โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความน่าจะอ่าน 2020 : ในปีที่สาหัสแบบนี้ เรายังมีความหวังกันอยู่ใช่ไหม

The101.world

เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 03.44 น. • The 101 World
ความน่าจะอ่าน 2020 : ในปีที่สาหัสแบบนี้ เรายังมีความหวังกันอยู่ใช่ไหม

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ชุติกาญจน์ บุญสุทธิ ภาพ

 

ตั้งแต่เปิดศักราช 2020 จนถึงวันนี้ ยังไม่ทันบรรจบครบหนึ่งปีดี กลับมีเรื่องราวมากมายให้หลายคนนอนไม่หลับ (ซึ่งอาจเป็นเพราะเครียด หรือเพราะเข้มข้นจนเลิกติดตามไม่ได้ก็แล้วแต่) จัดหนักทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในอีกหลายเดือนข้างหน้า

มากกว่าครึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราโดยตรง ยกตัวอย่างแค่โควิด-19 และการล็อกดาวน์ก็ทำให้ผู้คนบอบช้ำกันอย่างถ้วนทั่ว แต่อย่างน้อย ท่ามกลางความหนักหนาสาหัส เรายังมีหนังสือและมิตรรักนักอ่านคอยเป็นเพื่อนปลอบประโลมกัน โปรเจ็กต์ #ความน่าจะอ่าน ในปีนี้ – ปีที่ 4 จึงกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับลิสต์หนังสือในปีแสนสาหัส จากเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ นักวาดภาพประกอบกว่า 60 คน และสุดยอดหนังสือขวัญใจมหาชนจากกองทัพนักอ่านอย่างเราๆ ท่านๆ อีกนับร้อยนาย

เช่นเคย ตามธรรมเนียมส่งท้ายหลังเสร็จสิ้นการประกาศผล เราจะมานั่งล้อมวงจับเข่าคุยความเป็นไปในแวดวงหนังสือ เทรนด์ความสนใจของนักอ่าน ซึ่งสะท้อนผ่านหนังสือยอดนิยมประจำปี 2019-2020 เมื่อ Top Highlights ของปีนี้ เน้นหนักไปทางวรรณกรรมการเมืองและสังคมเสียกึ่งหนึ่ง เราจึงเชิญ นิวัต พุทธประสาท ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม และ Alternative Writers ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และผู้เขียนหนังสือ 'ศาลรัฐประหาร : ตุลาการ ระบอบเผด็จการและนิติรัฐประหาร' ทราย เจริญปุระ เจ้าของคอลัมน์ 'รักคนอ่าน' ในมติชนสุดสัปดาห์ และธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หรือ สะอาด นักวาดการ์ตูนเจ้าของผลงาน 'การศึกษาของกระป๋องมีฝัน' มาร่วมพูดคุย ตีความนัยของการอ่าน และค้นหาความหวังในปีที่ดูเหมือนจะมืดแปดด้านสำหรับประชาชนคนไทย

 

 

อ่านเถอะสหาย อ่านเพื่อคลายความสงสัย

 

ในฐานะที่นิวัตเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้โหวตหนังสือสำหรับโปรเจ็กต์ความน่าจะอ่านมาอย่างต่อเนื่อง วงเสวนาจึงเริ่มต้นด้วยการมองย้อนเทรนด์นักอ่านและรายชื่อหนังสือในปีที่ผ่านๆ มา

“ช่วงแรก เราใช้วิธีคัดเลือกหนังสือดีที่ผู้อ่านอาจจะละเลยมันไป ทั้งวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล หรือแม้แต่ non-fiction มาเสนอ แต่ช่วงหลังเราเปลี่ยน เพราะได้เห็นอารมณ์การคัดเลือกหนังสือจากผู้อ่านอีกแบบหนึ่ง ได้เห็นว่าคนเลือกอ่านหนังสือที่เข้ากับสถานการณ์การเมืองและสังคม สนใจแนว non-fiction กันมากขึ้น” นิวัตมองว่า ลิสต์ความน่าจะอ่านทำให้หลายสำนักพิมพ์สามารถนำข้อมูลความสนใจไปต่อยอดในการผลิตหนังสือ – โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลให้หนังสือออกใหม่มีโอกาส ‘แป้ก’ สูงมาก พร้อมๆ กับทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือ ‘แนวที่ใช่’ สำหรับตนเองเล่มอื่นๆ

 

 

สิ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน คือ ปรากฏการณ์ที่เด็กวัยรุ่นเริ่มหันมาอ่านหนังสือ non-fiction งานวิชาการเข้มๆ หนักๆ เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นกระแสที่เริ่มมองเห็นมาตั้งแต่ความน่าจะอ่านปีก่อน และตอนนี้ ก็ขยายวงกว้างกว่าเดิม ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม

ใช่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่มีที่มาที่ไปเสียทีเดียว ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเทรนด์การอ่านของวัยรุ่นไว้ 4 ข้อ โดยข้อแรก การอ่านบ่งบอกว่าคนรุ่นใหม่กำลังฉงนสงสัยกับความเป็นไปของประเทศ

“คนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมสมัย กำลังตั้งคำถามว่าประเทศไทยเดินทางมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร ทำไมกองทัพของประเทศมีงบประมาณมหาศาลในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ทำไมมีการยกเว้นความผิด ทำไมเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่างๆ จนเรียกได้ว่าทุกพรมแดน ทุกอณูของประเทศต้องมีกองทัพเข้าไปยุ่งเกี่ยว ตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม องค์กรตุลาการ การเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงการใช้จ่ายของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

