โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คนจีนลากรถหยุดงาน นักเรียนออกมาประท้วง : ว่าด้วยการรวมตัว ‘สไตรค์’ ในประวัติศาสตร์ไทย

The MATTER

อัพเดต 10 ส.ค. 2563 เวลา 05.23 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2563 เวลา 10.02 น. • Thinkers

การชุมนุมประท้วงเริ่มกลายเป็นข่าวคราวชัดเจนสายตาและแว่วยินหนาหู กระแสความสนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้พลันเบ่งบานแพร่หลาย ผมจึงมิแคล้วได้รับชักชวนให้บอกเล่าประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วงในอดีตของเมืองไทย

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมเล็งเห็นบทความว่าด้วยการชุมนุมประท้วงชิ้นหนึ่งอันน่าสนุกได้แก่ผลงาน ‘การชุมนุมประท้วงของนักเรียน คนรุ่นใหม่สมัยคุณปู่ หลังการปฏิวัติ 2475’ ของปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช ลงพิมพ์ใน The MOMENTUM มุ่งเน้นนำเสนอการชุมนุมประท้วงหรือจะเรียกผ่านฝีปากคนยุคนั้นว่า ‘สไตรค์’ ในกลุ่มนักเรียนตามสถานศึกษาต่างๆ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 หมาดๆ ปกรณ์เกียรติเรียบเรียงข้อมูลจากหลักฐานเอกสารเก่าๆ ไว้น่าชื่นชมทีเดียว นับเป็นงานเขียนเปี่ยมคุณูปการไม่น้อย ครั้นเมื่อผมต้องมาเขียนถึงการประท้วงหรือ ‘สไตรค์’ เสียเองบ้าง ทีแรกใคร่ครวญนานหลายครู่ว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวอะไรดี ที่สุดจึงตกลงใจทดลองจาระไนถึงการชุมนุมประท้วงในท่วงทำนองที่กำลังจะโลดแล่นอีกหลายบรรทัดถัดไป

แท้จริง การที่กลุ่มคนมารวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือประท้วงต่อต้านสิ่งต่างๆ เคยปรากฏในสังคมไทยมาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงหรือ ‘สไตรค์’ ของกลุ่มชาวจีนซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2453 เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลเรียกเก็บเงินค่าผูกปี้จากชาวจีนคนละ 6 บาท จึงพากันสร้างความวุ่นวายตามย่านชุมชนจีนในกรุงเทพฯ ทั้งสัมพันธวงศ์ จักรวรรดิ สามแยก บางรัก ชาวจีนที่เข้าร่วมถูกจับกุม 386 คน ทางการสั่งปล่อยตัว 315 คน อีก 71 คนถูกลงโทษให้เนรเทศเพราะได้ก่อเหตุรุนแรงไม่ว่าจะเป็นต่อสู้และทำร้ายเจ้าพนักงาน ทุบตีพวกชาวจีนลากรถและทำลายรถลาก ขว้างปาทำลายข้าวของตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงยุยงให้คนปิดร้านขายของและร่วมประท้วง

พรรณี บัวเล็ก เสนอว่า พวกชาวจีนลากรถเป็นกลุ่มที่ตื่นตัวทางเมืองน้อยและมิค่อยเข้าต่อสู้ร่วมกับชาวจีนกลุ่มอื่นๆ ชาวจีนกลุ่มนี้เริ่มสไตรค์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2459 เนื่องจากเจ้าของรถเรียกค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากเดิมกลางวัน 31 สตางค์ เป็นราคา 40 สตางค์ และเดิมกลางคืน 31 สตางค์ เป็นราคา 35 สตางค์ อย่างไรก็ดี ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกกุลีลากรถกลับกลายเป็นชาวจีนกลุ่มสำคัญผู้ก่อการประท้วงในพระนคร วันที่ 4-5 สิงหาคม พ.ศ. 2475  จีนลากรถจำนวน 6,000 คนได้สไตรค์หยุดลากรถอย่างพร้อมเพรียง และมาชุมนุมเพื่อหาแนวร่วมจีนลากรถด้วยกันตามเชิงสะพานผ่านฟ้า เชิงสะพานนางเลิ้ง เชิงสะพานเทเวศร์ เป็นต้น (ปี พ.ศ. 2474 เคยมีพวกจีนลากรถชวนกันหักรถลากจำนวน 3,000 คันในวันเดียว)

