โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เปลี่ยนวัสดุเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพไร้ของเสีย

รักบ้านเกิด

อัพเดต 08 ก.ค. 2563 เวลา 08.09 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 08.09 น. • รักบ้านเกิด.คอม

นักวิจัย มจธ.พัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบเชื้อเพลิงชีวภาพแบบไร้ของเสียจากวัตถุดิบทางการเกษตร ชี้เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพสำหรับไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม

Plant/7778_1.jpg
Plant/7778_1.jpg

รศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์
รศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานและต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแบบไร้ของเสีย และสารเคมีมูลค่าสูงที่มีศักยภาพชนิดต่างๆ โดยบูรณาการความเชี่ยวชาญทางด้านเคมีวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี ที่มีความร่วมมือในการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องผ่านทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โครงการวิจัยดังกล่าวมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานหลัก 2 กระบวนการ ได้แก่ กระบวนการแปรสภาพวัสดุชีวมวลเป็นเอทานอลและสารเคมีเพิ่มมูลค่า ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ กระบวนการย่อยวัสดุชีวมวลเป็นน้ำตาล และการหมักน้ำตาลเป็นเอทานอลหรือสารเคมีที่ต้องการ ทั้งน้ำตาลที่มีความบริสุทธิ์สูงและมีสารประกอบอื่นๆ เกิดขึ้นในสัดส่วนที่ต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

Plant/7778_2.jpg
Plant/7778_2.jpg

ทีมวิจัยยังพบว่าหากนำชีวมวลไปผ่านกระบวนการบำบัดและแยกส่วน โดยอาศัยตัวทำละลายอินทรีย์ที่คณะวิจัยพัฒนาขึ้นก่อนนำมาย่อย จะสามารถผลิตและแยกน้ำตาลที่มีความบริสุทธิ์สูงออกจากกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมถึงกระบวนการแยกลิกนินท์ออกจากของเสียจากกระบวนการดังกล่าวด้วยการปรับกรด ซึ่งสามารถแยกลิกนินท์ที่มีความบริสุทธิ์สูงเทียบเท่ากับลิกนินที่มีขายในเชิงพาณิชย์ได้
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพัฒนาการผลิตเอทานอลจากน้ำตาลกลูโคสและเพนโตสที่ได้จากการย่อยชีวมวลลิกโนเซลลูโลสโดยหาสภาวะที่เหมาะสม คือหาอัตราส่วนของยีสต์ อัตราการกวน และอุณหภูมิที่เหมาะสม ด้วยการใช้ฟางข้าวที่ปรับสภาพด้วยด่างเป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการขยายขนาดกระบวนการที่พัฒนาขึ้นไปสู่การเพิ่มความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากชีวมวล
อีกกระบวนการหนึ่ง คือ การผลิตไบโอดีเซลจากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมีและชีวภาพชนิดใหม่ ให้สามารถใช้ได้กับวัตถุดิบที่มีกรดไขมันอิสระสูงและนำมากลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และลดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ ซึ่งทีมวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีในการสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและชีวภาพที่ใช้พลังงานต่ำ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อม โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาจำพวกเอนไซม์ไลเปสในรูปของแข็ง ได้แก่ เอนไซม์ที่ถูกตรึงในรูปไมโครคริสตัล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ให้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียรสูงในราคาที่ไม่แพง และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเอนไซม์ในรูปอิสระ

Plant/7778_3.jpg
Plant/7778_3.jpg

จากการวิจัยพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ไกลซีนเป็นผลึกแกนกลางจะมีประสิทธิภาพในการผลิตไบโอดีเซลเท่ากับ 98.5, 99.4 และ 99.0% จากกรดปาล์มิติก น้ำมันปาล์มบริสุทธ์ และน้ำมันปาล์มดิบตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาจลนศาสตร์ของปฏิกิริยาและการตรึงเอนไซม์ในรูปแบบอนุภาคนาโนแม่เหล็ก ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตไบโอดีเซลจากวัตถุดิบที่มีกรดไขมันอิสระสูงและเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์ของกระบวนการผลิตไบโอดีเซล
"ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีวัตถุดิบธรรมชาติหลากหลายประเภทเป็นจำนวนมาก การนำวัตถุดิบเหล่านี้มาใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์เชื้อเพลิงและสารเคมีมีมูลค่า จะมีส่วนช่วยประเทศชาติในการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจากองค์ความรู้ทางวิชาการสู่การต่อยอดให้ภาคอุตสาหกรรม จำต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือดำเนินการวิจัยร่วมกันของนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ภายใต้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ" รศ.ดร.นวดลสรุป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0