โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จากสนามรบสู่สนามการเมือง 'แทมมี ดักเวิร์ธ' กับชีวิตที่มุ่งมั่นและไม่ยอมจำนน

The MATTER

เผยแพร่ 11 ส.ค. 2563 เวลา 03.16 น. • Thinkers

“เวลาฉันเห็นขาของตัวเองในกระจก

ฉันเห็นความสูญเสีย

แต่เวลาฉันเห็นเหล็กและไททาเนียมที่ขาขวา

ฉันกลับเห็นความเข้มแข็ง”

 

1.

ปี ค.ศ.2004 ร้อยเอกแทมมี ดักเวิร์ธ (Tammy Duckworth) แห่งกองทัพบกปฏิบัติหน้าที่นักบินเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กในสงครามอิรัก แท้จริงแล้วนักรบหญิงคนนี้ไม่เห็นด้วยกับสงครามครั้งนี้อย่างมาก แต่เพราะหลังจากเรียนจบ เพื่อนแนะนำให้เธอเริ่มต้นชีวิตกับการเป็นทหารจะดีกว่า นั่นทำให้หญิงสาวเบนเข็มตัวเองจากเส้นทางนักการทูตสู่เส้นทางนักรบ และตกหลุมรักมันอย่างมาก เมื่อมีสงครามเกิดขึ้น รั้วของชาติจึงต้องไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเพื่อนทหารอาชีพ

ในสงครามอิรัก เธอบินไปกับเฮลิคอปเตอร์ไม่ต่ำกว่า 120 ชั่วโมงในช่วงเวลา 8 เดือนที่ปฏิบัติหน้าที่ จวบจนวันที่ 12 พฤศจิกายนปีเดียวกัน กลุ่มกบฏในอิรักยิงอาร์พีจีใส่เฮลิคอปเตอร์ซึ่งเธอนั่งมา ณ ตอนนั้น ดักเวิร์ธเห็นลูกไฟทันทีที่อาร์พีจีปะทะตัวเครื่อง แล้วแปลกใจว่าทำไมขาเธอไม่สามารถควบคุมที่เหยียบได้

“ฉันพบว่าที่เหยียบในฮอหายไปแล้วพร้อมกับขาของฉัน”

อาการบาดเจ็บของเธอสาหัสเป็นอย่างยิ่ง แต่ตอนนั้นเธอกลับพยายามควบคุมเครื่อง ทั้งที่ระบบเสียหายจากการถูกยิงอย่างมาก อย่างไรก็ดีผู้ช่วยนักบินสามารถพาเครื่องกลับถึงฐานได้อย่างปลอดภัย

เหล่าเพื่อนทหารช่วยกันเอาร่างเธอออกมาจากเฮลิคอปเตอร์ที่เสียหายอย่างหนัก ในเวลาต่อมาดักเวิร์ธจะได้รับบทเรียน 2 อย่างในกองทัพที่ย้ำเตือนเธอไว้เสมอว่า “อย่าทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ไมว่าจะในสนามรบหรือในประเทศตัวเอง และอย่าส่งเพื่อนทหารไปเสี่ยงตายกับภารกิจที่มันไม่คุ้มค่าเด็ดขาด”

ตอนนั้นแพทย์พบว่า แขนขวาของเธอเละไปเกือบหมดเช่นเดียวกับขาขวา ส่วนขาซ้ายนั้นเหลือเพียงแค่ส่วนหัวเข่าเท่านั้น เหตุการณ์นี้ทำให้เธอได้รับเหรียญสดุดี เป็นวีรชน เป็นทหารหญิงคนแรกที่ได้รับบาดเจ็บสูญเสียอวัยวะจากสงคราม เป็นนักสู้ที่ต้องพักฟื้นร่างกายนานเป็นปี จนมีชีวิตรอดกลับมาสร้างเรื่องราวสุดมหัศจรรย์ได้มากมาย

หลายปีต่อมาเมื่อดักเวิร์ธเข้าสู่เส้นทางการเมือง บทเรียนในกองทัพจะได้ย้ำเตือนเธอให้มุ่งมั่นดูแลทหารผ่านศึกให้ได้มีโอกาสประสบความสำเร็จในความฝันแบบอเมริกันซึ่งทหารกล้าเหล่านี้ปกปักรักษามันด้วยชีวิต

 

2.

