โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โฟกัสสหรัฐฯ-รัสเซีย-จีน ใน ‘การทูตนิวเคลียร์’

The Momentum

อัพเดต 12 ก.ค. 2563 เวลา 13.57 น. • เผยแพร่ 12 ก.ค. 2563 เวลา 13.57 น. • สาธิต มนัสสุรกุล

In focus

  • สนธิสัญญาลดอาวุธยุทธศาสตร์ฉบับใหม่(New START) หรือข้อตกลงที่มีชื่อว่าNew Strategic Arms Reduction Treaty ฉบับนี้ เป็นสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ซึ่งเป็นความพยายามควบคุมอาวุธระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้งสองที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
  • สนธิสัญญาดังกล่าวมีกำหนดที่จะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ ปี2021 ทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ในกระบวนการเจรจาที่จะต่ออายุ แต่สหรัฐฯ พยายามกดดันรัสเซียให้ดึงจีนมาร่วมวง ขณะที่จีนมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะเอาเชือกมามัดมือตัวเอง
  • ปัจจุบัน รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์6,375 ลูก ซึ่งรวมถึงส่วนที่ยังไม่ได้ติดตั้งประจำการ สหรัฐฯ มี5,800 ลูก ในขณะที่จีนมี320 ลูก

เกมการเมืองว่าด้วยนิวเคลียร์ระหว่างสามเส้ามหาอำนาจกำลังเข้าสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่ละฝ่ายมีข้อเกี่ยงงอนตามผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตัวเอง น่าจับตาว่า ผลเจรจาข้อตกลงลดอาวุธจะเป็นอย่างไร 

ดุลอำนาจของประเทศผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์กลับมาเป็นประเด็นจับตาอีกครั้ง อันสืบเนื่องจากจุดยืนที่ห่างไกลกันลิบลับของชาติพี่เบิ้มเกี่ยวกับสนธิสัญญาลดอาวุธยุทธศาสตร์ฉบับใหม่(New START)

ข้อตกลงที่มีชื่อว่าNew Strategic Arms Reduction Treaty ฉบับนี้ เป็นสนธิสัญญาสองฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ซึ่งเป็นความพยายามควบคุมอาวุธระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้งสองที่กระทำสืบเนื่องกันมาผ่านข้อตกลงต่างๆ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

สนธิสัญญาดังกล่าวมีกำหนดที่จะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ ปี2021 ทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ในกระบวนการเจรจาที่จะต่ออายุ ทว่าฝ่ายสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการดึงจีนให้เข้าร่วมเป็นฝ่ายที่สาม การเจรจาจึงเกิดความรวนเร 

นั่นเป็นเพราะสหรัฐฯ พยายามกดดันรัสเซียให้ร่วมกันฉุดจีนเข้าร่วมวง แต่รัฐบาลมอสโกไม่เล่นด้วย ขณะที่ปักกิ่งมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะเอาเชือกมามัดมือตัวเอง 

ถ้าทรัมป์ล้มโต๊ะเจรจา ด้วยข้ออ้างว่าเสียเปรียบจีนที่ลอยตัวพ้นการควบคุม โลกอาจหวนคืนสู่ยุคของการแข่งขันสร้างสมอาวุธอย่างเต็มรูปแบบ 

อเมริกาอ้าง ‘ภัยจีน’  

อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศใหญ่ยักษ์ทั้งหลายในการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ประเทศที่มีแสนยานุภาพด้านนิวเคลียร์สูงกว่า ย่อมมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า ซึ่งนั่นหมายถึงแนวโน้มของพฤติกรรมเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว 

พฤติกรรมเช่นนี้จะสร้างความตึงเครียดในเวทีระหว่างประเทศ ผลที่ตามมาคือ การกระทบกระทั่ง ซึ่งจะสร้างความไร้เสถียรภาพ บั่นทอนสันติภาพ ดังนั้น จำเป็นต้องมีกฎกติกาที่จะควบคุมการสร้างสมอาวุธ เพื่อให้ชาติมหาอำนาจมีแสนยานุภาพทัดเทียมกัน นี่คือที่มาของสนธิสัญญาลดอาวุธ

ข้อตกลงNew START ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี2011 นั้น มีอายุ10 ปี นับถึงตอนนี้ เหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งปีก่อนที่ผลของสนธิสัญญาจะหมดลง 

ที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์บอกว่า ถ้าจะต่ออายุ ต้องเอาจีนเข้ามาร่วมด้วย โดยกล่าวหาว่า จีนฉวยโอกาสที่สหรัฐฯกับรัสเซียถูกพันธนาการด้วยข้อตกลงนี้ เร่งพัฒนาเขี้ยวเล็บด้านนิวเคลียร์ 

