โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เอกชนไทยหนีซบเวียดนาม แห่ย้ายฐานรับข้อตกลง FTA

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 26 ส.ค. 2563 เวลา 03.18 น. • เผยแพร่ 03 ก.ค. 2563 เวลา 05.00 น.
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม-ซูเปอร์แวร์-อิเล็กทรอนิกส์ ลุยลงทุนเวียดนาม มุ่งคว้าสิทธิประโยชน์การค้าพึ่งแต้มต่อลดภาษีข้อตกลง CPTPP-EVFTA ได้ต้นทุนวัตถุดิบต่ำแถมค่าแรงถูก ทูตพาณิชย์เวียดนามชี้ตัวเลขขอส่งเสริมลงทุนโครงการใหม่ 4 เดือนแรกปีนี้ทะลุ 26% เกือบ 1,000 โครงการ

การย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจากไทยไปยังเวียดนามปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม อย่างล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท พานาโซนิค ในไทย เตรียมจะหยุดการผลิตเครื่องซักผ้าในเดือนกันยายน และหยุดโรงงานผลิตตู้เย็นในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะปิดโรงงานผลิตในเดือนมีนาคม 2564 มีผลต่อการจ้างงาน 800 คน โดยบริษัทจะย้ายฐานการผลิตไปที่กรุงฮานอยแทนเพราะช่วยลดต้นทุนการจัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนประกอบตู้เย็นและเครื่องซักผ้าในอาเซียนใต้ ไม่เพียงพอเท่านั้นยังมีอุตสาหกรรมหลายกลุ่มที่ขยายการลงทุนไปเวียดนามก่อนหน้านี้ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม ซูเปอร์แวร์มูลค่าลงทุน FDI เวียดนามพุ่ง

สอดคล้องกับรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระบุว่า ช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) 2563 ภาพรวมการลงทุนของเวียดนามยังเป็นที่น่าจับตามอง โดยมีจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนใหม่ 984 โครงการ มูลค่า 6,780 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.9% และยังมีโครงการที่ปรับเพิ่มทุน 335 โครงการ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 45.6% โครงการที่นักลงทุนซื้อหุ้นจากบริษัทในเวียดนาม 3,210 โครงการ มูลค่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 65%

ประเภทโครงการลงทุนใหม่ 984 โครงการ จะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต และการประมง, การผลิตพลังงานไฟฟ้า, การค้าส่งและค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ และกิจกรรมวิชาชีววิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ เป็นต้น ซึ่งมาจากการลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยกระจายลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน อาทิ โฮจิมินห์ ฮานอย บั๊กนิญ ดานัง ลองอัน บินห์เชือง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของนักลงทุนไทยที่ขยายการลงทุนโครงการใหม่ไปยังเวียดนาม มีจำนวนถึง 9 โครงการ มูลค่า 22.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีโครงการลงทุนสะสมในเวียดนาม 567 โครงการ มูลค่า 12,304 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นอันดับ 9 จากทั้งหมด 136 ประเทศ

11 โรงงานขยายฐานผลิต

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (TGMA) และประธานกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีบริษัทเครื่องนุ่งห่มไทยขยายการลงทุนตั้งฐานผลิตในเวียดนาม ประมาณ 11 โรงงาน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยบางโรงงานขยายคู่ขนานทั้งฝั่งไทยและเวียดนาม บางโรงงานก็ปิดโรงงานที่ฝั่งไทย แล้วไปขยายที่เวียดนามเลย ตัวอย่าง เช่น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องนุ่งห่ม จ.ปราจีนบุรี ได้ประกาศปิดโรงงานและเลิกจ้างพนักงานกว่า 500 คน เมื่อสัปดาห์ที่่ผ่านมา แต่บริษัทนี้มีการตั้งฐานการผลิตในเวียดนามที่มีขนาดใหญ่กว่าในไทย มีการจ้างงานมากถึงประมาณ 2,000 คน คาดการณ์ว่าในอนาคตภาพการย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศจะมีผลให้สัดส่วนการส่งออกจากฐานการผลิตในต่างประเทศ (ออฟชอร์เอ็กซ์ปอร์ตเตอร์) เพิ่มมากกว่าการส่งออกโดยฐานผลิตในไทยได้

ได้เปรียบ CPTPP-EVFTA

ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนพิจารณาขยายฐานไปยังเวียดนาม หลัก ๆ จะมาจากเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้า หลังจากที่เวียดนามได้ลงนามความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) กับความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-อียู หรือ (EVFTA) ซึ่งเพิ่งให้สัตยาบันและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ทำให้สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามได้ลดหรือยกเว้นการเก็บภาษีจากอัตราปกติ เมื่อส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าในความตกลงฉบับดังกล่าว

