โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ส้มถูกเรียกตามสี หรือสีถูกเรียกตามส้ม ว่าด้วย ‘ผลส้ม’ และ ‘สีส้ม’ ในประวัติศาสตร์

a day magazine

อัพเดต 02 ก.ค. 2563 เวลา 04.50 น. • เผยแพร่ 01 ก.ค. 2563 เวลา 15.54 น. • มนสิชา รุ่งชวาลนนท์

เราเห็นผลส้มเป็นสีส้ม หรือเราเห็นสีส้มเป็นเหมือนผลไม้ที่ใช้ชื่อว่าส้ม น่าสนใจว่าคำถาม ‘ส้มมาก่อนสี’ หรือ ‘สีมาก่อนส้ม’ ไม่ได้โลกแตกเหมือนอย่างไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เรื่องเล่านี้มีคำตอบน่าสนใจและเต็มไปด้วยประเด็นทางประวัติศาสตร์ ถ้าคุณอยากลองทายก่อนตอนนี้ เราให้เวลาคุณคิดอีกทีก่อนจะเลื่อนไปเจอคำตอบในย่อหน้าต่อไป 

คำตอบคือ ผลส้มมีชื่อเรียกมาก่อนสี ส่วนเหตุที่ผลไม้ชนิดนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นศัพท์ใหม่ในภาษาอังกฤษต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่มาของผลส้มตั้งแต่ต้น

ส้มเป็นผลไม้ที่มีที่มาจากเอเชีย บางเสียงเชื่อว่ามาจากจีน อีกเสียงเชื่อว่ามาจากอินเดีย ในขณะที่บางประเทศเรียกผลส้มว่า appelsien (ภาษาเยอรมัน) หรือ sinaasappel (ภาษาดัตช์) แปลว่า แอปเปิลของจีน อังกฤษและฝรั่งเศสกลับได้ชื่อของผลไม้นี้มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า naranga ซึ่งส่งต่อมายังภาษาเปอร์เซียว่า narang และส่งผ่านภาษาอาหรับว่า naranji อีกที กว่าคำนี้จะมาถึงฝรั่งเศสก็มีการออกเสียงเพี้ยนไปจนกลายเป็น orenge และเมื่อผลส้มเดินทางมาถึงอังกฤษ ชื่อเรียกของผลไม้ก็ถูกแผลงให้ง่ายต่อการออกเสียง กลายเป็นคำว่า orange การเปลี่ยนแปลงทางภาษานอกจากจะบอกประวัติที่มาของคำ ยังสร้างข้อสันนิษฐานการเดินทางของผลส้มผ่านการค้าขายจากอนุทวีปอินเดียจนมาถึงเกาะอังกฤษ

ผลส้มมาถึงยุโรปครั้งแรกในศตวรรษที่ 12 เชื่อกันว่าผลไม้ไปถึงอังกฤษช้ากว่านิดหน่อย คือราวศตวรรษที่ 13 ผลส้มในสมัยนั้นไม่ได้ถูกใช้กินกันสดๆ เหมือนในปัจจุบัน แต่มักใช้ประกอบอาหารหรือนำมาคั้นน้ำสำหรับผสมเป็นเครื่องดื่ม ที่เป็นเช่นนี้เพราะส้มในยุคก่อนไม่ได้หวานหอมเหมือนปัจจุบัน ออกจะเปรี้ยวและขมด้วยซ้ำไป เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้า ส้มจึงถือเป็นสินค้าราคาแพงที่สงวนไว้สำหรับคนมีฐานะ ในภาพวาดช่วงยุคกลางถึงเรอเนซองซ์ผลส้มในภาพเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แสดงความมั่งมี ยิ่งมีผลส้มมากเท่าไหร่หรือหากผลส้มถูกวางไว้ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ (เช่น บนพื้นหรือขอบหน้าต่าง) ยิ่งหมายความว่าคนในภาพร่ำรวยมากเท่านั้น 

