โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชีวิตเมื่อได้วางไม้ พักขา แล้วหันมา ‘คืนดิน’ ของ โป้ง โมเดิร์นด็อก

THE STANDARD

อัพเดต 04 ส.ค. 2563 เวลา 11.12 น. • เผยแพร่ 04 ส.ค. 2563 เวลา 11.12 น. • thestandard.co
ชีวิตเมื่อได้วางไม้ พักขา แล้วหันมา ‘คืนดิน’ ของ โป้ง โมเดิร์นด็อก
ชีวิตเมื่อได้วางไม้ พักขา แล้วหันมา ‘คืนดิน’ ของ โป้ง โมเดิร์นด็อก

ขยะเป็นหนึ่งสาเหตุของปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบัน หลายประเทศประสบปัญหาเรื่องขยะและหาวิธีการรับมือในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะนำขยะเหล่านั้นกลับมารีไซเคิลใหม่ ไปจนถึงทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกับขยะเหล่านั้นโดยไม่ทำลายโลกไปมากกว่านี้ แม้ว่าขยะในครัวเรือนของเราจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของปัญหา แต่หลายคนก็มีวิธีจัดการแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับ โป้ง-ปวิณ สุวรรณชีพ มือกลองแห่งวงอัลเทอร์เนทีฟร็อกแถวหน้าของวงการเพลงไทยอย่างโมเดิร์นด็อกเอง เคยประสบปัญหากำจัดขยะจำพวกใบไม้ไม่ทัน สาเหตุมาจากจำนวนต้นไม้ภายในบ้านที่ปกคลุมอาคารปูนเปลือยให้เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว หลังจากทดลองวิธีการต่างๆ จึงมาพบทางสว่างด้วยการอาศัยพลังของเพื่อนร่วมโลกตัวน้อย ที่เปลี่ยนขยะในครัวเรือนให้กลายเป็นรายได้ สร้างธุรกิจหลังวางไม้ (กลอง) และพักขาจากการวิ่งในช่วงที่ทั้งโลกต่างหยุดนิ่งโดยพร้อมเพรียงกันปัญหาพามาเจอทางออกโป้งเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นมาจากที่บ้านปลูกต้นไม้เยอะ จึงมีปัญหาใบไม้ร่วงเต็มพื้นบ้าน เก็บอย่างไรก็ไม่ทัน เขาจึงหาวิธีที่จะนำใบไม้เหล่านี้กลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์อีกครั้ง “ผมลองศึกษาตั้งแต่การทำปุ๋ยหมัก ที่หลักการไม่ได้มีอะไรมาก แค่ควบคุมอากาศ ความชื้น และจุลินทรีย์ แต่ปัญหาอยู่ที่ระยะเวลาในการผลิต กินเวลา 2-3 เดือนเลยทีเดียว หรือวิธีแบบที่เกษตรกรใช้ อย่างการเอาใบไม้มากองรวมกันไว้จนกลายเป็นปุ๋ย แต่บ้านเราอยู่ในเมือง คงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้และไม่สวยด้วย ผมจึงลองค้นวิธีอื่นๆ จนมาเจอของต่างประเทศที่เอาไส้เดือนตัวเป็นๆ มาช่วยย่อยขยะได้เหมือนกัน เลยเริ่มมาศึกษาเรื่องไส้เดือนดู”ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่อาศัยบนหน้าดินและใต้ดินแล้วแต่ชนิดของพันธุ์ หน้าที่สำคัญของไส้เดือนคือการย่อยซากพืชซากสัตว์มาเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ นอกจากนี้ยังช่วยพรวนดินเพื่อเพิ่มอากาศและความร่วนซุยให้กับดิน แต่น้อยครั้งนักที่เราจะได้ยินว่าไส้เดือนสามารถย่อยขยะได้ “จริงๆ ใช้วิธีการเดียวกับการทำปุ๋ยหมักนั่นแหละครับ เพียงแต่เครื่องมือในการผลิตปุ๋ยของเราคือตัวไส้เดือนแทน แถมสามารถจัดการขยะได้ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์เท่านั้น อีกทั้งระบบการจัดการโดยไส้เดือน คนเมืองทุกคนสามารถทำได้ที่บ้านหรือคอนโดฯ ของตัวเอง มันไม่ได้ต้องการพื้นที่มากขนาดนั้น มีเพียงแค่กระบะเลี้ยงไส้เดือนเล็กๆ มาทำเป็นบ้าน (Bedding) ให้ไส้เดือนอาศัยอยู่ จากนั้นสามารถปล่อยให้ไส้เดือนทำงานได้แล้ว”