ขณะเดียวกัน เวียดนามยังมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย และที่สำคัญ ตอนนี้เวียดนามสามารถปิดจุดอ่อนเรื่องความพร้อมของห่วงโซ่ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้ทั้งหมด เพราะมีนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ต่างจากอดีตที่ไม่มีความพร้อมเรื่องต้นน้ำ พวกโรงย้อม-โรงทอ-โรงปั่นด้าย ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุนเวียดนามมีการให้สิทธิประโยชน์สามารถเทียบเคียงกับไทยได้ เช่น “ยกเว้น” ภาษีให้นักลงทุน 5-10 ปี และยังมีข้อได้เปรียบเรื่องการอำนวยความสะดวกระยะเวลาการยื่นขอพิจารณาเพียง 1 เดือน ในขณะที่ไทยใช้เวลาพิจารณายาวนานถึง 6-10 เดือน การขอคืนภาษีที่ให้การยกเว้นก็เร็วกว่ามากและที่สำคัญ ในปีนี้ยังมีแนวโน้มว่าการส่งออกของเวียดนามมีโอกาสเติบโตขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าหน้ากากอนามัย และชุด PPE เนื่องจากอินเดีย และจีน ประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้ทุกตลาดมุ่งไปสั่งซื้อที่เวียดนาม ซึ่งมีแนวโน้มว่าฐานการผลิตของผู้ส่งออกไทยในเวียดนามจะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นถึง 10% ในปีนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงงานสิ่งทอในไทย 2,000 โรง มูลค่าการส่งออก 90,000 ล้านบาท ส่วนฐานผลิตในต่างประเทศมี 39 โรงงาน มูลค่าส่งออก 20,000 ล้านบาท

หนุนร่วม CPTPP

“ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลพิจารณาตัดสินใจอย่างไรในเรื่องการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในอนาคต แต่ในมุมอุตสาหกรรมเราเห็นด้วยกับความตกลงฉบับนี้ เพราะหากมองถึงภาพรวมการผลิตจะได้ประโยชน์ แน่นอนว่าไม่มีความตกลงอะไรที่เราจะได้ประโยชน์ทั้งหมด 100% มันมีทั้งบวกและลบ แต่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักว่าหากด้านบวกเยอะกว่าก็ต้องมอง เพราะไม่เช่นนั้นเราจะค้าขายกับใคร ใครจะมาลงทุน ถ้าซัพพลายเชนขาด ประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาระยะยาวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ อย่าง FTA ไทย-อียู เราหยุดมา 2-3 ปี ก็ช้าไปแล้ว เพราะเวียดนามกำลังจะบังคับใช้ FTA-EU อยู่แล้ว ซึ่งแค่พอข่าวออกมามันก็มีผลกับนักลงทุนเริ่มมองไปที่เวียดนามแล้ว เพราะถ้าเทียบสิทธิประโยชน์การลงทุนแล้วไม่ต่างกัน ไทยก็สู้ได้ แต่สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างกัน แล้วเราจะส่งออกไปไหน ไม่นับรวม facility จำนวนแรงงาน ค่าแรง ซัพพลายเชน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเวียดนามได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เชื่อมซัพพลายเชน CPTPP

จริงอยู่ที่มีข้อโต้แย้งว่า ไทยทำ FTA กับ 9 ประเทศ แต่มีแค่ 2 ประเทศใน CPTPP ที่ไม่มีข้อตกลง FTA กับไทย คือ แคนาดา-เม็กซิโก ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่ 5-15% แต่ข้อดีของการมี FTA หลายกรอบ จะทำให้เราสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในแต่ละกรอบได้ เช่นว่าการค้ากับญี่ปุ่น เราจะเลือกใช้ JTEPA (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือจะเลือก AJCEP (อาเซียน-ญี่ปุ่น) หรือ CPTPP ก็ย่อมได้ เพราะคอนดิชั่นของแต่ละความตกลงมีความแตกต่างกัน

“สิ่งที่สำคัญ คือ ความได้เปรียบในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรในห่วงโซ่การผลิต (flow supply chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้เราสามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าได้ว่าผลิตโดยใช้วัตถุดิบในอินเดีย 50% วัตถุดิบในญี่ปุ่น ในจีน หรือในแหล่งที่เรามี FTA มาผสมรวมกัน จะเป็นประโยชน์ด้านที่ 1) การเฉลี่ยต้นทุนวัตถุดิบให้ถูกลง และยังสามารถใช้ในการลดภาษีได้ 2) ได้ความหลากหลายในการพัฒนาสินค้า และ 3) ได้ขยายแบรนด์ไปได้กว้างขึ้น และสุดท้ายสิ่งที่กังวลก็คือ การตัดสินใจในเรื่องนโยบายนี้จะมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่มองถึงภาพรวมที่แท้จริง” นายยุทธนากล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้วางงบประมาณ 300 ล้านบาท ขยายฐานการผลิตในโรงงานแห่งที่ 4 ที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม จากเดิมที่มี 3 โรงงานในเวียดนาม คือ โรงงานในโฮจิมินห์ 2 โรง และโรงงานที่ฮานอย 1 โรง โดยบริษัทมีแผนผลิตและจำหน่ายในตลาดเวียดนาม และส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ปัจจุบันศรีไทยฯมีการผลิตใน 4 ประเทศ คือ เวียดนาม-อินโดนีเซีย-อินเดีย-ไทย และเพิ่งปิดฐานการผลิตที่ จ.นครราชสีมา เป็นการชั่วคราว

“บริษัทได้ปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดหลัก สหรัฐ สหภาพยุโรป ซึ่งลูกค้ามีคำสั่งขอให้โรงงานต่าง ๆ ของไทยขยายฐานผลิตไปในเวียดนาม เพื่อจะได้ใช้สิทธิประโยชน์จากที่เวียดนามบรรลุการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างอียู-เวียดนาม (EVFTA) และ CPTPP ที่ลดภาษีนำเข้า 0% ด้วย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0