การชุมนุมประท้วงของพวกกุลีจีนลากรถได้รับน้ำเสียงเห็นอกเห็นใจจากสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง มองว่าแม้การสไตรค์จะเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งของโลก และในบางประเทศเกิดเหตุเลือดตกยางออก แต่การสไตรค์ของชาวจีนลากรถคราวนี้กลับเป็นไปอย่างสงบดีเช่นเดียวกับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน เพราะชาวจีนลากรถเองก็เลื่อมใสคณะราษฎร

การประท้วงหรือ ‘สไตรค์’ ของชาวจีนลากรถในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ภาพจากหนังสือ กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย

นายพันโทอองรี รูซ์ (Lieutenant-colonel Henri Roux) ผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศสประจำสยามในปี พ.ศ. 2475 ได้เขียนรายงานความเคลื่อนไหวภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า ชาวจีนตามหน่วยงานต่างๆ และชาวจีนลากรถขู่จะหยุดงานประท้วงช่วงต้นเดือนสิงหาคม ขณะเดียวกันก็รายงานถึงการประท้วงหรือสไตรค์ของนักเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนเซนต์คาเบรียลจำนวน 2,000 คนเมื่อวันที่ 9 กันยายนปีเดียวกัน นายพันโทรูซ์มองว่านี่หาใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นการลอกเลียนแบบที่ย่อส่วนมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติวันที่ 24 มิถุนายน สอดคล้องกับงานของปกรณ์เกียรติที่เผยให้เห็นความตื่นตัวของนักเรียนที่ประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ทั้งกลุ่มนักเรียนไทยจากหลายโรงเรียนรวมถึงนักเรียนหญิงโรงเรียนสตรีวิทยา และกลุ่มนักเรียนจีนช่วงปลายปี พ.ศ. 2476 ที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ลงข่าวพาดหัวว่า ‘นักเรียนจีนราว 400 คนก่อการสไตรค์’

นับแต่กลางปี พ.ศ. 2475 ใช่เพียงแค่ชาวจีนเท่านั้นที่ตื่นตัวกับการชุมนุมประท้วง กลุ่มกรรมกรชาวไทยก็เริ่ม ‘สไตรค์’ เนืองๆ เช่นกัน กลุ่มหนึ่งที่แสดงบทบาทเข้มข้นได้แก่กรรมกรรถราง พวกเขาเคลื่อนไหวจะก่อตั้งสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม (ส.ร.ส.) และมีเสียงสนับสนุนจากแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ข้อเขียน ‘กรรมกรสามารถจะรักษาผลประโยชน์ของตนได้อย่างไร’ ของนายแกล้วการเมือง ในหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำวันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ก็ส่งเสริมการก่อตั้งสมาคมนี้ อ้างเหตุผลทำนอง “กรรมกรนับว่าเปนชนชั้นสำคัญของบ้านเมืองสมัยนี้ เพราะบ้านเมืองที่เจริญแล้วโดยมากย่อมต้องมีอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยปราศจากกรรมกร เพราะฉะนั้นกรรมกรทุกคนจึงไม่ควรตีราคาของตนให้ต่ำ กรรมกรควรพูมใจว่าตนเปนคนสำคัญของประเทศ ควรได้รับสิทธิและควรปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกตามหลักของประเทศที่เจริญแล้ว”

