โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เบื้องหลังเหตุสร้างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยครั้งแรก ไม่มีอักษร "ฃ-ฅ"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 30 ก.ค. 2566 เวลา 06.25 น. • เผยแพร่ 29 ก.ค. 2566 เวลา 15.55 น.
ภาพปก-พิมพ์ดีด

“เครื่องพิมพ์ดีด” เป็นนวัตกรรมการสื่อสารอย่างหนึ่งที่สะท้อนพัฒนาการทางภาษา เช่นกรณีการสร้างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยยุคแรกๆ ที่ไม่มีพยัญชนะ 2 ตัว นั่นคือ ฃ และ ฅ นั่นเอง

ต้องชี้แจงก่อนว่า ในที่นี้ไม่ได้มีเจตนาระบุสาเหตุซึ่งทำให้พยัญชนะทั้งสองนี้ไม่ค่อยได้ใช้ในภายหลัง (สาเหตุของเรื่องนี้ย่อมมีหลายปัจจัยประกอบกัน) แต่เนื้อหาต่อไปนี้นำมาเผยแพร่เพื่อเล่าสภาพเบื้องหลังการทำเครื่องพิมพ์ดีดเป็นภาษาไทยยุคแรก และการนำมาใช้ครั้งแรกมากกว่า

จากบันทึกข้อมูลหลากหลายแห่ง ทั้งจากแหล่งวิชาการและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลที่สอดคล้องกัน อาจพอกล่าวได้ว่า เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยครั้งแรกในไทยถือกำเนิดได้เพราะตระกูลแมคฟาร์แลนด์ นั่นเพราะเป็นผลงานจาก เอ็ดวิน แมคฟาร์แลนด์ ซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ต้นกำเนิดของครอบครัวแมคฟาร์แลนด์ในเมืองไทยเริ่มจาก ศาสนาจารย์เอส.จี. แมคฟาร์แลนด์ และนางเจนนี แมคฟาร์แลนด์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาในสยามเมื่อ ค.ศ. 1860 และทำงานอย่างยาวนาน ทั้งคู่มีบุตร 4 คน ซึ่งบุตรของท่านต่อมาก็ได้ทำงานในประเทศไทย นั่นคือ วิลเลียม เฮส์ แซมมูแอล, เอ็ดวิน ฮันเตอร์, ยอร์ช แบรดเลย์ (ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์) และเมรี คอร์แวล

ผู้ที่เป็นรู้จักมากที่สุดย่อมเป็นอำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม (ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์) แต่ในที่นี้กลับมาพูดถึงบทบาทของพี่น้องตระกูลนี้ ซึ่งท่านหนึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะบุคคลแรกที่ทำเครื่องพิมพ์ดีดเป็นภาษาไทย และนำมาใช้เป็นครั้งแรก

ท่านผู้นี้คือเอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ (Edwin Hunter Mcfarland) เหตุการณ์เมื่อครั้งทำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยครั้งแรกปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประวัติของสกุลแมคฟาร์แลนด์ในสยาม” พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม (ยอร์ช บี.แมคฟาร์แลนด์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

พระยาบริรักษ์เวชชการ อธิบายไว้ในคำนำของหนังสือว่า เลือกเรื่อง “ที่ระฤกแห่งงานที่ได้กระทำให้แก่สยาม” ที่พระอาจวิทยาคม เขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทย ข้อความตอนหนึ่งเอ่ยถึงกิจกรรมที่เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ กระทำในสยาม หนึ่งในนั้นคือเรื่องการทำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย ซึ่งข้อความที่จะนำมาเผยแพร่นี้สะท้อนให้เห็นเจตนาของผู้ทำการในครั้งก่อนว่า พยายามอย่างเต็มที่แล้ว

ข้อความในส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าว่า

“เอ๊ดวินนั้นพอเรียนจบที่วิทยาลัยวอชิงตันและเจฟเฟอร์สันใน ปี 1884 ก็กลับมาสยามพร้อมกับวิล เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอสมเด็จกรมพระยาดํารงได้ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เอ๊ดก็ได้เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ คราวที่เอ๊ดได้ลาพักกลับอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1891 เขาได้เข้าเรียนงานทําเครื่องพิมพ์ที่โรงงานสมิทพรีเมียร์ แล้วคิดทำเครื่องพิมพ์ดีดสมิทพรีเมียร์ภาษาไทยเป็นเครื่องแรก และนํามาด้วยในปี 1892

