โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“เหรียญหลวงพ่อโต รุ่นแรก ปี 2460”

สยามรัฐ

อัพเดต 10 ก.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
“เหรียญหลวงพ่อโต รุ่นแรก ปี 2460”

สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

วัดพนัญเชิง เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของ จ.พระนคร ศรีอยุธยา โดยเฉพาะ “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ ‘หลวงพ่อโต’ หรือที่ชาวจีนมักเรียกว่า ซำปอฮุดกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย พุทธลักษณะเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง 7 วา 10 นิ้ว ความสูงตลอดถึงพระรัศมี 9 วา 2 ศอก อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดพนัญเชิง เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนมาช้านาน วัดนี้จึงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่มานมัสการขอพระหลวงพ่อโตกันอย่างต่อเนื่อง

หลวงพ่อโต
หลวงพ่อโต

การจัดสร้าง

การสร้างวัตถุมงคลของวัดพนัญเชิง จะสร้างวัตถุมงคลจำลองรูปหลวงพ่อโต ทั้งแบบพระบูชา พระเครื่อง เหรียญ ล็อกเกต ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาได้บูชาติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมหาปัจจัยสมทบทุนบูรณะ ซ่อมแซม และก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด เช่นเดียวกับ วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีคณะกรรมการที่เรียกว่า “เฒ่านั้ง” ไปจ้างโรงงานทำแล้วควบคุมดูแลเรื่องการปั๊ม การสร้างไม่ให้มีของเสริม

เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง มีการจัดสร้างเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2460 แต่ไม่มีการระบุ พ.ศ.ที่สร้างในเหรียญ และต่อมายังได้มีการจัดสร้างอีกในปี พ.ศ.2485, ปี พ.ศ.2517 และ ปี พ.ศ.2533 โดยยังคงรายละเอียดต่างๆ เหมือนเหรียญเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยความเป็นเหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ไม่ว่ารุ่นไหนก็ปรากฏพุทธคุณและปาฏิหาริย์เป็นที่เลื่องลือทั้งสิ้น

เนื้อหามวลสาร-พุทธลักษณะพิมพ์ทรง

“เหรียญหลวงพ่อโต รุ่นแรก ปี 2460” หรือที่เรียกกันว่า “เหรียญหลวงพ่อโต พิมพ์เศียรเล็ก” สร้างเป็นเนื้อทองแดง ทั้ง กะไหล่เงิน กะไหล่ทอง และแบบรมดำ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม หูในตัว ด้านหน้า ยกขอบเป็นเส้นนูน และมีขอบเส้นลวดอีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่ง ปางมารวิชัย เหนืออาสนะยกเป็นฐานชุกชี ด้านข้างทั้งซ้ายและขวามีพระอัครสาวกพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรยืนหันข้าง ด้านบนเป็นอักษรไทยว่า “พระพุทธไตรยรัตนนายก” ส่วนด้านหลัง เป็นพื้นเรียบ ตรงกลางเป็น “ยันต์ 3” บรรจุอักขระขอม 4 ตัว อ่านว่า “อิ สวา สุ อิ” ซึ่งเป็นอักขระย่อของหัวใจพระรัตนตรัย ด้านบนของยันต์ เป็นอักษรไทยโค้งรอบยันต์ว่า “วัดพนัญเชิง กรุงเก่า” ด้านล่างของยันต์เป็นอักษรจีน 4 ตัว อ่านได้ว่า “ซำปอฮุดกง” จะเห็นได้ว่า มีอักษรปรากฏบนเหรียญถึง 3 ภาษา อันนับเป็นความพิเศษและแตกต่างจากเหรียญทั่วไปซึ่งโดยส่วนใหญ่มีเพียง 2 ภาษาเท่านั้น

ส่วนสาเหตุที่เรียกกันว่า “พิมพ์เศียรเล็ก” หรือ “พิมพ์เศียรถั่วงอก” นั้น ก็เพราะเศียรของพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา คือ พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร จะมีเศียรมีขนาดเล็กกว่าหลวงพ่อโต ซึ่งมีเฉพาะรุ่นแรกเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น

นอกจกานี้ พิธีพุทธาภิเษกก็จัดอย่างยิ่งใหญ่ นิมนต์พระเกจิคณาจารย์ชื่อดังและทรงพุทธาคมเข้มขลังหลายรูปมาร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกภายในพระอุโบสถ เมื่อเสร็จพิธีก็มีการฉลองสมโภชกันอีกหลายวันหลายคืน ถูกต้องตามกระบวนการแบบโบราณทุกประการ

พุทธคุณ

มีพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ครบครัน เฉกเช่น พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ “หลวงพ่อโต” ที่ทุกคนเคารพศรัทธา เรียกว่ามีประสบการณ์เป็นที่เลื่องลือครับผม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0