อีกทั้ง “…กรรมกรต้องรวมกำลังกันตั้งขึ้นเปนสมาคม และใช้วิธีนัดกันหยุดงานเปนอาวุธต่อสู้กับนายจ้าง” รวมถึง “นอกจากสั่งนัดหยุดงานเพื่อตอบโต้นายจ้างที่อยุตติธรรมแล้ว สมาคมกรรมกรยังสามารถทำประโยชน์ให้นายจ้างและประเทศได้ด้วย นายจ้างมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงวิธีการในโรงงานของตนอย่างไร จะทำความตกลงกับลูกจ้างเรียงตัวไปนั้นย่อมทำไม่ได้ เพราะมีลูกจ้างมากด้วยกัน แต่ถ้ามีสมาคมกรรมกรอยู่แล้ว นายจ้างก็สามารถจะเจรจากับสมาคมได้”

แม้นายแกล้วการเมืองจะเห็นพ้องกับการมีสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามและการมีสิทธิ์นัดหยุดงานประท้วงนายจ้างได้ แต่พอปลายเดือนตุลาคมมีข่าวลือการจะ ‘สไตรค์’ ของกรรมกรบริษัทรถรางขึ้นมาจริงๆ ซึ่งจะยกระดับขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองด้วย นายแกล้วการเมืองกลับไม่สนับสนุนพร้อมอ้างว่าการนัดหยุดงานอาจขัดต่อหลักกฎหมาย ต้องรับโทษดังข้อเขียนของเขาในหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ประจำวันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2475

ล่วงเข้ากลางเดือนพฤศจิกายน ข่าวที่กรรมกรรถรางจะ ‘สไตรค์’ ยิ่งชัดเจนขึ้น เห็นได้จากหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ประจำวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน และประจำวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ประจำวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ศ. 2475

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ประจำวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475

เท่าที่อ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์มา ข้อสังเกตหนึ่งพึงขบคิดคือการชุมนุมประท้วงในอดีตก่อนปีพุทธศักราช 2500 มักยึดโยงกับคำว่า ‘สไตรค์’ จะพบเห็นตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ ‘สไตรค์’ เดิมมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ‘strike’ เป็นคำใช้เรียกการนัดหยุดงานของกรรมกร พอเอ่ยคำนี้ให้ประหวัดนึกถึงภาพของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทว่าบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ได้นำมาใช้กับกลุ่มคนอื่นๆ ด้วยในความหมายต่างๆ นานา แต่ก็สื่อนัยยะของการไม่จำยอม และปัญหาความไม่ราบรื่นเรียบร้อย เป็นต้นว่าเรื่องการทะเลาะถกเถียงกันระหว่างผัวเมีย เมียประท้วงผัวก็ยังใช้คำนี้มาหยอกเอินและล้อเลียน

อีกตัวอย่างที่หนังสือพิมพ์เสนอข่าวโดยเรียกว่าเป็นการ ‘สไตรค์’ เช่นกัน นั่นคือกรณีนักเรียนนางพยาบาลที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 29 คนประท้วงกฎเกณฑ์ข้อบังคับด้วยการหลีกหนีภาระงานกดดันไปเที่ยวเมืองลำพูน ปรากฏเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ลงข่าวพาดหัว ‘ปาฏิหาริย์ไปเมื่อตี ๓ วันนั้นมีคนตาย ๓ คน ปีนหน้าต่างจากโรงพยาบาล จับรถยนตร์ไปยังเมืองลำพูน’ มีความตอนหนึ่งว่า

 “โดยเหตุที่นักเรียนนางพยาบาลเหล่านี้มีความน้อยเนื้อต่ำใจในบางประการ มีเรื่องอาหารการกิน, กฎข้อบังคับ, ซึ่งเพิ่มเวลาให้ทำงานจาก ๖ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง และการเพิ่มงานให้ทำในวันเสาร์ ซึ่งเปนวันแสนสุขในการที่จะได้ออกไปเที่ยว  จึงนักเรียนนางพยาบาลเหล่านี้ได้ทำการสไตรค์นัดแนะกันที่จะทำปาฏิหารย์ล่องหน ซึ่งความคาดหมายในผลประโยชน์จะมีเพียงใดนั้นไม่ทราบชัดนัก แต่ตามทางสันนิษฐานก็เพื่อจะให้โรงพยาบาลจัดการลดหย่อนผ่อนตามในสิ่งที่พวกเธอต้องประสงค์  ซึ่งเปนความประสงค์ที่รุนแรงที่สุดถึงกับต้องอัปเปหิตัวเองออกจากโรงพยาบาลเสียชั่วคราว”