ตระกูลดักเวิร์ธมีประวัติในสงครามย้อนไปถึงสงครามปฏิวัติอเมริกา พ่อของแทมมีเคยรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะนาวิกโยธิน และในสงครามเวียดนามเขาก็ได้เข้าร่วมสงครามด้วย ในช่วงลาพักกลับประเทศ เขาได้พบการประท้วงต่อต้านสงครามครั้งใหญ่ นั่นทำให้พ่อของแทมมีตัดสินใจใช้ชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าจะกลับไปบ้านเกิด

ขณะที่เขาลาพักรบมาเที่ยวประเทศไทย พ่อของแทมมีได้พบรักกับละมัย สมพรไพลินซึ่งทำงานในร้านขายของชำครอบครัว ทั้งคู่ตัดสินใจคบเป็นคู่ชีวิตและมีแทมมี ซึ่งในตอนนั้น พ่อของเธอทำงานให้กับองค์พัฒนาของสหประชาชาติ ใช้ชีวิตในไทย ซึ่งทำให้หนูน้อยแทมมีพูดไทยคล่องปรื๋อเป็นภาษาเดียวจนถึงตอนอายุ 8 ขวบ ช่วงนั้นครอบครัวของดักเวิร์ธเดินทางไปหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งไปประเทศอื่นมากขึ้น ได้พบเห็นเรื่องราวมากมาย ยิ่งกลับทำให้เธอภูมิใจในความเป็นอเมริกันมากกว่าเดิม

เมื่อพ่อตกงาน แม้ตัวเขาจะไม่อยากกลับอเมริกา แต่เพราะความยากลำบากในการใช้ชีวิต จึงทำให้ครอบครัวดักเวิร์ธต้องกลับไป นับเป็นครั้งแรกที่แทมมีได้เห็นประเทศที่เธอถือสัญชาติเป็นพลเมือง แต่อเมริกาไม่ใช่สถานที่งดงามดังที่ครอบครัวต้องการ ชีวิตวัยเด็กของแทมมีและครอบครัวดักเวิร์ธกลับเต็มไปด้วยความยากลำบาก เธอต้องอดมื้อกินมื้อกับน้องชาย

แต่แม้จะยากลำบาก แทมมีกลับเชื่อมั่นในเรื่องการเรียนหนังสือมาก เธอยอมรับว่ากังวลเรื่องโรงเรียนมากกว่าท้องว่าง จึงต้องหางานทำเพื่อช่วยเหลือครอบครัวและส่งเสียตัวเองในเรื่องการเรียน

สมัยวัยรุ่นแทมมีเคยไปขายดอกไม้ริมถนน ซึ่งเธอบอกว่านับเป็นประสบการณ์ที่สร้างการรับรู้ต่อโลกใบนี้อย่างมาก “ฉันไม่เคยทำงานหนักเหมือนเมื่อตอนที่ครอบครัวเรายากจนที่สุดอีกเลยและถ้าฉันสามารถผ่านมันมาได้ คนอื่นก็ต้องทำได้”

ช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แทมมีได้พบกับสามี ซึ่งเป็นนักศึกษาทุนกองทัพซึ่งจ่ายค่าเทอมให้แลกกับเมื่อตอนเรียนจบต้องสมัครเข้าเป็นทหาร ตอนพบกันครั้งแรก เขาแสดงความไม่เห็นด้วยเรื่องบทบาทผู้หญิงในกองทัพ นั่นทำให้แทมมีไม่พอใจมาก แต่เขาออกปากขอโทษ นั่นทำให้ทั้งสองได้คุยกัน ก่อนตัดสินใจคบหาและเขายังได้สนับสนุนเธอทุกเรื่องนับตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าจะตอนไปรบ ได้รับบาดเจ็บสาหัสมา รวมถึงตอนที่เธอตัดสินใจเบนเข็มตัวเองจากทหารอาชีพสู่นักการเมือง

 

3.

ในช่วงที่แทมมี ดักเวิร์ธพักฟื้นอาการบาดเจ็บจากสนามรบที่ศูนย์การแพทย์วอลเตอร์ รีด ซึ่งเป็นสถานที่รักษาทหารผ่านศึกจำนวนมาก ในช่วงที่รักษาตัวอยู่นั้นเธอเป็นดาวดังเพราะได้รับเหรียญกล้าหาญ เป็นวีรชนแห่งสงคราม จึงมีนักการเมืองมาขอถ่ายรูปจับมือพูดคุยจำนวนมาก อย่างไรก็ดีแทมมี่ได้ปฏิเสธไม่ให้โดนัลด์ แรมเฟลส์ (Donald Rumsfeld) รมว.กลาโหมในสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) พบเด็ดขาด เพราะแม้จะเป็นทหารอยู่ แต่เธอมีความเชื่อเป็นเสรีนิยม และคัดค้านสงครามอิรักตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ที่ศูนย์การแพทย์แห่งนี้ ดักเวิร์ธได้พบกับวุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์พรรคเดโมแครต ดิก เดอร์บินซึ่งมาเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เขาต้องการอาสาสมัครไปเข้าร่วมงานแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดีในสภาคองเกรส ซึ่งแทมมีได้อาสาไป โดยดิกเองได้ให้นามบัตรเธอแล้วบอกว่า หากต้องการความช่วยเหลืออะไรให้โทร.หาได้ทุกเมื่อ

