โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดคำพิพากษาม็อบปี "53 นปช.ไม่ใช่ก่อการร้าย ชี้การต่อสู้ทางการเมือง จับตาต่อคืบหน้า 99 ศพ

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 19 ส.ค. 2562 เวลา 10.24 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2562 เวลา 10.04 น.
อาชญา

เป็นอีก 1 บทสรุปของคดีทางการเมือง ปี 2553 เมื่อศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง กรณี 24 นปช.ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ก่อการร้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่โดยให้เหตุผลว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงจนเข้าคำจำกัดความของคำว่าก่อการร้าย ยิ่งไปกว่านั้น ชายชุดดำที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นแนวร่วมเสื้อแดง ที่ออกมาสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด แถมเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เคยจับกุมผู้ก่อเหตุที่อ้างว่าเป็นชายชุดดำได้เลย แม้จะมีการปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมาก

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีแนวทางของศาลฎีกาที่ระบุแล้วว่าเหตุการณ์เผาในการชุมนุมปี 2553 ไม่ใช่ฝีมือคนเสื้อแดง ยกฟ้องเพราะเป็นการต่อสู้ทางการเมือง แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องถามต่อว่า เมื่อการกระทำของ นปช.ไม่ใช่ก่อการร้าย แล้วความตาย 99 ศพที่เกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นอีก 1 คดีที่รอการคลี่คลาย

ยกฟ้อง นปช.ก่อการร้าย

วันที่ 14 สิงหาคม ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีก่อการร้าย คดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายขวัญชัย สาราคำ นายยศวริศ ชูกล่อม นายนิสิต สินธุไพร นายการุณ โหสกุล นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ

นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล นายอำนาจ อินทโชติ นายชยุต ใหลเจริญ นายสมบัติ มากทอง นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ นายรชต หรือกบ วงค์ยอด นายยงยุทธ ท้วมมี นายอร่าม แสงอรุณ นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ นายสมพงษ์ หรืออ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงศ์เรืองรอง อายุ 55 ปี ทั้งหมดเป็นแกนนำ, การ์ด และแนวร่วม นปช. เรียงตามลำดับเป็นจำเลยที่ 1-24

ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1

ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย มาตรา 135/2 และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ขณะที่นายยศวริศถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 358 และนายอริสมันต์ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินฯ มาตรา 116

มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือเป็นหัวหน้าสั่งการฯ มาตรา 215 และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำแล้วไม่เลิก มาตรา 216

โดยคำฟ้องระบุว่า ทั้งหมดยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-20 พฤษภาคม 2553 เพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เลือกตั้งใหม่ นอกจากนั้น ยังมีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ด้วย มีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธเพื่อการก่อการร้าย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ชี้เป็นการต่อสู้ทางการเมือง

โดยศาลอ่านคำพิพากษา พิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ต้องเป็นการกระทำอันเข้าองค์ประกอบความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) ถึง (3) คือ ต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ

กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

แต่หากเป็นการกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

จากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่า มีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่เป็นแกนนำกลุ่ม นปช. ปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการดังที่ได้ระบุไว้

แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่า ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง แต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใด หรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่

เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม นปช.

การเดินทางไปที่รัฐสภาและสถานีดาวเทียมไทยคมก็เป็นการเดินทางไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ต่อสัญญาณสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล ชาแนล ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดหรือตัดสัญญาณไป

ไม่ชัดมีชุดดำ-เสื้อแดงไม่ได้เผา

ส่วนเรื่องชายชุดดำก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด และไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ ทั้งๆ ที่สถานที่ที่ปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมาก

การที่แกนนำกลุ่ม นปช.ปราศรัยบนเวทีที่ว่า หากทหารออกมาสลายการชุมนุม หรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมันมาและให้เผานั้น เป็นการกล่าวปราศรัยบนเวที ก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด

การวางเพลิงเผาทรัพย์เกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช.ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยในเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ว่ามิใช่เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช.

การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนทำการต่อต้านการทำรัฐประหาร เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบ และปราศจากอาวุธ และปฏิเสธการเข้ามาดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง กับพวก ซึ่งมีแนวทางการต่อสู้คนละแนวกันตลอดมา

การดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะกับพวก จึงมิใช่เป็นการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม นปช. และเมื่อการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จึงอาจมีบุคคลผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นได้

แม้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่อมาศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในท้องที่ดังกล่าว

การออกประกาศเช่นว่านั้น ก็เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ซึ่งชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วหลายวัน

แต่ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว ไม่ได้ความจากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ว่าแกนนำกลุ่ม นปช.จัดการชุมนุมที่อื่นใดอีก นอกเหนือจากสถานที่ที่มีการชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1-15 และจำเลยที่ 18-24 จึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

ถือเป็นบทสรุปอีกบทของการชุมนุมเมื่อปี 2553 แต่ก็ยังไม่สิ้นสุด เมื่อ 99 ศพที่ต้องถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในการชุมนุมครั้งนั้นยังไม่มีผู้ใดรับผิดชอบได้แต่คาดหวังว่าจะมีความคืบหน้าในไม่ช้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0