 

 

โป้งเริ่มทดลองย่อยขยะในครัวเรือนโดยไส้เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 และนำผลลัพธ์ที่ได้เป็นมูลไส้เดือนกลับมาใช้ในรูปของปุ๋ย เขาทดลองทำเอง ใช้เองกับต้นไม้ภายในบ้าน จนรู้สึกว่าไม้ดอกไม้ใบเริ่มงามขึ้น จึงแจกจ่ายให้กับเพื่อนฝูงไปทดลองใช้ แต่หลังจากโดนพิษโควิด-19 เข้าใส่ ทำให้งานที่เคยได้รับมาห่างหายไปหมด โปรเจกต์นี้จึงเริ่มเข้ามาแทนที่กิจกรรมอื่นๆ โดยมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘คืนดิน’ โปรเจกต์ที่ได้กลับมาชุบชีวิตให้โป้งอีกครั้ง รวมถึงคืนความสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศ เพราะคนหันมาปลูกต้นไม้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดสั่งจองมูลไส้เดือนของคืนดินสูงขึ้นจนผลิตไม่ทัน ถึงขนาดคนทำเองไม่ทันใช้แล้ว โป้งเล่าว่า จากตอนเริ่มต้นเขามีกระบะเลี้ยงไส้เดือนแค่ 4 กระบะเท่านั้น แต่ตอนนี้เราเห็นกระบะนับร้อยซ้อนชั้นเป็นสิบแถว เรียงรายขนาบกำแพงตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในบ้านเลยทีเดียว“หากจัดประเภทมูลไส้เดือน มันคือปุ๋ยนั่นแหละครับ แต่หากจะใช้คำว่าปุ๋ย ในภาษาทางการเกษตรต้องถูกรับรองและมีการตรวจค่าธาตุอาหารอย่างละเอียดถึงจะเรียกว่าปุ๋ยได้ คนขายมูลไส้เดือนส่วนใหญ่จึงรู้กันว่ามันคือปุ๋ยมูลไส้เดือน 100% ซึ่งคุณสมบัติของมันจะช่วยให้ไม้ดอกจะออกดอก ไม้ผลจะออกผล พืชสีเขียวจะยิ่งเขียว ว่ากันว่ามูลไส้เดือนเป็นมิตรกับพืชทุกชนิด แต่เกษตรกรที่ทำพืชไร่หรือปลูกข้าวอาจจะไม่เหมาะเท่าไร ด้วยความที่มูลไส้เดือนเป็นวัสดุปลูกที่ละเอียดมาก พอโดนน้ำมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะเริ่มจับตัวเป็นก้อน จึงเหมาะที่จะนำไปผสมกับวัสดุปลูกประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มความร่วนและการระบายน้ำให้กับดิน” โป้งอธิบาย 

 

 

จากมูลคืนสู่ดินในท้องไส้เดือนมีจุลินทรีย์ที่ใช้ในการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์หรือสิ่งที่ไส้เดือนกินเข้าไปแล้ว เช่น เศษอาหาร เศษใบไม้ มูลขี้วัว ซากสัตว์ที่ตายแล้วทั้งบนดินและใต้ดิน จากนั้นจะอาศัยจุลินทรีย์ในท้องช่วยย่อยมันออกมาในรูปของของแข็งนิ่มๆ สีน้ำตาล หน้าตาคล้ายดิน หรือศัพท์วิชาการเรียกว่าฮิวมัส (Humus) หากเราไปเดินป่าแล้วเห็นเศษดำๆ เปื่อยๆ บนหน้าดิน อันนั้นแหละคือฮิวมัสไส้เดือนกินอาหารต่อวันได้เกินครึ่งของน้ำหนักตัว สมมติว่าไส้เดือนตัวหนึ่งหนัก 5 กรัม มันสามารถกินอาหารได้มากถึง 3 กรัมต่อวัน ฉะนั้นเศษอาหารอย่างเดียวไม่พอ คนเลี้ยงไส้เดือนส่วนใหญ่จึงใช้ขี้วัวนมเป็นหลัก เนื่องจากมีราคาถูก และสามารถควบคุมคุณภาพได้ เพราะมูลของวัวนมจะมีค่าอาหารคงที่ที่คนเลี้ยงกำหนดปริมาณสารอาหารมาให้เรียบร้อยแล้ว เวลาไส้เดือนกินเข้าไปแล้วถ่ายออกมา ธาตุอาหารที่ได้ก็จะคงที่ตามไปด้วย ข้อดีของมูลไส้เดือนนอกจากอุดมไปด้วยธาตุอาหารอย่างโพแทสเซียมและไนโตรเจนที่พืชต้องการแล้ว ยังมีไข่ของไส้เดือนอยู่ภายในด้วย ซึ่งหลังจากนำไปปลูกให้ต้นไม้ ตัวอ่อนก็จะฟักออกมาเป็นไส้เดือน และทำหน้าที่ย่อยสลายให้กลายเป็นปุ๋ยต่อไป