แทมมีเลยโทร.หาวุฒิสมาชิกคนนี้ถี่ๆ เพราะต้องการให้เขาช่วยเหลือทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งบางคนไม่ได้เงินบำนาญ การเรียกร้องในหลายๆ เรื่องต่อเพื่อนร่วมรบเหล่านี้ ทำให้ดิกประทับใจในตัวเธอมาก เพราะแม้จะได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการสูญเสียอวัยวะ แต่ก็ยังทำเพื่อคนอื่น เมื่อส.ส.ของรัฐตัดสินใจเกษียณตัวเอง เขาจึงชวนเธอลงสู่สนามการเมืองทันที ในปี ค.ศ.2006 หรือ 2 ปีหลังได้รับบาดเจ็บในสนามรบ

อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งครั้งแรกจบลงที่เธอพ่ายแพ้คู่แข่งไป แม้จะพ่ายไปเพียงแค่ 5,000 คะแนนเท่านั้น แต่หญิงสาวก็เสียใจมาก แต่เพราะความเป็นนักรบ เป็นนักสู้ เธอจึงมุ่งมั่นในเส้นทางสายการเมือง หลังแพ้เลือกตั้ง แทมมีไปให้คำปรึกษาสายด่วนแก่ทหารผ่านศึก ทั้งดูแลสวัสดิการแก่ทหารเหล่านี้ ปี ค.ศ.2008 อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) แต่งตั้งเธอเป็นผู้ช่วยทบวงกระทรวงทหารผ่านศึกเพื่อดูแลทหารกล้าที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเป็นทางการมากขึ้นพร้อมเรียนรู้วิถีทางการเมืองด้วย

หลังจากเคี่ยวกรำพรรษาทางการเมืองมาสักพัก 6 ปีหลังแพ้เลือกตั้งครั้งแรก ในปี ค.ศ.2012 เธอจึงชนะเลือกตั้งได้เป็นส.ส.เข้าสู่สภา ข่าวดียังมาไม่หยุด 2 ปีของการเป็นส.ส.ในปี ค.ศ.2014 ด้วยวัย 46 ปี แทมมีจึงมีลูกคนแรกหลังจากผ่านการทำเด็กหลอดแก้วมาหลายครั้ง นับเป็นผู้แทนคนแรกที่มีลูกระหว่างการดำรงตำแหน่ง

หลังจากเข้าสู่เส้นทางผู้แทนสภาล่าง ในปี ค.ศ.2016 เธอจึงก้าวสู่สนามต่อไปหลังโค่นคู่แข่งจากพรรครีพับลิกันซึ่งได้ตำแหน่งวุฒิสมาชิกต่อจากอดีตประธานาธิบดีโอบามา นั่นทำให้ตอนนี้แทมมี ดักเวิร์ธ เป็นวุฒิสมาชิกแห่งรัฐอิลลินอยส์จวบจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตัวดักเวิร์ธเองได้รับการจับตาและถูกยกให้เป็นตัวเต็งที่มีโอกาสจะได้เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต เธอมีโอกาสสูงที่จะได้จับมือกับโจเซฟ ไบเดน (Joseph Biden) ลงสนามเลือกตั้งท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 เพื่อโรมรันยึดประเทศคืนจากโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อีกด้วย

 

4.

เดิมทีสื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสนใจแทมมี ดักเวิร์ธในการเป็นตัวเต็งที่จะได้รับเลือกจากโจ ไบเดนให้มาเคียงคู่เป็นรองประธานาธิบดีในสนามเลือกตั้งปีนี้เท่าไหร่นัก เพราะแม้ไบเดนจะยืนยันว่ารองประธานาธิบดีของเขาจะต้องเป็นผู้หญิง แต่เกจิต่างคาดว่า ผู้หญิงที่มาลงสนามชิงรองประธานาธิบดีนั้น น่าจะเป็นคนดำมากกว่า

แต่เมื่อกวาดตามองตัวเต็งในพรรคเดโมแครตแล้ว แทบจะหาความเหมาะสมได้ยากมาก เพราะบางคนก็ดูมีนโยบายที่ค้านกับโจ ไบเดน บางคนมีแนวคิดทางการเมืองได้ แต่ก็ไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง

ดังนั้นเมื่อหาคนที่เหมาะสมยาก ทีมงานของโจ ไบเดนก็เริ่มหันมาสนใจตัวของแทมมี ดักเวิร์ธทันที และยังพบข้อดีของเธอหลายเรื่อง โดยข้อแรกด้วยความเป็นทหารผ่านศึกที่ผ่านสนามรบ มันเสริมภาพลักษณ์แทมมีและโจ ไบเดนได้อย่างมาก บทบาทของเธอเองน่าจะถูกใจฐานเสียงทหารผ่านศึกหลายคนที่เคยโหวตให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งก่อนและไม่อยากโหวตเลือกอีกแล้ว แต่ก็ทำใจไปเลือกพวกนักการเมืองหัวก้าวหน้าไม่ลง ซึ่งปูมหลังในกองทัพและเกียรติประวัติในสมรภูมิน่าจะทำให้ทหารผ่านศึกจำนวนมากเอนเอียงไปทางพรรคเดโมแครตเพราะมีแทมมีลงสมัครก็เป็นได้

ยังไม่นับว่าเธอเป็นผู้หญิงตรงกับโจทย์ของทีมงานโจ ไบเดน และแม้จะไม่ใช่คนดำ แต่ก็ไม่ใช่คนขาว แถมแทมมียังเป็นคนที่เข้าใจความหลากหลายในสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างดีจากภูมิหลังในอดีต และมีความเห็นในนโยบายหลายอย่างใกล้เคียงกับโจ ไบเดนอีกด้วย

ความลงตัวนี้เองที่ทำให้เธอมีโอกาสสูงมากจะได้รับเลือกให้มาเคียงคู่โจ ไบเดนในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งตอนนี้เธอผ่านการสัมภาษณ์จากทีมงานโจและได้ส่งเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเธอให้กับทีมงานเรียบร้อยแล้ว

เรียกได้ว่ามีลุ้นอยู่ทีเดียว

อย่างไรก็ดีจุดอ่อนของแทมมีจะอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจกับเรื่องตำรวจ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในอเมริกาตอนนี้ ทั้งสองเรื่องเป็นนโยบายที่เธอไม่ได้ผลักดัน หรืออาจผลักดันได้ไม่โดดเด่นเท่ากับเรื่องทหารผ่านศึก หรือการปกป้องคนพิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอมุ่งมั่นทำมาตลอด ดังนั้นทีมงานของโจ ไบเดนจึงต้องพิจารณาให้รอบด้านคำนึงถึงผลได้ผลเสีย เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ.2020 นี้มีเดิมพันครั้งสำคัญถึงขนาดทั้งโลกต้องจับตา หากเดินหมากพลาดแม้จะเป็นต่อ ก็อาจพลิกแพ้ทั้งกระดานเลยก็เป็นได้

 

5.

แทมมี ดักเวิร์ธ หญิงสาวเชื้อสายไทย รูปร่างคล้ายคนเอเชีย สัญชาติอเมริกา มีพ่อเป็นนาวิกโยธินหน่วยรบอันเลื่องชื่อ กับชีวิตวัยเด็กที่เดินทางไปหลายประเทศ เห็นภัยก่อการร้าย เห็นความยากลำบากของชีวิตครอบครัว ต่อสู้ผลักดันตัวเองจนเรียนจบมหาวิทยาลัย สมัครเป็นทหาร อาสาออกรบ ได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียอวัยวะ เป็นคนพิการ จมอยู่กับความสูญเสีย ป่วยปวดร้าวจากภัยของสงคราม จนยืนหยัดมาเป็นผู้แทนของประชาชนในวันนี้

ครั้งหนึ่งเธอเล่าว่าคนจำนวนมากเคยร้องขอให้บังวิลแชร์ยามอยู่ที่สาธารณะ แต่เธอปฏิเสธ เพราะเธอย้ำว่าวิลแชร์นี้ไม่ได้แตกต่างอะไรจากเหรียญกล้าหาญบนอกของเธอ ดังนั้นทำไมเธอจะต้องซ่อนมันด้วยล่ะ

สิ่งที่เธอทำคือการบอกว่าความพิการไม่ใช่เรื่องน่าอาย บาดแผลแห่งสงครามไม่ควรเป็นเรื่องปิดบัง เพราะมันคือการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ไม่มีอะไรที่ต้องปิดบัง เพราะมันคือการเผยให้เห็นความจริงอีกด้านของสงครามด้วย

นี่คือหญิงสาวผู้มุ่งมั่นไม่ยอมจำนน ไม่ว่าจะในสนามรบ สนามการเมือง หรือสนามชีวิต นี่คือมนุษย์คนหนึ่งที่เรียกร้องให้เพื่อนมนุษย์คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าผลสุดท้ายโจ ไบเดนจะเลือกใครเป็นคู่หูรองประธานาธิบดี แต่เส้นทางของแทมมีบนสมรภูมิการเมืองนี้ จะยังคงดำเนินต่อไป แถมยังดูมีโอกาสพอสมควรในอนาคตกับตำแหน่งที่มากไปกว่าวุฒิสมาชิก หรือรองประธานาธิบดี

เส้นทางของเธอยังไม่จบสิ้นและคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แบบน่าจับตาอย่างแน่นอน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0