โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไม่มีแล้ว โควิด-19 จะใส่มาสก์ทำไม เปิดความจริง การ์ดอย่าตก สื่อสารผิดพลาด

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 14 ก.ค. 2563 เวลา 04.05 น. • เผยแพร่ 14 ก.ค. 2563 เวลา 00.55 น.

ภายหลัง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อเป็นบุคคลวีไอพี 2 ราย คือ 1. ชาย สัญชาติ อียิปต์ อายุ 43 ปี อาชีพหหาร เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เข้าพัก ที่ จ.ระยอง ตรวจหาเชื้อวันที่ 10 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อ วันที่ 12 กรกฎาคม ไม่มีอาการ 2. เด็กหญิง อายุ 9 ปี จากภูมิภาคแอฟริกา เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว (คณะทูต) เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม คัดกรองไม่มีอาการ เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ผลพบเชื้อ ส่ง รพ. ตรวจซ้ำ ผลพบเชื้อ ทั้งนี้ ครอบครัว (คณะทูต) ดังกล่าว เข้าพักที่คอนโดฯ แห่งหนึ่งใน กทม.

 

ต่อมามีการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ป่วย โควิด-19 วีไอพี ทั้ง 2 ราย ระบุ Timeline ของผู้ป่วยเพศชาย อายุ 43 ปี อาชีพทหาร (ลูกเรือเครื่องบินทหาร) จากประเทศในภูมิภาคแอฟริกา

6 ก.ค. 63 เดินทางออกจากสนามบินกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

7 ก.ค. 63 เดินทางจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปปากีสถาน

8 ก.ค. 63 เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เข้าพัก ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อ.เมือง จ.ระยอง

9 ก.ค. 63 ออกจากโรงแรม จ.ระยอง ไปท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อบินไปทำภารกิจทางการทหาร ที่เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปกลับวันเดียวกัน กลับเข้าที่พักโรงแรมเดิม จ.ระยอง

10 ก.ค. 63 ทีม CDCU อ.เมืองระยอง เข้าคัดกรองอาการของคณะเดินทางและลูกเรือเก็บตัวอย่างส่งตรวจ จำนวน 31 ราย

11 ก.ค. 63 เวลา 11.30 น. คณะเดินทางออกจากประเทศไทยกลับอียิปต์ 11 ก.ค. 63 ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ชัดเจน จึงตรวจซ้ำอีกครั้ง

12 ก.ค. 63 ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน พบเชื้อ

 

ขณะที่ Timeline ของผู้ป่วย โควิด-19 เด็กหญิง อายุ 9 ปี วีไอพี จากภูมิภาคแอฟริกา เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว (คณะทูต)

7 ก.ค. 63 มารดานำผู้ป่วยและครอบครัว รวม 5 คน ไปตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง ที่ รพ.แห่งหนึ่ง ผลตรวจทุกคนไม่พบเชื้อ

10 ก.ค. 63 ผู้ป่วยและครอบครัว รวม 5 คน เดินทางมาถึงไทย เที่ยวบินที่ MZ3277 เวลา 05.40 น. คัดกรองไม่มีอาการ เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ผลพบเชื้อ บิดานำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ. แห่งหนึ่ง กทม. มีการตรวจซ้ำ ผลพบเชื้อ สมาชิกที่เหลือกักกันในที่พักที่คอนโดฯ แห่งหนึ่งใน กทม. 11 ก.ค. 63 ผลตรวจแพทย์ตรวจพบปอดอักเสบ จึงส่งต่อ ผู้ป่วยมารักษาต่อที่ รพ.แห่งหนึ่ง

 

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค โพสต์ หมอแก้ว ผลิพัฒน์ ความจริงเกี่ยวกับการสื่อสารความเสี่ยง ระบุ 3 หลักการของการสื่อสารความเสี่ยง คือ Be First , Be Right , Be Credible. อาจจะเพิ่มอีกข้อ คือ Be Clear - ไม่คลุมเครือ พร้อมตั้งคำถาม เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง หลายครั้งหลายหนที่คำถามเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในใจของเรา

ทั้งนี้ มีคอมเมนต์จากมุมมองผู้ใช้เฟซบุ๊กวิชาชีพสื่อสารเข้ามาแลกเปลี่ยน เผย สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันนี้ “ไม่มีแล้ว โควิด-19 จะใส่มาสก์ทำไม” ชี้ เพราะรัฐบาลสื่อสารผิดพลาด สร้างความคาดหวังผิดๆ ให้ประชาชนผู้รับข่าวสาร “การ์ดอย่าตก” น้ำหนักเบาแผ่วมาก ยากที่จะหวังให้คนเข้าใจ ตระหนัก เชื่อมั่น และปฏิบัติตาม ระบุ

 

ความคิดเห็นส่วนตัว จากมุมมองคนวิชาชีพสื่อสาร ขออนุญาตแลกเปลี่ยนนะคะ คุณหมอ

เพื่อนโพสต์เล่าว่า “พ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้ใบไม้ที่ปากคลองตลาดไม่ใส่ mask สักคน ถามว่าทำไมไม่ใส่ พวกเขาตอบว่าไม่มีแล้ว covid จะใส่ทำไม”

สภาพการณ์อย่างนี้ คาดได้ว่าต้องเกิดขึ้น และมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในแทบทุกที่ แม้กระทั่งใน รพ. ตามตลาดนัด ในชุมชนท้องถนนร้านรวงต่างๆ

ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลสื่อสารผิดพลาด จากการที่เน้นในการแถลงข่าวรายวันว่าไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นเวลาเท่านั้นวันเท่านี้วันแล้ว พบแต่ผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ และเจอใน state quarantine

รัฐบาลแถลงแบบนี้ทุกวัน สร้างความคาดหวังผิดๆ ให้ประชาชนผู้รับข่าวสาร ว่า ถ้าไม่พบสถิติผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้วัน แปลว่า ไม่มีเชื้อแพร่กระจายในที่สถานที่ต่างๆ แล้ว จะพบก็เฉพาะผู้ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐก็ควบคุมได้ทั้งหมด

 

จริงอยู่ว่า รัฐหรือโฆษก ศบค. ไม่ได้พูดแบบนั้น แต่โทนของการแถลงและเนื้อหาข้อมูลที่เน้นทุกวันมันปูทางลาดให้คนเข้าใจแบบนั้น ทั้งๆ ที่ความจริงมันไม่ใช่

คำพูดต่อท้ายหรือที่แทรกบ่อยๆ ว่า “แต่การ์ดเราอย่าตกนะ” มันแทบไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย เพราะมันให้น้ำหนักที่เบาแผ่วมาก

ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ปัจจุบัน คือ ยังมีเชื้อไวรัสอันตรายระบาดเผยแพร่ติดต่อกันได้อยู่ตลอดเวลา ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน การไม่พบผู้ติดเชื้อรายวัน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อในคนไทย ในประเทศไทยอีกแล้ว มันแค่ยังไม่มีการตรวจพบ ซึ่งที่ยังไม่มีการตรวจพบนั้นก็มาจากหลายสาเหตุ

 

มาตรการที่ประเทศไทยควรใช้และประกาศเป็นมาตรการบังคับ คือ การบังคับสวมหน้ากากอนามัยทุกคนเมื่อออกนอกบ้าน และต้องสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนทุกคนอย่างจริงจังหนักแน่น เลิกพูดได้เลยคำว่า การ์ดอย่าตก แต่ให้พูดแทนว่า บังคับสวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้านทุกคน สแกนแอปไทยชนะทุกสถานที่ รัฐบาลพูดเองว่านี่คือ นิวนอร์มัล แล้วทำไมไม่กำกับการปฏิบัติให้เป็น นิวนอร์มัล อย่างแท้จริง

การสื่อสารในภาวะวิกฤติของประเทศไทย ทำไงก็ไม่อาจประสบผลสำเร็จที่ดีได้ ถ้าไม่รู้จักไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ว่า Every communication has a purpose. และ communication purpose ต้องถูกออกแบบเนื้อหาสาระวิธีการเพื่อสนับสนุนการบรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละ stage ของการบริหารวิกฤตการณ์ ถ้า communication objectives กับ crisis management objectives at each stage ไม่สนับสนุนสอดคล้องกัน ก็ยากที่จะหวังให้คนเข้าใจ ตระหนัก เชื่อมั่น และปฏิบัติตาม

 

อ่านข่าว - ผล โควิด-19 เลวร้าย เด็กเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลกอาจไม่ได้กลับไปโรงเรียนตลอดกาล

 

 

CR : หมอแก้ว ผลิพัฒน์

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0