โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ก่อนจะมาเป็นพอดแคสต์ การฟังวิทยุของคนเคยเป็นแบบไหน? ย้อนวิวัฒนาการการกลายร่างของ "วิทยุ"

LINE TODAY

เผยแพร่ 03 ส.ค. 2563 เวลา 17.05 น. • @mint.nisara

ในยุคที่ทุกคนเปิดพอดแคสต์ระหว่างแต่งตัวก่อนออกไปทำงาน ฟังวิทยุออนไลน์คลอไปกับการขับรถ ตกดึกหมุนไปฟังรายการผี รอคอยคลับฟรายเดย์ทุกวันศุกร์ ทุกอย่างเหล่านี้ย้ำว่าวิทยุยังคงเป็นวิธีในการสื่อสารที่ยังไม่ตายและเป็นส่วนใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน เนื่องในวันวิทยุโลก World Radio Day วันนี้ เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของวิทยุที่เราฟังกันอยู่ทุกวันว่ามาจากไหน และก่อนที่จะกลายร่างมาอยู่ในหน้าปัดรถยนต์หรือแอปพลิเคชั่นฟังวิทยุออนไลน์ในมือถือของเรา เส้นทางชีวิตของวิทยุเป็นอย่างไรบ้าง

กำเนิดสัญญาณวิทยุครั้งแรก

ในยุคแห่งการประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์แต่ละคนต่างผุดไอเดียในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเพื่อนมนุษย์ และเขาคนนี้ก็เช่นกัน กูลเยลโม มาร์โคนี นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียนที่หลงใหลในทฤษฎีการส่งคลื่นความถี่ไร้สายของนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่อย่าง ไฮน์ริช เฮิร์ตซ์ จนนำมาดัดแปลงและคิดค้นคลื่นวิทยุได้สำเร็จในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 

เขาคือคนแรกที่พิสูจน์ได้ว่าสัญญาณวิทยุสามารถเดินทางข้ามห้องได้ ข้ามตึกได้ และที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือเขาล้มล้างความเชื่อที่ว่าคลื่นวิทยุสามารถเดินทางได้ไกลมากที่สุดแค่ 150 กิโลเมตรด้วยการส่งสัญญาณข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ไปยังเมืองเซนต์จอห์นส์ในแคนาดาในปีค.ศ. 1899

การคิดค้นนี้นอกจากจะทำให้มาร์โคนีได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ในปี 1909 แล้ว คลื่นวิทยุยังกลายเป็นส่วนสำคัญของการติดต่อสื่อสาร ทั้งทางการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และเครื่องมือของรัฐบาลในการกระจายข่าวสาร

วิทยุเพื่อความบันเทิง

ถึงจะพอมีสถานีวิทยุเล็ก ๆ ที่ทดลองตั้งขึ้นมาเพื่อทำรายการเสิร์ฟความบันเทิงบ้าง แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คือเวลาที่สถานีเหล่านั้นถูกแบน หากต้องการทำต่อก็ต้องขอใบอนุญาต ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ใครมาแทรกแซงการใช้คลื่นวิทยุของหน่วยทหารในยามที่จำเป็นที่สุด ช่องทางในการเสพความสนุกของผู้คนเลยกลายเป็นทางโทรศัพท์แทน มีบริการสมัครสมาชิกรับข่าวทางโทรศัพท์ มีแม้กระทั่งการเผยแพร่ละครน้ำเน่าโดยการโทรและจ่ายเป็นครั้ง ๆ การใช้วิทยุเลยหายไปจากภาคครัวเรือนระหว่างช่วงสงคราม

อย่างไรก็ตาม วิทยุกลับมาเดบิวต์ใหม่อีกครั้งในช่วงปี 1920 คราวนี้ในฐานะของการเป็นแหล่งความบันเทิงที่ทุกบ้านจะต้องมี ช่วงนี้เป็นจุดกำเนิดของรายการวิทยุที่นำเสนอคอนเทนต์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ข่าว กีฬา ละคร เพลง เรื่องลี้ลับ รายการตลก ไปจนถึงรายการสำหรับเด็กและรายการทำอาหาร และเป็นช่วงที่การแข่งขันในวงการวิทยุสูงมาก การลงโฆษณาในวิทยุก็เป็นสิ่งที่ทำรายได้ให้กับสถานีได้เยอะมากเช่นกัน

