โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชวนดูประเทศไทยมุมใหม่ในวันที่ไม่มีสาย (ไฟฟ้า) กับเมืองไร้สายไฟแห่งแรกที่จังหวัดตรัง

The MATTER

เผยแพร่ 03 ส.ค. 2563 เวลา 10.13 น. • Branded Content

เราทุกคนต่างก็เชื่อว่า เมืองไทยจะสวยขึ้นเมื่อไร้สายไฟ

นั่นก็เพราะทัศนียภาพที่ถูกเปิดกว้างขวางสุดสายตา ไปพร้อมกับการใช้สอยพื้นที่สาธารณะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะมองทางเดินก็โล่งตา จะมองฟ้าก็โล่งใจ

วันนี้เราจึงอยากชวนคุณไปชมเมืองไทยในมุมมองใหม่ในแบบที่ไร้สายไฟอย่างในวันก่อนกันที่จังหวัดตรัง เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “Wireless City – เมืองไร้สายไฟแห่งแรกของประเทศไทย” ว่าผลจากการพัฒนารูปแบบเมืองในครั้งนี้ จะช่วยเผยโฉมความงามของเมืองตรังได้มากแค่ไหน ไปชมกัน!

2545 ปีที่เริ่มเอาสายไฟฟ้าลงดิน

แท้จริงแล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ PEA มีโครงการเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้าบนดินมาเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่ปี 2545 เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้า เพื่อเหตุผลเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไปพร้อมกับเป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและเปิดเผยทัศนียภาพที่แท้จริงของเมือง เมื่อภูมิทัศน์ของเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ผู้คนก็มีความสุข และส่งผลไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

และจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้าบนดินมาเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดินสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นก็คือจังหวัดตรัง นั่นก็เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่มีกำลังการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น และเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่ต้องการเปิดทัศนียภาพของสถาปัตยกรรมเมืองที่สวยงามออกสู่สายตานักท่องเที่ยวอย่างเต็มภาคภูมิ การปรับปรุงจากระบบไฟฟ้าบนดินมาเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดินลงดินจึงเป็นอีกหนึ่งการเพิ่มความน่าเชื่อถือ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเมือง

ทำไมต้องนำสายไฟฟ้าลงดิน

หากคิดง่ายๆ แบบพวกเราที่ใช้ชีวิตภายในชุมชน การนำเอาสายไฟฟ้าลงดินก็มีข้อดีตรงที่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม การเดินทางสัญจรบนทางเท้าได้เต็มพื้นที่ไร้สิ่งกีดขวาง หากแต่ในมุมมองของผู้ให้บริการไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว ยังมีเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพการนำจ่ายไฟฟ้าที่ส่งผลดีอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ใช้งานซ่อนอยู่

ข้อแรกคือ ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยเสริมระบบการนำจ่ายไฟฟ้าที่มั่นคง นั่นก็เพราะช่วยลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติ อุบัติภัยต่างๆ อย่างฝนฟ้าคะนองลมกรรโชกแรงจนอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณาต่างๆ มาเกี่ยวสายไฟฟ้าจนเกิดความเสียหาย รวมทั้งอุบัติเหตุจากปัจจัยภายนอกอย่างอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้า 

อีกข้อหนึ่งเป็นเรื่องของการรองรับการใช้งานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองที่กำลังขยาย มีความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ระบบไฟฟ้าใต้ดินซึ่งมีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ จึงสามารถรองรับกำลังการใช้ไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยไม่ต้องบดบังทัศนียภาพความงามของเมือง เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองสู่สายตาของทุกคน ทั้งในแง่เมืองสวยงาม และเมืองที่มีไฟฟ้าใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อดีของเมืองมุมใหม่

ประชาชนหลายคนอาจกังวลว่า หากนำสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินแล้ว การดูแลซ่อมแซมจะยากขึ้นไหม? ถ้าไฟดับต้องรอนานกว่าเดิมหรือเปล่ากว่าจะซ่อมเสร็จ?  ทั้งหมดนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีคำตอบให้

ปกติแล้ว สายไฟฟ้าแบบบนดินที่เราคุ้นเคยกัน เป็นสายเปลือยหรือสายกึ่งฉนวน ซึ่งมีข้อดีตรงที่การซ่อมบำรุงทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า เห็นว่ามีปัญหาตรงไหนก็เข้าซ่อมได้เลย สายแบบบนดินส่วนใหญ่จึงเป็นแบบวงจรรัศมี (Radial) 

ส่วนการนำสายไฟฟ้าลงดินนั้น ทางทีมงานจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการซ่อมบำรุงกันก่อนล่วงหน้า หากชำรุดเสียหายแล้วยังคงต้องสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าต่อได้ สายไฟฟ้าใต้ดินจึงเป็นวงจรแบบวงรอบ (Loop) หรือตาข่าย (Mesh) ข้อดีจึงอยู่ที่สามารถดับไฟฟ้าในส่วนวงจรที่ชำรุดเพื่อซ่อมแซม โดยไม่กระทบกระเทือนการนำจ่ายไฟฟ้าในส่วนอื่น

เมืองใหญ่ทั่วไทย พร้อมใจเป็น Wireless City

ปัจจุบัน นอกจากจังหวัดตรัง ที่เป็นเมืองไร้สายไฟแห่งแรกของประเทศไทยแล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำลังทยอยนำสายไฟฟ้าและสายเคเบิลลงดินในพื้นที่อีกหลายภาคส่วนในประเทศไทย เช่น น่าน ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา ขอนแก่น นครพนม และเชียงใหม่ 

ความตั้งใจในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดเผยเสน่ห์ความงามของเมือง ทั้งทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ และเปิดวิวทิวทัศน์ความงามได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยของระบบไฟฟ้าให้กับประชาชนผู้ใช้งาน ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากอุบัติภัยต่างๆ และรองรับการเติบโตของเมืองที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าแพลนทริปครั้งหน้า อยากให้ลองกลับไปเมืองเหล่านี้ที่แม้คุณจะเคยไปเยือนแล้ว แต่คราวนี้เมืองใหญ่จะกลับมาด้วยมุมมองใหม่ที่ไร้สายไฟบดบัง เปิดเผยความงามและเสน่ห์อย่างเต็มภาคภูมิ รอคอยให้คุณกลับไปสัมผัสอีกครั้ง แล้วอย่าลืมเก็บภาพเมืองไทยในมุมสวยๆ แบบที่ไร้สายไฟมาอวดกันด้วยนะ

Content by Nathanich Chaidee

Illustration by Sasithorn Sophap

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0