“เมื่อเขาตั้งคำถาม เขาก็อยากรู้คำตอบ ซึ่งนำไปสู่ข้อสังเกตของผมข้อที่สอง คือระบบการศึกษาแบบเป็นทางการไม่ตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา ไม่เอื้ออำนวยการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริง มันเป็นความจริงเพียงหนึ่งเวอร์ชันของรัฐไทยเท่านั้น เขาอ่านดู ก็รู้ว่าไม่น่าใช่ ทำให้เขาต้องไปค้นหาหนังสือเหล่านี้ที่มีคนแนะนำกันมา”

ข้อที่สาม คือ หนังสือที่มีองค์ความรู้บางอย่างร่วมสมัย ทำหน้าที่รับใช้บริบททางการเมืองและสังคมมีโอกาส ‘เกิดใหม่’ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ยกตัวอย่าง งานของจิตร ภูมิศักดิ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือกระทั่งงานเขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ที่แม้จะถูกตีพิมพ์มานาน แต่ก็สามารถหวนคืนสู่กระแสนิยมได้อีกครั้งในห้วงเวลาที่บรรยากาศการเมืองเข้มข้นขึ้นทุกวัน

“ประการสุดท้ายคือ ความนิยมในหนังสือมักสะท้อนถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นๆ” ปิยบุตรกล่าว พร้อมตบท้ายว่าความสนใจของนักอ่านรุ่นใหม่ขณะนี้ คือโอกาสของสำนักพิมพ์ที่ผลิตงานเขียนแนวการเมืองและวิชาการ อย่างฟ้าเดียวกัน, Bookscape, Illuminations Editions, มติชน สมมติ ฯลฯ

 

 

ด้านทราย เจริญปุระ เห็นด้วยว่าเทรนด์การอ่าน non-fiction ของเด็กวัยรุ่นตอนนี้เกิดจากการตั้งคำถามต่อสภาพการเมืองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเมืองในวันวานที่พวกเขายังเป็นเด็กไม่รู้เดียงสา บวกกับการเข้ามาของโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องล็อกดาวน์ อยู่ติดบ้าน หลายคนได้แต่เข้าโซเชียลฯ ไถหน้าฟีดทวิตเตอร์ จนถูกประเด็นร้อนในโลกออนไลน์พัดพาไปรวมกลุ่มกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีหนังสือรองรับหัวข้อความสนใจแต่ละเรื่องไว้อยู่แล้ว

“ความสนุกของการอ่านของเด็กๆ ตอนนี้ คือ อ่านหนังสือเพื่อ serve ความคิดของตัวเอง ไม่ใช่แค่การเมือง แต่ยังรวมถึงประเด็นสังคม เฟมินิสต์ สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรมป็อป” ทรายกล่าว

“เรียกได้ว่า ตอนนี้การอ่านงานวิชาการถือเป็น ‘ความป็อป’ อย่างใหม่”

 

สปิริตแห่งยุคสมัย ความขบถในใจที่อยากปลดปล่อย

 

แม้กระแสความป็อปของหนังสือ non-fiction กำลังมาแรง แต่หนังสือเล่มที่ ‘แซงทุกโค้ง’ จนติดลิสต์ Top Hightlights ควบรางวัลขวัญใจมหาชนในโปรเจ็กต์ความน่าจะอ่าน กลับเป็นการ์ตูน 'การศึกษาของกระป๋องมีฝัน' ของ ‘สะอาด’ หรือ ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

ทำไมหนังสือการ์ตูนที่มักถูกมองว่ามีกลุ่มผู้อ่านหลักเป็นเด็ก แถมยังเขียนเกี่ยวกับการศึกษา ถึงได้ครองใจใครหลายคนในช่วงเวลาที่การเมืองกำลังร้อนแรง?

“ทุกคนมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของประสบการณ์ในระบบการศึกษาที่เราผ่านมา ทำให้เขาเชื่อมโยงกับคอนเทนต์ในหนังสือค่อนข้างง่าย” ธนิสร์ออกความเห็น เขายกตัวอย่างเรื่องโดนครูทำร้ายร่างกาย ทุกคนล้วนรู้สึกว่าเคยโดน และอยากจะเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านหนังสือ กลายเป็นการรีวิวปากต่อปาก

“ท่าทีของหนังสือที่เราเขียนยังมีความขบถบางอย่าง เราพรีเซนต์ความขบถในห้องเรียน หรือประสบการณ์ที่มีอาจารย์มาสอนให้เราขบถ ซึ่งมันไปสอดคล้องกับสปิริตของยุคสมัย เหมือนตอนนี้ทุกคนถูกบังคับให้อยู่ในกรอบบางอย่าง รัฐบอกให้เราเป็นกระป๋องในบางแง่ แล้ววันหนึ่งเราก็รู้สึกได้ว่าตัวเองไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบแบบนี้ สปิริตแบบนี้อาจจะสอดคล้องกับความร้อนแรงของประชาชนตอนนี้ก็เป็นได้” เจ้าของผลงานเดาใจคนอ่านด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ

 

 

นับเป็นเหตุผลที่มีมูลอยู่ไม่น้อย เพราะหนังสืออีกเล่มในลิสต์ Top Highlights ของปีนี้ '100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว' ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็เป็นหนังสือที่ “มีเนื้อหาสอดแทรกความขบถ ต่อต้าน และขัดขืนเอาไว้ตลอดเวลา” ตามคำของปิยบุตร

หากให้ยกตัวอย่างเนื้อหาเหล่านั้น คงเริ่มตั้งแต่ที่ตัวละครอพยพไปสร้างชุมชนใหม่และปกครองตนเอง แม้รัฐจะพยายามเข้าไปกะเกณฑ์ผ่านการส่งนายอำเภอเข้าไปดูแล แต่ชาวบ้านก็พากันขัดขืน ไม่ยอมรับ จนเกิดการเจรจาระหว่างคนในชุมชนและคนของรัฐ

“ประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากคือ คุณจะมาเขียนกระดาษอะไรแล้วอ้างเป็นคำสั่งไม่ได้ ชุมชนเราไม่เคยปกครองกันด้วยกระดาษ เราตกลงร่วมกัน ผมว่านี่สะท้อนถึงกฎหมาย ทุกวันนี้เราอยู่กันแบบยอมรับกฎหมาย ทั้งที่จริงๆ แล้วมันก็คือเศษกระดาษแผ่นเดียว เป็นสิ่งสมมติที่เราเชื่อว่ามันมีอำนาจ”

ในขณะเดียวกัน.. “เมื่อไรก็ตามที่เราเลิกเชื่อว่ามันมีอำนาจ อำนาจก็จะทำอะไรไม่ได้”

ปิยบุตรยังเล่าถึงประเด็นอื่นๆ ที่เขาประทับใจ ได้แก่ เส้นทางสู่การเป็นนักปฏิวัติของตัวละครเอกซึ่งเกิดจากการเห็นคนโกงการเลือกตั้ง เห็นทหารประกาศกฎอัยการศึก อุ้มฝ่ายต่อต้านไปสังหารทิ้ง และการที่มีตัวเอกหญิงคนหนึ่งคอยแก้ปัญหาซึ่งเกิดจากผู้ชายเกือบตลอดทั้งเรื่อง ก่อนสรุปหัวใจสำคัญที่เขามองเห็นจากวรรณกรรมเล่มนี้ คือ ชื่อและการช่วงชิงอำนาจทางความคิด

“มีประโยคหนึ่งที่กุมหัวใจของหนังสือเล่มนี้ไว้ ใจความว่า ในโลกที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน มีสิ่งของที่ยังไม่มีชื่อจำนวนมาก ความที่ไม่มีชื่อ ทำให้เมื่อมนุษย์อยากทำความรู้จัก ก็ได้แต่เอานิ้วชี้ไป

“มันสะท้อนกลับมาที่โลกความเป็นจริง ว่ายังมีสิ่งของจำนวนมากที่ยังไม่มีใครเข้าไปยึดกุม สถาปนาความคิด การที่เราเข้าไปสถาปนาความคิด ตั้งชื่อให้กับสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายจะเกิดการต่อสู้ทางความคิดผ่านสิ่งเหล่านั้น

“เวลาต่อสู้ทางการเมือง ชัยชนะไม่ได้วัดแค่ใครมีปืน มีเสียงมากกว่า แต่เป็นการเปลี่ยนความคิดจิตใจคน การต่อสู้ทางการเมืองจึงเป็นการช่วงชิงพื้นที่ ช่วงชิงความหมายแบบนี้เช่นกัน” ปิยบุตรอธิบาย

“หนังสือเล่มนี้ในมุมของผม แสดงให้เห็นการต่อต้านขัดขืน และรณรงค์ว่าโลกนี้ยังมีพื้นที่อีกมากมายให้เราไปต่อสู้ช่วงชิง”

นอกจากมวลแห่งความขบถและการต่อสู้ที่อบอวลทั่วเล่มแล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ที่ทราย เจริญปุระมองเห็น คือการเป็นเรื่องเล่าของคนกลุ่มเล็กๆ ขยับขยายไปสู่ชุมชน และภูมิภาค คล้ายคลึงกับหนังสือที่เธอชื่นชอบอีกเล่ม คือ 'กระทรวงสุขสุดๆ' ของอรุณธตี รอย ซึ่งเริ่มต้นจากกลุ่มคนชนชั้นล่างสุด ไร้ตัวตนสุดในอินเดีย แล้วเกี่ยวเนื่องไปยังสภาพสังคม วัฒนธรรม การเมืองของอินเดียทั้งประเทศ

“การเล่าเรื่องมาในรูปแบบหลากหลาย ทั้งจดหมาย หัวข้อข่าว เรื่องเล่า ความฝัน มีนับร้อยวิธีในหนังสือเล่มเดียวที่เล่าถึงเส้นทางความเป็นชาติของชาติหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยคนที่แตกต่างกัน”

นั่นทำให้สิ่งทื่ทรายสัมผัสได้จากการอ่านเรื่องราวอันละเอียดลออในอินเดีย คือ เนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์

“มนุษย์ทุกคนไม่ใช่ตำราเดินได้ มนุษย์ทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว ในทุกๆ การเคลื่อนไหว มันบวกอารมณ์เข้าไปด้วยเสมอ บางเรื่องก็เกิดจากความสั่นไหวและเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่ามันไม่มืออาชีพเลย เป็นแค่เรื่องส่วนตัวแท้ๆ แต่สุดท้าย ทรายเชื่อว่า คนเราก็ขับเคลื่อนด้วยเรื่องส่วนตัวและอารมณ์ ผลักทุกอย่างให้ใหญ่ขึ้น จนรวมกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกัน และคนที่ไม่ชอบเหมือนกัน”

 

 

การสอดแทรกประวัติศาสตร์จริงลงในเนื้อเรื่อง ผ่านการเล่าด้วยน้ำเสียงของผู้คน ยังทำให้คนอ่านต้องหันกลับมามองประวัติศาสตร์ของชีวิตเราเอง