เขาเจาะจงเลือกเอาเครื่องสมิทพรีเมียร์ เพราะเป็นเครื่องใหญ่พอจะบรรจุตัวพยัญชนะไทยได้ แต่กระนั้นก็ยังขาดที่บรรจุไป 2 ตัว จะพยายามด้วยวิธีใดๆ เขาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เอ๊ดจึงตกลงใจทำอย่างกล้าหาญชาญชัย กล่าวคือตัดพยัญชนะไทยออกเสีย 2 ตัว ซึ่งเป็นพยัญชนะตายและไม่ใช้**

เมื่อเอ๊ดกลับมาจากการพักผ่อน ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอสมเด็จกรมพระยาดํารงได้ทรงถูกย้ายจากกระทรวงธรรมการไปทรงดํารงตาแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เอ๊ดวินจึงพ้นจากหน้าที่เลขานุการ

เขาจึงตัดสินใจกลับไปเรียนเภสัชกรรมศาสตร์ที่อเมริกาเพื่อมาเป็นเภสัชแพทยในสยาม แต่เขาได้ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1895 งานที่ทําให้สยามจึงสิ้นสุดลงเพียงเท่านั้น ถึงอย่างไรก็นับว่าเขาได้ทําประโยชน์ให้แก่ประเทศอันที่เกิดของเขาอย่างมากมาย เอ๊ดเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้ที่นําความเจริญมาสู่ประเทศสยาม คือเขาเป็นคนแรกที่ทําเครื่องพิมพ์ดีดเป็นภาษาไทย และนํามาใช้เป็นครั้งแรก”

ข้อมูลจากบันทึกแหล่งอื่นบรรยายว่า แมคฟาร์แลนด์ นำเครื่องพิมพ์ดีดมาถวายพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในพ.ศ. 2435

เนื้อหาในหนังสือยังบันทึกเรื่องราวหลังจากเอ็ดวินเสียชีวิตว่า

“นับจากปี 1895 มา เครื่องพิมพ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติของข้าพเจ้า พินัยกรรมของเอ๊ดบ่งไว้ว่า ให้ข้าพเจ้าพยายามแพร่การใช้เครื่องพิมพ์ภาษาไทยนั้นให้ได้ เขาได้เป็นผู้คิดทำขึ้น แต่ยังไม่ได้รับความนิยม

ข้าพเจ้านำเครื่องพิมพ์ดีดนี้ตั้งไว้ที่สำนักงานทำฟันถึงปี 1897 ข้าพเจ้าก็เปิดห้างสมิทพรีเมียร์ขึ้นที่ตึกใหม่ตรงหัวมุนถนนวังบูรพากับถนนเจริญกรุงต่อกัน และเปิดขายมาจนกระทั่งบัดนี้ ตลอดเวลา 2-3 ปี ต่อมา ขายเครื่องพิมพ์แบบนี้ได้เป็นพันเครื่อง และต่อ ๆ มาถึงกับที่ทำการของรัฐบาลทุกแห่งจะขาดเครื่องพิมพ์สมิทพรีเมียร์ภาษาไทยเสียมิได้ ต่อมาบริษัทสมิทพรีเมียร์ได้มอบกรรมสิทธิ์การขายเครื่องพิมพ์ให้แก่บริษัทเรมิงตัน พอในปี 1915 ก็ประกาศห้ามสั่งเครื่องพิมพ์ดีดแคร่ตายอีกต่อไป นับเป็นคราวเคราะห์ของประเทศสยามไม่น้อย เพราะเครื่องพิมพ์ดีดสมิทพรีเมียร์เหมาะแก่ภาษาที่มีตัวพยัญชนะมาก

บริษัทให้เครื่องพิมพ์สมิทพรีเมียร์ภาษาไทยอีกแบบหนึ่งแก่ข้าพเจ้า แต่ไม่มีใครต้องการ เพราไม่มีใครรู้จักใช้เครื่องพิมพ์ที่แคร่ส่ายได้ ทุกคนร่ำร้องแต่จะใช่เครื่องพิมพ์แบบ 4 และ 5 ของเก่า ข้าพเจ้าก็หมดปัญญาไม่ทราบจะทําอย่างไร ท่านพาม้าไปลงน้ำได้ แต่จะบังคับให้ดื่มนั้นไม่ได้ ใครๆ ก็พากันจะเอาเครื่องพิมพ์ที่เคยใช้มาแล้ว ข้าพเจ้าเองก็เช่นเดียวกัน แต่ก็ปราศจากผล ในที่สุดข้าพเจ้าต้องสั่งของใหม่เข้ามาใช้ เพราะความจำเป็นบังคับ

