โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เด้งฟ้าผ่า!! รับทรัพย์น้อยกว่า 300,000 บาท รอดภาษีโลด!!

Rabbit Today

อัพเดต 23 ส.ค. 2562 เวลา 11.06 น. • เผยแพร่ 23 ส.ค. 2562 เวลา 11.06 น. • โชติ เวสสวานิชกูล
เด้งฟ้าผ่า!! รับทรัพย์น้อยกว่า 300,000 บาท รอดภาษีโลด!!

แม้ว่าการถูกเด้งฟ้าผ่าของมนุษย์เงินเดือน จะไม่ใช่เรื่องที่เกิดกันได้บ่อยๆ 

แต่อะไรๆ มันก็ไม่แน่นอนในยุคเศรษฐกิจผีเข้าผีออกแบบนี้ โดยเฉพาะถ้าเกิดโดนเด้งจริง แล้วเงินชดเชยที่ได้มา อาจจะต้องเจียดไปลงภาษีแผ่นดินอีก งานนี้คงหน้าหงอยเป็นหอยเม่นแน่ๆ (เคยเห็นหอยเม่นหน้าหงอยหรอฟระ)

เนื่องจากเงินชดเชยตอนถูกเลิกจ้างกะทันหัน หรือแม้แต่เงินชดเชยกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคมนั้น ตามกฎหมายเราต้องนำมาคำนวณภาษีที่ต้องยื่นในช่วงวันที่ 1 มกราคม - มีนาคม ของทุกๆ ปีด้วย

…แต่ๆๆ มันก็มีเงื่อนไขอยู่เหมือนกันว่าได้มาเท่าไร ถึงไม่โดนเก็บ เอ้า!! มาท่องกัน

  • จำไว้เลยว่า หากได้รับเงินชดเชยไม่ถึง 300,000 บาท ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้มาคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี พูดง่ายๆ คือ ได้ชดเชยต่ำกว่าตัวเลขนี้ ม่ายต้องเสียภาษี…จบ
  • ถ้าเงินชดเชยที่ได้รับมาเกิน 300,000 บาท จะต้องนำเงินที่เกินจาก 300,000 บาทนั้น มาคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีด้วย พูดง่ายๆ ต่อให้เกินมาบาทเดียว ก็ต้องเข้าระบบการยื่นภาษีนะจ๊ะ (ส่วนจะโดนเท่าไรก็ไปนับรวมกับฐานรายได้ประจำปี)
  • แต่ย้ำไว้ก่อนว่า การยกเว้นภาษีจากเงินชดเชยที่ได้ไม่เกิน 300,000 บาทนั้น ใช้ได้เฉพาะกรณีถูกเลิกสัญญาจ้างอย่างเดียว อย่าไปเข้าใจผิดกับฐานรายได้ประจำปี ค่าฟรีแลนซ์ หรือรายได้ประเภทอื่นๆ ละกัน

คำเตือน : ต่อให้เงินชดเชยที่ได้รับจากการถูกเลิกจ้าง หรือโดนเด้งแบบฟ้าผ่าจะได้ไม่เกิน 300,000 บาท และเงินชดเชยว่างงานประกันสังคมจะไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี แต่รายได้ที่คุณได้รับก่อนตกงานนั้น จะต้องนำมายื่นภาษี คำนวณภาษี และจ่ายภาษีเงินได้ประจำปี (กรณีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสีย) ตามปกติ และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เหมือนเดิมนะจ๊ะ 

โกยก่อนออกไปเตะฝุ่น

ทีนี้มาทบทวนกันก่อน กรณีพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก และกระแทกลงตำแหน่งที่คุณยืนดังโครม ก็แทนที่จะไปโวยวายโน่นนี่นั่น ก็เอาเวลามาดูดีกว่า เราจะได้อะไรเป็นค่าชดเชยกันบ้าง

ค่าชดเชยตามกฎหมายกำหนด (อันนี้บังคับเลย)

จะได้ก็ต่อเมื่อ…

  • ต้องทำงานในองค์กรหรือบริษัทนั้นไม่ต่ำกว่า 120 วัน
  • ต้องถูกเลิกจ้างเท่านั้น ไม่คุ้มครองกรณีที่ลาออกเอง
  • ต้องไม่ถูกให้ออกเพราะสาเหตุจากการทำผิดกฎหมาย

ถ้าเข้าเงื่อนไขนี้ ก็เตรียมหิ้วเงินออกไปหางานใหม่หรือจะไปทำอะไรก็สุดแท้แต่ได้เลย

แล้วรู้ไหมว่าเขาคิดค่าชดเชยคนที่ถูกเด้งกันยังไง?