“มันทำให้เรารู้สึกว่า ในวันนี้เราอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์ทั้งหมด ในไทม์ไลน์ช่วงที่เรามีชีวิตอยู่จะสั่นสะเทือนอะไร หรือถูกบันทึกไว้หรือเปล่า เราจะเป็นคนทำให้ประวัติศาสตร์เคลื่อนไปข้างหน้า ถอยหลัง หรืออยู่เฉยๆ เป็นแค่หมุดตัวหนึ่งกันแน่” ทรายตั้งคำถามทิ้งเอาไว้ ก่อนที่วงเสวนาจะเคลื่อนไปสู่การพูดคุยถึงวรรณกรรมไทย ซึ่งนิวัตได้แนะนำหนังสือ 2 เล่ม คือ'ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ' ของภาณุ ตรัยเวช และ 'ซิมโฟนียังบรรเลง' ของสันติสุข กาญจนประกร

“ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ เล่มนี้ ผมคิดว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดของภาณุเลยทีเดียว” นิวัตชื่นชม “ภาณุมีฝีมือการเขียนดีมากๆ โดยเฉพาะการผสมผสานประวัติศาสตร์และการเมืองลงในเนื้อหาได้แนบเนียน ผสมกลิ่นอายแบบไทยเข้ากับยุโรปเข้าด้วยกัน ผมถือว่านักอ่านต้องเล่มนี้

“ส่วนซิมโฟนียังบรรเลง เล่าเรื่องของผู้ชายที่ประสบปัญหาชีวิตในวัยเด็ก ความสงสัยต่อการเมือง ระบบยุติธรรมที่เขาได้เจอ เป็นหนังสือการเมืองที่ไม่การเมืองจ๋า เล่านิ่งๆ แต่เหมือนระเบิดของนักเขียน” ราวกับว่านักเขียนไทยก็สนใจการเมือง ต้องการแสดงออก แม้หนังสือจะสุ่มเสี่ยงขายไม่ออกก็ตาม นิวัตมองเช่นนั้น

 

ถึงเวลา ตาสว่าง

 

สำหรับความน่าจะอ่านในปีนี้ หนังสือที่เรียกได้ว่าโดดเด่น เป็นที่กล่าวขวัญ จนได้รับการเลือกให้เป็นสุดยอดหนังสือซึ่งไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงประจำปี 2019-2020 จากคนในแวดวง คือ 'ตาสว่าง' กราฟิกโนเวลโดย คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ, เคียรา นาตาลุชชี และซารา ฟับบรี ซึ่งเขียนถึง ‘นก’ หนุ่มต่างจังหวัดผู้เข้ามาดิ้นรนหางานทำในกรุงเทพฯ ก่อนชีวิตจะพลิกผันกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553

“ตาสว่างทำให้คนอ่านเห็นมุมมองในสังคมไทยที่แตกต่างไปจากเดิม” นิวัตให้ความเห็น “มันเป็นเรื่องที่เขียนถึงประเทศไทยโดยมุมมองคนอิตาลี บางทีเราอยู่ในสังคมจนคุ้นเคยและมองไม่เห็นปัญหา แต่เมื่อคนนอกมองเข้ามาจะเห็นชัด

“มันทำให้เราได้เห็นอะไรบางอย่าง ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าบริบทแบบไทยๆ สังคมไทยๆ เราอาจจะต้องปรับมุมมองเรื่องนี้บ้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม”

ด้านธนิสร์ ในฐานะนักวาดการ์ตูน ก็ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีนำเสนอของ 'ตาสว่าง' อันแตกต่างไปจากการ์ตูนญี่ปุ่นที่คุ้นหูคุ้นตานักอ่านไทยส่วนใหญ่

“ผมสังเกตว่าขนบการสร้างการ์ตูน นักเขียนจะพยายามสร้างคาแรกเตอร์ที่มีเสน่ห์ น่าสนใจ เป็นเอกลักษณ์ ถ้าเรานึกภาพโดราเอมอน จะไม่มีใครสามารถแทนที่โดราเอมอนได้ แต่ตัวละครเอกของตาสว่างมีความกลวงที่สามารถแทนที่ใครก็ได้ ไม่มีเอกลักษณ์อะไรโดดเด่น ไม่มีความโดราเอมอนอยู่เลย แต่เพราะความว่างนี่แหละ ที่ทำให้เราสามารถแทนค่าความรู้สึกของตัวเองลงไปได้”

อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้ธนิสร์รู้สึก ‘ว้าว’ ใน 'ตาสว่าง' คือการวาดฉากที่ไม่เป๊ะเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ถ่ายทอดความเป็นศิลปินลงไปได้อย่างน่าดูชม

“มีฉากหนึ่งที่ผมชอบมาก คือเขาวาดบีทีเอสในฉากที่ตัวละครสับสนหลงทางในเมืองใหญ่ มันเป็นบีทีเอสที่เราไม่เคยมองเห็นในมุมนี้ ต้องเป็นคนต่างชาติมาเห็นเท่านั้น ความคดเคี้ยวของรางรถไฟสามารถถ่ายทอดความสับสนในจิตใจของตัวละครได้ด้วย ซึ่งเราไม่มีทางเห็นฉากแบบนี้ในการ์ตูนญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่มีทางเอาฉากมาถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละคร”

 

 

นอกจากนี้ ธนิสร์ยังกล่าวว่า 'ตาสว่าง' มีการออกแบบเรื่องเล่าเหมือนภาพยนตร์ จบได้อย่างคมคาย ลงตัวภายในหนึ่งเล่ม ต่างจากการ์ตูนญี่ปุ่นที่มักวางแผนเป็นเรื่องขนาดยาว ในจุดนี้เองที่ทรายเข้ามาเสริมว่างานภาพของ 'ตาสว่าง' ดูคล้ายกับสตอรี่บอร์ดภาพยนตร์ มีความ ‘cinematic’ ชนิดตั้งกล้องถ่ายหนังตามฉากแต่ละหน้าได้สบาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัวละคร ‘ตาสว่าง’ ตามท้องเรื่อง คือเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 การพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวผ่านสายตาผู้จัดทำโปรเจ็กต์ #ตามหาความจริง รำลึก 10 ปีการสลายการชุมนุมอย่างปิยบุตร จึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ในวงเสวนานี้