 

 

โป้งยอมรับว่าแต่ก่อนเขาไม่ได้ชอบไส้เดือนเหมือนกัน เวลาทำแรกๆ ยังใส่ถุงมืออยู่เลย แต่พอมันเริ่มสนุกขึ้นจากการได้ทดลองต่างๆ ลองเปลี่ยนอาหาร ลองเพิ่มจำนวนไส้เดือนแล้วดูว่าอัตราการกินและถ่ายเป็นอย่างไร พอเริ่มมีออร์เดอร์เข้ามามากๆ จนเริ่มผลิตไม่ทัน คราวนี้ต้องจับด้วยมือเปล่าแล้ว เพราะใส่ถุงมือมันไม่คล่องตัว กลายเป็นว่าโป้งทำจนชินมือไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ทันออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามาอยู่ดี“จริงๆ แล้วตัวไส้เดือนเองก็ขายได้ แถมราคายังสูงกว่ามูลไส้เดือนอีก ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่ได้ทำขาย ผมมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เยอะเลยแบ่งขายออกไปบ้าง ทีนี้ระบบพังเลย เหมือนบริษัทลดจำนวนพนักงานลงไปเยอะ กำลังผลิตเลยไม่พอ หรือบางช่วงขายไม่ได้เลยก็มี ผมเก็บไส้เดือนอยู่ในถังเป็นสิบๆ ถัง นับเป็นตันเลยก็ว่าได้ จนต้องเอาตัวไส้เดือนออกมาโรยไปบนดินที่บ้าน เพราะไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร พอตอนหลังทำไม่ทันต้องไปขุดดินเอาตัวที่ปล่อยไปกลับมาใหม่”

 

 

พนักงานไร้ขาและเวลาที่เหลือก่อนลงมือทำมูลไส้เดือน ควรศึกษาธรรมชาติของไส้เดือนเสียก่อน อย่างน้อยให้รู้ว่าแม้หน้าตาของไส้เดือนจะเหมือนๆ กัน แต่มันก็มีหลากหลายพันธุ์ บางพันธุ์ไม่ใช่พันธุ์ที่กินขยะเป็นอาหาร หรือถ้าอยากให้พันธุ์นั้นย่อยขยะจริงๆ ก็จะมีวิธีการทำขยะให้พร้อมก่อนนำมาเป็นอาหารให้กับไส้เดือน มิฉะนั้นไส้เดือนก็ไม่อยู่เหมือนกัน“ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่ไวต่อสิ่งแวดล้อมมาก ถ้าเราเอามูลขี้วัวที่เพิ่งซื้อมาไปให้ไส้เดือนอาศัยและกินทันที ไส้เดือนก็อยู่ไม่ได้ เพราะในมูลขี้วัวมีก๊าซมีเทนอยู่ ทำให้ด้านในมีอุณหภูมิสูงมาก ร้อนจนเอามือจับไม่ได้ หากเอาไปให้ไส้เดือนอยู่มันจะหนีตาย ตื่นเช้ามานี่ได้เจอไส้เดือนคลานกันเต็มพื้นแน่”ไส้เดือนที่คืนดินใช้เป็นหลักคือ พันธุ์แอฟริกัน ไนต์ ครอเลอร์ (African Night Crawler หรือ AF) นอกจากนั้นก็มี พันธุ์ไทเกอร์ (Elsenia Foetida) ที่ใช้ย่อยขยะอินทรีย์ พันธุ์สีน้ำเงิน (Blue) จุดเด่นคือขนาดตัวเล็กนิดเดียว เลี้ยงไว้ย่อยขยะและนำน้ำเมือกบนตัวไปทำน้ำหมักฉีดรดต้นไม้ ล่าสุดก็มี พันธุ์ไทย (คนไทยเรียกกันติดปากว่า ขี้คู้) มาเลี้ยงด้วยไส้เดือนแต่ละพันธุ์ให้ผลลัพธ์ต่างกัน อย่างพันธุ์ตัวเล็ก มูลไส้เดือนที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์ใหญ่ “เขาว่ากันว่าขนาดของมูลไส้เดือนยิ่งเล็กพืชจะยิ่งดูดซึมได้ดี แต่ผมยังไม่เห็นความต่างเท่าไร ตอนแรกผมแยกขนาดของมูลไส้เดือนตามพันธุ์ด้วย แต่ช่วงหลังเราใส่รวมกันไปเลย เพราะคุณภาพไม่ได้ต่างกันเท่าไร คนซื้อก็ไม่ได้สนใจขนาดนั้นด้วย”