วิทยุกระจายเสียงครั้งแรกในประเทศไทย

ถ้าพูดถึงวิทยุในบริบทประเทศไทย ครั้งแรกที่คนไทยได้รู้จักกับเครื่องวิทยุคือในปีพ.ศ. 2447 ที่ห้าง บี.กริมม์ นำเอาเครื่องวิทยุโทรเลขเข้ามาทดลองใช้ในกรุงเทพฯ ครั้งแรก แต่ถ้าพูดถึง "วิทยุกระจายเสียง" ในประเทศไทยแล้วล่ะก็ ครั้งแรกคือตอนที่สมเด็จกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงสั่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงเข้ามาจากประเทศฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน)  และรับสั่งให้ห้างเกียร์สันสร้างห้องส่งสำหรับการกระจายเสียง กลายเป็น "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" สถานีวิทยุแห่งแรกของประเทศไทย และมีการกระจายเสียงปฐมฤกษ์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง

ปัจจุบัน "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นสถานีวิทยุแห่งแรกที่มีอายุยาวนานที่สุดถึง 89 ปี

จากแผ่นเสียงสู่ระบบดิจิตอล

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการกระจายเสียงวิทยุ นอกจากการเปลี่ยนแปลงของตัวคอนเทนต์ที่ถูกแพร่แล้วก็คือด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการทั้งรับและส่งสัญญาณ ตัวอย่างหนึ่งที่ดีมากคือรายการเพลง หากเราได้ไปคุยกับดีเจยุคก่อน ๆ พวกเขาจะเล่าให้ฟังถึงการแบกกระเป๋าใบใหญ่ที่ใส่แผ่นเสียงไปยังสถานีในสมัยที่ทุกอย่างถูกบันทึกลงบนแผ่นไวนิล ยุคสมัยเปลี่ยนไป ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี สื่อกลางที่เคยเป็นไวนิลแผ่นเทอะทะถูกย่อส่วนลงเรื่อย ๆ เป็นซีดีแผ่นเล็กลง และมาสู่ยุคดิจิตอลที่ไฟล์เพลงถูกเก็บเอาไว้ในคอมพิวเตอร์

ในฝั่งของผู้รับก็เช่นกัน จากเครื่องวิทยุตัวหนัก ๆ ที่มาพร้อมหน้าปัด ปุ่มหมุนหาคลื่น และเสารับสัญญาณ ถูกย่อขนาดให้เล็กลง เบาขึ้น เหมาะสำหรับการพกพามากขึ้น สู่หน้าปัดแบบดิจิตอลกับปุ่มกดสแกนสัญญาณ และในที่สุดคือการ tune in แค่เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นของสถานีวิทยุออนไลน์นั้น ๆ 

น้องใหม่ล่าสุด: พอดแคสต์

ร่างใหม่ล่าสุดของวิทยุออนไลน์มาในชื่อที่หลายคนเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้นว่า "พอดแคสต์" รายการวิทยุออนดีมานด์ที่เราสามารถเลือกฟังผ่านทางแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ บนโทรศัพท์มือถือชนิดนี้เริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ. 2547 โดยคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ The Guardian ที่จัดทำขึ้นเพื่อขยายความเนื้อข่าวในคอลัมน์ของเขา คำว่า "พอดแคสต์" มาจากคำว่า "ไอพอด"​ผสมกับคำว่า "บรอดแคสต์" และปัจจุบันก็กลายเป็นเทรนด์ใหม่ภายในคนเฉพาะกลุ่มที่กำลังขยายวงกว้าง ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่อยากเสพคอนเทนต์ที่น่าสนใจแต่มีเวลาที่จำกัดหรือมีความจำเป็นต้อง multitask ทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วย ทุกอย่างรวบจบภายในขั้นตอนเดียวคือการเปิดพอดแคสต์ฟัง

แหล่งที่มา

1 | 2 | 3

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0