โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความเชื่อ - ศุ บุญเลี้ยง

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 22 เม.ย. 2563 เวลา 05.07 น. • ศุ บุญเลี้ยง

ไม่เชื่อไม่ใช่จะลบหลู่

 

มีน้องคนหนึ่งไปเที่ยวเกาะหนแรก เจอลมแรง 

พอไปครั้งที่สองเจอลมกระโชกอีก คราวนี้จึงเกิดความเชื่อว่าที่ภูเก็ตนั้นลมพัดแรง

จะบอกว่าความเชื่อของเธอผิดก็คงจะไม่ได้

เพราะประสบการณ์ที่เธอประสบมานั้น ภูเก็ตลมพัดแรงจริงๆ

หรือใครเคยมากรุงเทพตอนสงกรานต์ แล้วบอกว่า กรุงเทพรถไม่ติด ก็คงไม่ผิดเช่นกัน

 

คนจำนวนมากจึงเชื่อว่าหงส์เป็นสีขาวและหยกเป็นสีเขียว

เพราะหงส์ส่วนใหญ่ที่เคยพบเคยเห็นมักจะเป็นสีขาว

จนกระทั่งเขาไปพบเห็นหงส์สีดำ 

บัดนั้นหงส์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสีขาว 

และเมื่อได้พบหยกสีอื่นๆ จึงจะเข้าใจได้ว่าหยกอาจมีหลากสีสัน

สิ่งเหล่านี้เรียกว่าความเชื่อไม่ใช่ความโง่

กว่าจะรู้ว่าภายในเปลือกแตงโมสีเขียวอาจมีเนื้อแตงโมสีเหลืองก็ต้องใช้เวลา

ดังนั้นเมื่อมีใครบอกว่า การเดินทางท่องเที่ยวทำให้ได้ประสบการณ์

และประสบการณ์ทำให้เกิดการเรียนรู้

ก็อยากจะเติมอีกนิดนึงว่า ประสบการณ์อาจทำให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจอันผิดพลาดก็ได้

เพราะ สิ่งที่ก่อประโยชน์จริงๆ อาจไม่ใช่แค่ประสบการณ์ แต่คือการสังเคราะห์ข้อมูลซึ่งรับเข้ามาต่างหาก

เหมือนเราโดนแดดกับต้นไม้ได้แดด

เราโดนแดดมากๆ ผิวอาจจะดำหรือเป็นฝ้า แต่ต้นไม้ ใบไม้ กลับได้อาหาร เพราะสังเคราะห์แสงได้

และบางคราเราก็มีความเชื่อผิดๆ ว่าแสงแดดเป็นสาเหตุทำร้ายผิวเรา โดยไม่รู้ว่าแสงแดดก็มีคุณค่ามากมายกับร่างกายมนุษย์ 

โดยเฉพาะแดดอ่อนๆ ตอนเช้า ย่อมให้วิตามินกับร่างกายเราได้เช่นกัน

 

กระบวนการซึ่งใช้แสวงหาคำตอบ (หรือตรรกวิทยา) จึงเป็นสิ่งจำเป็น ต่อการศึกษาเรียนรู้ของมนุษย์ในทุกสาขาวิชาและทุกสรรพอาชีพ

 

ในสมัยกลาง(สมัยก่อน) ปรากฏว่าเมื่อเกิดกาฬโรคระบาดขึ้น ประชาชนได้พากันเบียดเสียดเข้าไปในโบสถ์เพื่อสวดอ้อนวอนพระเจ้า โดยคิดว่าความดีของพวกเขาคงจะทำให้พระเจ้าประทานความกรุณา เพื่อให้พ้นจากทุกข์ภัย  แต่ความจริงการแออัดกันในที่ซึ่งมีระบบอากาศถ่ายเทไม่ดีพอ  ก็เป็นเงื่อนไขทำให้โรคระบาดติดต่อได้

(จากหนังสือศิลปะการคิดหาเหตุผล  เขียนโดย เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์)

 

อ่านจากหนังสือรางวัลซีไรต์เรื่องลูกอีสาน ของคำพูน เขียนเล่าไว้ว่า

 

……ตอนเยาว์วัยได้เห็นมีคนหนึ่งถือไม้แส้ตีปู่ที่นอนร้องอยู่ขวับๆ แล้วเอาน้ำลงรดตามตัวปู่เสียงซู่ๆ  มีเสียงคนถือแส้ตีปู่ว่า มึงบ่กินน้ำมนต์ก็อาบเสีย มึงเป็นผีปอบตัวไหนชื่ออะไรบอกมาไวๆ คูณเห็นปู่ลุกพรวดขึ้นนั่งแล้วคูณวิ่งลงไปยืนฟังอยู่ใต้ถุน มีเสียงปู่พูดขึ้นดังๆว่า บ่แม่นผีปอบมากินตับกู กูเป็นไข้ป่าเพราะกูเดินไปโคราช พอแล้ว อย่าอาบน้ำให้กู….

( คำพูนบุญทวีเขียนไว้ โดยขึ้นต้นว่า 47 ปีครั้งกระโน้น…และตีพิมพ์มาหลายหน จนผู้ประพันธ์เสียชีวิตไปแล้ว )

 

แต่ครั้งกระนี้ ค.ศ.2020  หมู่บ้านในภาคอีสานก็ยังเชื่อว่ามีผีปอบและที่ร้ายยิ่งกว่าผีปอบคือวิธีกำจัด

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ผู้ใหญ่บ้านจะไปเชิญอาจารย์จับผีปอบมา โดยคนที่อยู่ในหมู่บ้านจะต้องช่วยกันออกเงินทุกครอบครัว เอามารวมๆกันเป็นค่าจ้างเพราะถือว่าเป็นงานของส่วนรวม 

วิธีจับผีก็หาดูได้ในสารคดีที่เขาเอามาออกทีวี  คือไขว่คว้าอากาศแล้วเอายัดลงในกระบอกปิดฝา

บางทีรับเงินไปแล้วก็บอกว่า ผีปอบที่นี่แยะเกินกว่าจับได้หมดในคราวเดียว ยังเหลืออีก ซึ่งต้องกลับมาจับใหม่  และต้องเก็บเงินคนในชุมชนนั้นเพิ่มอีกสำหรับการมาจับผีใหม่คราวหน้า

ความเชื่อแบบนี้บางทีก็สูบกินชุมชนยิ่งกว่าผีปอบ

 

ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อแล้วก็อย่าลบหลู่

แต่การแสวงหาจนพบคำตอบใหม่ๆไม่ใช่งมงายอยู่กับความเชื่อเดิมๆนอกจากไม่ใช่การลบหลู่แล้วยังทำให้เราได้ชื่นชมสติปัญญาและความสามารถของมนุษย์ต่างหาก

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากศุ บุญเลี้ยง ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่นได้ที่เพจศุ บุญเลี้ยง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0