 

 

 

วัฏจักรของไส้เดือนส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการผลิตมูลไส้เดือน แปลว่าเราไม่ต้องอยู่กับมันตลอด 24 ชั่วโมง นั่นคือข้อดีของการทำงานคืนดินที่โป้งบอกว่าไม่จำเป็นต้องทุ่มแรงและเวลากับมันไปทั้งหมด เขาจะใช้เวลาอยู่กับมันให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช่ว่าเอาเวลาไปจมอยู่กับไส้เดือนนานๆ แล้วจะได้ปริมาณของมูลเพิ่มมากขึ้นโป้งพูดคำหนึ่งที่จุดประกายเราขึ้นมาว่า “การทำมูลไส้เดือนเหมือนการวิ่งมาราธอน” อย่างที่รู้กันว่านอกจากควบตำแหน่งมือกลองของโมเดิร์นด็อกแล้ว โป้งยังเป็นนักวิ่งไม่สมัครเล่น แต่วิ่งเป็นกิจวัตร วิ่งมาแล้วหลายฟูลมาราธอน ไปจนถึงระดับอัลตรามาราธอนที่ 100 กิโลเมตร วิ่งกับตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย) จากใต้สุดไปเหนือสุดของประเทศไทย การวิ่งทางไกลที่ไม่จำเป็นต้องใส่แรงไปเสียทั้งหมด “นักวิ่งมาราธอนรู้กันดีว่าคุณไม่สามารถใช้แรงรวดเดียวหมดได้ แต่ต้องรู้จุดพอดีที่จะวิ่งไปได้จนจบ การทำมูลไส้เดือนก็เหมือนกัน คุณไม่สามารถไปเร่งกระบวนการให้ไส้เดือนทำงานไวขึ้น หรือผลิตมูลไส้เดือนออกมามากขึ้น ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความอดทนเสมอ”น้อยแต่มากอาจเป็นนิยามในการทำงานของโป้งได้ว่า “ผมใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการเก็บมูลไส้เดือนที่ได้และนำไปขายต่อ โดยมีผู้ช่วยอีกสองคนคือภรรยาและลูกสาว แต่ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไส้เดือนด้วย อย่างพันธุ์แอฟริกัน ไนต์ ครอเลอร์ จะกินข้างล่างกระบะ แต่ขึ้นมาขี้ข้างบน เราก็ปาดหน้ามูลไส้เดือนไปขายได้เลย แต่บางพันธุ์จะลงไปขี้ข้างล่างกระบะ ทำให้ยุ่งยากในการจัดเก็บมูลไส้เดือนอีก ส่วนเวลาที่เหลือเราทำได้แค่รอให้ไส้เดือนกินและขี้ออกมาเท่านั้น”ผลลัพธ์คือ ‘คืนดิน’ ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งการกำจัดเศษอาหารและใบไม้ แถมยังช่วยคืนธาตุอาหารกลับสู่ระบบนิเวศด้วยวิธีการง่ายๆ โดยอาศัยเพื่อนร่วมโลกของเราให้ทำงานแทน เราถามทิ้งท้ายไปว่า ช่วงนี้โป้งได้วิ่งบ้างไหม เขาตอบกลับมาว่า ไม่เลย ไม่รู้จะวิ่งไปทำไม แต่นี่คงไม่ใช่เส้นชัยของเขาเป็นแน่ เพียงแต่ช่วงเวลานี้ความสนุกล้วนไปตกอยู่กับธุรกิจที่เข้ามาชุบชีวิต โป้ง โมเดิร์นด็อก ในยามที่วางไม้และพักขาแล้วหันมา ‘คืนดิน’ ให้กับโลกใบนี้ จนกว่าวันที่ไฟแห่งการออกกำลังกายจะกลับมาลุกโชนอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0