“ตอนที่ทำ #ตามหาความจริง เราต้องการไปให้ไกลกว่าการพูดถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เราต้องการทำให้เห็นว่าประวัติศาสตร์รัฐไทยที่ผ่านมา การสังหารหมู่ประชาชน อุ้มหาย สร้างให้ใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรูของรัฐ หรือ enemy of state เกิดขึ้นตลอดเวลา อำนาจของผู้ปกครองอยู่ได้ด้วยวิธีการนี้ และเมื่อมีศัตรูของรัฐหมายความว่าทุกวิธีการกำจัดสามารถใช้ได้หมด เป็นแบบนี้มาโดยตลอด

“นำมาสู่ข้อสรุปว่า เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็มีโอกาสจะเกิดอีก เพราะวัฒนธรรมคนทำไม่เคยต้องรับผิด และในท้ายที่สุด ไม่ว่าคุณจะเชียร์กลุ่มไหน พรรคใด ถ้าเมื่อไรก็ตาม ในสายตาของรัฐ มองคุณเป็น enemy of state เราก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวทั้งหมด"

 

 

“ผมมองว่า การชุมนุมปี 53 อาจจะไม่จำเป็นต้องจบแบบนี้ก็ได้” ปิยบุตรเอ่ย “เวลาเรามองการชุมนุม ต้องแยกความต้องการของผู้ชุมนุม แกนนำ พรรคการเมืองที่สนับสนุนออกจากกัน เพราะแต่ละคนมีเป้าหมายแตกต่างกัน ถ้าปะปนกันเมื่อไร ก็จะถูกเหมารวมไปหมด”

กล่าวคือ ผู้ร่วมชุมนุมไม่ใช่ ‘ลิ่วล้อ’ ของแกนนำหรือพรรคการเมือง แต่เป็นคนที่ออกไปเพื่อปกป้องสิ่งที่เขาเชื่อ ดังนั้น ถ้าแกนนำหลุดออกจากวิถีแนวทางที่ตนศรัทธา ผู้ร่วมชุมนุมก็มีสิทธิ์ต่อต้านผู้นำหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายเดียวกับตนเช่นเดียวกัน

ซึ่งการต่อต้าน ตั้งคำถาม ตรวจสอบ ทั้งกลุ่มการเมืองที่ตนสนับสนุนและไม่สนับสนุนนั้น ปิยบุตรมองว่านั่นคือหัวใจสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย

“ไม่ว่าสถาบันการเมือง หรือองค์กรใดที่มีส่วนในการใช้อำนาจรัฐก็ตาม เรามีสิทธิ์ตั้งคำถาม และออกมาเรียกร้อง นี่คือระบบประชาธิปไตย ถ้าไม่ตรวจสอบ ทัดทาน ดูแล คนใช้อำนาจก็มีโอกาสลื่นไถลไปโดยง่าย เพราะคนที่เข้าไปอาจโดน bureaucratization หรือโดนทำให้เป็นคนในระบบ จนไม่อยากต่อสู้เรียกร้องอะไร ดังนั้น หน้าที่ของเราคือการตรวจสอบ และเรียกร้องให้คนที่เข้าไปเป็นตัวแทนก้าวหน้ามากขึ้น และมากขึ้น”

ประวัติศาสตร์เมื่อ 10 ปีก่อน แม้เป็นบาดแผลชวนให้ใจบอบช้ำ แต่เราก็ควรมองเห็นปัญหา พูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมา มากกว่าจะหลงลืมหรือซุกซ่อนไว้ใต้พรม ให้สมกับคำชื่นชมความกล้า ที่คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ ผู้เขียน 'ตาสว่าง' ส่งตรงจากต่างประเทศมาในงานเสวนาคราวนี้

“พวกเราอยากขอชื่นชมพวกคุณจริงๆ ที่มีความกล้าที่จะเลือกงานชิ้นนี้ของพวกเรา ผมเชื่อว่าพวกคุณรู้ดีว่ามีคนในประเทศไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันพยายามจะลบล้างประวัติศาสตร์ นี่เป็นประเทศที่ตามประวัติศาสตร์แล้ว กลุ่มคนที่เขียนเรื่องราว คนที่เลือกว่าอะไรควรถูกจดจำ เรื่องไหนควรถูกลืม คนที่สามารถปกปิดเรื่องราวต่างๆ คือผู้ที่มีอำนาจในสังคม เราเลยรู้สึกได้ถึงพลังในการที่พวกคุณเลือกมอบรางวัลให้กับหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความทรงจำที่หายไปเหล่านี้

“ขอบคุณทุกคนอีกครั้ง”

 

 

#ถ้าการเมืองดี ในปีที่สาหัส

 

พอขยับจากเรื่องหนังสือ มาสู่เรื่องราวชีวิตในปี 2020 แขกรับเชิญแทบทุกคนต่างก็ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘สาหัสสุดๆ’

“เป็นปีที่ผมอุทิศเวลามากมายในการทำมาร์เกตติ้งหนังสือตัวเอง” ธนิสร์ขำขื่น “เพราะความจนกำลังไล่ล่าเรา ทั้งที่โดยนิสัยของผม ผมไม่ชอบพูดถึงงานตัวเองเลย”

