โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เพราะ LGBTQ และมุสลิมไม่ได้มีอัตลักษณ์เดียว : ว่าด้วยศาสนาอิสลามกับการรักเพศเดียวกัน

The MATTER

เผยแพร่ 14 ก.ค. 2563 เวลา 02.52 น. • seX-ray

อันน่าจะเนื่องมาจากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อ LGBT สากลเป็นส่วนหนึ่งของ soft power สหรัฐอเมริกา และ Americanization ไม่ว่าจะเป็นหมุดหมายเดือน pride ที่รำลึกการต่อสู้ของเกย์กะเทยนิวยอร์คเกอร์ที่ Stonewall bar ธงสีรุ้งที่ปลิวไสวเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศก็มาจาก อุตสาหกรรมภาพยนตร์และดารา Hollywood เกย์ไอดอลและเพลงเต้นรำที่เปิดในผับบาร์เกย์ถ้าไม่เกาหลีใต้ก็มาจากอเมริกาเหนือ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอเมริกาเองเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บาดแผลของโลกมุสลิม

ในหลายๆ ทัศนะของมุสลิม westernization คือ westoxication (Gharbzadegi) ที่นักปรัชญาชาวอิหร่านอาเหม็ด ฟาร์ดิด (Ahmad Fardid)  ในยุค 1940 และนักสังคมวิทยามานุษยวิทยา นักวิจารณ์สังคมและการเมืองชาวอิหร่าน Jala Al-i Ahmad ในปี ค.ศ.1962 ได้อธิบายว่า เป็นยาเบื่อหรือยาพิษจากวัฒนธรรมพวกคริสเตียนผิวขาว ที่เข้ามาบ่อนเซาะทำลายโลกมุสลิมให้ตกต่ำ ทั้งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประวัติศาสตร์ หลอกลวงให้มุสลิมหย่อนยานทางศีลธรรม ลุ่มหลงในเงินตราตามกระแสทุนนิยมแทน และหันเหออกจากศาสนา ขณะเดียวกันก็เป็นการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตกและต่อมา westoxication ก็ได้เป็นสาระสำคัญของการปฏิวัติอิสลามหรือปฏิวัติอิหร่าน 1978-1979 นำไปสู่ความเคร่งครัดทางศาสนามากขึ้น[1]

ทันทีที่มีการเคลื่อนไหว #สมรสเท่าเทียม และพรบ.คู่ชีวิต (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันนะ พรบ.คู่ชีวิต เป็นการออกกฎหมายบางฉบับที่ออกมารองรับสิทธิคู่ชีวิตรักเพศเดียวกันเฉพาะบางเรื่องแต่ไม่ยอมรับว่าคู่รักเพศเดียวกันควรมีสิทธิและคุณค่าเท่ากับคู่รักต่างเพศ ย่อมไม่เท่ากับ #สมรสเท่าเทียม ที่มุ่งแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศทางกฎหมายที่ต้นตอคือแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448) ชุมชนอิสลามบางแห่งจึงเร่ออกมาแถลงการณ์คัดค้าน ด้วยความหวั่นว่าการที่คู่ชีวิต LGBT ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจะไปทำลายคุณธรรม จริยธรรม สันติสุขภายในประเทศ เพราะบุคคลเหล่านี้ผิดธรรมชาติและเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องป้องกันปราบปราม

มากไปกว่านั้น แถลงการณ์ยังบอกด้วยอีกว่าการยอมรับ

สิทธิคู่ชีวิตคนรักเพศเดียวกันจะนำไปสู่ความไม่เสมอภาคทางสังคมในหลายด้าน

ความไม่ยุติธรรมในระบบกฎหมาย สิทธิของประชาชน ตลอดจนสวัสดิการของรัฐ (ใช่ๆ นางประกาศแบบนี้แหละ งงในงงมากแม่ งงกว่าหมุนตัวรำดี๋ 4-5 รอบอีก)