โดยหลักการแล้ว เขาก็จะให้ค่าชดเชยคิดจากฐานเงินเดือนเดือนสุดท้ายนั่นแหละ 

  • อยู่มาแล้ว 120 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี  รับไปเลย 1 เดือน
  • อยู่มาแล้ว 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี รับไปเลย 3 เดือน
  • อยู่มาแล้ว 1 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี รับไปเลย 6 เดือน
  • อยู่มาแล้ว 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี รับไปเลย 8 เดือน
  • อยู่มาแล้ว 10 ปีขึ้นไป รับไปเลย 10 เดือน
  • อยู่มาแล้ว 20 ปีขึ้นไป รับไปเลย 400 วัน (ตกราวๆ 13 เดือนเศษ)

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำงานมาแล้ว 5 ปี ได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท และโดนบอกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ ตัวเราเองก็จะได้รับเงินชดเชย 30,000 คูณ 6 เดือน (180 วัน) เท่ากับ 180,000 บาท นั่นเอง

ค่าต๊กกะใจ 

ยังไม่จบแค่นี้ ถ้าเกิดเราโดนเลิกจ้างแบบ ‘ฉันไม่ยอมมมม’ แถมยังเซอร์ไพรส์ด้วยการไม่บอกล่วงหน้าด้วย เราต้องได้เงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่า ‘ค่าตกใจ’ บวกเข้าไปอีกจากที่บอกไปข้างต้น ดังนี้…

เลิกจ้างทั่วไป : นายจ้างต้องจ่ายค่าตกใจล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้างปกติ เช่น ถ้าบริษัทบอกเลิกจ้างเราก่อนวันที่ 30 ตุลาคม ก็จะต้องจ่ายค่าตกใจล่วงหน้าถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน หรือ 30 วัน แต่ถ้าบริษัทบอกเลิกจ้างช้ากว่ารอบการจ่ายเงิน เช่น บอกในวันที่ 6 พฤศจิกายน ก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าถึงงวดวันที่ 30 ธันวาคมนะจ๊ะ

เลิกจ้างเพราะปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ : เช่น เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ใช้เครื่องจักรมาแทนคน ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้เงินค่าตกใจ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน (2 เดือน) เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ก็จะได้รับเงินชดเชย 30,000 คูณ 2 เท่ากับ 60,000 บาท  

แต่ๆๆ ถ้าหากเราทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป จะมีเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีกไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ 1 ปี (รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน)

เลิกจ้างเพราะย้ายออฟฟิศ : ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้รับเงินชดเชยค่าตกใจ ไม่น้อยกว่าจำนวนค่าจ้างสุดท้าย 1 เดือน หรือหากมีการบอกล่วงหน้าถูกต้อง แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างด้วยนะ  

สรุปแล้ว คนดวงกุดจะได้เงินชดเชยการถูกเด้งฟ้าผ่าตามกฎหมายในระยะเวลาที่เราทำงานที่นั้นๆ เป็นพื้นฐาน แต่จะได้บวกพิเศษจากบริษัทนั้นๆ หากมีการบอกเลิกจ้างแบบกะทันหันตามเงื่อนไขข้างต้นเพิ่มเข้าไปอีก 

แล้วเราจะได้เงินชดเชยตอนไหน

ปกติแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ‘ภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน’ แต่หากถึงตอนนั้นแล้วยังไม่ได้เงินชดเชยดังกล่าว  พุ่งตัวไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพราะจะเข้าข่ายการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0