คำว่าส้มกลายเป็นชื่อของสีได้ยังไง? คำนี้ถูกบันทึกในฐานะชื่อสีเป็นครั้งแรกช่วงต้นปี 1500s ก่อนหน้านี้ชาวอังกฤษมีคำอธิบายสีไม่มาก จักรวาลภาษาของอังกฤษมอบชื่อให้สีเพียง 6 คำเท่านั้น คือ hwit – white (ขาว), sweat – black (ดำ), read – red (แดง), grene – green (เขียว), geolo – yellow (เหลือง) และ graeg – grey (เทา) แน่นอนว่าสีในโลกของเราไม่ได้มีแค่ 6 สี ชาวอังกฤษใช้วิธีอธิบายสีอื่นด้วยการผสมคำที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน เช่น สีส้มนั้นเป็นสีที่อยู่ระหว่างสีแดงและสีเหลือง คำเรียกแทนสีจึงเป็นการผสมสองคำเข้าด้วยกัน เรียกว่าสี geoluread – yellow-red (เหลือง-แดง) การนำคำว่าผลส้ม (orange) มาใช้เป็นชื่อสีเกิดจากความนิยมผลไม้ชนิดนี้ในเวลาต่อมา คำว่า organge ที่หมายถึงผลไม้ เริ่มใช้ในศตวรรษที่ 13 ส่วนคำว่า orange ที่หมายถึงสี ปรากฏช้ากว่านี้อีกหลายร้อยปีต่อมา การใช้ชื่อ orange แทนสีมีบันทึกครั้งแรกๆ อยู่ในคำบรรยายชุดสีส้มที่พระนางมาร์กาเรต ทิวดอร์ ราชินีแห่งสกอตแลนด์ ทรงสวมใส่ในขณะยังเป็นเจ้าหญิง  

‘ในวันที่ 23 กรกฎาคม 1502 เรือจ้างของนายจอห์น ราล์ฟ เดินทางจากเวสต์มินสเตอร์ไปยังลอนดอนเพื่อรับชุดผ้าไหมเนื้อละเอียดสีส้มของพระนางมาร์กาเรต’ 

พระนางมาร์กาเรต ทิวดอร์ ราชินีแห่งสกอตแลนด์

 

ถ้าสีส้มถูกเรียกตามผลไม้ ทำไมสีส้มถึงไม่ถูกเรียกตามแคร์รอต? 

น่าสนใจว่าแคร์รอตที่ปรากฏในยุคแรกๆ ของยุโรปไม่ได้มีสีส้ม แต่มักมีสีขาว แดง และม่วง การเกิดขึ้นของแคร์รอตสีส้มมาจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของเกษตรกรชาวดัตช์ที่นำเอาแคร์รอตสีม่วงในฝั่งตะวันออกมาผสมกับแคร์รอตสีขาวและแดงในฝั่งตะวันตก จนเกิดเป็นลูกผสมสีส้มที่มีชื่อเรียกว่า Long Orange Dutch ส่วนเหตุที่แคร์รอตสีนี้ได้รับความนิยมจนสามารถเอาชนะแคร์รอตสีดั้งเดิมได้ก็เพราะรสชาติที่หวานอร่อยกว่าสายพันธุ์ทั่วไป ยังมีข้อสังเกตว่าชาวดัตช์ตั้งใจโปรโมตแคร์รอตสีนี้ในฐานะอาวุธทางวัฒนธรรมและการเมือง เพราะสีส้มเป็นสีประจำชาติเนเธอร์แลนด์ (นำมาจากชื่อวิลเลียมที่ 1 เจ้าชายแห่งออเรนจ์ วีรบุรุษของชาวดัชต์ที่นำชาติประกาศอิสระจากการปกครองของสเปนในช่วงศตวรรษที่ 17) 

สีธงชาติเนเธอร์แลนด์ก่อนจะเป็นสีแดง ขาว น้ำเงิน แบบปัจจุบัน ก็เคยเป็นสีส้ม ขาว น้ำเงิน มาก่อน เหตุที่สีธงถูกเปลี่ยนเพราะสีส้มนั้นอยู่ไม่ทน เมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศนานๆ มักเปลี่ยนเป็นสีแดง โดยเฉพาะเมื่อธงถูกนำไปติดบนเรือที่ต้องเดินสมุทรเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี การเปลี่ยนธงที่สีเพี้ยนบ่อยๆ ไม่คุ้มค่าการผลิตทำให้รัฐบาลดัตช์ตัดสินใจเปลี่ยนสีธงชาติจากสีส้มมาเป็นสีแดงอย่างเป็นทางการในปี 1937

