โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง แตกต่างกันอย่างไร?

GedGoodLife

เผยแพร่ 15 ก.ค. 2563 เวลา 08.05 น. • Ged Good Life ชีวิตดีดี
ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง แตกต่างกันอย่างไร?

เมื่อมีอาการไอค่อก ๆ แค่ก ๆ ทนไม่ไหวต้องเข้าร้านยา ก็มักจะเจอคำถามจากเภสัชกรผู้จ่ายยาว่า อาการไอของเราเป็นแบบไหน เช่น ไอแห้ง ๆ หรือ ไอมีเสมหะ? เจอคำถามนี้เข้าไป คนไข้ถึงกับตอบไม่ถูกเลยทีเดียว ว่าอาการไอของเราเป็นแบบไหนกันแน่นะ? งั้นมาเคลียร์กันชัด ๆ กับ GedGoodLife ไปเลยว่า ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง ๆ แตกต่างกันอย่างไร? จะได้เข้าใจกันถูกต้อง ตามมาดูกันเลย!

ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง
ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง

อาการไอ คืออะไร?

อาการไอ (Cough) เป็นการตอบสนองของร่างกายเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม หรือมีการระคายเคืองเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ ร่างกายจะมีการส่งกระแสประสาทไปยังสมอง และกระตุ้นให้เกิดการไอขึ้น อาการไอยังเป็นกลไกป้องกันสำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ ออกมาภายนอกนั่นเอง (ถ้าเสมหะค้างในปอด จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาอย่างมาก)

โดยปกติแล้ว อาการไอ เกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงนัก และหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ สิ่งที่สำคัญ คือถ้าเกิดอาการไอ เราควรพิจารณาหาสาเหตุการไอ และให้การรักษาที่เหมาะสม และถ้ามี อาการไอเรื้อรัง รุนแรง อาจเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป

สาเหตุของอาการไอที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ กินของทอด ของเย็นจัด
  • ภาวะโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด หรือภูมิแพ้โพรงจมูก (ที่มีน้ำมูกไหลลงคอ)
  • การติดเชื้อเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค ภาวะเนื้องอกของระบบทางเดินหายใจ
  • ยาบางชนิด ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการไอได้เช่นกัน
  • กรดไหลย้อน

อาการไอที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ และเป็นเหตุให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดี อยากหายไวไว จนต้องเดินเข้าร้านขายยา หรือ ไปพบแพทย์ ก็มักจะเป็น อาการไอมีเสมหะ และ ไอแห้ง ซึ่งอาการไอทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกัน ดังนี้

ไอมีเสมหะ คืออะไร ?

ไอมีเสมหะ (Wet cough) คือ อาการไอร่วมกับของเหลวเป็นเมือกเหนียวข้นออกมาขณะไอด้วย โดยเมือกเหนียว ๆ ที่ออกมาพร้อมตอนไอ ก็คือ เสมหะ นั่นเอง ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก กลืนลำบาก ตามหลักแพทย์แผนไทย คนธาตุน้ำมักไอมีเสมหะ (แพทย์แผนไทยเรียก ไอเปียก) และมักจะเกิดขึ้นช่วงอากาศเย็น

เสมหะ หรือ เสลด (Sputum) เป็นสารคัดหลั่งที่ถูกสร้างขึ้นจากต่อมสร้างสารคัดหลั่ง ที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ เสมหะประกอบด้วยน้ำร้อยละ 95 และอีกร้อยละ 1 ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และสารอินทรีย์

สีของเสมหะอาจช่วยบอกโรคได้ เช่น

สีใส = เป็นโรคภูมิแพ้
สีเขียว ขุ่น หรือเหลืองอ่อน = เป็นโรคหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
สีแดง หรือน้ำตาล = เป็นสัญญาณบอกว่า มีเลือดอยู่ในเสมหะ

สาเหตุของอาการไอมีเสมหะ ได้แก่

  • โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือโรคหืด
  • สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเป็นประจำ
  • อยู่ในที่เย็น ที่ชื้นเป็นประจำ หรือเข้าฤดูหนาวอากาศเย็นตัวลง
  • การระคายเคือง หรือ ติดเชื้อเรื้อรังบริเวณลำคอ
  • โรคหลอดลมอักเสบ
  • ปอดบวม หรือปอดอักเสบ
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ไซนัสอักเสบ

การดูแลตนเองจากอาการไอมีเสมหะ

1. พยายามขับน้ำมูก และเสมหะออกมา - การขับเสมหะออกมาเป็นวิธีการกำจัดเสมหะที่ดีที่สุด สิ่งที่ไม่ควรทำคือ อย่ากลืนเสมหะลงคอ

2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น - การดื่มน้ำสะอาด หรือดื่มน้ำอุ่น (ไม่ควรดื่มน้ำเย็นในช่วงที่ไอมีเสมหะ) ทุกชั่วโมง จะช่วยละลายเสมหะ ทำให้ร่างกายขับเสมหะออกมา และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไปด้วย

3. ใช้ไอน้ำช่วย - การใช้ไอน้ำจะช่วยทำให้น้ำมูก และเสมหะในช่วงอก จมูก และคอแตกตัวออก ซึ่งจะทำให้เสมหะถูกขับออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น สำหรับวิธีทำคือ ต้มน้ำ 1 หม้อ ผสมกับน้ำมันยูคาลิปตัส 2-3 หยด จากนั้นก้มหน้าลงไปเหนือชามน้ำร้อน สูดหายใจเข้าเอาไอน้ำเข้าไปหลาย ๆ นาที