ข้าพเจ้ายังได้ประดิษฐ์งานอีกชิ้นหนึ่ง คือระหว่างได้ลาพักกลับบ้านนั้น ข้าพเจ้าได้เข้าช่วยบริษัทเรมิงตันคิดสร้างเครื่องพิมพ์ภาษาไทยแบบกระเป๋าหิ้ว เครื่องชะนิดเล็กน่าเอ็นดู และให้ความสะดวกมาก จนใครๆ ก็อดลองใช้ไม่ได้ คราวนี้ได้ทราบว่าใช้ไม่ยากเท่าที่คิด ข้อรังเกียจเลยค่อยๆ หมดไปทีละน้อย ๆ แล้วข้าพเจ้าก็นําเอาวิธีพิมพ์สัมผัสสมัยใหม่ที่ทั่วโลกใช้มาลองดู เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงเปิดโรงเรียนสอนพิมพ์แบบสัมผัสขึ้น

ทุกวันนี้เครื่องพิมพ์สมิทพรีเมียร์แท่นคู่จึงเป็นของพ้นสมัยไป ยังมีใช้อยู่บางก็ในท้องถิ่นที่ไกลกันดาร และโดยนักพิมพ์มือเก่าเท่านั้น นักพิมพ์ดีดสมัยใหม่จะไม่ยอมแตะเครื่องพิมพ์ที่ล้าสมัยนั้นเลย แต่ในสมัยก่อนช่างวิเศษสำหรับเขาเหลือเกิน ในพิพิธภัณฑ์สถานก็ยังมีเครื่องหนึ่งที่สั่งมาเป็นรุ่นแรก ข้าพเจ้าได้ส่งให้เข้าไปให้ไว้เป็นสมบัติ ภายหลังที่ได้ใช้มาแล้วเป็นเวลาถึง 35 ปี และสละให้อย่างตัดใจจริงๆ

ต่อจากปี 1915 มา ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องพิมพ์ภาษาไทยก็ยิ่งมีมากขึ้น แคร่ของเครื่องแรกบรรจุพยัญชนะได้หมดแต่ต้องพิมพ์ขัดกับทางเขียน ในวิชาเครื่องยนต์กลไกจะยอมให้เป็นเช่นนี้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงค้นคว้าดัดแปลง จนหาวิธีเปลี่ยนและพิมพ์ได้ถูกทาง แล้วบริษัทเรมิงตันก็สร้างแบบนี้ให้ข้าพเจ้า แคร่ของแบบเรมิงตันได้รักบารเปลี่ยนแปลงดีขึ้น บริษัทพิมพ์ไทยอื่น ๆ ก็เอาอย่างไปใช้ ต่างเต็มใจที่จะให้เกิดประโยชน์จากความของข้าพเจ้า ขณะนี้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์ แบบกระเป๋าหัว เครื่องพิมพ์ใหญ่สแตนดารดและเครื่องทำบัญชีเป็นภาษาไทย

ข้าพเจ้าได้ตั้งสํานักงานบริการอย่างทันสมัยในความควบคุมอันเชี่ยวชาญของนายช่างกลอเมริกัน มีโรงเรียนสอนพิมพ์ดีด และมีร้านค้าขึ้นพร้อมมูลด้วยเครื่องใช้ในการพิมพ์มีคนงานถึง 50 คน ข้าพเจ้าได้ขยายสำนักงานให้กว้างขวางออกไป ถึงกับมีเครื่องใช้ทุกชะนิด ซึ่งส่วนมากได้แนะนำให้ กระทรวงทบวงกรมรู้จักใช้ นับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้นำเครื่องพิมพ์ออกตั้งแสดงในร้านทำฟันแต่ครั้งนั้นตลอดมา การคลี่คลายขยายตัวทั้งในการก้าวหน้าและถอยหลังในเรื่องพิมพ์ดีด ก็ได้เป็นมาดั่งได้เล่าแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็หาได้ล้มความเชื่อมั่นในพี่ชายผู้ได้มอบความคิด และเครื่องพิมพ์ของเขาไว้ให้แก่ข้าพเจ้าไม่”

นอกเหนือจากเกร็ดเรื่องพยัญชนะในเครื่องพิมพ์ดีดแล้ว ภาษิต จิตรภาษา คอลัมนิสต์ของ “ศิลปวัฒนธรรม” ผู้เขียนบทความชื่อ “เลขไทยมีไว้ทำไม?” ยังเล่าข้อมูลเสริมว่า ในช่วง พ.ศ. 2525 เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยที่ส่งเข้ามาขายในประเทศไทยไม่มีอักษร ฅ-ฃ และไม่มีเลขไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ภาษิต จิตรภาษา. “เลขไทยมีไว้ทำไม?”. ใน ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2525.

“ปทานุกรม-เครื่องพิมพ์ดีด-ตำราแพทย์ ฯลฯ มรดกที่ ‘แมคฟาร์แลนด์’ ทิ้งไว้ให้สยาม”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562. เข้าถึงเมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562.

“ฃ ขวดกับ ฅ คนหายไปตั้งแต่เมื่อไร?”. Sanook. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556. เข้าถึงเมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0