แถลงการณ์นี้เป็นแต่เพียงความปริวิตกอกสั่นขวัญแขวนของมุสลิมบางกลุ่มว่าคนรักเพศเดียวกันจะมีคุณค่าเสมอคนรักต่างเพศไม่ได้ เพราะจะสร้างความเสื่อมถอยให้กับจารีตทางศาสนามากกว่าประเพณีขลิบอวัยวะเพศในเด็กหญิงและการจับเด็กหญิงเพิ่งมีประจำเดือนมาแต่งงาน ที่กลายเป็นความรุนแรงและการกดขี่ทางเพศสำหรับสามัญสำนึกปัจจุบัน แต่ก็ยังคงดำรงอยู่ได้ด้วยการอาศัยช่องทางตีความทางศาสนาตนเอง

การเลือกตีความทางศาสนาเพื่อต่อต้านความรักเพศเดียวกันมากกว่าจะรีบแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในกลุ่มศาสนิกชนก็ยิ่งทำให้การรักเพศเดียวกันกลายเป็นขั้วตรงข้ามกับอิสลามทั้งในทางการอธิบายคำสอนทางศาสนาและประวัติศาสตร์การเมืองโลกอิสลาม สวนทางกับวิวัฒนาการทางสังคมที่มีแนวโน้มยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ

อันที่จริงแล้วอิสลามไม่ใช่แค่ศาสนาแต่เป็นอารยธรรมและมีประวัติศาสตร์มายาวนาน และความซับซ้อนของอารยธรรมนี่เองก็ทำให้ความรักความเสน่หาระหว่างเพศเดียวกันปรากฎอยู่ทุกที่ของแต่ละกลุ่มสังคมตั้งแต่เด็กหนุ่ม นายบำเรอ นายกลางเมือง ไปจนถึงขุนนางชนชั้นปกครอง ซึ่งความรักๆ ใคร่ๆ สเน่หาระหว่างผู้ชายด้วยกันก็เป็นอีกวัฒนธรรมที่อยู่ในวรรณกรรมคลาสสิกของอารยธรรมอิสลามที่มีมายาวนานเช่นผลงานของมหากวีภาษาอาราบิก อาบู นูวาส (Abu Nuwas) ที่มีชีวิตอยู่ในราวปีค.ศ. 756-814 แม้แต่วาทกรรมทางการแพทย์และพยาธิวิทยา อิสลามก็ไม่ได้อธิบายว่ากำหนัดระหว่างเพศเดียวกันเป็นโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับชายโตเต็มที่ที่จะรับ 'บทรุก' หากแต่ชายฉกรรจ์ที่เต็มวัยแล้วยังรับ 'บทรับ' เท่านั้นที่ถือว่าเป็น 'ความผิดปรกติ' ซึ่งก็คล้ายๆ กับสำนึกกรีก สิ่งเหล่านี้กลับถูกทำให้ปราศนาการไปในโลกอิสลามสมัยใหม่

อย่างไรก็ตามโลกออนไลน์ได้ทำให้ความพยายามที่จะ

สร้างความเชื่อว่า LGBT ไม่มีอยู่จริงในโลกอิสลามล้มเหลวไม่เป็นท่า

ทว่าก็ทำให้เห็นได้ว่าโลกอิสลามก็พยายามทำให้ LGBT หายไปด้วยวิธีการต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายๆ รัฐอิสลามสมัยใหม่ที่ใช้ศาสนาดั้งเดิมเป็นกฎหมาย ประกาศสถานะชัดเจนว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อ LGBTQ ความรักและการร่วมรักระหว่างเพศเดียวกันกลายเป็นอาชญกรรม ที่มีบทลงโทษสารพัดทั้งปรับจำคุก เฆี่ยน และประหารชีวิต ซึ่งก็ยิ่งสร้างภาพลักษณ์อิสลามให้ดูเป็นอำนาจนิยม ปิตาธิปไตย เหยียดเพศเกลียดชังผู้หญิงและ homophobia ปฏิปักษ์กับโลกสากลมากยิ่งขึ้น

