โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กรมศิลป์ใช้นิวเคลียร์ตรวจทองโบราณอยุธยา ผลมีความบริสุทธิ์สูง ต่อความร่วมมือ สทน.อีก 5ปี

ไทยโพสต์

อัพเดต 06 ส.ค. 2563 เวลา 09.46 น. • เผยแพร่ 06 ส.ค. 2563 เวลา 09.46 น. • ไทยโพสต์

   

 

 

     วันที่ 6 ส.ค. ที่กรมศิลปากร เทเวศร์ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และ รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) กับกรมศิลปากร ฉบับที่ 2

     นายประทีป กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้สองหน่วยงานร่วมศึกษาวิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการศึกษา วิจัย ฟื้นฟู อนุรักษ์โบราณวัตถุศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีในปัจจุบันมาใช้สนับสนุนภารกิจของกรมศิลปากร ทั้งด้านการวิจัย พัฒนา การสำรวจ และวิเคราะห์ตัวอย่างในพื้นที่โบราณสถาน โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์โบราณวัตถุชิ้นพิเศษและองค์ประกอบทางเคมีของโบราณวัตถุและวัสดุ เพื่องานอนุรักษ์ รวมถึงการศึกษาระบบการจัดการน้ำในอดีตของชุมชนโบราณ การวิเคราะห์ตัวอย่างจากการขุดค้นเพื่อหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาโครงสร้างภายในวัตถุ โดยใช้รังสีให้เกิดความเข้าใจและอธิบายบริบทในอดีตได้

     “ ผลงานวิจัยและพัฒนาที่โดดเด่น มีการวิเคราะห์เครื่องทอง 386  ชิ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ผลสรุปว่าเครื่องทองโบราณอยุธยามีความบริสุทธิ์สูงและเครื่องทองจากกรุวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะมีแหล่งที่มาของแร่ทองคำต่างกัน สันนิษฐานได้ว่า กรรมวิธีผลิตเครื่องทองวัดราชบูรณะลดการเจือปนดีบุก ทำให้ทองบริสุทธิ์มากขึ้นนอกจากนี้ รูปแบบของธาตุที่ประกอบยังใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาเครื่องทองโบราณที่มาจากการบริจาคหรือการยึดคืนของกลาง ทำให้ทราบว่า วัตถุใดเป็นเครื่องทองอยุธยาแท้ ซึ่งโครงการดังกล่าวกรมศิลปากรและ สทน. จะมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพราะที่พิพิธภัณฑ์ฯ มีเครื่องทองมากกว่า 1,000 ชิ้น  และข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จะถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ทองหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์ฯ เจ้าสามพระยา อีกผลงานเป็นการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อการเสื่อมสภาพของโบราณสถาน 2 แห่ง หนึ่งในนั้นที่วัดไชยวัฒนาราม พบว่า ทิศตะวันออกของวัดมีกำมะถันสูงกว่าบริเวณอื่น สันนิษฐานว่า มาจากการปล่อยก๊าซที่มีส่วนผสมของกำมะถันจากเรือขนส่งสินค้า  กำมะถันที่สูงเมื่อรวมกับความชื้นหรือน้ำฝนเกิดฝนกรด ทำให้โบราณสถานเสื่อมสภาพ ข้อมูลวิทยาศาสตร์นี้ใช้วางแนวทางอนุรักษ์มรดกชาติ  ”นายประทีป กล่าว

                 รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผอ.สทน. กล่าวว่า จากประโยชน์ที่ได้รับจากข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับแรก เห็นพ้องตรงกันว่า ควรขยายระยะเวลาออกไปอีก 5 ปี เพื่อยกระดับความรู้และเพิ่มขีดความสามารถการปฏิบัติงานของบุคลากรทั้งสองฝ่าย ร่วมศึกษา วิจัย และพัฒนานำเทคโนโลยีนิวเคลียร์สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลโบราณคดี และการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ เพราะหากสูญหายไป ไม่สามารถนำกลับมาได้ 

         "   การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาช่วยในการศึกษาโบราณวัตถุ ทำให้เราไม่ต้องส่งชิ้นส่วนของโบราณวัตถุไปตรวจสอบอายุในต่างประเทศเช่นในอดีตที่ผ่านมา เป็นเทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้เองในประเทศไทย การตรวจวิเคราะห์ก็มีความถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งห้องปฏิบัติกรไอโซโทปของ สทน. ยังได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาญระหว่างประเทศ (IAEA) และได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จำนวนหนึ่งจาก AA อีกด้วย. สทน. ได้พัฒนาปรับปรุงห้องปฏิบัติการตลอดเวลา เชื่อว่า ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ต้านสิ่งแวดล้อมและโบราณคดีของ สทน. มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ " รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าว

 

 

 

    

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0