โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กี่เพ้าแห่งความตาย ความบ้าคลั่งของยุวชนแดง

PostToday

อัพเดต 08 ส.ค. 2563 เวลา 05.26 น. • เผยแพร่ 08 ส.ค. 2563 เวลา 14.37 น. • webmaster@posttoday.com
กี่เพ้าแห่งความตาย ความบ้าคลั่งของยุวชนแดง
กี่เพ้าแห่งความตาย ความบ้าคลั่งของยุวชนแดง

กี่เพ้าเป็นเครื่องแต่งกายที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหล ช่วยขับให้ทรวดทรงของผู้หญิงจีนดูงามสง่าแฝงความเย้ายวน แต่ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม กี่เพ้าถูกตราหน้าว่าเป็นเครื่องแต่งกายของพวกชนชั้นนายทุน เป็นสัญลักษณ์ของหญิงแพศยา ผู้หญิงคนไหนยังสวมชุดกี่เพ้ารัดรูปแสดงว่าขวัญกล้าหรือไม่ก็บ้าบิ่นเต็มที

หวางกวงเหม่ย เป็นหนึ่งในผู้หญิงตกที่นั่งลำบาก (อย่างมาก) เพียงเพราะสวมชุดกี่เพ้า

หวางกวงเหม่ย ถึงเป็นภริยาของประธานาธิบดีหลิวซ่าวฉี แต่สถานะนี้ไม่ช่วยให้รอดจากความบ้าคลั่งของการปฏิวัติวัฒนธรรม ตรงกันข้ามการเป็นเมียหลิวซ่าวฉียิ่งทำให้เธออยู่ในอันตรายร้ายแรง เพราะหลิวซ่าวฉีเป็นเป้าหมายที่เหมาเจ๋อตงและเจียงชิงต้องการเชือด จึงปลุกปั่นให้ประชาชนเชื่อว่าหลิวซ่าวฉีเป็นศัตรูของการปฏิวัติ แต่ในความจริงก็คือเหมาเจ๋อตงต้องการกำจัดศัตรูไปให้พ้นทางต่างหาก

ย้อนกลับไปในปี 1963 หวางกวงเหม่ยกับหลิงซ่าวฉีเดินทางไปอินโดนีเซีย ในงานเลี้ยงรับรองโดยประนาธิบดีซูการ์โน หวางกวงเหม่ยแต่งชุดกี่เพ้ารัดรูปสวมตุ้มหูกับสร้อยไข่มุกงามสง่าชวนตะลึง (ขณะที่ผู้หญิงจีนในเวลานั้นสวมชุดคนงานเหมือนกันทั้งประเทศ) ไม่เพียงเท่านั้นหวางกวงเหม่ยยังเต้นรำแนบเนื้อกับซูการ์โน (ซึ่งเป็นจอมเจ้าชู้แห่งแดนอิเหนา) แล้วจุดไฟแช็กต่อบุหรี่ให้กับเขา กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวอย่างมาก

อันที่จริงชุดกี่เพ้าแบบที่หวางกวงเหม่ยสวมใส่เป็นแบบที่สตรีชั้นนำของจีนก็ใส่กันมาเพื่อแสดงเอกลักษณ์ของชาติ เช่น ซ่งชิงหลิงหรือซ่งเหม่ยหลิง ซึ่งเป็นสตรีผู้นำจีนในยุคสาธารณรัฐ แต่ในยุคแผ่นดินแดงแห่งสมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน รสนิยมนี้ไม่พึงปรารถนา

ครั้นถึงช่วงมรสุมของการปฏิวัติวัฒนธรรม ครอบครัวตกเป็นเป้าทางการเมือง เยาวชนเริ่มถูกปั่นหัวให้ก่อหวอด หวางกวงเหม่ยพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการไปช่วยแก้ไขสถานที่มหาวิทยาลัยชิงหัว

แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก ในปี 1967 พวกยุวชนแดงแห่งมหาวิทยาลัยชิงหัวกลับเป็นฝ่ายนำตัวภริยาประธานาธิบดีไปสอบปากคำ ต่อว่าที่เจ้าหล่อนใส่ชุดกี่เพ้าเต้นรำกับซูการ์โน ทำให้ประเทศจีนต้องอับอายขายขี้หน้าเขาไปทั่ว แล้วสั่งให้หวางใส่กี่เพ้าตัวที่อวดชาวโลกในทริปอินโดนีเซีย แต่เจ้าตัวยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่า "ไม่" เพราะคงรู้ว่ากำลังถูกป้ายสี แล้วย้ำว่า "ต่อให้ฉันตายก็ไม่แยแสหรอก"

ยุวชนแดงที่ทำการสอบสวนตอกกลับว่า"ตายงั้นรึ พวกเราจะเก็บแกไว้เป็นๆ ใส่ซะ!

คำพูดของพวกยุวชนแดงแฝงความโหดเหี้ยมที่ยากจะต่อกร สุดท้ายหลังการบีบคั้นยาวนาน หวางกวงเหม่ยก็ยอมรับว่าตัวเองเป็นฝ่ายขวาต่อต้านการปฏิวัติ และยอมที่จะถูกลากตัวไปถูกตำหนิต่อหน้าธารกำนัลด้วยมือที่สั่นเทา

หวางกวงเหม่ยยอมสวมชุดกี่เพ้าเจ้าปัญหาซึ่งตอนนี้คับเกินไปแล้ว สวมสร้อยไข่มุกที่ทำด้วยลูกปิงปอง อีก 5 เดือนต่อมานางถูกคุมขังในคุกฉินเฉิง เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ตกเป็นเหยื่อการปฏิวัติอันบ้าคลั่ง อันที่จริงแล้วเล่าลือกันว่าหวางควรจะถูกประหารในข้อหาเป็นสายลับให้อเมริกา (สาเหตุเพราะรับการศึกษาแบบอเมริกันและแต่งตัวยั่วยวนสนองรสนิยมตะวันตก)

แต่เหมาเจ๋อตงไม่รู้จะมอบโทษหนักขนาดนั้นดีหรือไม่ จึงเขียนลงในคำสั่งสั้นๆ ว่า "ไว้ชีวิต"

ที่ไว้ชีวิตหล่อน คือชีวิตที่ไร้อิสรภาพในคุกนานถึง 12 ปี ระหว่างนั้น ไม่ทราบกระทั่งว่า หลิวซ่าวฉีถูกลากตัวจากทำเนียบมาทารุณทุบตีบีบบังคับให้สารภาพความผิด (ที่ไม่ได้ทำ) วันแล้ววันเล่าฐานเป็นศัตรูการปฏิวัติ จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1969 หรือ 2 ปีหลังจากภริยาถูกคุมขัง กว่าที่หวางกวงเหม่ยจะทราบว่าสามีเสียชีวิตแล้ว ก็ในคราวที่ได้รับอิสรภาพ อีก 10 ปีต่อมา

เมื่อเหมาเจ๋อตงเสียชีวิต และเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมามีอำนาจ สยบความวุ่นวายในชาติ ชื่อเสียงและความบริสุทธิ์ของหลิวซ่าวฉีและหวางกวงเหม่ยค่อยได้รับการฟื้นฟู ทุกวันนี้ชุดกี่เพ้าแบบคลาสสิกและแบบโมเดิร์นกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งบนแผ่นดินใหญ่

แต่บาดแผลของการปฏิวัติวัฒนธรรมกลับไม่ค่อยมีคนอยากพูดถึงนัก

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0