4. หายใจเข้าออกลึก ๆ - การหายใจเข้าและออกลึก ๆ ติดต่อกันสัก 5-7 ครั้ง จะช่วยให้ถุงลมขยายใหญ่ขึ้น และฟีบลงสลับกัน วิธีนี้จะทำให้เสมหะหลุดออกจากถุงลม และระบายสู่หลอดลมใหญ่ได้ง่าย

5. ทานยาละลายเสมหะ - ยาละลายเสมหะ เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อโครงสร้างของเสมหะ โดยการลดแรงตึงผิวของเสมหะ จึงช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้ร่างกายกำจัด หรือขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยาคือ คาร์โบซิสเทอีน (Carbocisteine) เป็นต้น

ตัวยาในกลุ่มนี้ได้แก่ คาร์โบซิสเทอีน

ไอแห้ง คืออะไร และมีอาการอย่างไร?

อาการไอแห้ง (Dry Cough) มีลักษณะเหมือนคอแห้ง ไม่มีน้ำลาย ไม่มีเสมหะ อาจมีอาการไอรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน เวลาไอจะรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างติดที่ลำคอ รู้สึกคัน หรือระคายคอ, คอแห้ง, เสียงอาจแหบ, รู้สึกอยากจะกลืนบ่อย ๆ ตามหลักแพทย์แผนไทย คนธาตุไฟมักจะมีอาการไอแห้ง และจะเกิดขึ้นช่วงอากาศร้อน ๆ

สาเหตุของอาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ ได้แก่

  • การระคายเคืองจาก ไรฝุ่น หรือ เชื้อไวรัสจากไข้หวัดลงคอ เป็นต้น
  • โรคภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • โรคหอบ หืด
  • ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต (อาจทำให้เกิดอาการไอกลางคืนได้)
  • โรคกรดไหลย้อน โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • ไซนัสอักเสบ
  • มะเร็งปอดระยะแรก

ในบางกรณีการไอแห้งอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้ายได้ ดังนั้น หากมีอาการไออย่างต่อเนื่อง หรือรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ

วิธีรักษาอาการไอแห้ง แบบไม่ต้องไปพบแพทย์

1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ - การดื่มน้ำจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ

2. ผสมน้ำผึ้งกับน้ำมะนาวอุ่น ๆ - การจิบน้ำผึ้งก่อนนอนในปริมาณ 2 ช้อนชาอาจช่วยบรรเทาอาการไอในเวลากลางคืนและยังช่วยให้นอนหลับสนิทมากขึ้นด้วย

3. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ - เชื่อกันว่าเกลือมีสรรพคุณต้านการอักเสบ ต้านเชื้อโรค และช่วยสมานแผล ซึ่งการบ้วนปากและกลั้วคอด้วยน้ำเกลือจึงอาจช่วยบรรเทาอาการไอแบบไม่มีเสมหะได้

4. สมุนไพร - สมุนไพรบางชนิดก็มีฤทธิ์ในการต้านอาการอักเสบ เช่น มะข้ามป้อม มะแว้ง รากชะเอมเทศ ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น

5. หลีกเลี่ยงสารก่อระคายเคือง - การสัมผัสกับสารก่อระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป สารเคมี ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ เป็นต้น เป็นอีกสาเหตุของการระคายเคืองในลำคอ

6. พักผ่อนให้เพียงพอ - การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย และช่วยให้อาการไอแห้งดีขึ้นได้ในไม่กี่วัน

สรุปแล้ว ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง แตกต่างกันอย่างไร?

ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง
ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง

อาการที่แตกต่างกันชัดเจนระหว่างไอมีเสมหะ กับ ไอแห้ง ก็คือ

  • อาการไอมีเสมหะ จะมีเสมหะร่วมกับอาการไอด้วย
  • แต่อาการไอแห้ง จะมีลักษณะเหมือนคอแห้ง ไม่มีน้ำลาย ไม่มีเสมหะ

ข้อแตกต่างอื่น ๆ ตามหลักแพทย์แผนไทยได้กล่าวไว้ ได้แก่

  • อาการไอมีเสมหะ มักเกิดเวลาอากาศเย็น // อาการไอแห้ง มักเกิดในเวลาอากาศร้อน
  • คนธาตุน้ำ มักไอมีเสมหะ // คนธาตุไฟ มักไอแห้ง
  • คนชอบของขมของเย็น น้ำเย็น มักจะไอมีเสมหะ // คนชอบกินเผ็ดของร้อน จะไอแห้ง

ส่วนสาเหตุของอาการไอทั้ง 2 ประเภทนี้ ค่อนข้างจะไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอาการภูมิแพ้กำเริบ การระคายเคืองในคอ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น สามารถทำให้เกิดได้ทั้งอาการไอมีเสมหะ และ ไอแห้ง ๆ ได้

ไม่ว่าจะอาการไอแบบนี้ ก็อย่าชะล่าใจปล่อยให้กลายเป็นอาการไอเรื้อรัง เพราะ จะยิ่งทำให้สุขภาพแย่ลง และอาจนำไปสู่โรคมะเร็งได้นั่นเอง

อ้างอิง :

1. www.posttoday.com
2. www.pobpad.com
3. www.pobpad.com
4. hd.co.th
5. books.google.co.th

"Expert ดีดี" โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0