โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เร่งโครงการ 4 แสนล้าน ตัวช่วยสุดท้าย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 11 ก.ค. 2563 เวลา 12.25 น. • เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 12.22 น.
ศก.ไทย-ค่าเงินบาท-ส่งออก-728x461

บทบรรณาธิการ

โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (พ.ศ. 2563) วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เริ่มออกสตาร์ตหลัง ครม.อนุมัติงบประมาณดำเนินการลอตแรก 5 โครงการ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

แม้วงเงินและจำนวนโครงการที่ได้รับไฟเขียวค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับกรอบวงเงินรวม 400,000 ล้านบาท หรือเทียบกับโครงการที่ยื่นข้อเสนอทั้งหมดกว่า 4.6 หมื่นโครงการ วงเงินกว่า 1.44 ล้านล้านบาท แต่มองในแง่ดีเท่ากับที่ประชุม ครม.จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนเคาะให้ผ่าน ตรวจเช็กสอบทานรอบสองซ้ำ หลังจากที่คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการที่มี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานตรวจสอบรอบแรก

หากโครงการลอตต่อ ๆ ไปยังเน้นดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว มีการตรวจเข้มทุกครั้งที่โครงการภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ ถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาก่อนตัดสินใจอนุมัติวงเงิน สาธารณชนก็น่าจะพอเบาใจได้บ้างว่าเงินกู้ทุกบาททุกสตางค์ที่คนไทยผู้เสียภาษีต้องแบกรับภาระหนี้จะถูกนำไปใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศหลังวิกฤตโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญกว่าแผนงานโครงการในแผ่นกระดาษคือ การปฏิบัติจริง หน่วยงานในระดับนโยบายทั้งกระทรวง กรม จังหวัด โดยเฉพาะฝ่ายปฏิบัติในท้องถิ่นชุมชนทั่วประเทศถือได้ว่าเป็นแกนหลัก และเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลว รัฐบาลจึงต้องกำชับสั่งการให้ทุกหน่วยงานควบคุมดูแลเป็นพิเศษ

ให้แต่ละโครงการสัมฤทธิผลตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ ยกระดับการผลิต การค้า ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน การสร้างงาน สร้างรายได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน งบฯ ส่งเสริมกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการผลิต ฯลฯ

กฎเหล็กที่ต้องยึดให้มั่นคือไม่ดำเนินการนอกกรอบ ไม่ว่าจะถูกกดดันแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ มิฉะนั้นจะทำให้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ที่วางไว้ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการภายใต้งบฯเงินกู้ 400,000 ล้านบาทตัวช่วยที่เหลืออยู่ตัวสุดท้ายไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตโควิด ฉุดเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจประเทศดิ่งลึกจนอาจยากจะแก้ไขเยียวยา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0