือกไม่ไหว เรียกได้ว่าตอนนี้ไม่ได้ขาดอะไร เหลือแต่ว่าใครจะเลือกใช้อะไรแบบไหน

ซึ่งนั่นก็กลายเป็นเรื่องน่ายินดีที่ชวนปวดหัวของชายคนหนึ่ง นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ (Abe Shinzō) นั่นเอง เพราะที่ผ่านมาตอนช่วงที่การระบาดเริ่มกลายเป็นปัญหาและหน้ากากอนามัยขาดตลาด นายกฯ อาเบะก็ได้แก้ปัญหาด้วยการแจกหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้กับทุกครัวเรือน ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น เพราะใช้งบประมาณเยอะมาก แต่ดูเหมือนจะได้น้อยมากแบบสวนปรัชญามินิมอล เพราะนอกจากเปลืองแล้ว กว่าจะแจกจ่ายก็ยังช้ามาก บางพื้นที่กว่าจะได้รับหน้ากาก ก็หาซื้อหน้ากากอนามัยทั้งแบบใช้แล้วทิ้งและแบบผ้าได้ไม่ยากเย็นเท่าไหร่ กลายเป็นของที่ไม่จำเป็นไป ซึ่งจำนวนที่แจกก็ตลกดีคือครัวเรือนละสองชิ้น ถ้ามีห้าคนก็รับกรรมไปสามคน แถมขนาดก็เล็กจนดูไม่มีประโยชน์อะไรถ้าคุณจมูกโด่ง ยังไม่นับเรื่องของไม่ได้มาตรฐาน บางคนที่ได้รับก็มีเชื้อราในหน้ากาก มีรอยสกปรก จนสายด่วนรับแจ้งปัญหาแทบไหม้ กลายเป็นข่าวใหญ่ทำให้รัฐหน้าเสียไปรอบนึง

แม้จะแจกไปกว่า 130 ล้านชิ้นไปแล้ว และตามหลังด้วยคำชมมากมาย (ประชด) รวมไปถึงคุณภาพที่ดูไม่สมราคา และเป็นที่น่ากังขาว่า บริษัทไหนได้งานนี้ไปด้วย ยังมีประเด็นว่าหน้ากากผ้าของอาเบะมีคุณภาพ ใช้งานได้ผลดีจริงไหม เพราะมันดูไม่ต่างกับหน้ากากอนามัยที่โรงเรียนใช้กันเวลาตักอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ก็ดูเหมือนอาเบะจะภูมิใจมาก และประกาศว่าจะแจกอีก 80 ล้านชิ้นให้กับสถานดูแลผู้สูงอายุ ทั้งที่เดือนสิงหาคมก็เป็นช่วงที่หน้ากากผ้าก็มีล้นตลาด และคนหาหน้ากากได้ทั่วไปแล้ว

จนหลายคนก็บอกว่า

เป็นบุญคุณที่กลายมาเป็นภาระ

แต่ก็น่าแปลกดีที่หนึ่งในกลุ่มคนที่ชื่นชอบหน้ากากผ้าของอาเบะกลับกลายเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมหญิง เพราะหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้เปิดเรียนได้ตามปกติ นักเรียนก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยไปโรงเรียน และหน้ากากของอาเบะก็เป็นหนึ่งในหน้ากากที่หาได้ง่ายและโรงเรียนก็อนุญาตให้ใช้ได้ และเพราะไม่ว่าใครก็มีนี่ล่ะครับ เลยกลายเป็นว่าเด็กนักเรียนหญิงต่างแข่งกันตกแต่งประดับประดาหน้ากากผ้าของตัวเอง จะได้มีสไตล์เป็นของตัวเอง และแข่งความครีเอทกัน จนกลายเป็น # ฮิตในอินสตาแกรมไป บางคนก็เน้นเขียนลาย บางคนก็เน้นติดสติกเกอร์ ก็แล้วแต่ความชอบกัน บางคนก็ติดจนอยากจะถามว่า นี่หายใจออกจริงๆ เหรอ

