โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"แอนนา" หลังออกจากกรุงสยาม

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 01.40 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 01.35 น.
แอนนา
แอนนาเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามในราชสำนักฝ่ายใน (จากภาพยนตร์ Anna and The King of Siam, 1946 ภาพจากหนังสือสายลับวังหลวง และโลกมายาของแอนนา เลียวโนเวนส์)

แหม่มแอนนาเป็นที่รู้จักในฐานะเป็น “พระอาจารย์ฝรั่ง” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่สำหรับชาวต่างชาติทั่วไปแหม่มแอนนาคือตัวละครเอกของนวนิยายและละครบรอดเวย์ชื่อดัง เรื่อง “เดอะคิงแอนด์ไอ” รวมทั้งภาพยนตร์ฮอลิวู้ดเรื่อง “แอนนาแอนด์เดอะคิง” ซึ่งสวมบทบาทโดยนักแสดงชั้นนำ คือโจดี ฟอสเตอร์

แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม

พ.ศ. 2405 แอนนาเดินทางจากสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร เพื่อทำหน้าที่ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยาม ตามพระราชหัตถเลขาเชิญชวนของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ผ่านผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวประจำสิงคโปร์

ตลอดระยะเวลาการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสยาม แอนนาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเรียนรู้เรื่องเมืองไทยจนเขียนเป็นหนังสือได้ถึง 2 เล่ม คือ “The English Governess at the Siamese Court” และ “The Romance of the Harem” ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นหนังสือขายดีและสร้างชื่อเสียงให้กับนางเป็นอย่างมาก จนเป็นที่มาของนวนิยายและละครเพลงชื่อดังในที่สุด

กลับคืนสู่โลกตะวันตก

พ.ศ. 2410 แอนนาในวัย 36 ปี ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปสหรัฐอเมริกา โดยระหว่างทางแวะพักที่อังกฤษและไอร์แลนด์ แอนนาใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐนิวยอร์กรวมเป็นเวลา 11 ปี ซึ่งที่นี่เองนางได้เริ่มต้นชีวิตของการเป็นนักเขียนด้วยการส่งต้นฉบับไปลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารชื่อ Atlantic Monthly จนผลสุดท้ายได้รับการตีพิมพ์ กลายเป็นหนังสือรวมเล่มเกี่ยวกับชีวิตแอนนาในพระราชสำนักสยามดังที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อมีอายุได้ 47 ปี แอนนาได้ย้ายถิ่นฐานจากสหรัฐอเมริกาตามลูกสาวคือเอวิสและลูกเขย โธมัส ฟิช ไปยังเมืองฮาลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา ซึ่งในเวลาต่อมานางมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถาบันการศึกษา Victoria School of Art and Design (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Nova Scotia College of Art and Design) เพื่อเฉลิมฉลองพระราชวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปีของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ นอกจากนี้นางยังมีบทบาทด้านสตรีภายในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

ช่วงเวลานั้นเองแอนนามีโอกาสได้เดินทางไปยังประเทศรัสเซีย เพื่อบันทึกเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นบนแผ่นดินของพระเจ้าซาร์ ในฐานะนักเขียนบทความสารคดีให้กับนิตยสาร Youth’s Companion หลังจากนั้นนางยังคงเดินทางต่อไปที่ยุโรปและพำนักอาศัยอยู่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลาช่วงหนึ่งด้วย

ในวัย 53 ปี แอนนาเขียนหนังสือเล่มที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของตนเอง โดยเฉพาะชีวิตในวัยเด็ก ชื่อว่า “Life and Travel in india” ก่อนจะเขียนเล่มที่ 4 ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายในอีก 5 ปีต่อมา เรื่อง “Our Asiatic Cousins” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวจีนที่อพยพไปอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ดี หนังสือ 2 เล่มสุดท้ายดังกล่าวนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก หากเทียบกับผลงานเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม

แอนนาเสียชีวิตที่เมืองมอนทรีล ประเทศแคนาดา เมื่อ พ.ศ. 2458 รวมมีอายุ 84 ปี นอกจากผลงานเขียนหนังสือทั้ง 4 เล่มแล้ว แอนนายังทิ้งมรดกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงความเป็นไปของสังคมยุคนั้น ไม่ว่านางจะเป็นที่ยอมรับมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม

(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “แอนนา หลังออกจากกรุงสยาม” เขียนโดย อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว* ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม* กุมภาพันธ์ 2547)

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0