“มันห่วยมาก” ทรายกล่าว “เข้าใจเลยว่าคนไม่มีอารมณ์จะมาบันเทิง แม้แต่คนที่อยู่ในวงการบันเทิงก็ยังไม่บันเทิงเลย เพราะความไม่มั่นคงในชีวิตมันสั่นคลอนมนุษย์อยู่ บางคนอาจคิดว่าวงการบันเทิงจะดีขึ้นเป็นอย่างแรกในช่วงเวลาแบบนี้ เพราะคนโหยหาความบันเทิง แต่จริงๆ แล้ว ไม่มีใครบันเทิงกันได้ตลอด ถ้าชีวิตยังไม่มั่นคง พึ่งพาอะไรไม่ได้”

ส่วนนิวัตเองก็ไม่แตกต่างจากคนอื่นเท่าไรนัก “ทำงานอยู่ในวงการหนังสือมา 20 ปี นี่เป็นปีที่สาหัสที่สุดเท่าที่เคยพบมา

“เมื่อเริ่มปิดห้างก็เท่ากับปิดร้านหนังสือไปด้วย ถึงจะขายออนไลน์ได้ก็จริง แต่ธรรมชาติคนอ่านหนังสือก็ชอบเลือกเล่มเอง เปิดอ่านก่อน ชอบซื้อจากร้านหนังสือ” นิวัตเล่าว่ากระทั่งในตอนนี้ เงินที่ใช้ดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ก็เป็นเงินเก็บทั้งนั้น และต้องยอมรับว่าไม่รู้เช่นกันว่าจะได้คืนทุนเมื่อไร

ความสาหัสทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นที่มาของหัวข้อชวนคุยว่า #ถ้าการเมืองดี วงการหนังสือ หรือแม้กระทั่งชีวิตของเราจะมีความหวังมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งนิวัตคิดว่ามันคงทำให้หนังสือมีราคาถูกลง สำนักพิมพ์ต่างๆ อยู่รอดอย่างมั่นคงมากขึ้น หากมีการสนับสนุนจากรัฐ เช่น ช่วยลดต้นทุนการพิมพ์ ราคากระดาษ น้ำหมึก หรือสร้างระบบห้องสมุดสาธารณะที่เข้มแข็ง ช่วยกันสั่งซื้อหนังสือดีๆ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ

“เราคุยเรื่องราคาหนังสือแพงมา 10-20 ปี จนตอนนี้ก็ยังแพงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหนังสือไม่ได้แพงเพราะสำนักพิมพ์ต้องการให้แพง แต่ต้นทุนสูง การเรียกร้องต่อรัฐบาลหลายปีที่ผ่านมาแทบไม่เป็นผล ไม่เคยได้รับการตอบสนองเรื่องลดภาษีกระดาษ หรือลดราคาหมึกที่พิมพ์ ในตอนนี้หนังสือจึงดูเหมือนเป็นสินค้าสำหรับคนชั้นกลางมากกว่า” นิวัตกล่าว

 

 

ฝ่ายธนิสร์เองก็เห็นด้วย “ถ้าการเมืองดี หนังสือจะถูกลงกว่านี้มาก คนจนจะเข้าถึงหนังสือได้มากกว่านี้” เขาเน้นย้ำ “เราต่างเข้าใจว่าหนังสือเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ และสื่อแบบอื่นทดแทนไม่ได้ คนอ่านหนังสือจะรู้กัน แต่ในตอนนี้ มันยังไม่เข้าถึงกลุ่มคนอย่างแพร่หลาย ในความคิดผม หนังสือควรจะ ‘แมส’ กว่านี้ รัฐเองก็ควรซัพพอร์ตสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือที่มีคุณค่า ทำให้หนังสือแพร่กระจายไปสู่การอ่านได้มากกว่านี้ หรือกระทั่งสร้างระบบห้องสมุด เพื่อทำให้คนสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินสูง”

ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในวงการบันเทิง (ซึ่งตอนนี้ไม่บันเทิงเท่าไรนัก) อย่างทราย ก็พูดติดตลกว่า “ถ้าการเมืองดี หนังจักรๆ วงศ์ๆ จะสนุกขึ้น” ก่อนขยายความว่า “เราจะมีเรื่องให้ดูหลากหลายมากขึ้น นอกจากหัวข้อที่เราเล่ากันได้วนซ้ำไปมา เราจะสามารถเล่าเรื่องอื่นได้ มีช่องทาง มีนักลงทุนเข้ามาทำ”

และสำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร ทรายก็ได้แนะนำให้อ่านหนังสือชุด 'A Little History' ของสำนักพิมพ์ Bookscape ที่มีหลากหลายแง่มุม ทั้งเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ภาษา ฯลฯ และสะท้อนให้เห็นทุกเรื่องในสังคมว่าล้วนเกี่ยวพันถึงกันหมด “เราจะได้เลิกเถียงว่ามันเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการเมืองยังไง”

 

 

นอกจากนี้ ปิยบุตรยังเข้ามาร่วมเลือกหนังสือที่อยากชวนทุกคนอ่านในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ คือ'เซเปียนส์ : ประวัติย่อมนุษยชาติ' โดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ซึ่งเคยติดโผ Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2018-2019 เหตุเพราะชอบการเดินเรื่องด้วยการตั้งคำถามต่อสิ่งที่มีอยู่ในสังคม

“ในเซเปียนส์มีบทสรุปว่า สิ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์สามารถเอาชนะเผ่าพันธุ์อื่น และอยู่รอดมาได้ คือการมีจินตนาการ สร้างสิ่งสมมติที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา แล้วทุกคนเชื่อพร้อมกันหมด

“ยกตัวอย่างรัฐ เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการรวมตัวของมนุษย์ที่เชื่อว่ามีรัฐ เชื่อว่ามีอำนาจรัฐ รัฐบาล กฎหมาย ระบบการปกครอง ศาล