LGBT มุสลิมจึงต้องเผชิญกับ 'การเป็นอื่น' ไม่เพียงภายในจิตใจและตัวตนของพวกเขาและเธอเอง แต่ยังต้องโดดเดี่ยวจากทั้ง Homophobia ในโลกอิสลาม และ Islamophobia ในโลกนอกศาสนา พวกเขาและเธอต้องเจอกับคำถามเสียมารยาทว่า “เป็นมุสลิมและรักเพศเดียวกันได้ด้วยหรอ” หรือถูกบอกให้เลือกระหว่างว่าเพศสภาพเพศวิถีที่มีกับศาสนาที่นับถือ

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว LGBT ไม่ได้มีเพียงอัตลักษณ์เดียว และมุสลิมเองก็ไม่ได้มีอัตลักษณ์เดียวเช่นกัน การกีดกันต่อต้าน LGBT ของมุสลิมบางกลุ่มบางองค์กรก็เป็นการตีความเพื่อมารองรับเพดานความคิดอันตื้นเขินและจิตใจคับแคบมากกว่า ขณะที่โลกพัฒนาไปถึงจุดที่จารีตทางสังคมเป็นเรื่องของ PC มากกว่าหลักธรรมศาสนา ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันและปฏิบัติต่อกันในฐานะมนุษยชาติเหมือนกันมากกว่าจะปฏิบัติต่อกันเพราะยำเกรงต่อพระเจ้า เกรงกลัวต่อบาป กลัวคำขู่ว่าจะตกนรกหมกไหม้หรือถูกพระเจ้าลงโทษ ด้วยเหตุนี้จึงมีบางองค์กรศาสนาพยายามจะโอบรับบุคคลต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งถูกหลักศาสนาลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างไร้มนุษยธรรม

ด้วยเหตุนี้มันจึงมีองค์กรอิสลามเช่น The Inclusive Mosque Initiative (IMI)

ก่อตั้งขึ้นในลอนดอนปี ค.ศ.2012 เป็นองค์กรที่จัดกิจกรรมในระดับมวลชน

เป็นการเคลื่อนไหวและส่วนผสมอันลงตัวระหว่างเฟมินิสต์และมุสลิม

ก่อตั้งขึ้นโดยผู้หญิง 2 คนที่ต้องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเพศสภาพ และที่ผ่านมาพวกเธอสังเกตว่าหลายมัสยิดไม่ได้มีทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีต่อผู้หญิง ทั้งคับแคบและด้อยค่ากว่าผู้ชาย บางที่ไม่มีห้องละหมาดสำหรับผู้หญิง พวกเธอจึงก่อตั้งองค์กรการกุศลนี้และจดทะเบียนเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อให้มีพื้นที่ทางศาสนาที่เป็นมิตรกับผู้หญิงมากขึ้น สร้างมัสยิดทางเลือกที่อนุญาตให้ผู้ชายและผู้หญิงสวดมนต์เคียงข้างกันได้ มีพื้นที่ให้ครอบครัวสามารถอธิษฐานร่วมกัน และในบางครั้งก็ผู้หญิงเป็นผู้นำสวดมนต์ องค์กรนี้ได้ขยายหน่วยงานออกไปหลายประเทศ มาเลเซีย แคชเมียร์ ปากีสถาน และซูริค เพื่อสร้างศาสนสถานให้เป็นพื้นที่เปิดกว้างปลอดภัยกับทุกนิกาย ทุกภาษาชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์ ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ มีการทำทางสำหรับผู้ที่ต้องใช้รถเข็นและการแปลเป็นภาษามือ[2] แม้ว่า IMI จะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่สิทธิของ LGBT แต่ก็สนับสนุนความปลอดภัยของชาวมุสลิม LGBT และการมีพื้นที่ในโลกอิสลาม

