โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คดีบอส อยู่วิทยา: อย่าให้มันจบลง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

The MATTER

อัพเดต 09 ส.ค. 2563 เวลา 11.13 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2563 เวลา 09.27 น. • Social

ความสนใจเกี่ยวกับคดีของ ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ หลานของผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ดัง ก่อเหตุขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหา ‘ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย’ จนทำให้เจ้าตัวพ้นผิดทุกข้อกล่าวหา เริ่มซาลงไปแล้ว แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังปรากฎออกมาไม่หมด ตัวละครสำคัญยังไม่เปิดปากพูด และความเปลี่ยนแปลงยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ที่ผ่านมา แรงกดดันอย่างหนักหน่วงจากสังคม ทำให้ทั้งอัยการสูงสุด ตำรวจ และนายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา วางกรอบระยะเวลาการทำงาน 7 วัน, 15 วัน และ 30 วัน ตามลำดับ

แม้เราอาจถกเถียงกันว่า สังคมได้ข้อสรุปแล้วในเบื้องต้น ด้วยการสร้างสัญลักษณ์ กระทิงแดง = กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม

แต่หากสังคมยังไม่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะในรูปแบบของข้อกำหนด กฎระเบียบ หรือกฎหมาย ไปจนถึงการนำตัวผู้ที่ใช้ดุลยพินิจอย่างไม่ถูกต้องมาลงโทษ

ที่สุด เมื่อกระแสสังคมซาลงไป - ทุกๆ อย่างก็อาจจะกลับไปเหมือนเดิม

กรณีเช่นคดีบอส อยู่วิทยา 2 3 4 … ก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก ทั้งในลักษณะที่เป็นข่าว หรือไม่เป็นข่าว

ยังเหลืออะไรให้ต้องติดตามกันอีก สำหรับกรณีของบอส อยู่วิทยา ?

แม้จะยังเป็นข่าวตามหน้าสื่ออยู่บ้าง แต่ความสนใจในคดีบอส อยู่วิทยา ก็ลดลงตามลำดับ 24 ก.ค. คือวันที่มีข่าวว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ส่วน 30 ก.ค. คือวันที่พยานปากสำคัญเสียชีวิตกระทันหัน (ที่มาข้อมูล: Wisesight อัพเดทข้อมูลวันที่ 9 ส.ค.)

สั่งไม่ฟ้องถูกกฎหมายหรือไม่

แม้คณะทำงานของอัยการสูงสุด จะยืนยันว่าการใช้ดุลยพินิจของเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เมื่อต้นปี 2563 เป็นไปตามระเบียบของกฎหมายทุกประการ

แต่อรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ก็ออกมาเปิดประเด็นว่า การใช้ดุลยพินิจเปลี่ยนคำสั่งจากฟ้องเป็นไม่ฟ้องของเนตร อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กล่าวคือ พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องบอส อยู่วิทยา ไปตั้งแต่ปี 2556 แม้ต่อมา เจ้าตัวจะมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมาหลายครั้ง แต่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ระหว่างปี 2558-2560 ก็เคยมีคำสั่งยุติการพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว

“คำสั่งฟ้อง” จึงถือว่าเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ในยุคนั้น

หากจะกลับคำสั่งอัยการสูงสุดให้รับพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมอีก มีเฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีอำนาจ ไม่ใช่รองอัยการสูงสุด

เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ผู้ลงนามในคำสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา คดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจจราจร สน.ทองหล่อ เมื่อปี 2555 ในข้อหาสุดท้ายที่เหลืออยู่ คือ 'ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ถื่อเสียชีวิต' (อายุความปี 2570)

ตัวละครสำคัญ ยังไม่ 'เปิดปาก'

ถึงวันนี้ ยังมีตัวละครสำคัญที่ไม่เปิดปากพูดเลย แม้ชื่อจะถูกพาดพิงในสื่อหลายครั้ง หนึ่งคือ ‘เนตร นาคสุข’ รองอัยการสูงสุด ผู้ลงนามในคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดชาด แม้จะถูกเชิญจากคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรให้ไปชี้แจงหลายครั้ง แต่เจ้าตัวยังไม่มาปรากฎตัวแต่อย่างใด

คำถามที่หลายๆ ฝ่ายคาใจก็คือ เหตุใดจึงเชื่อ 'พยานหลักฐานใหม่' ทั้งเรื่องประจักษ์พยานว่า รถจักรยานยนต์ของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรจจราจรที่เสียชีวิตเลี้ยวตัดหน้า รวมไปถึงการคำนวณความเร็วว่า รถเฟอร์รารี่ของบอส อยู่วิทยา วิ่งเร็วไม่ถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งขัดแย้งกับพยานหลักฐานเดิมที่นำมาสู่การสั่งฟ้องในเบื้องต้น

ผู้สื่อข่าวพยายามถามจากคณะทำงานของอัยการ แต่ไม่มีใครให้คำตอบแทนได้ เพราะเป็นดุลยพินิจของเจ้าตัว

คำตอบจึงต้องออกมาจากเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เพียงคนเดียวเท่านั้น

อีกตัวละครสำคัญที่ยังไม่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง คือ ‘สมัคร เชาวภานันท์’ อดีต ส.ว.สรรหา ภาควิชาชีพ (ระหว่างปี 2551-2557) ผู้เป็นทนายความให้กับบอส อยู่วิทยา มาแต่ต้น และรู้จักกับ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตํารวจ หรือ กมธ.กฎหมาย ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพลิกคดีนี้ในเวลาต่อมา

สภาพรถยนต์เฟอร์รารี่ที่บอส อยู่วิทยา ขับชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ จนเสียชีวิต (ที่มาภาพ: ไทยรัฐ)

ตั้งใจทำสำนวนอ่อน เพื่อเป่าคดี ?

