โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

งมคันฉ่องโบราณจากแม่น้ำเพชรบุรี พบชิ้นใหญ่-ชิ้นเล็กห่างกัน 5 ปีแต่ประกบกันได้พอดี

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 26 ก.พ. เวลา 06.15 น. • เผยแพร่ 25 ก.พ. เวลา 08.05 น.
ภาพปก-สำริด
คันฉ่องสำริดที่งมได้จากแม่น้ำเพชรบุรี

งม “คันฉ่องสำริด” โบราณจาก “แม่น้ำเพชรบุรี” พบชิ้นใหญ่-ชิ้นเล็กห่างกัน 5 ปีแต่ประกบกันได้พอดี

เรื่องราวเมืองเพชรบุรีในอดีต นอกจากจะมีกล่าวถึงในเอกสารจำนวนมากแล้ว โบราณวัตถุและโบราณสถานตามวัดวาอารามก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นแหล่งความรู้ที่อธิบายถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของเมืองได้เป็นอย่างดี

บัดนี้ ผมได้พบว่า “แม่น้ำเพชรบุรี” ก็เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เพราะมีสมบัติอันเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมากเก็บงำอยู่ ทุกวันเมื่อมีผู้งมพบและนำขึ้นมาได้ ก็จะนำมาให้ผมดู เพื่อหาความรู้ว่ามันเป็นอะไรและใช้ทำอะไร บางชิ้นผมก็ตอบได้ แต่บางชิ้นก็ต้องคิดเดาตามแต่จะเล็งเห็น ซึ่งทำให้ผมต้องศึกษาตรวจสอบ และทำให้พลอยได้ความรู้เพิ่มขึ้น

หลักที่ผมนำมาให้เป็นแนวคิด คือต้องหาคำตอบให้ได้ถึงหน้าที่ (function) ของวัตถุชิ้นนั้น ก็เป็นหลักที่อาจารย์พะนอมบอกไว้ในวงเล่านั่นเอง

เมื่อประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ครูเจี๊ยบ (คุณกิตติพงษ์ พึ่งแตง) ได้นำวัตถุโบราณชิ้นหนึ่ง (ที่งมได้ในแม่น้ำเพชรบุรี แถวๆ วัดป่าแป้น อำเภอบ้านลาด) มาให้ดูและหารือว่าเป็นอะไร

คันฉ่อง สำริด สมัย ราชวงศ์ถัง
คันฉ่อง สำริด สมัย ราชวงศ์ถัง

แม้จะมีอยู่ซีกเดียว ก็พอจะประมาณได้ ว่าเดิมเป็นแผ่นกลม ด้านหนึ่งขัดเรียบ อีกด้านเป็นลายเครือเถาองุ่น มีนก ตรงกลางน่าจะเป็นหูร้อยรูปเต่าหรือรูปกบ มีทรายเกาะติดแน่นอยู่ทั่วไป จำได้ว่าผมเคยเห็นวัตถุชนิดนี้ที่แกะคอลเล็กชั่น นครศรีธรรมราช เคยได้รับคำถามว่า พบที่เมืองเพชรบุรีบ้างหรือไม่? ผมบอกว่าผมไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบ ได้จำติดใจมานาน จึงตอบครูเจี๊ยบไปว่า เป็นชิ้นส่วน “คันฉ่องสำริด” ของจีนโบราณ เป็นวัตถุหายากและไม่ได้เป็นของใช้ของคนทั่วไป เป็นของส่วนตัวของบุคคลชั้นสูง ไม่เคยนึกว่าจะพบที่เพชรบุรี และขอให้คุณเจี๊ยบไปค้นหารายละเอียด

สองสามวันถัดมา คุณเจี๊ยบเอารูปที่สมบูรณ์ (ก็ได้จากกูเกิลแหละครับ) มาให้ดูเป็นการเปรียบเทียบ จึงได้ทราบว่า คันฉ่องสำริด รูปลักษณ์อย่างนี้ เป็นของสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907 หรือ พ.ศ. 1161-1450) อันเป็นสมัยที่จีนเริ่มผลิตเหล้าองุ่น

คันฉ่อง สำริด สมัย ราชวงศ์ถัง
คันฉ่อง สำริด สมัย ราชวงศ์ถัง

ลวดลายที่ปรากฏทางด้านหลังของคันฉ่อง นักโบราณคดีอธิบายว่า จะบ่งบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม ความคิด ตลอดจนความรู้ร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี

อนึ่งมีวาทะที่สำคัญของฮ่องเต้ ในราชวงศ์ถังพระองค์หนึ่ง ที่นักปกครองสมัยหลังมักจะอ้างอิงถึง คือเปรียบประชาชนเหมือนน้ำ ผู้ปกครองคือเรือ น้ำทำให้เรือลอยได้และทำให้เรือจมเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นปรัชญาระดับสูง

ที่น่ามหัศจรรย์ใจอย่างที่สุด ที่เมื่อเดือนตุลาคม (วันที่ 29 ตุลาคม 2558) มีผู้นำชิ้นส่วนคันฉ่องที่งมได้ในแม่น้ำเพชรบุรี แถวหน้าวัดป่าแป้นมาให้ดู ปรากฏว่าสามารถนำประกบกับชิ้นส่วนเดิมได้อย่างพอดิบพอดี เป็นอันว่าหลักฐาน “คันฉ่องสำริด” สมัยถังที่สมบูรณ์ ได้พบใน “แม่น้ำเพชรบุรี” แล้ว นอกจากนั้นยังพบตุ๊กตาและอีแปะสมัยถังอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “วัตถุทางวัฒนธรรม” เขียนโดย ล้อม เพ็งแก้ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2561

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : งมคันฉ่องโบราณจากแม่น้ำเพชรบุรี พบชิ้นใหญ่-ชิ้นเล็กห่างกัน 5 ปีแต่ประกบกันได้พอดี

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0