แต่เมื่อหน้ากากเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ การตั้งข้อสังเกตและประเมินว่าคุ้มค่าหรือไม่โดยประชาชนชาวญี่ปุ่น ตัวคนในคณะรัฐมนตรีเอง ก็พยายามที่จะใช้หน้ากากผ้าของอาเบะเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน และย้ำเตือนถึงภาพลักษณ์ที่รัฐต้องการนำเสนอคือ มันใช้ได้ผลนะ แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจเมื่อ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายโยชิฮิดะ สุกะ เป็นคนที่ไม่ได้ใช้หน้ากากผ้าของอาเบะ ทั้งๆ ที่เป็นคนที่ออกมาแถลงข่าวแทนรัฐบาลอยู่บ่อยๆ (คนเดียวกับที่มาประกาศชื่อยุคเรวะ) จนมีรายการทางอินเทอร์เน็ตถามว่า ทำไมถึงไม่ใช้หน้ากากอาเบะ

รัฐมนตรีสุกะก็ตอบว่า เป้าหมายคือการป้องกันโรค ซึ่งปกติก็ใส่หน้ากากตลอดเพียงแต่ไม่ใช้หน้ากากของอาเบะ เพราะว่า ‘มันดูร้อน’ จนคนถามก็บอกว่า นึกว่าจะพยายามแสดงให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียว อยากจะให้คิดตรงนี้บ้าง ก็น่าสนใจว่าคนในคณะรัฐมนตรีเดียวกันแท้ๆ แต่กลับพูดออกมาตรงๆ แบบนี้ ส่วนหนึ่งที่ผมมองคือ รัฐมนตรีสุกะ คือหนึ่งในคนที่มีโอกาสจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้เหมือนกัน การออกมาแบบนี้ก็อาจจะเป็นการแซะพร้อมเตะตัดขาอาเบะ รวมถึงแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่ไม่ได้รับความนิยมนี้

ส่วนเจ้าของนโยบาย หลังจากใส่หน้ากากของตัวเองมาโดยตลอดแล้ว เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ก็ได้เปลี่ยนจากหน้ากากของตัวเอง กลายมาเป็นหน้ากากผ้า แบบที่มีขนาดใหญ่ขึ้นชัดเจนว่าไม่ใช่หน้ากากของตัวเองแน่ จนสื่อก็ถามว่า ทำไมเลิกใช้หน้ากากอาเบะของตัวเองไป ซึ่งอาเบะเองก็ตอบว่า ก็เพราะว่าตอนนี้สามารถหาหน้ากากได้ทั่วไปแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องยึดติดกับหน้ากากแบบที่ผ่านมาก ก็กลายเป็นประเด็นในสังคมญี่ปุ่นเหมือนกัน ก็งงหน่อยว่า บอกว่าหาได้ทั่วไปแล้วแต่ยังจะพยายามแจกเพิ่มให้กับสถานดูแลคนชรานี่ล่ะครับ

ใครจะคิดว่า ในปี ค.ศ.2020 หน้ากากอนามัยจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญในโลกขนาดนี้ ขนาดที่ช่วงที่ระบาดหนักๆ ก็มีการแย่งชิงกันข้ามประเทศเลย และแน่นอนว่าที่ญี่ปุ่นเองก็มีปัญหาเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ก็ยังดีที่คลี่คลายบ้างแล้ว ส่วนที่ไทยเองก็น่าสนว่ายังจำเป็นแค่ไหน หรือใส่ไว้กันข้อครหาจากคนอื่น (เพราะถ้าเชื่อรัฐคือไม่มีการติดเชื้อในประเทศมานานแล้ว) ว่าแต่ ตกลงคดีคนสนิทรัฐมนตรีที่กักหน้ากากเป็นล้านชิ้นนี่ไปถึงไหนแล้วล่ะครับ?

ข้อมูลอ้างอิงจาก

nhk.or.jp

nhk.or.jp

mainichi.jp

asahi.com

news.yahoo.co.jp

asagei.biz

ascii.jp

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0