“เรายอมรับนับถือว่ามีอำนาจตรงนี้อยู่ มันจึงเกิดขึ้น” ปิยบุตรอธิบาย “เมื่อไรที่มนุษย์ไม่เชื่ออีกต่อไป ถึงตอนนั้นทุกอย่างจะเปลี่ยน”

เมื่อถูกถามถึงหนังสือที่อยากแนะนำให้ผู้นำได้อ่าน ปิยบุตรก็เลือกหนังสือที่มีชื่อทำให้หลายคนแอบอมยิ้มพร้อมเพรียงกันอย่าง 'Common Sense' หรือ 'สามัญสำนึก' ของโธมัส เพน

“หนังสือเล่มนี้เก่ามาก” เขาเกริ่น “ผู้เขียนเขียนปี 1776 ที่ฟิลาเดลเฟีย โธมัส เพนเป็นคนอังกฤษที่กบฏต่อชาติตัวเอง ด้วยการเขียนจุลสารทางการเมืองปลุกระดมคนอเมริกันให้ปลดแอกจากกษัตริย์อังกฤษ การปฏิวัติในอเมริกามีงานชิ้นนี้ที่จุดไฟขึ้นมา”

แม้จะเป็นเรื่องวิชาการ แต่เพราะเป็นจุลสารที่ต้องการให้ทุกคนสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย โธมัส เพนจึงใช้วิธีตั้งคำถามจากสามัญสำนึกของคนในยุคที่ทั่วโลกเป็นรัฐแบบราชอาณาจักร (kingdom) เป็นต้นว่า เป็นไปได้หรือที่ผู้ปกครองถืออำนาจรัฐ เมื่อตายไปก็สืบทอดอำนาจผ่านสายโลหิตได้? แสดงให้เห็นถึงแนวคิดรัฐสมัยใหม่ที่ต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องสาธารณะอย่างอำนาจรัฐซึ่งเป็นของประชาชน

“ถ้ามีผู้อำนาจในตอนนี้ได้อ่าน ก็จะรู้ว่าควรปรับปรุงตัวอย่างไรถึงจะอยู่รอดได้ และต่อให้ไม่มีอำนาจ แต่อ่านแล้วก็จะรู้สึกถึงสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง” ปิยบุตรแนะนำ

 

โปรดมีความหวัง แม้ในวันที่น่าสิ้นหวัง

 

ก่อนที่วงเสวนาความน่าจะอ่าน 2020 จะจากลากันไป คำถามที่ทิ้งท้ายไว้ คือ ในปีที่สาหัสแบบนี้ -- ในวันที่มีโรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ และการเมืองผันผวน เรายังคงมีความหวังกันอยู่ใช่ไหม?

“ถึงผมจะบอกว่ามองไม่เห็นอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อ โควิด-19 จะจบหรือไม่ มุมมองต่อโรคนี้จะเปลี่ยนไปไหม ผมไม่ทราบ แต่ผมเชื่อว่าในส่วนที่ต่ำที่สุด มันก็น่าจะยังมีทางออกขึ้นมาได้” นิวัตกล่าว และเสริมขึ้นมาว่ารู้สึกดีใจที่ความน่าจะอ่านมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมมากมาย มันทำให้เขาเห็นถึงความผูกพัน อยากสื่อสารกันและกันของคนในสังคม และความหวังเล็กๆ ในวงการหนังสือที่เมื่อผ่านไป คงเห็นทางรอดชัดเจนยิ่งขึ้น

ฝั่งธนิสร์ได้ขอพูดเรื่องความหวังเกี่ยวกับการเมืองไทย โดยเขาสารภาพว่า “ผมรู้สึกสิ้นหวังกับรัฐมานานมากแล้ว แต่ยุคสมัยนี้เป็นครั้งแรกที่ผมมีความหวังกับคนระดับเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต ด้วยความที่นายกฯ อาจได้สร้างคนกลุ่มนี้ที่เป็นเพื่อนเรามากขึ้น

“พอเราไม่ได้มัวแต่มองอำนาจที่ไม่เป็นธรรม แต่หันกลับมามองคนรอบข้างมากขึ้นว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรกันเองได้บ้าง ลงมือทำสุดความสามารถ และเก็บชัยชนะเล็กๆ ของเราในแต่ละวัน ผมรู้สึกว่าแบบนี้มีความหวังในการใช้ชีวิต การทำงาน กระทั่งมีความหวังต่อตัวเองต่อไป”

 

 

ด้านทรายก็รู้สึกคล้ายคลึงกัน “เรารู้สึกว่ามีเพื่อน มีคนสื่อสารในสิ่งเดียวกันมากขึ้น ถึงสังคมจะแย่ แต่เราก็มีความหวังอยู่เสมอ อย่างน้อยในระดับคนต่อคนยังไม่หมดหวังขนาดนั้น ยังมีคนพยายามทำความเข้าใจมากขึ้น

“สิ่งที่เราทำมาไม่ได้สูญเปล่า ทั้งหมดทั้งมวลที่เราไม่เห็นด้วยกับรัฐ ได้สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา และในตอนนี้รัฐก็ได้สร้างปีศาจด้วยตัวเขาเอง” ทรายแสดงความเห็น “พอมันแย่ไปถึงจุดหนึ่ง ทรายเชื่อว่าไม่มีใครยอมตายง่ายๆ ในวันที่เราอาจจะไม่เหลืออะไรเลย เรายังเหลือตัวตนของเรา คำถามคือเราจะใช้จ่ายตัวตนของเรายังไง ใช้ความเป็นเราไปกับอะไร ภาพแบบไหนที่อยากให้คนอื่นจดจำเรา และเราจดจำตัวเอง”

