โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

อัพเกรด "สนามบินบุรีรัมย์" ฮับการบินอีสานใต้เชื่อม CLMV

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 13 ก.ค. 2563 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 03.40 น.
สนามบินบุรีรัมย์

ปัจจุบัน “จังหวัดบุรีรัมย์” ฐานที่มั่นของนักการเมืองตระกูล “ชิดชอบ” เจิดจรัสขึ้นทันตา หลังนำกีฬามาเป็นธงนำการพัฒนาจังหวัด เป็น “สปอร์ตซิตี้” จากการส่งเสริมสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลและจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือโมโตจีพี มี “สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต” เป็นฐานทัพรับฤดูกาลแข่งขัน

ทำให้ “บุรีรัมย์” ในวันนี้จาก “เมืองรอง” กลายเป็นเมืองหลัก “เลิศล้ำกีฬา” สามารถดึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเข้ามาในจังหวัดได้ปีละหลายล้านคน ขณะที่การเดินทางก็สะดวกสบายทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และหเครื่องบิน

แต่พลันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีชื่อ“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ทำให้สปอตไลต์ฉายส่องไปยังงบประมาณที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่

ล่าสุดถูกตั้งข้อสังเกตกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา สำหรับงบฯ 950 ล้านบาท พัฒนา “สนามบินบุรีรัมย์”

ภาพจำลอง สนามบินบุรีรัมย์
ภาพจำลอง สนามบินบุรีรัมย์

จะว่าไปสนามบินแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นจาก “นักการเมือง” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ก่อสร้างเมื่อปี 2528 รองรับคนทั้งจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์

ต่อมา ธ.ค. 2532 ทางจังหวัดเสนอที่ดินบ้านป่าโคกโจด อ.สตึก เนื้อที่ 2,512 ไร่ เป็นที่ก่อสร้าง มีกรมการบินพาณิชย์ในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการ

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบฯให้ 376 ล้านบาท เริ่มตอกเข็มปี 2536 เปิดทำการบินครั้งแรกวันที่ 27 ม.ค. 2540 โดย บมจ.การบินไทย เส้นทาง กทม.-นครราชสีมา-บุรีรัมย์ ใช้เครื่องบินโบอิ้ง B727 และเอทีอาร์-72 สลับกันทำการบิน แต่ผู้โดยสารน้อยจึงหยุดทำการบิน

ปัจจุบันมีสายการบินนกแอร์และแอร์เอเชียที่เปิดเส้นทางบิน ขณะที่ศักยภาพของสนามบินสามารถรองรับขนาดเครื่องบินสูงสุดได้ถึงโบอิ้ง B737 หรือแอร์บัส A320

ซึ่ง“กรมท่าอากาศยาน” หรือกรมการบินพาณิชย์เดิมได้จัดทำแผนพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ปี 2563-2566 ด้วยวงเงิน 1,750 ล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จากสถิติปริมาณผู้โดยสารตั้งแต่ปี 2553 มีจำนวน 6,113 คนต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็น 349,440 คนต่อปีในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 144% ต่อปี

โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีการแข่งขันกีฬาจะมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารต่อชั่วโมงเกินขีดความสามารถที่จะรองรับได้ เช่น การจัดการแข่งขันโมโตจีพีในชั่วโมงคับคั่งจะมีปริมาณผู้โดยสาร 720 คน (4 เที่ยวบิน) ต่อชั่วโมง ซึ่งอาคารที่พักผู้โดยสารรองรับขาออก 300 คน (2 เที่ยวบิน) ต่อชั่วโมง และขาเข้า 150 คน (1 เที่ยวบิน) ต่อชั่วโมง

ในแผนจะก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 1,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 2.80 ล้านคนต่อปี ใช้งบฯ 619 ล้านบาท เปิดบริการในปี 2566

และขยายความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร อาคารคลังสินค้าและลานจอดอากาศยานขนส่งสินค้า ของบฯปี 2564 จำนวน 950 ล้านบาท เพื่อให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ B787 หรือ A330 ในการบินพิสัยไกล รับเส้นทางบินตรงจากออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

เพิ่มขีดความสามารถตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกระดับ “สนามบินบุรีรัมย์” เป็นศูนย์กลางทางการบินของอีสานใต้เชื่อมขนส่งทางอากาศกับกลุ่มประเทศ CLMV กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0