โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กติกา - ศุ บุญเลี้ยง

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 29 เม.ย. 2563 เวลา 08.22 น. • ศุ บุญเลี้ยง

ยามเมื่อต้องไปจัดทำกิจกรรม ในฐานะกระบวนกรสอนการเรียนรู้  สิ่งหนึ่งที่ต้องพกพาเป็นเครื่องมือในการประกอบการบรรยายคือเกม

และเกมนั้นจะเล่นให้สนุก ทุกคนต้องเข้าใจกติกาตรงกัน

หากกติกาว่า.. ให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องจากข้อก. หรือ ข้อข.

เช่นถามว่า สนามหลวงเคยใช้เป็นที่ทำอะไร  ระหว่าง ก.เล่นรักบี้  ข.ตีกอล์ฟ

ขณะทุกทีมกำลังใช้ความคิด วิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ

มีใครบางคนเปิดสมาร์ทโฟนขึ้นมาค้นหาคำตอบจากกูเกิ้ล

“อ้าว..อย่าเปิดโทรศัพท์สิ แบบนี้ไม่โอเค” มีเสียงทักท้วง

“อ้าว…ก็ไม่ได้บอกนี่ว่าห้ามค้นหา” 

นี่ก็คือตัวอย่างของกติกาซึ่งไม่ได้บอกให้ชัดแต่แรก

พอกลัวการได้เปรียบเสียเปรียบก็ตั้งกติกาเพิ่มตามมา หรืออาจจะมีกติกาอยู่แล้วแต่ลืมบอก ก็เลยทำให้เกมเสียจังหวะ

 

เวลาจับของขวัญตอนเด็กๆ จำได้ไหมครูบอกว่า ให้เอาของมาโรงเรียนคนละหนึ่งชิ้น กติกากำหนดว่า ราคาไม่ต่ำกว่า 50 บาท แปลว่าของนั้นราคาจะแค่ห้าสิบหรือเกินกว่าก็ได้

ของรางวัลอาจจะออกมาไม่ค่อยถูกใจ แต่การได้ลุ้นก็สนุกดี แม้สุดท้ายจะได้สบู่ ผ้าเช็ดตัวเหมือนปีที่แล้วก็เถอะนะ

การตั้งกติกาไม่ใช่ง่าย หากไม่ได้บอกแต่แรกว่าห้ามเอาของเหมือนปีที่แล้วมาจับ ห้ามเอาสบู่  ห้ามสมุด ดินสอ หรือห้ามเอาของที่ขโมยมาจับ เพราะเดี๋ยวตำรวจจะมาจับ

 

พอกติกาสนุกและตกลงเข้าใจตรงกันความมันก็จะเกิด ดูฟุตบอลเป็นตัวอย่าง กติกาเข้าใจง่าย เอาลูกเข้าประตูด้วยหัวหรือเท้า

แม้จะเรียกฟุตบอลก็จริง แต่นอกจากเท้าแล้ว หัวก็โหม่งได้ ขา เข่า ศอก หน้าอก หรือจะใช้ก้นเล่นก็ยังได้ ถ้ามีปัญญาจะเอามาเลี้ยงบอล

มือก็ให้ใช้ได้ตอนทุ่มเมื่อลูกออกข้าง  ทั้งผู้รักษาประตูจะใช้มือรับหรือเท้าปัดก็ได้เช่นกัน แม้แต่วอลเล่ย์บอล เคยเห็นไหมในบางขณะเขาใช้เท้าเดาะลูกก็ยังได้นะ 

พอคนยอมรับกติกาเข้าใจตรงกันดูการเล่นแล้วก็จะเกิดความมัน  ผ่านไปร้อยกว่าปีการเอาลูกเข้าประตูหรือยัดห่วงก็ยังเร้าใจ

 

เคยลองตั้งกติกาแล้วมาเล่นกันแบบใหม่ๆ แทนที่จะเตะลูกฟุตบอลลูกเดียว ลองใส่ลงไปในสนามพร้อมกันสองลูก เกมก็กลายไปอีกแบบ แต่กติกาแบบนี้ควรนำมาใช้กับเกมที่เราต้องการความสนุกมากกว่าความดุเดือด ควรใช้เพื่อสร้างความสามัคคี หรืองานปาร์ตี้ของน้องใหม่แบบ นิเทศฯ กับ วารสารฯ  แข่งกันขำๆ ไม่ใช่มาใช้กติกาฟุตบอลสองลูกในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ ธรรมศาสตร์

กติกาแต่ละอย่าง การปรับเปลี่ยนจึงขึ้นอยู่กับเวลาสถานการณ์

ปัญหาหลายอย่างมักมาเกิดเอาตอนมีภาวะเร่งด่วน เช่นจิตอาสา ต้องการจะออกไปแจกข้าว แจกของให้คนผู้ตกทุกข์ได้ยาก

จึงต้องคอยเตือนกันว่า เวลาคิดจะเอาอะไรไปแจก คิดให้ดีๆ ก่อนนะ การให้ไม่ได้ง่ายๆ อย่างที่คิดหรอก

จะเอาข้าวสารไปวางตรงสถานีแล้วบอกว่า ใครไม่มีข้าวกิน ให้มาเอา แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ว่าคนไหนมีข้าวกินหรือไม่มี

บางทีคนใจดีคิดอยากกระจายให้ทั่วๆ แต่พอคนมากลุ้มรุมก็จัดการไม่ได้ กลายเป็นผิดกฏที่เขาอยากจะให้ยืนอยู่ห่างๆ 

บางคนได้อาหารแล้วไม่ชอบ เอาไปทิ้งก็ได้ บางรายได้มาหลายกล่องหลายอย่างเอาไปวางขายก็มี สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ดีกว่า ถ้ามีการวางกติกาให้รอบคอบ

 

มีบางที่จัดให้มีแจกคูปองสำหรับผู้ต้องการอาหารไว้ก่อนล่วงหน้า หากใครมีคูปอง ค่อยนำมารับอาหารในวันรุ่งขึ้น ก็จะเป็นการจำกัดจำนวนคนจะมารับแจก และไม่ต้องมารอคิวให้เสียเวลาเพราะอาหารหมดเสียก่อน

มีคนคิดเข้าทีคือ ให้มีคูปองติดไว้ที่ร้านอาหารในละแวกนั้นเลย ใครไม่มีสตางค์ก็ฉีกคูปองไปสั่ง ส่วนใครมีเงินพอเหลือก็ซื้อคูปองเตรียมไว้ให้คนมาทีหลังที่ไม่มีเงินจ่าย

นอกจากจิตใจคิดช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว  วิธีคิดตอนจะนำมาซึ่งความช่วยเหลือที่ลงตัวก็สำคัญไม่แพ้กัน

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากศุ บุญเลี้ยง ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่นได้ที่เพจศุ บุญเลี้ยง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0