บนโต๊ะเจรจาระหว่างวอชิงตันกับมอสโกที่กรุงเวียนนาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะผู้เจรจาฝ่ายอเมริกัน นำโดยมาร์แชล บิลลิงส์เลีย เอาภาพสไลด์แสดงข่าวกรองเกี่ยวกับการพัฒนานิวเคลียร์ของจีนไปฉายให้ฝ่ายรัสเซียดู พลางบอกว่า รัสเซียต้องช่วยเกลี้ยกล่อมให้จีนตอบรับเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญา

บิลลิงส์เลีย บอกว่า จีนกำลังสร้างสมนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วจนน่าตระหนก เพื่อให้มีกำลังอำนาจสูสีกับสหรัฐฯ และรัสเซีย พร้อมกับบอกว่า ทรัมป์จะไม่ต่ออายุสนธิสัญญาฉบับนี้หากว่าจีนไม่เข้าร่วม

รัสเซียไม่ขานรับ

อันที่จริง กำลังนิวเคลียร์ของจีนยังตามหลังสหรัฐฯ กับรัสเซียหลายช่วงตัว ตามตัวเลขของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม(SIPRI) ประเทศทั้งสองครอบครองอาวุธนิวเคลียร์คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ90 ของโลก

รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์6,375 ลูก ซึ่งรวมถึงส่วนที่ยังไม่ได้ติดตั้งประจำการ สหรัฐฯ มี5,800 ลูก ในขณะที่จีนมี320 ลูก ฝรั่งเศสมี290 ลูก และอังกฤษมี215 ลูก 

ในการเจรจา ผู้แทนรัสเซียเสนอว่า ให้ทั้งสองฝ่ายต่ออายุข้อตกลงออกไปเป็นเวลา5 ปี เพื่อให้ฝ่ายอเมริกันไม่ต้องเสนอขออนุมัติจากสภาคองเกรส เนื่องจากสภาสหรัฐฯ อาจขัดขวางเหมือนอย่างที่เคยทำกับข้อตกลงบางฉบับในอดีต 

มอสโกแสดงจุดยืนผ่านเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ อนาโตลี อันโตนอฟ ว่า เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าจีนไม่พร้อมจะเข้าร่วม และรัสเซียก็จะไม่เอาด้วยกับสหรัฐฯ ที่จะกดดันจีนให้เข้าร่วม

เขายังเน้นย้ำท่าทีเดิมของรัสเซียด้วยว่า ถ้าจีนเข้าร่วม ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ คือ ฝรั่งเศส กับอังกฤษ ก็ต้องเข้าร่วมด้วย พร้อมกับฝากคำถามไปยังสหรัฐฯ ว่า ในเมื่ออยากให้จีนเข้าร่วม สหรัฐฯ พร้อมจะลดอาวุธนิวเคลียร์ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับจีนหรือเปล่า

สนธิสัญญาNew START ตั้งเป้าจำกัดการติดตั้งประจำการหัวรบของสหรัฐฯกับรัสเซียไม่ให้เกินฝ่ายละ1,550 ลูก

ปักกิ่งขอ ‘กำลังเท่ากัน’

จีนไม่สนใจที่จะเข้าเป็นคู่สัญญาด้วยมุมมองที่ว่า จีนยังเป็นรองมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้งสองอยู่หลายขุม เรื่องอะไรจะต้องมัดมือมัดเท้าตัวเอง 

ฝูกง อธิบดีกรมการควบคุมอาวุธ กระทรวงต่างประเทศจีน บอกว่า การที่สหรัฐฯ เชื้อเชิญจีนให้เข้าร่วมนั้น เป็นเพียงลูกไม้ที่จะหาช่องโยนทิ้งข้อตกลง แท้จริงแล้ว สหรัฐฯ อยากแก้มัดให้ตัวเอง เพื่อก้าวขึ้นเป็นจอมมหาอำนาจทางทหาร 

เขาย้อนถามว่า สหรัฐฯ มีหัวรบร่วม6,000 ลูก จีนมี300 ลูก แล้วมาพูดว่า จีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างนี้จะฟังขึ้นหรือ

“ถ้าสหรัฐฯ พร้อมที่จะลดหัวรบนิวเคลียร์ลงมาให้เท่าๆ กับจีน จีนยินดีเข้าร่วมในวันพรุ่งนี้เลย แต่เรารู้ว่านั่นไม่มีทางเป็นไปได้ เรารู้จักสหรัฐฯ ดี” 

จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนทรัมป์มีทางเลือกแค่สองทาง ต่ออายุข้อตกลงกับรัสเซีย หรือปล่อยให้ข้อตกลงหมดอายุ ถ้าเลือกอย่างหลัง โลกคงระอุด้วยบรรยากาศของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะไม่อาจแน่ใจในเจตนาของแต่ละฝ่าย

อ้างอิง:

New York Times, 30 June 2020

AFP via Channel News Asia, 10 July 2020

AFP via Japan Times, 8 July 2020

  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0