สุดท้าย ปิยบุตรได้แสดงความเห็นว่า ห้วงเวลานับจากนี้ – นับจากวันที่เกิดการรัฐประหาร เกิดโรคระบาด เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ไล่เรียงตามมา อาจกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดโมงยามแห่งประวัติศาสตร์ของไทยที่เราต้องจับตามอง

“วิกฤตโควิดครั้งนี้เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐออกมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการหรือประชาธิปไตย หลังจากนี้รัฐจะมีความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมมากขึ้นแนบเนียนแตกต่างกันไป อาจมาในนามของการรักษาสุขภาพ และมีความเป็นชาตินิยม ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองมากขึ้น เป็นทิศทางเดียวกันหมดหลังจากนี้

“สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจมาถึงตอนนี้ มันชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า อำนาจทรัพยากรประโยชน์ต่างๆ ถูกแบ่งสรรปันส่วนไปอย่างไม่ยุติธรรม ไปสู่กลุ่มคนไม่กี่กลุ่มมากขึ้น ผมให้ชื่อว่าเป็นคณาธิปไตย คือปกครองด้วยคนไม่กี่คนเพื่อคนไม่กี่กลุ่ม

“วิสัยทัศน์ที่เขากำลังนำพาประเทศตอนนี้เป็นแบบหัวโตแต่แขนขาลีบ คือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ผูกขาดและได้รับการเกื้อหนุนจากรัฐตลอดเวลา เพื่อหวังว่าจะมาสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ทั่วโลกมองตรงกันว่า ทุนขนาดใหญ่มีไว้เพื่อ ‘รบ’ กับทุนประเทศอื่น และเศรษฐกิจในประเทศเดินได้ด้วยธุรกิจขนาดกลางและเล็ก แต่ประเทศไทยกลับตาลปัตร ขูดรีดคนตัวเล็กไปช่วยกลุ่มทุนใหญ่

“หลังโควิดจึงยิ่งชัดเลยว่านี่เป็นวิธีคิดที่ฆ่าผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก รัฐไทยไม่ต้องการให้คนเป็นเถ้าแก่ รวยได้ด้วยตัวเอง คนพวกนี้ต้องช่วยตัวเองในวิกฤต และอาจจะล้มหายตายจากไป อาชีพที่อยู่รอดได้โดยไม่โดนผลกระทบคือข้าราชการ ทำให้ความคิดของคนต่อไปจะสยบยอมมากขึ้น การเอาตัวรอดในประเทศนี้คือต้องเป็นข้าราชการที่ได้รับสวัสดิการ มีหลักประกันอยู่ตลอด ไม่ก็ลูกจ้าง ที่ถึงแม้จะตกงาน ก็แค่เปลี่ยนนายจ้างใหม่ นั่นคือการทำให้มีวิธีคิดแบบไพร่ในศตวรรษที่ 21"

 

 

“ในช่วงเวลาแบบนี้ เวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ เกิดปัญหาของคนจำนวนมากที่ไม่เหมือนกันเลย ทุกคนจะเรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วย เมื่อรัฐไม่สามารถตอบสนองใครได้เลย จะทำให้เกิดการสะสมความไม่พอใจเพิ่มขึ้นๆ และช่วยสลายสีทางการเมือง เพราะทุกคนต่างหัวอกเดียวกัน

“ทุกคนจะเชื่อมต่อร้อยรัด โยงใยออกมาเป็นความไม่พอใจของประชาชน เรียกว่าเป็น ‘ห้วงเวลาแห่งประชาชน’ ที่คนทุกสี ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ รวมพลังกันส่งเสียงว่าไม่ไหวแล้ว ขอระเบิดความไม่พอใจออกมา และผู้มีอำนาจรัฐก็หมดปัญญาจะแก้ไขปัญหาได้

“ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่คนมีทั้งความโกรธแค้นอยากจะล้มสิ่งที่มีอยู่ และความหวังที่จะสร้างสิ่งใหม่ในเวลาเดียวกัน ทันทีที่สองสิ่งนี้มาบรรจบ นั่นคือถึงเวลาแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง (Revolutionary Moment)

“ผมไม่รู้ว่าความโกรธแค้นและความหวังจะมาบรรจบกันเมื่อไร แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว สุดท้าย เพื่อให้ทุกท่านยังมีความหวัง เราต้องเชื่อในคำว่า possibility หรือความเป็นไปได้ ถึงวิธีการบริหารจัดการของผู้มีอำนาจรัฐจะพยายามผูกขาดความเป็นไปได้ไว้ ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งไหนได้ หรือไม่ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าอยู่ๆ กันไปเถอะ ได้แค่นี้ก็บุญโขแล้ว

“แต่เราต้องหล่อเลี้ยงความหวัง เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ อะไรที่ไม่เคยเกิด มีโอกาสที่จะเกิด อะไรที่เป็นไปไม่ได้ สักวันจะเป็นไปได้”

 

เพราะความหวังคือสิ่งที่ใครก็ไม่อาจพรากมันไปจากเรา

แล้วพบกันใหม่ ในวันที่สดใสกว่าเดิม

 

ติดตามรายชื่อหนังสือในโปรเจ็กต์ความน่าจะอ่าน 2019-2020 ได้ที่ :

The Finalists ความน่าจะอ่าน 2019-2020 ตอนที่ 1

The Finalists ความน่าจะอ่าน 2019-2020  ตอนที่ 2

The Finalists ความน่าจะอ่าน 2019-2020 ตอนที่ 3

‘Top Highlights’ ความน่าจะอ่าน 2019-2020

เปิดความเห็นของนักอ่าน ใน ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’

 

หมายเหตุ : งานเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2020 : Final Round’ จัดที่ Open House Bookshop by Hardcover ชั้น 6 Central Embassy เมื่อวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2563 ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ จาก The101.world

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0