ไม่ว่าแคร์รอตจะมีสีส้มเพราะเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวอังกฤษไม่รู้จักแคร์รอตสีนี้จนศตวรรษที่ 16-17 แปลว่าผลส้มสีส้มมาถึงเกาะอังกฤษก่อนแคร์รอตสีส้มร่วม 300 ปี

 

Redhead Weasley ทำไมคนผมส้มอย่างครอบครัววีสลีย์ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถึงถูกเรียกว่าพวกหัวแดง 

หนึ่งในความย้อนแย้งในภาษาอังกฤษคือการเรียกคนที่มีสีผมเหมือนควีนเอลิซาเบทที่ 1 หรือสมาชิกตระกูลวีสลีย์ใน แฮรรี่ พอตเตอร์ ว่า พวกหัวแดง (redheads) ทั้งที่สีผมที่ว่ามันดูคล้ายสีส้ม (เหมือนแคร์รอตหรือส้ม) มากกว่าสีแดง (อย่างสตรอว์เบอร์รีหรือมะเขือเทศ)

คำอธิบายมีอยู่คล้ายกัน คือคำว่าสีส้ม (orange) มาถึงอังกฤษช้ากว่าการปรากฏของบุคคลที่มีสีผมออกไปทางสีส้ม ในขณะที่สีแดง (red) มีที่มาจากรากศัพท์ในตระกูล Proto-Germanic ผันมาจากคำที่มีความหมายเดียวกันคือ Ruddy, Rufus, Reid (ปัจจุบันเป็นชื่อสกุลของตระกูลเก่าแก่ในยุโรป) การบรรยายสีผมของคนว่า redhead ปรากฏหลักฐานมานานกว่า คือตั้งแต่ช่วงกลางปี 1200s ก่อนที่ส้มผลแรกจะมาถึงอังกฤษเสียอีก 

ส่วนเหตุผลที่คนอังกฤษไม่เปลี่ยนคำเรียกคนที่มีเส้นผมสีส้มจาก redhead เป็น orangehead น่าจะเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นต้องจำแนกสีที่ใกล้เคียงกันให้ละเอียดไปกว่านี้ เช่นเดียวกับที่คนอังกฤษไม่สนใจจะแยกเรียกสีฟ้ากับสีน้ำเงิน แต่ใช้คำว่า blue รวมๆ กันไป

 

หรือแอปเปิลสีทองในตำนานกรีกที่จริงแล้วคือผลส้ม?

‘แอปเปิล’ สีทองถูกพูดถึงในตำนานเทพเจ้ากรีกอยู่หลายครั้ง ตามตำนานต้นแอปเปิลสีทองเป็นของขวัญที่พระแม่ธรณีไกอามอบให้เฮร่าตอนนางตกปากรับคำแต่งงานกับซุส ราชาแห่งทวยเทพ

เฮร่าทั้งรักทั้งห่วงต้นแอปเปิลถึงขนาดให้มังกรร้อยหัวที่ไม่มีวันหลับมาคอยป้องกันและให้นางไม้แห่งสวนเฮสเพอริเดสคอยดูแล แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นของวิเศษเรื่องวุ่นวายจึงมักเกิดกับต้นแอปเปิลเป็นประจำ แอปเปิลเจ้ากรรมถูกพูดถึงเป็น 1 ใน 12 ภารกิจสุดหินของเฮอร์คิวลิสที่ต้อง ‘ขโมย’ มาให้ยูริทัสเพื่อไถ่บาป

อีกตำนานกล่าวถึงเอรีส เทพีแห่งความโกลาหล ที่อยากเล่นซนโยนแอปเปิลสีทองสลักคำว่า kallisti (for the fairest–สำหรับผู้งดงามที่สุด) เข้าไปในงานฉลอง มีเทพี 3 องค์ยืนกรานว่าแอปเปิลนี้ควรเป็นของตน คนแรกคือเฮร่า ราชินีแห่งสวรรค์ สองคืออะโฟรไดต์ เทพีแห่งความรักและความงาม คนสุดท้ายคืออะธีน่า เทพีแห่งปัญญา 

มาถึงจุดนี้ไม่มีใครยอมแพ้ใคร ร้อนถึงซุสผู้เป็นราชาต้องมาตัดสิน แต่ซุสก็ไม่อยากมีปัญหา จึงโยนเผือกร้อนไปให้ปารีส เจ้าชายหนุ่มรูปงามที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่หล่อที่สุดในโลก