คณะทำงานของอัยการอ้างกรณีที่ความเห็นของ อ.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ จากภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คำนวณว่ารถเฟอร์รารี่ของบอส อยู่วิทยา วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น ‘พยานหลักฐานใหม่’ เพราะไม่อยู่ในสำนวนพนักงานสอบสวนมาแต่ต้น

คำถามก็คือ เหตุใดวิธีการคำนวณความเร็วดังกล่าวถึงไม่อยู่ในสำนวน

ไม่รวมถึงกรณีที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน เคยให้การว่ารถเฟอร์รารี่ของบอส อยู่วิทยา วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ต่อมาก็ลดเหลือไม่ถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เมื่อถูกนำมาให้ข้อมูลกับคณะทำงานของตำรวจอีกครั้ง ก็กลับไปยืนยันตัวเลขเดิม 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอ้างว่า “สับสนในการคำนวณข้อมูล”

เมื่อบวกกับการที่พนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อหา เสพยาเสพติด (โคเคน) หลังเกิดเหตุ

ข้อสงสัยเรื่องการ ‘สำนวนอ่อน’ เพื่อ ‘เป่าคดี’ ให้กับผู้ต้องหา จึงเป็นคำถามตัวใหญ่ๆ ในใจของใครหลายคน

กรณีนี้ คณะทำงานของตำรวจต้องหาคำชี้แจงมาเคลียร์ข้อสงสัยให้กับสังคมให้ได้

ผู้เกี่ยวข้องกับคดีของบอส อยู่วิทยา และการสั่งไม่ฟ้องในภายหลัง

บทบาทของกรรมาธิการ สนช.

บทบาทของ กมธ.กฎหมาย สนช. ซึ่งมี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน (ทำงานระหว่างปี 2557-2562) ก็ยังเป็นคำถามว่า มีส่วนสำคัญทำให้ผลของคดีนี้เปลี่ยนไปหรือไม่

เรื่องหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ การที่บอส อยู่วิทยา ยื่นหนังสือร้องความเป็นธรรมต่อ กมธ.กฎหมาย สนช. เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่เจ้าตัวใช้เลื่อนพบพนักงานอัยการถึง 8 ครั้ง จนเจ้าตัวหนีไปต่างประเทศและหนึ่งในข้อกล่าวหา ‘ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือหรือแจ้งหน้าที่หน้าที่’ หมดอายุความไปเมื่อปี 2560 เหลือเพียงข้อหา ‘ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย’ ซึ่งเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กลับคำสั่งเป็นไม่ฟ้องตอนต้นปี 2563 (จากอายุความคือปี 2570)

ธานี อ่อนละเอียด อดีตเลขานุการ กมธ.กฎหมาย สนช. เคยตั้งโต๊ะชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการทำงานตามหน้าที่ เมื่อทนายความของบอส อยู่วิทยา ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม วันที่ 4 พฤษภาคม ปี 2559 จากนั้นจึงเรียกพยาน 8 รายมาให้ข้อมูล ในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 2559 แล้วเสนอรายงานให้กับพนักงานอัยการในอีก 6 เดือนถัดไป

ที่น่าสนใจก็คือ มีสื่อจำนวนหนึ่งเข้าถึงเอกสารสรุปผลการประชุมครั้งที่พิจารณาคดีของบอส อยู่วิทยา จำนวน 3 ครั้ง พบว่ามีเอกสารบางส่วนหายไป โดยผู้เกี่ยวข้องอ้างว่า “เป็นการประชุมลับ”

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงคำถามสำคัญ ที่ยังไม่มีใครตอบกันว่า ที่สุดแล้ว จะนำตัวบอส อยู่วิทยา กลับไทยมาลงโทษได้อย่างไร

จะเห็นได้ว่า ยังมีหลากหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ - ตัวละครสำคัญยังออกโรงไม่ครบถ้วน

แม้คณะทำงานของตำรวจเตรียมแถลงผลการศึกษาข้อเท็จจริงคดีนี้ในสัปดาห์หน้า ส่วนคณะทำงานของนายกฯ ที่มีวิชา มหาคุณ เป็นประธาน จะให้คำยืนยันว่าจะต้อง “สร้างความเปลี่ยนแปลง” ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อคืนความเชื่อมั่นสู่กระบวนการยุติธรรมของไทย ก็ตาม

หากเทียบกับภาพยนตร์ เรื่องราวที่ผ่านมายังอยู่ในช่วงอินโทรเท่านั้น ยังไม่เข้าสู่ไคลแม็กซ์ อย่าว่าแต่ไปถึงบทสรุปแต่อย่างใด

กระแสสังคมมีผลมากๆ ต่อการกดดันให้ผู้มีอำนาจกระทำการใดๆ จึงอยากชักชวนให้ทุกๆ คนคอยติดตามกรณีของบอส อยู่วิทยา ต่อไปอย่างใกล้ชิด

จับ บอส อยู่วิทยา มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ก็เรื่องหนึ่ง (ถูกผิดอย่างไรให้ศาลตัดสิน) แต่ใช้บทเรียนจากกรณีนี้มาเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกเรื่อง ที่น่าจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน

Cover Photo by Patipat Janthong/Thai News Pix

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0