การประท้วงนี้ส่งผลให้เกิดความชุลมุนในโรงพยาบาลจนมีผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต 3 ราย ดังนั้น “นักเรียนนางพยาบาล ๒ คน ซึ่งดูเหมือนจะเปนหัวหน้าในการสไตร้คในครั้งนี้ได้ถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเมื่อวันที่ ๒๒ โดยรถด่วนแล้ว”

ช่วงทศวรรษ 2490 พบการสอดแทรกคำว่า ‘สไตรค์’ ไว้ในงานเขียนประเภทวรรณกรรมหลากหลายเรื่อง นอกเหนือไปจากจำพวกวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตทั้งหลายแล้ว แทบมิน่าเชื่อว่ากระทั่งในวรรณกรรมนำเสนอเรื่องเพศโจ่งแจ้งเยี่ยง ‘หนังสือปกขาว’ ก็ยังเจอะเจอคำนี้ ขอยกตัวอย่างผลงานของชอบสนุกเรื่อง สงครามพิงโอ่ง ที่ตอนหนึ่งตัวละครฝ่ายชายและฝ่ายหญิงกำลังอาบน้ำในอ่างพร้อมประกอบกิจกรรมทางเพศ บังเอิญน้ำประปาไม่ไหล ตัวละครฝ่ายชายหงุดหงิดมากจนบ่น น่ากลัวจะถูกสไตรค์เรื่องน้ำประปาเสียแล้ว  สะท้อนนัยยะว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพและธนบุรี โดยเฉพาะชาวต่างจังหวัดและกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ทำให้น้ำประปาในเมืองหลวงไม่พอใช้ เกิดเหตุน้ำไม่ไหลบ่อยๆ ฉะนั้น ตัวละครทั้งสองจึงต้องอาบน้ำจากโอ่งแทน

ปัจจุบัน การเรียกขานการชุมนุมประท้วงว่า ‘สไตรค์’ อาจจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นชิน และมิติความหมายของการประท้วง การชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องต่างๆ ก็อาจไปไกลมากกว่าขอบเขตของคำว่า ‘สไตรค์’ เสียแล้ว พูดง่ายๆ ว่าการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาทุกวันนี้ เราแทบจะไม่เห็นการนำเสนอว่านักเรียนนักศึกษาสไตรค์เฉกเช่นที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ช่วงทศวรรษ 2470 แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ถึงพลังของคำนี้ที่เสมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ไม่ยอมจำนนและการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในวันวาน

เอกสารอ้างอิง

ชอบสนุก. สงครามพิงโอ่ง. ม.ป.ท., ม.ป.ป.

ชาติไทย (18 ตุลาคม 2475)

ชาติไทย ( 25 ตุลาคม 2475)

ชาติไทย ( 17 พฤศจิกายน 2475)

ชาติไทย ( 19 พฤศจิกายน 2475)

ไทยใหม่ (24 ตุลาคม 2478)

ปกรณ์เกียรติ  ดีโรจนวานิช. “การชุมนุมประท้วงของนักเรียน คนรุ่นใหม่สมัยคุณปู่ หลังการปฏิวัติ 2475.”

The MOMENTUM. (MAR 11, 2020)

พรรณี บัวเล็ก. กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2542

พิมพ์พลอย ปากเพรียว. การปฏิวัติสยาม 2475 ในทัศนะของพันโทอองรี รูซ์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร

มหาบัณฑิต สาขาวิชาฝรั่งเศสศึกษา ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0