เช่นเดียวกับที่ Ludovic-Mohamed Zahed อิหม่ามชาวแอลจีเรียเพศสภาพเกย์ เขาก่อตั้งมัสยิดที่เป็นมิตรกับ LGBT โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2009 โดยเริ่มจากก่อตั้งสมาคมรักเพศเดียวกันในฝรั่งเศส Homosexuels musulmans de France (HM2F) ที่ LGBT จะสามารถเข้ามาสวดมนต์สนทนาเรื่องศรัทธาและจิตวิญญาณร่วมกัน จนกลายเป็นมัสยิดเฉพาะกลุ่ม LGBT แห่งแรกของยุโรป ทำหน้าที่รองรับ LGBT ที่ถูกกีดกันจากชุมชนศาสนาของพวกเขาทั้งในโลกมนุษย์เป็นๆ และโลกหลังความตาย เพราะในหลายๆ ครั้งคนข้ามเพศไม่เพียงถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปละหมาดที่มัสยิด แต่เมื่อเสียชีวิตยังถูกอิหม่ามปฏิเสธที่จะสวดมนต์ให้กับผู้ตายตามประเพณี

ขณะเดียวกันก็มี Imaan ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุสลิม LGBTQ โดยเฉพาะตั้งแต่ 1999 ในลอนดอน เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับ LGBT ที่ถูกกีดกันจากครอบครัวและชุมชนมุสลิม มากไปกว่านั้น Imaan ยังระดมทุนเพื่อจัดงานไพรด์ของชาวมุสลิม LGBT ชื่อ ImaanFest เฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี ในปี ค.ศ.2020 นี้ มีทั้งงานประชุม workshop ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ การจัดนิทรรศการและกิจกรรมบันเทิงในลอนดอน เพื่อประกาศว่า ไม่ว่าใครก็เป็นทั้งมุสลิมและรักเพศเดียวกันได้ในเวลาเดียวกัน ทว่าโครงการนี้ชะงักงันไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19  [3]

หากมองว่าอิสลามเป็นอารยธรรมย่อมแสดงให้เห็นการลื่นไหลและพัฒนาการของอิสลามไปพร้อมกับกระแสโลก เราจะเห็นอัตลักษณ์ที่หลากหลายในโลกอิสลามการเชื่อมประสานกันโลกทัศน์อื่นๆ หรืออัตลักษณ์อื่นๆ ที่สามารถนับถือศาสนาอิสลามได้[4] ไม่ใช่ปล่อยให้อิสลามเป็นแค่ศาสนาอย่างเดียวที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มที่พยายามควบคุมกฎ สร้างกำแพงกีดกันเลือกปฏิบัติและการเพิกเฉย เพื่อรักษาสถานภาพของตนเองให้เหนือกว่าเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อหันกลับไปชำเลืองดูองค์กรที่ออกมาต่อต้านสิทธิคู่ชีวิตคนรักเพศเดียวกันในนามของศาสนา ก็จะไม่เห็นคุณูปการและสาธารณประโยน์อะไรนอกเหนือไปจากกลุ่มคนกลุ่มนึงที่หวงแหนอำนาจสถานะทางสังคมและสิทธิพิเศษที่ตนเองได้รับด้วยการอิงแอบการตีความทางศาสนาและแอบอ้างการเรียกร้องสันติ แบบลมๆ แล้งๆ เพราะแม้ปากจะเรียกร้องโหยหาสันติๆ แต่ก็เป็นสันติที่ตั้งอยู่บนการเลือกปฏิบัติ การตีตราและการกีดกัน ที่ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่ง เป็นความปรารถนาสันติบนความรุนแรง และกลายเป็นอีกอัตลักษณ์หนึ่งของศาสนา

[1] Hanson, B. (1983). The “Westoxication” of Iran: Depictions and Reactions of Behrangi, Āl-e Ahmad, and Shariʿati. International Journal of Middle East Studies, 15(1), 1-23. ; อัมพร หมาดเด็น, “ทบทวนสถานะความคิดสตรีนิยมอิสลาม,” ฉบับที่ 1 วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, น. 77 (มกราคม - มิถุนายน 2560).

[2] http://inclusivemosque.org/about/frequently-asked-questions/

[3]https://english.alaraby.co.uk/english/comment/2020/3/26/the-loneliness-of-being-queer-and-muslim

[4] Rahman, M. (2010). Queer as Intersectionality: Theorizing Gay Muslim Identities. Sociology, 44(5), 944–961.

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0