โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ไฟไหม้ไม่ต้องเก็บเครื่องเพชร เก็บหนังสือก่อน” เบื้องหลังรับสั่งเจ้านายที่รักหนังสือ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 27 มิ.ย. 2565 เวลา 03.18 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2565 เวลา 00.12 น.
พระราชโอรสและพระธิดาในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์)
พระราชโอรสและพระธิดาในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์)

“…ถ้าเกิดไฟไหม้ไม่ต้องเก็บเครื่องเพชร ให้เก็บหนังสือก่อน…” เป็นพระราชดำรัสที่แสดงถึงความรักหนังสือของสมเด็จพระราชปิตุฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ผู้เป็นพระขนิษฐา ทรงขอไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาของสตรีไทยให้แน่นแฟ้นมั่นคงและพัฒนาก้าวหน้า ด้วยทรงตระหนักพระทัยว่าถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป สตรีหากมีโอกาสรับการศึกษาเท่าเทียมบุรุษ ก็จะสามารถร่วมมือในการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ ดังที่มีพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาของสตรีว่า ความรุ่งเรืองของบ้านเมืองจะบรรลุผลสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนชายหญิง แต่การณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น สตรีไทยยังมีภาวะล้าหลังบุรุษอยู่มาก เพราะสตรีขาดผู้อุดหนุนและชักนำให้เห็นคุณประโยชน์ของการศึกษา และหากสตรีมีโอกาสได้รับการศึกษาก็จะสามารถช่วยเหลือชาติบ้านเมืองได้เช่นเดียวกับบุรุษ

ด้วยพระเจตนารมณ์ดังกล่าว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถจึงทรงปลูกฝังให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงเห็นคุณค่า สนพระทัย และรักการศึกษาเริ่มตั้งแต่โปรดให้อาจารย์ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาสอนเจ้าฟ้าหญิงในราชสำนักฝ่ายในตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทำให้ทรงแตกฉานในวิชาการและภาษาต่างๆ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงถ่ายทอดปลูกฝังนิสัยรักการศึกษาให้แก่ข้าหลวงที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ ข้าหลวงทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมตามลำดับอายุ ข้าหลวงชั้นเล็กจะมีครูมาสอนหนังสือถึงพระตำหนักที่ประทับ ข้าหลวงที่โตหน่อยจะโปรดให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนราชินีสุนันทาลัย

ในส่วนของการปฏิบัติตัวของข้าหลวงก็มิได้ทรงเข้มงวดกวดขันแบบโบราณ ไม่ต้องหมอบคลานอยู่ตลอดเวลา โปรดให้ข้าหลวงแต่ละคนวางตัวให้เรียบร้อยเหมาะสมแก่กาลเทศะ เช่น บางสถานที่อาจยืนเฝ้า เมื่อจะผ่านเจ้านายอาจเดินก้มตัวให้เรียบร้อยแทนการหมอบคลาน นอกจากนี้โปรดให้เรียนรู้วัฒนธรรมบางประการของชาวยุโรปที่อาจต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น รู้จักวิธีจัดโต๊ะ วิธีเสิร์ฟ และวิธีรับประทานอาหารตามแบบยุโรป

นอกจากจะทรงสนับสนุนข้าหลวงในพระราชสำนักให้ได้รับการศึกษาแล้ว ยังทรงสนับสนุนสตรีทั่วไปให้ได้รับการศึกษาด้วย โดยโปรดประทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสถานศึกษาใหม่ๆ ขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น โรงเรียนราชินีบน, โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี และโปรดอุดหนุนให้ข้าหลวงที่สนใจการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อจะได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการศึกษาของเด็กหญิงไทย และเมื่อครั้งเสด็จไปรักษาพระองค์ด้วยโรคพระวักกะพิการที่ทวีปยุโรป ก็ทรงดูงานการศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ในยุโรป และนำกลับมาปรับปรุงทั้งสถานที่และหลักสูตรการเรียนให้ทันสมัย

ในส่วนพระองค์เองทรงใช้ความสนพระทัยเกี่ยวกับความรู้รอบพระองค์อยู่ตลอดเวลา เล่ากันว่าทรงสั่งหนังสือจากต่างประเทศทั้งนิตยสารวิชาการ นวนิยาย แฟชั่น มาทรงอ่านเป็นประจำ ทรงใช้เวลาว่างทุกเวลาทรงหนังสือและทรงพระอักษร โดยเฉพาะก่อนพระบรรทมจะทรงหนังสือจนดึก พระพี่เลี้ยงต้องหาทางมิให้ทรงหนังสือดึก เพราะเกรงว่าจะเสียพระพลานามัย ถึงกระนั้นก็ยังทรงหนังสือและพระอักษรอยู่ตลอดเวลาที่ทรงว่าง ทั้งนี้เพราะมีพระดำริว่าวิชาการความรู้เท่านั้นที่จะเป็นสมบัติเพียงอย่างเดียวที่ติดตัวไปจนตาย ดังพระดำรัสที่สะท้อนให้เห็นถึงพระดำรินี้คือ

“…ของประดับถ้าไม่รู้จักเก็บรักษาก็สูญหายได้ แต่วิชาความรู้นั้นติดตัวไปตลอดชีวิต…” และ “…ถ้าเกิดไฟไหม้ไม่ต้องเก็บเครื่องเพชร ให้เก็บหนังสือก่อน…”

ข้อมูลจาก :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์, มติชน 2556

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0