โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เปิดเงื่อนไขชัดๆ ทำไมถือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ แต่ไม่ได้เยียวยา 3,000 บาท

The Bangkok Insight

อัพเดต 07 ก.ค. 2563 เวลา 06.26 น. • เผยแพร่ 06 ก.ค. 2563 เวลา 23.00 น. • The Bangkok Insight
เปิดเงื่อนไขชัดๆ ทำไมถือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ แต่ไม่ได้เยียวยา 3,000 บาท

เงินเยียวยาไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน จำนวน 3,000 บาท ได้โอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ของผู้ถือบัตรฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่าน

แต่ผู้ถือบัตรฯ บางส่วนระบุว่า นำบัตรฯ ไปตรวจสอบกับตู้ ATM หลายรอบแล้ว ก็ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้อาจเกิดจากผู้ถือบัตรฯ มีคุณสมบัติไม่ตรงกับเกณฑ์ของโครงการ

น.ส.วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดี กรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงเงื่อนไขในการจ่ายเงินเยียวยาไวรัสโควิด-19 จำนวน 3,000 บาทไว้ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ ที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการใด ๆ ของภาครัฐ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

“กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการเบิกเงินแทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ โดยการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ใน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3,000 บาท ซึ่งจ่ายเพียงครั้งเดียว ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ”

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ตรวจสอบแล้วว่า จำนวนผู้มีสิทธิ์รับเงินอยู่ที่ 1.14 ล้านราย โดยผู้มีสิทธิ์จะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน คือเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 รวมเป็นเงินจำนวน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งโอนไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

เงื่อนไขการรับเงินเยียวยา 3,000 บาท คือ ต้องเป็นผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่เข้าข่ายดังนี้

1.ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้าง ผู้ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการ หรือพนักงานเอกชน

2.ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ

3.ไม่เคยได้รับเงินเยียวยาโควิด-19 จากโครงการอื่นๆ ของภาครัฐ ได้แก่

  • โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน รวมแล้ว 15,000 บาท
  • โครงการเยียวยาเกษตรกร จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมแล้ว 15,000 บาท
  • โครงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 3 ประเภท ได้แก่ เด็กที่ได้รับสิทธิ์โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด, ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ซึ่งกลุ่มเปราะบางทั้ง 3 ประเภทนี้กำลังจะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาท จำนวน 3 เดือน รวมแล้ว 3,000 บาทในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563

 

ถือ "บัตรคนจน" แต่เป็น ม.33 ไม่ได้รับเงินเยียวยา

จากเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บางส่วน ที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ด้วย ได้ออกมาแสดงไม่พอใจ โดยระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 เช่นกัน และระบบประกันสังคมไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ นอกจากการลดเงินสมทบเข้ากองทุนฯ 3 เดือน รัฐบาลจึงไม่ควรตัดสิทธิ์เงินเยียวยา 3,000 บาทในครั้งนี้ นี้คือความเห็นส่วนหนึ่งที่หยิบยกออกมาจากโลกออนไลน์

“คนที่มีประกันสังคม 33 ก็น่าจะมีนโยบายช่วยเหลือมั่งนะ ไม่มีช่วยอะไรเลย ไร้สาระ”

“ทำไมต้องปิดกั้น คนมี ปกส คือ เราส่ง ปกส แล้วไม่ได้เงินเยียวยาใดๆ ปกส ก็ไม่ได้ จ่ายเต็ม ลด สบทบ 3 เดือน แล้วทำไมไม่ดูบ้าง บางที คนส่ง ปกส แม่xก็จนจริง แถมต้องส่ง ปกส แต่กลับบางคน จนไม่จริงที่ดินมากมาย ได้ช่วยเหลือทุกอย่าง พิจารณาบ้าง รับฟัง ปชช บ้าง”

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ม.33
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ม.33

“คนที่มีประกันสังคม ม.33 มีรายได้น้อยมีบัตรประชารัฐ เงินเดือนน้อยนิด ไม่ได้เงินช่วยเหลือจากประกันสังคมเลย กรุณาดูและตรวจสอบ ให้ความช่วยเหลือบ้างเถอะ คือไม่ได้สิท 5000 ก็ไม่ได้ มาแจก 3000 ก็ไม่ได้ ทั้งที่มีบัตรคนจน"

"แล้วประกันสังคมไม่จำเป็นต้องมีเสียเงินจ่ายทุกเดือน งั้นคืนเงินมาไม่ต้องรอขนอายุ 55หรอก เค้าเดือดร้อนกันหมดทุกคน”

“5000 ก็ไม่ได้อันนี้พอเข้าใจ พอมา 3000 ก็ไม่ได้อีก เพราะมีประกันสังคม มีประกันสังคมแล้วไงคับ ประกันสังคมไม่ได้ช่วยอะไรเลย มีแต่หักอย่างเดียว อยากไห้คิดต้องนี้ด้วยคับ #เขาเดือดร้อนกันทั้งนั้น”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0