โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมียพระปรีชากลกาล "ทำของ" ใส่รัชกาลที่ 5 แต่ทำพิธีกรรมไม่สำเร็จ เพราะหมอโป๊ะแตก!

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 04 ธ.ค. 2566 เวลา 10.03 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2564 เวลา 04.40 น.
ภาพปก – หมอบคลาน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับ พระราชวินิจฉัย เรื่อง หมอบคลาน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีคดีสุดอื้อฉาวและโด่งดังมากคดีหนึ่ง คือคดีของ“พระปรีชากลการ” ที่มีหลากหลายเรื่องราว และผูกโยงเกี่ยวข้องกับ กฎหมาย สังคม การเมือง ความสัมพันธ์กับอังกฤษ ความมั่นคงของชาติ ฯลฯ ทว่า ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีคดีเกี่ยวกับเวทมนต์ คาถา ไสยศาสตร์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีกคดีหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่า “แฟนนี น็อกซ์” บุตรสาวของ“มร.น็อกซ์” กงสุลอังกฤษ ในฐานะเมียของพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ใช้ให้ “นางจีน” ไปว่าจ้าง “หมอ” ให้“ทำของ” ใส่บุคคลทั้งสี่ ได้แก่ สมเด็จฯ กรมพระยาปราบปรปักษ์, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค), เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ให้ถึงแก่อันตราย ๆ และ “ทำของ” ใส่รัชกาลที่ 5 ให้รักพระปรีชากลการ

รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2422 พระยาศรีสรราชนำความขึ้นกราบบังคมทูล ถวายคำให้การของหมอและผู้รู้เห็น กับของกลางคือ รูปปั้น โลง และของกลางชิ้นสำคัญคือ “หัวเข็มขัด” ที่พระปรีชากลการมอบให้เฟนนี

โดยเฟนนีใช้ให้นางจีน (เมียอีกคนหนึ่งของพระปรีชากลการ) ไปจ้างหมอให้ทำ “เวทย์มนต์” ใส่บุคคลทั้งสี่ข้างต้นให้ถึงแก่อันตราย และให้รัชกาลที่ 5 รักพระปรีชากลการ

หมอผู้นี้เรียกทองคำสามสิบตำลึงเป็นค่าบูชาครู นางจีนจึงเอาหีบทองคำกับเข็มขัดสายนี้ไปให้หมอตั้งบูชา หมออ้างว่าจะคืนทองคำให้หลังเสร็จพิธีกรรม แล้วจะเอาเงินแค่ 6 บาท นางจีนจึงได้ทำหนังสือสัญญา เป็นอันตกลงกัน

ทว่า เรื่องราวกลับตาลปัตร เมื่อหมอคิดจะโกงเอาทองคำไปทั้งหมด แต่ดัน “โป๊ะแตก” เสียก่อน ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าไว้ว่า

“…จึงได้ปั้นรูปเขียนชื่อท่านทั้งสี่ใส่โลง ปั้นรูปเขียนชื่อเรากับพระปรีชาให้กอดกัน ใส่ในโลงนั้นด้วย แล้วเอาทองลงกองทับข้างบนเป็นทองสามสิบตำลึง แต่โลงอีกใบหนึ่งซึ่งกำหนดว่าจะใส่เรากับพระปรีชานั้น อีหมอเอาดินเอาทรายใส่ไว้แทน แล้วเศกน้ำมนต์มารดอีจีน ในขณะเมื่อรดน้ำมนต์นั้น อีหมอมายกเอาหีบที่ใส่ทองไป เอาหีบดินขึ้นตั้งไว้แทน คนที่ไปด้วยกับอีจีนแลเห็นร้องขึ้น อีจีนก็กลับมาแย่งหีบทองไปได้…”

และในช่วงเวลาที่ยื้อแย่งทองคำกันนั้นเองก็ได้กระชากเข็มขัดทองคำจนขาด หมอจึงได้หัวเข็มขัดติดมา อันเป็นของกลางชิ้นสำคัญ

เรื่องการ “ทำของ” นี้นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง มีโทษหนักมหันต์ ตอนแรกจะจับนางจีนมาชำระความตามกฎหมาย ฝ่ายของพระปรีชากลการได้พยายามปกป้องนางจีนถึงที่สุด ขัดขวางที่จะส่งตัวนางจีนไปให้ทางการ แต่สุดท้ายก็จับตัวนางจีนมาได้ และนางจีนให้การรับสารภาพว่า ได้ใช้ให้หมอทำเรื่องทั้งหมดจริง

ทว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่า นางจีนและหมอได้รับโทษอย่างไร รัชกาลที่ 5 ทรงเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า“…ให้ท่านสั่งตระลาการเรียกอ้ายอีมีชื่อแลของกลางจากพระยาศรีสรราชมาชำระตามพระราชกำหนดกฎหมาย แลราชประเพณีแต่ก่อน…” ส่วนเฟนนีเป็นคนในบังคับอังกฤษ จึงพ้นผิดจากกฎหมายไทยไปตามระเบียบ

รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายว่า“…ตามพระราชกำหนดกฎหมายเป็นมหันตโทษ เคยชำระโทษสืบ ๆ มาทุกครั้ง จนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีหมายประกาศว่า การทำเลขยันต์พันธ์อักษรไม่ควรจะเชื่อถือ แต่ถ้าจะไม่เอาโทษ คนที่เชื่อถือก็มีมาก ผ่ายผู้ทำก็จะกำเริบใจ ผู้เชื่อถือก็จะยิ่งเชื่อถือหนักขึ้น เพราะคนทั้งปวงทราบแน่ใจหมดว่่า การอย่างนี้เป็นมหันตโทษ ถ้าผู้ใดทำขึ้นไม่ต้องโทษ ผู้นั้นก็เป็นผู้มีวิชาดี ศักดิ์สิทธิ์ให้คนทั้งปวงนับถือมากขึ้น จึงได้ลงโทษมาทุกครั้งคราว เพื่อป้องกันมิให้คนเชื่อถือในทางที่ผิด…”

โดยหากเทียบเคียงกับคดีในสมัยรัชกาลที่ 4 จากคดีของ “จีนแสง” ซึ่งได้ “ทำของ” ใส่ขุนนางและชาวบ้าน ได้รับโทษถูกสักหน้าผากว่า“มักทำวิชาการเขียนชื่อคนลอยน้ำทำให้คนตกใจ” และยังได้รับโทษต่าง ๆ อีกมาก แม้มิต้องโทษถึงตายก็ตาม แต่กรณีของนางจีนกับหมอผู้นี้ น่าจะได้รับโทษหนักไม่น้อย เพราะได้ “ทำของ” ใส่พระมหากษัตริย์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่

คดีนี้สะท้อนให้เห็นว่า แฟนนีต้องการช่วยเหลือพระปรีชากลการผู้เป็นผัวให้รอดพ้นจากคดีทุกวิถีทาง ไม่เว้นแม้แต่วิธีการด้านเวทมนต์ คาถา ไสยศาสตร์ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2422 พระปรีชากลการถูกสำเร็จโทษโดยการตัดศีรษะ ส่วนแฟนนีก็หายออกนอกประเทศไปหลังจากนั้นไม่กี่วัน

อ้างอิง :

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2551). สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0