แน่นอนว่าการแข่งขันระดับนี้ไม่มีคำว่าแฟร์ เทพีทั้งสามต่างแอบไปติดสินบนเจ้าชายหนุ่มให้เลือกตนเป็นผู้ชนะ ฝ่ายเฮร่าเสนอว่านางจะให้เขาเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ ครอบครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล อะธีน่าเสนอจะมอบปัญญาอันเฉียบแหลมให้ ส่วนอะโฟรไดต์ในฐานะที่เป็นเทพีแห่งความรักเสนอหัวใจของหญิงที่รูปงามที่สุดในโลกให้เขาเป็นเจ้าของ

เจ้าชายปารีสไม่อยากได้ทั้งความรู้และอำนาจแต่ปรารถนาหญิงงามมาคู่ใจจึงตัดสินให้อะโฟรไดต์เป็นฝ่ายชนะ ซึ่งอะโฟรไดต์ก็ทำตามสัญญาโดยไม่สนว่าหญิงงามที่สุดในปฐพีมีสามีอยู่แล้ว เรื่องราวความรักระหว่างเฮเลน ราชินีแห่งสปาร์ตา และปารีส เจ้าชายหนุ่มรูปงาม กลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ‘สงครามกรุงทรอย’

ย้อนกลับไปยังแอปเปิล นักวิชาการที่ศึกษาตำนานปกรณัมกรีกให้ความเห็นว่า แอปเปิลสีทองที่ถูกกล่าวถึงตามตำนานน่าจะหมายถึง ‘ผลส้ม’ ผลไม้ล้ำค่าที่ไม่เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปจนกระทั่งยุคกลาง คือราวศตวรรษที่ 12

เหตุผลที่หลายคนเชื่อทฤษฎีนี้ก็เพราะตำนานกรีกมักมีที่มาจากสถานที่ที่มีอยู่จริง อย่างกรุงทรอยน่าจะหมายถึงเมืองทรูวาในตุรกี ในขณะที่สวนเฮสเพอริเดส ที่ตั้งของต้นแอปเปิลทองคำ น่าจะหมายถึงดินแดนแถบคาบสมุทรไอบีเรีย (บริเวณสเปนและโปรตุเกสในปัจจุบัน)

ที่น่าเชื่อไปกว่านั้นคือคำว่า ‘ส้ม’ ในภาษากรีกปัจจุบันคือ πορτοκαλί (portokali) แผลงมาจากคำว่า Portugal (โปรตุเกส) และถ้าย้อนไปไกลอีกนิด คำเรียกผลไม้ในตระกูล citrus (มะนาว มะกรูด) ของภาษากรีกโบราณคือคำว่า ἑσπεριδοειδῆ (hesperidoids) ก็ดันไปพ้องเสียงกับสวนเฮสเพอริเดสของเฮร่าเอาเสียอีก

น่าคิดเหมือนกันว่าต้นไม้สุดหวงของราชินีเฮร่าอาจจะไม่ใช่แอปเปิลอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นต้นส้มแสนรักของราชินีแห่งสวรรค์ต่างหาก

 

 

อ้างอิง

Name Explain

WonderWhy

aloveofwords.com

aquileana.wordpress.com

nextnature.net

quickanddirtytips.com

tudortimes.co.uk

Highlights

  • ส้มเป็นผลไม้ที่มีที่มาจากเอเชีย บางเสียงเชื่อว่ามาจากจีน อีกเสียงเชื่อว่ามาจากอินเดีย ผลส้มมาถึงยุโรปครั้งแรกในศตวรรษที่12 เชื่อกันว่าผลไม้นี้ไปถึงอังกฤษช้ากว่านิดหน่อย คือราวศตวรรษที่13
  • คำว่าorange ที่หมายถึงผลไม้ เริ่มใช้ในศตวรรษที่13 ส่วนคำว่าorange ที่หมายถึงสีปรากฏช้ากว่านี้อีกหลายร้อยปีต่อมา
  • การใช้ชื่อorange แทนสีมีบันทึกครั้งแรกๆ อยู่ในคำบรรยายชุดสีส้มที่พระนางมาร์กาเรต ทิวดอร์ ราชินีแห่งสกอตแลนด์ ทรงสวมใส่ในขณะยังเป็นเจ้าหญิง
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0